ผู้รับที่สมบูรณ์ที่ดีก็ต้องรับเท่าที่รับได้
ถ้ารับไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การให้ไม่สมบูรณ์
ผู้ให้ที่ดี ไม่ห่วงสิ่งที่ท่านได้ให้ไปแล้ว เพราะสิ่งที่ท่านให้ไม่ได้เป็นของท่านแล้ว
หากท่านให้ไปแล้วมัวรอการสมบูรณ์ของการให้ก็คือไม่ใช่การให้ที่แท้จริง
ผู้ให้ที่ดี ย่อมให้สิ่งที่ดี ปราณีตไม่ให้สิ่งปลอมปนและไม่ยัดเยียดให้
ผู้รับ บางทีรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ ไม่รู้ซึ้งถึงสิ่งที่ได้รับ ก็ไม่ควรเดือดร้อน
เพราะดูๆแล้ว บางทีเราไม่เพียงเป็นแค่ผู้รับ....
แต่อาจเป็นผู้ร้อง ผู้ขอ ผู้มีความต้องการ ด้วยความไม่รู้จักพอ
การให้ของท่าน สมบูรณ์แล้ว....เราเองต่างหากที่ยังไม่สมบูรณ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ 325
๑๐. สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชนาติ.
" ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง, รสแห่ง
ธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง, ความยินดีในธรรม
ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง, ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง."
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 762
การทำอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความเสมอกัน ชื่อว่า การปรับอินทรีย์
ให้เสมอกัน . เพราะถ้าว่าสัทธินทรีย์ของเธอมีพลัง อินทรีย์นอกนี้อ่อน. ต่อนั้น
ไป วิริยินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ประคองไว้ได้ สตินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่
ปรากฏได้. สมาธินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ ปัญญินทรีย์ก็ไม่
อาจจะทำหน้าที่พิจารณาเห็นได้. เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้สัทธินทรีย์
นั้นเสื่อมไปโดยพิจารณาถึงสภาวธรรม หรือโดยไม่ใส่ใจถึง โดยทำนองที่เมื่อใส่
ใจถึง สัทธินทรีย์จะมีพลัง. ก็ในข้อนี้ มีเรื่องของพระวักกลิเถระเป็นตัวอย่าง.
แต่ถ้าวิริยินทรีย์มีพลัง ภายหลัง สัทธินทรีย์จะไม่สามารถทำหน้าที่น้อมใจเชื่อ
ได้เลย อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำหน้าที่ต่างประเภทนอกนี้ได้ เพราะฉะนั้น
พระโยคาวจร พึงให้วิริยินทรีย์นั้นเสื่อมไปด้วยการเจริญปัสสัทธิเป็นต้น. แม้
ในข้อนั้น พึงแสดงเรื่องของพระโสณเถระให้เห็น. แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็พึง
ทราบอย่างนั้น. เมื่ออินทรีย์อย่างเดียวมีพลัง พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้
ก็หมดสมรรถภาพในหน้าที่ของตน.
จากข้อความในอรรถกถาการปรับอินทรีย์ เป็นเรื่องของผู้มีปัญญาที่รู้สภาพของอินทรีย์
แต่ละอย่าง ถ้าผู้ไม่มีปัญญาไม่รู้ความจริงจะปรับอะไรไม่ได้ เพราะอินทรีย์เป็นนามธรรม
ไม่มีรูปร่าง โปรดพิจารณา
ข้อความในอรรถกถา เอกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค อวิทูเรนิทาน มีข้อความก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้ ในครั้งที่พระองค์ทรงออกมหาภิเนษกรม แล้วทรงส่งนายฉันนะกลับไปทูลพระชนกพระชนนี และม้ากัณฐกะก็ตายแล้ว
เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรพชาแล้วก็อยู่ในอนุปิยอัมพวันตลอดสัปดาห์ ด้วยความสุขอันเกิดจากการบรรพชา ต่อจากนั้นก็เสด็จไปกรุงราชคฤห์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
ท่านที่เคยไปพระนครราชคฤห์ ก็คงจะเกิดอนุสสติว่า ณ สถานที่นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรม แล้วก็ได้เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
ผู้คนตื่นเต้นเมื่อได้เห็นพระรูปโฉมของพระโพธิสัตว์ แม้พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธ ก็ทรงอัศจรรย์พระทัย และทรงรับสั่งพวกราชบุรุษให้ไปคอยพิจารณาดูว่า พระโพธิสัตว์ออกจากพระนครแล้วจะไปทางไหน ถ้าเป็นเทวดาก็จะเหาะไป ถ้าเป็นนาคก็จะดำดินไป ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะบริโภคอาหารตามที่ได้
