ในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านจะเตือนมิให้ลูกศิษย์ท่านเที่ยวเอาผลการปฏิบัติหรือสิ่งที่ปรากฏแก่จิตในขณะปฏิบัติสมาธิภาวนาไปเที่ยวบอกเที่ยวเล่า
ท่านว่า
"เดี๋ยวดีแตก" เพราะขาดการสำรวมระวังจิต และเปิดโอกาสให้กิเลสความหลงตัวหลงตนเข้าครอบงำได้โดยง่าย พูดภาษาโลก ๆ ก็คือ ใจคนเรามันคอยจะอวดเก่งอยู่แล้ว
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏก็ล้วนเป็นอาการของจิต หรือเป็นปีติ แล้วเรื่องของปีติแม้ในตำรับตำราจะกล่าวไว้ ๕ ประเภทใหญ่ เช่น ขนลุกขนพอง น้ำตาไหล เห็นแสงสว่าง ฯลฯ เป็นต้น แต่ในภาคปฏิบัตินั้นมีปีติปลีกย่อยเป็นร้อยเป็นพันอย่าง หรืออาจมากกว่านั้น
แล้วปีติทุกประเภทก็เป็นเพียงอาการของจิตที่บอกว่าจิตใกล้เข้าสู่ความสงบแล้วเท่านั้น ปีติมิใช่ตัวชี้วัดว่ากิเลสเราลดลงแต่อย่างใด
ดังนั้น ในหมู่นักปฏิบัติจึงมักไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่นำเอาเรื่องปีติมาซักถามครูบาอาจารย์เท่าใดนัก สิ่งที่นำมาถามมักเป็นอุบายเพื่อเข้าถึงความสงบ และอุบายพิจารณาธรรมมากกว่า ยิ่งการเห็นนิมิตด้วยแล้ว ยิ่งไม่นำมาพูด เพราะจิตของเรายังไม่หมดโลภโกรธหลง สิ่งที่เห็นจึงอาจเป็นเพียงสังขารการปรุงแต่งของจิตที่ยังมีกิเลสเท่านั้น พูดเล่าไปแล้ว มักจะเสียมากกว่าได้ ถ้าอัดอั้น ก็ควรเล่าถวายครูบาอาจารย์เพื่อแก้ข้อลังเลสงสัย มากกว่าจะเที่ยวเล่าให้หมู่เพื่อนฟัง เพราะล่อแหลมต่อการให้กิเลสความหลงตัวขึ้นขี่หัว
เล่าปฏิปทาของหลวงปู่ในเรื่องการพูดเล่าผลการปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็เพื่อการระมัดระวังไม่ให้ "ดีแตก" นี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง ปฏิปทาในวงกรรมฐาน เวลาเกิดข้อสงสัยในการภาวนา เขาก็จะพยายามปฏิบัติให้มาก หมั่นพิจารณาและสังเกตให้มาก ก็มักค้นพบคำตอบเอง มิใช่เกิดอาการของจิตทีหนึ่ง ก็จะไปพูดเล่าหรือซักถามครูบาอาจารย์ทุกครั้งไป จนกลายป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต พึ่งตัวเองไม่ได้สักที นี่หากครูบาอาจารย์กรรมฐานที่ปฏิบัติอยู่ในป่า ท่านมีอาการทางจิตแปลก ๆ เกิดขึ้น ท่านจะไปหาครูบาอาจารย์ที่ไหนให้ซักถามกันได้บ่อย ๆ นะ
นี้แหละจึงว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และก็ต้องระวังอย่ามีปฏิปทาเพื่อความหลงตน เพราะจะเสียเป้าหมายเดิมของการปฏิบัติที่ต้องการลดความโลภ ความโกรธ ความหลง--------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์