การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้ปัญญาคมกล้าและบริสุทธิ์ขึ้นเป็นวิปัสสนา
ญาณตามลำดับขั้นนั้น เป็น วิสุทธิ ๗ ดังนี้ ...
๑. ศีลวิสุทธิ ได้แก่ ศีล เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ขณะนั้นวิสุทธิจากการไม่รู้สภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติปัฏฐาน
ไม่เกิดไม่ใช่ศีลวิสุทธิ เพราะยึดถือศีลว่าเป็นเรา เป็นตัวตน
๒. จิตตวิสุทธิ ได้แก่ สมาธิขั้นต่างๆ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม
และรูปธรรม และขณะใดที่ฌานจิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ฌานจิตขณะนั้นก็
เป็นจิตตวิสุทธิเพราะขณะนั้นไม่ยึดถือฌานจิตนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตน
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้ง
ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงวิสุทธิ
จากการไม่เคยประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่
ใช่ตัวตนมาก่อนเลย
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจาก
การเจริญสติปัฏฐานก็เป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ คือ เห็นลักษณะของสภาพ
ธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สติระลึกลักษณะของ
สภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนสมบูรณ์ถึงขั้นเป็น ปัจจยปริคคห-
ญาณ ข้ามพ้นความสงสัยในการเกิดขึ้นของนามธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นไปตาม
ปัจจัยทั้งสิ้น ปัจจยปริคคหญาณ จึงเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้น
แล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากสติปัฏฐานที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและ
รูปธรรมทั่วขึ้นจนชิน รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเสมอกันหมด
ทุกประเภท ทำให้ละคลายการใฝ่ใจแสวงหายึดมั่นในนามหนึ่งนามใดรูปหนึ่งรูป
ใดโดยเฉพาะ และน้อมพิจารณาการเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความ
เป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ จนประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกัน
ของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณตามลำดับ เมื่อ
อุทยัพพยญาณดับไปแล้ว กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทก็ทำให้เกิดความ
ยินดีพอใจใน วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ...
๑. โอภาส แสงสว่าง
๒. ญาณ ความรู้
๓. ปีติ ความอิ่มใจ
๔. ปัสสัทธิ ความสงบ
๕. สุข ความสบายแช่มชื่นใจ
๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ
๗. ปัคคาหะ ความเพียร
๘. อุปัฏฐานะ ความมั่นคง
๙. อุเบกขา ความวางเฉย
๑๐. นิกันติ ความใคร่
๑. เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว โอภาสย่อมเกิดจากจิตที่สงบถึง
ขั้นที่เป็นปัจจัยให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้ ขณะที่เกิดความยินดีในโอภาสนั้นเป็น
วิปัสสนูปกิเลส เพราะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่
เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น
๒. ขณะที่เกิดความยินดีในความคมกล้าของปัญญา ที่ประจักษ์การ
เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูป-
กิเลส เพราะไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว
ตนของสภาพธรรมในขณะนั้นต่อไป
๓. ขณะที่ยินดีในปิติ ความอิ่มเอิบ ที่ประจักษ์การเกิดดับของนาม-
ธรรมและรูปธรรมนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส
๔. ขณะที่ยินดีในความสงบ ซึ่งปราศจากความกระวนกระวายความ
แข็งกระด้าง ความคดงอ ไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส
๕. ขณะที่ยินดีในความสุข ซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาอย่างยิ่งนั้น ก็เป็น
วิปัสสนูปกิเลส
๖. ขณะที่ยินดีในความน้อมใจเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็นวิปัสสนู-
ปกิเลส
๗. ขณะที่ยินดีในความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนักที่ประกอบด้วย
วิปัสสนาญาณ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส
๘. ขณะที่ยินดีในความมั่นคงของสติปัฏฐาน ๔ ที่ประกอบด้วย
วิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส
๙. ขณะที่ยินดีในความวางเฉย คือ เป็นกลางเสมอกัน ในสังขาร
ธรรมทั้งปวงที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ เมื่อประจักษ์การเกิดดับของอารมณ์ที่
ปรากฏอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส
๑๐. ขณะที่ยินดีที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัส-
สนาญาณนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส
เมื่อปัญญาพิจารณารู้ว่าวิปัสสนูปกิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ขณะที่ปัญญา
คมกล้า รู้ชัดความละเอียดของวิปัสสนูปกิเลส ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่การละ
คลายความติดข้องในสภาพธรรมทั้งหลายที่ละเอียดขึ้น ขณะนั้นเป็นมัคคา-
มัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ อุททยัพพยญาณที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว
ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการเจริญสติปัฏฐานต่อนั้นก็เป็น ปฏิปทาญาณทัสสนวิ
สุทธิ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลส จนถึงอนุโลมญาณ ๓
ขณะในมัคควิถี คือ บริกัมม์ อุปจาร อนุโลม
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่ออนุโลมญาณ ๓ ขณะดับแล้ว โคตรภู-
ญาณก็เกิด โคตรภูญาณไม่ใช่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและไม่ใช่ญาณทัสสวิ-
สุทธิ เพราะโคตรภูญาณมีฐานะเป็นดุจอาวัชชนะของโลกุตตรจิตระหว่าง
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ แต่ถึงการนับว่าเป็นวิปัสสนา
ญาณเพราะเป็นกระแสของวิปัสสนา เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วมัคคจิตต์เกิดเป็น
ญาณทัสสนวิสุทธิ
รวมเป็นวิสุทธิ ๗
|