เมื่อพระมหาบุรุษทรงรวบรวมภัตรเพียงพอแก่การบริโภค เพื่อให้ร่างกายเป็นไปแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนครทางประตูที่เสด็จเข้ามานั้นแหละ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งที่ร่มเงาของบัณฑรบรรพต เริ่มเพื่อเสวยพระกระยาหาร
ลำดับนั้นพระอันตะ ไส้ใหญ่ของพระองค์จะถึงอาการจะออกมาทางพระโอษฐ์ พระองค์ทรงอึดอัดกังวลพระทัยด้วยอาหารอันปฏิกูล เพราะด้วยทั้งอัตภาพนั้น พระองค์ไม่เคยเห็นอาหารเห็นปานนั้นแม้ด้วยพระเนตร จึงทรงโอวาทตนด้วยพระองค์เองอย่างนี้ว่า
ดูกรสิทธัตถะ เธอเกิดในสถานที่มีโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ด้วยโภชนะแห่งข้าวสาลี มีกลิ่นหอม ซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี ในตระกูลอันมีข้าวและนํ้าหาได้ง่ายมาก ได้เห็นบรรพชิตผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปหนึ่งแล้วคิดว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักเป็นผู้เห็นปานนั้นเที่ยวบิณฑบาตบริโภค กาลนั้นจักมีไหมหนอสำหรับเรา จึงออกบวช บัดนี้ เธอจะทำข้อนั้นอย่างไร
ครั้นทรงโอวาทพระองค์อย่างนี้แล้ว ไม่ทรงมีอาการอันผิดแผก ทรงเสวยพระกระยาหาร เมื่อพวกราชบุรุษเห็นดังนั้น จึงได้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารก็รีบเสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ทรงเลื่อมใสเฉพาะในพระอิริยาบถเท่านั้น จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์
เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงต้องการวัตถุกามหรือกิเลสกามทั้งหลาย ทรงปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ จึงออกบวช และแม้ว่าพระเจ้าพิมพิสารจะทรงอ้อนวอนเป็นอเนกประการ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ทรงรับ พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ขอให้เสด็จมายังแคว้นของพระองค์ก่อน
นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนจะต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ แต่ว่าถ้าไม่เป็นทางกายจริงๆ ไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่ว่าเป็นความทุกข์ซึ่งเกิดเพราะกิเลส อย่างบางคนรับประทานยากจริงๆ เลือกมาก แต่ก็ควรที่จะได้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะตรัสรู้ แล้วก็เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ไม่เคยเห็นอาหารเห็นปานนั้นแม้ด้วยพระเนตร เพราะฉะนั้น ก็ยากเหลือเกินที่จะมีพระทัยสม่ำเสมอในการที่จะไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น เวลาคิดถึงเวลาที่มีอาหารไม่ประณีต แล้วก็มีอนุสสติระลึกถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทพระองค์เอง ก็จะทำให้ละคลายความรังเกียจ หรือความไม่สบายใจในขณะที่ได้บริโภคอาหารที่ไม่ประณีต ซึ่งก็เป็นไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แต่ต้องเริ่มด้วยการพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นในวันหนึ่งๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อที่จะให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น
เรื่องของอกุศลในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับเรื่องของกุศล คือ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วแต่ละท่านจะไม่เห็นการสะสมของกุศลแต่ละขณะ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่า ค่อยๆเพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มีอกุศลจิตที่วิจิตร ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ต่างกันออกไปในวันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงชี้ให้เห็นอกุศล ซึ่งขณะที่จิตเป็นอกุศลจะมีการกระทำทางกายและวาจาอย่างไรบ้าง ซึ่งต่างกับขณะที่จิตเป็นกุศล
ถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แล้วก็ไม่เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ ก็อาจจะคิดว่า ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าดูเหมือนรู้แล้วว่า อกุศลมีเท่าไร และอกุศลมีอะไรบ้าง แต่เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นจริงๆ รู้ไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าจะพิจารณาตัวเอง บางท่านอาจจะเริ่มพิจารณาแล้วคิดว่า เริ่มรู้จักตัวเองขึ้นบ้างแล้ว ยังไม่ละเอียด ยังไม่ถี่ถ้วน แม้วันไหนที่สติจะเกิดระลึกได้ แล้วก็จะเริ่มศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะค่อยๆรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น
นี่คือความจริงของการสะสมอย่างละเอียดของทางฝ่ายอกุศล ซึ่งการสะสมอย่างละเอียดของทางฝ่ายกุศล ก็ต้องเช่นเดียวกัน คือ ต้องเป็นผู้พิจารณาตัวเองจริงๆ ให้ตรง แล้วก็ขัดเกลาอกุศลเท่าที่สติในขณะนั้นเกิดและระลึกได้
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตในครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วก็เที่ยวไปตามลำดับตรอก แล้วก็ได้อาหารซึ่งพระองค์ไม่เคยแม้แต่ที่จะเห็น แต่เคยสะสมกุศลในอดีตมาแล้ว ก็ทำให้พิจารณาได้ถูกต้อง ทำให้ทรงเตือนพระองค์เอง ซึ่งในวันหนึ่งๆ ขณะที่ทุกท่านรับประทานอาหาร จะมีกุศลในอดีตซึ่งสะสมมาอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้ระลึกได้ และเตือนตัวเองได้ เพราะเหตุว่าทุกข์กาย ซึ่งเป็นทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง อเหตุกจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ในวันหนึ่งๆ เกิดน้อยกว่าทุกข์ใจ ซึ่งจะสังเกตได้ทุกขณะ แม้แต่ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ถ้าฟันไม่ขบลิ้น มีทุกขกายวิญญาณไหมคะ ก็ไม่มี แต่ว่าพอเห็นอาหาร แล้วก็รู้สึกว่าไม่อร่อย ไม่มีความน่าอร่อยทั้งในสี และในกลิ่น และในเสียงที่กำลังปรากฏในขณะที่บริโภคอาหาร ก็อาจจะมีเสียงเกิด ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็ลองพิจารณาให้ละเอียดลงไปว่า ทุกข์ใจเกิดมากกว่าทุกข์กาย
เวลาที่ทุกข์กายเกิด จะรู้สึกว่า ยากที่จะทน เจ็บ ปวด คัน เมื่อย แล้วถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรง ทุกข์กายนั้นก็จะเพิ่มมากทีเดียว แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่า กิเลสจะหมด ทั้งๆที่เห็นว่า เมื่อยังมีกายอยู่ มีการเกิดขึ้น ก็จะไม่มีการพ้นจากทุกข์กายได้เลย ถึงแม้ว่าจะเกิดในสวรรค์ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม เมื่อยังไม่เป็นพระอริยบุคคล คือ ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็จะต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ตราบใด ยังไม่ปรินิพพานตราบใด ทุกข์กายก็ยังหมดไม่ได้ แต่ทุกข์กายเมื่อเทียบกับทุกข์ของใจ หรือทุกข์ของกิเลสในวันหนึ่งๆนะคะ ทุกข์ใจก็ยังมากกว่าทุกข์กาย แล้วก็การที่ทุกข์กาย ซึ่งทุกคนกลัวจริงๆ กลัวเจ็บ กลัวโรคภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถที่จะดับหมดสิ้นได้ ตราบใดที่ทุกข์ใจ คือ กิเลสยังไม่ดับ ถึงแม้ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติในนรก หรือว่าเกิดเป็นมนุษย์ มีทุกข์กายมากมาย ก็ยังไม่สามารถจะดับทุกข์กายนั้นได้ จนกว่าจะดับทุกข์ใจได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ไม่สบาย แต่ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องราวและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา ก็มีมาก และถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะไม่ใช่ทุกข์ในเรื่องราวและบุคคลต่างๆ ไม่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ว่าก็ยังมีทุกข์ ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือขณะที่ทำกิจการงาน หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน เวลาที่รับประทานอาหารอร่อย สักครู่เดียวค่ะ พริกเม็ดหนึ่ง ก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ทุกข์นั้นจะเกิดจากบุคคลอื่น หรือว่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ นินทาเท่านั้น แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น หรือใครๆเลย ทุกข์ก็ยังเกิดอยู่เสมอ เป็นประจำ ทั้งทุกข์กายบ้าง และก็ทุกข์ใจบ้าง
และสำหรับผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องศึกษาธรรมที่เกิดกับตนโดยละเอียดจริงๆ เพียงแต่เห็นการสะสมอย่างละเอียดของอกุศล และการสะสมอย่างละเอียดของกุศล อย่างการสนใจธรรม เริ่มฟังธรรม เริ่มศึกษา เริ่มพิจารณาโดยละเอียด อาจจะเห็นว่าวันนั้นสติปัฏฐานไม่ได้เกิด แต่ว่ามีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น และถ้าฟังทุกวัน พิจารณาบ่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานได้เริ่มเกิดแล้ว และถึงแม้ว่าขณะที่สติปัฏฐานเริ่มเกิด ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าการฟังและการพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นปัจจัยให้เริ่มน้อมไปที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้น ทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ลองคิดดูว่า การผสมผสานของกุศลทั้งหลายที่ได้กระทำ ย่อมเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ที่จะทำให้เมื่อสติระลึก และปัญญาก็เริ่มพิจารณาสภาพธรรมได้ตรง ถูกต้อง และปัญญาจึงจะค่อยๆเจริญขึ้น แต่ทางฝ่ายอกุศลก็มีมาก ซึ่งประมาทไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสำหรับรูปธรรม เช่น การเพาะปลูก ต้นมะม่วงหวาน เวลาที่ปลูกใกล้ชิดกับต้นสะเดาขม ก็ยังทำให้รสของมะม่วงนั้นเปลี่ยนไปได้ ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไม่มีใครสังเกตเลย ทุกคนอาจจะเชื่อมั่นว่า เมื่อเป็นมะม่วงหวาน มีเชื้อของรสนั้น ก็ต้องมีรสนั้นตลอดเวลา แต่ว่าอาศัยการเสพ การคุ้นเคย สิ่งแวดล้อม การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ก็ทำให้รสของมะม่วงเปลี่ยนไปได้ ฉันใด คนที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะดับกิเลส ถ้ามีการคบหาสมาคม หรือว่ามีความประมาทในอกุศล และอาจจะไม่รู้สึกว่า การพิจารณาธรรมเริ่มไม่ตรง จะมีความโน้มเอียงไปสู่ทางผิด โดยไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเหตุว่าการโน้มเอียงไปสู่ความเห็นผิด ไม่ใช่จะปรากฏในชาตินั้นก็ได้ การคบหาสมาคมแต่ละชาติๆ ก็มีโอกาสเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งที่จะทำให้ความโน้มเอียงไปในความเห็นผิด ปรากฏขึ้นในชาติหนึ่งชาติใด ซึ่งไม่ใช่ในปัจจุบันชาตินี้ก็ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะประมาทในเรื่องของอกุศล และจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าต้องการที่จะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย มิฉะนั้นก็คงไม่ต้องมีทั้งอธิษฐานบารมีและสัจบารมี
อธิษฐานบารมี ก็คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศล ที่จะดับกิเลส เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็คิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือว่าดีกว่าคนอีกหลายคน ก็จะมีความพอใจในความดีของตนเอง ทั้งๆที่ความไม่ดีมีมาก ไม่ว่าจะบริโภคอาหาร จะกำลังสนุกสนาน จะกำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศล ในขณะที่กุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าเป็นผู้ที่ดีแล้ว ก็จะไม่เจริญกุศล แล้วก็ไม่รู้ตัวว่า อกุศลกำลังชักจูง แล้วก็ทำให้โน้มเอียงขึ้นทุกที
สำหรับผู้ที่มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญปัญญา ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังต้องมีสัจบารมี คือ การเป็นผู้จริง เป็นผู้ตรง ต่อความตั้งใจมั่นนั้น มิฉะนั้นแล้ว ตั้งใจว่า จะศึกษา ตั้งใจที่จะทำกุศล แต่ว่าถ้าไม่มีสัจบารมี ก็ย่อมหวั่นไหว และพ่ายแพ้แก่อกุศล เพราะเหตุว่าวันหลังก็ได้ หรือเมื่อไรก็ได้ ก็เป็นผู้ที่ห่างไกลจากการที่จะเจริญกุศลเพื่อจะดับกิเลส
