อังคาร 14 ก.ค. 2009 6:18 pm
- saing.jpg (42.93 KiB) เปิดดู 913 ครั้ง
คำสอนคำเตือนของหลวงปู่ที่ว่า
"ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต" นี้ มีความหมายที่เอาไปปรับใช้ได้ตั้งมากมาย ไม่เพียงแต่ในแง่มุ่งความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น
ในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งทีเดียวที่เราคิดว่าเราระวังแต่ในเรื่องไม่เบียดผู้อื่น แต่เรากลับเผลอเบียดเบียนตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบียดเบียนด้วยความคิดความกังวลต่าง ๆ ไม่เว้นแม้ในกิจกรรมบุญ เช่น นั่งลุ้นนั่งวิตกว่าคนที่เราพาเขาเข้าวัดฟังธรรมจะรับธรรมะได้มากน้อยเพียงใด หรือคิดวิตกไปในอนาคตว่าจะทำนั่นทำนี่ได้ทันเวลาไหม คิดเปรียบเทียบกับใคร ๆ จนจิตเศร้าหมอง คิดโกรธไม่พอใจการกระทำของคนอื่น ปล่อยให้โทสะเผาใจเจ้าของอยู่เป็นเวลานาน ฯลฯ สารพัดความคิดที่เราทำร้ายตัวเราเอง เรียกว่าเบียดเบียนตัวเราเองโดยแท้
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า
คิดน่ะคิดได้ แต่ต้องคิดด้วยความรู้คือด้วยปัญญา คิดด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ มิใช่คิดด้วยความหลง คิดไปวิตกไป แบกความคิด แบกอารมณ์ไว้จนหนักเสียยิ่งกว่าแบกอิฐแบกปูนทีนี้เมื่อนึกถึงคำหลวงปู่ที่ว่า
"ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต" เราก็จะได้หมั่นเตือนตนเองว่า เราจะไม่เบียดเบียนตนเองให้ทุกข์เพราะความคิดความกังวล เราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ละชั่ว ทำดี แล้วก็ที่สำคัญที่สุดคือ
ทำใจให้ผ่องแผ้ว เผลอไปก็เอาใหม่ ๆ ๆ หลวงปู่ท่านให้กำลังใจเสมอว่า
"ล้มแล้วก็ให้ลุก ล้มไปก็ตั้งขึ้นใหม่" นิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์สิ้นเชิงจะเป็นอย่างไร เราไม่รู้ แต่ขอเราสัมผัสนิพพานน้อย ๆ คือความที่ไม่ต้องแบกอารมณ์ใด ๆ ไม่มีเรื่องคาใจ ลิ้มรสความสงบเย็นในหัวใจนี้เรื่อยไปก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้ทันและนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ
-----------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์