ครั้งหนึ่งหลวงปู่ชี้ไปที่ไฟแช็คที่วางอยู่บนกระป๋องใส่บุหรี่ แล้วท่านก็พูดว่า
"อย่างนี้ ข้าเรียกว่ายังติดอยู่"จากนั้นท่านก็หยิบไฟแช็คออกมาวน ๆ อยู่เหนือกระป๋อง แล้วท่านก็พูดว่า
"อย่างนี้ ข้าเรียกว่าไม่ติด"พวกเราเข้าใจกันว่าอย่างไร และคิดว่าจะนำไปประยุกต์ใช้เป็นข้อฝึกหัดพัฒนาตนอย่างไรครับ
สำหรับทัศนะส่วนตัวนั้น แยกเป็น ๒ คู่ คู่แรกเป็นจิตกับกาย และคู่ที่สองเป็นจิตกับธรรมารมณ์ (ความคิด)
คู่แรก : จิตกับกายหากจิตยึดในกาย (เหมือนไฟแช็ควางติดบนกระป๋องบุหรี่) แค่หลวงปู่ดีดนิ้วใส่กระป๋อง แรงสั่นสะเทือนก็ย่อมมาถึงไฟแช็คด้วย เรียกว่ากายเป็นอย่างไร จิตก็เป็นไปด้วย กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จิตก็ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะจิตหลงยึดกายไว้เต็ม ๆ
แต่พอแยกจิตกับกาย ไม่ว่าจะด้วยอำนาจแห่งสมาธิหรือปัญญาก็ตาม ความแปรปรวนแห่งกายก็ย่อมมาไม่ถึงจิต จิตที่วน ๆ ดูกาย ก็เพื่อให้แจ่มแจ้งในกองสังขารร่างกายว่าแท้จริงแล้วมันเป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สักวันหนึ่งดินต้องกลับคืนสู่ดิน น้ำกลับคืนสู่น้ำ ฯลฯ
คู่ที่สอง : จิตกับความคิดหากจิตยึดความคิดเป็นจริงเป็นจัง เหมือนคนดูหนังดูละครแล้วอินกับเรื่องราว โกรธ เกลียด รัก ชัง เศร้าสร้อยไปตามละคร ก็ชื่อว่ายึดติดกับความคิด
พอแยกจิตออกจากความคิดด้วยอำนาจแห่งสมาธิและปัญญา ก็กลายเป็นผู้ดูที่ดูอย่างมีปัญญา ดูด้วยความเป็นกลาง ๆ โดยไม่ถูกความคิดลากจูงให้ต้องตื่นเต้น โกรธ กลัว รัก ชัง ฯลฯ ไปตามความคิด การวนรอบ ๆ ก็คือการดูเพื่อให้รู้รอบในกองสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งนั้น
ข้อปฏิบัติฝึกหัดตนที่หลวงปู่พยายามจะสื่อก็คือ ให้หมั่นเจริญศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อคลายความยึดมั่นในกายหรือในความคิด ฯลฯ เมื่อจิตคลายความยึดมั่นยึดติด จิต (ผู้รู้) ก็จะยกตัวขึ้นมาเป็นอิสระ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องแปรปรวนไปตามความแปรปรวนแห่งกายสังขารหรือจิตสังขาร (ความคิด)
สุดท้ยก็ต้องกลับมาระลึกถึงคำสอนของหลวงปู่ที่ว่า ทุกอย่างมีหยาบ กลาง ละเอียด แม้ในละเอียด ก็ยังมีหยาบ กลาง ละเอียด ดังนั้น พอเราปฏิบัติให้ละเอียดเข้า ๆ ก็คงจะมีคำตอบที่ละเอียดลึกซึ้งไปตามลำดับ
-----------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์