ภายหลังหลวงปู่ละสังขารไม่นาน ทางวัดสะแกก็ดำริที่จะสร้างรูปเหมือนหลวงปู่ไว้สักการะที่หอสวดมนต์ โดยจะสร้างทั้งหลวงปู่ทวดและหลวงปู่ดู่ในท่ายืน
สำหรับการสร้างรูปยืนหลวงปู่นั้น ลูกศิษย์หลวงปู่ผู้ที่เป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ ก็ยังไม่ลงตัวว่าจะให้หลวงปู่ยืนอย่างไร วางมืออย่างไร หรือจะให้ล้อแบบหลวงปู่ทวด
แม้จะตกลงกับช่างเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งมอบรูปหลวงปู่ในท่าต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นต้นแบบใบหน้าและการห่มจีวรแล้วก็ตาม รูปแบบก็ยังไม่ลงตัว กระทั่งเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น
ในคืนวันที่ลูกศิษย์หลวงปู่เดินทางกลับออกไปจากโรงหล่อพระแล้ว
ภรรยาของนายช่างปั้น เกิดอาการนอนไม่หลับ บังคับใจอย่างไรก็ไม่เป็นผล ในที่สุดก็เลยลุกขึ้นมาเดิน ๆ อยู่ในบริเวณโรงหล่อ เธอตกใจที่เห็นหลวงปู่ดู่มาเดินไปเดินมาให้เห็นในท่ามกลางแสงไฟสลัว ๆ หลวงปู่มาปรากฏให้เธอเห็นอยู่นานพอควรแล้วก็หายไป
พอรุ่งเช้า เธอก็เล่าให้สามีฟังด้วยความตื่นเต้น ส่วนสามีเมื่อได้ยินแล้วก็ซักถามในรายละเอียดถึงอากับกับกิริยาและการแต่งกายของหลวงปู่ ภรรยานายช่างก็เล่าให้ฟังว่าเห็นท่านถือผ้าอยู่ในมือข้างหนึ่งด้วย นายช่างฟังเท่านั้น ก็รู้ได้ว่าหลวงปู่เจตนาจะให้สร้างรูปยืนโดยมือข้างหนึ่งถือผ้า ซึ่งก็ตรงกับภาพถ่ายรูปหนึ่งของท่าน
เมื่อนายช่างแจ้งไปยังลูกศิษย์หลวงปู่ผู้ที่มาสั่งงาน จึงเห็นตรงกันให้สร้างรูปยืนถือผ้า ดังที่ปรากฏในหอสวดมนต์วัดสะแก ตรงด้านซ้ายขององค์พระศรีอริยะเมตไตรย
การหล่อรูปยืนหลวงปู่ ซึ่งถือเป็นองค์แรกของโรงหล่อแห่งนี้ เพราะเป็นโรงหล่อใหม่ เพิ่งสร้าง แล้วก็เป็นที่พอใจของช่างอย่างยิ่ง เพราะโดยปรกติของการหล่อพระโลหะ พระที่ออกมามักมีตำหนิ มีรูรั่ว ฯลฯ ให้ต้องแก้ไข แต่สำหรับการหล่อรูปยืนของหลวงปู่องค์นี้ ผลออกมาค่อนข้างสมบูรณ์มาก จนแทบไม่ต้องตกแต่งแก้ไขอะไรมาก และนับจากนั้นมา นายช่างก็เล่าว่างานก็ไหลมาเทมาไม่ขาดสาย ฐานะของโรงหล่อก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ๆ หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพนับถือของทั้งนายช่างและภรรยาอย่างมาก
สุดท้ายจึงจบลงด้วยการที่ลูกศิษย์หลวงปู่ต้องเสียพระเครื่องให้ครอบครัวนายช่างโรงหล่อได้มีพระหลวงปู่ไว้ขึ้นคอบูชาบ้าง
-------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์