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆว่า เรื่องของการที่จะรู้จักตัวเอง แล้วก็อบรมเจริญกุศลต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ไม่ประมาท
ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก กุรุงควรรค อรรถกถา มหิฬามุขชาดก ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวถึงการโน้มเอียงไปตามสิ่งแวดล้อม โดยที่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงแล้ว ย่อมจะไม่รู้สึกว่า การกระทำสิ่งใดควรและไม่ควร และจะเป็นเหตุให้ค่อยๆโน้มเอียงไปทางอกุศลอย่างไรบ้าง
ข้อความในอรรถกถา มหิฬามุขชาดก มีว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภท่านพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โปราณโจราน วโจ นิสมฺม ดังนี้
เรื่องมีว่า เมื่อท่านพระเทวทัตทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสแล้ว ยังลาภสักการะให้เกิดขึ้น อชาตศัตรูกุมารได้สร้างวิหารที่ตำบลคยาสีสะเพื่อพระเทวทัต แล้วนำไปเฉพาะโภชนะข้าวสาลี มีกลิ่นหอมซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี วันละ ๕๐๐ สำรับ โดยรสเลิศต่าง ๆ เพราะอาศัยลาภสักการะ บริวารของพระเทวทัตจึงเพิ่มขึ้น พระเทวทัตพร้อมทั้งบริวารอยู่ในวิหารนั่นแหละ
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ท่านพระเทวทัตเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระผู้มีพระภาค แม้ว่าท่านพระเทวทัตเองจะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การสะสมอกุศลในอดีตชาติของท่านพระเทวทัตค่อยผสมผสาน ที่จะทำให้มีความรู้สึกที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาค โดยที่แม้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาเกื้อกูลต่อสัตว์โลกโดยละเอียด แต่ท่านพระเทวทัตก็ยังคิดว่า ท่านเองเทียมเท่าพระผู้มีพระภาคได้
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นอันตราย ซึ่งมองไม่เห็นเลยค่ะว่า การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดแล้ว ก็สามารถที่จะมีความคิดอย่างนั้นได้
สมัยนั้นมีสหาย ๒ คน ผู้เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ในสองสหายนั้น คนหนึ่งบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค คนหนึ่งบวชในสำนักของท่านพระเทวทัต สหายทั้งสองนั้นย่อมพบปะกันเสมอ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านพระเทวทัตก็กล่าวกะภิกษุสหายว่า
ผู้มีอายุ ท่านจะเที่ยวบิณฑบาต มีเหงื่อไหลอยู่ทุกวัน ๆ ทำไม ท่านนั่งในวิหารที่ตำบลคยาสีสะเท่านั้น จะได้บริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่าง ๆ ข้าวปายาสเห็นปานนี้ไม่มีในวิหารนี้ ท่านจะมัวเสวยทุกข์อยู่ทำไม ประโยชน์อะไรแก่ท่าน การมายัง คยาสีสะแต่เช้าตรู่ แล้วดื่มข้าวยาคูพร้อมด้วยแกงอ่อม เคี้ยวของควรเคี้ยว ๑๘ ชนิด แล้วบริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ไม่ควรหรือ
เพียงเท่านี้ ท่านผู้ฟังก็อาจจะไม่เห็นโทษ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย ต่อการที่ภิกษุที่บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค จะไปฉันอาหารในสำนักของท่านพระเทวทัต
ชาติ ( ชา- ติ ) หมายถึงการเกิด จิตและเจตสิกเกิดขึ้นต้องเป็นชาติหนึ่ง
ชาติใด คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กริยาชาติ จะไม่เป็นชาติ
หนึ่งชาติใดไม่ได้
ขณะนี้ก็มีชาติของจิต กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นชาติวิบาก ขณะที่จิตขุ่นเคืองก็ขาติ
อกุศล ขณะที่เราตั้งใจฟังธรรมแล้วเข้าใจรู้สึกซาบซึ้งขณะนั้นจิตก็เป็นขาติกุศลและ
ก่อนจิตเห็นก่อนจิตได้ยิน ฯลฯ ก็เป็นชาติกริยา ขณะนี้ก็ไม่พ้นไปจากชาติทั้ง4
|