พฤหัสฯ. 16 ก.ค. 2009 1:22 pm
- toraryu2.jpg (43.93 KiB) เปิดดู 864 ครั้ง
ปฏิปทาการสอนธรรมะของหลวงปู่นั้น ในเบื้องต้น ท่านจะให้ลูกศิษย์สร้างความชำนาญในการทำสมาธิ คือ คุ้นเคยกับการทำจิตให้สงบ ตั้งมั่น เหมือนให้ชำนาญในการพักจิต หลังจากนั้น ท่านก็จะให้เขยิบเข้าสู่การพิจารณาธรรม บนฐานของจิตที่มีความตั้งมั่นนั้น
แต่ถ้าหากลูกศิษย์เอาแต่ความสงบ (เอาแต่พักจิต) โดยไม่ใช้ความเพียรพิจารณาธรรม (ภายใต้กรอบแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แล้ว หลวงปู่ท่านจะพูดให้คิดโดยพูดเชิงอุปมาว่า
“ต้มน้ำทิ้งเปล่า ๆ” กล่าวคือ สู้อุตส่าห์เสียเวลา เสียฟืน เสียไฟต้มน้ำจนร้อนแล้ว แทนที่จะเอาไปใช้ชงไมโล โอวัลติน ฯลฯ ก็กลับปล่อยทิ้งน้ำร้อนนั้นให้เย็นไปเปล่า ๆ เสียนี่ พอต้องการจะใช้งานก็ต้องเสียเวลา เสียฟืน มาต้มน้ำใหม่อีก
การภาวนาก็เหมือนกัน เมื่อได้สมาธิคือความสงบแล้ว แทนที่จะเอาไปใช้งานใช้การในการเป็นบาทฐานของการเจริญปัญญา กลับแช่นิ่งในความสงบ ปฏิบัติคราใดก็อยู่ในความสงบจนเลิกนั่งทุกครั้ง อย่างนี้เรียกว่าเสียเวลา และเสียโอกาสไปเปล่า ๆ พระพุทธเจ้าก็สอนอยู่ว่า
“ความดีที่ยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่อีก มิใช่มีเพียงเท่านี้” จงอย่าได้ประมาท ให้ขวนขวายประกอบความพากเพียรเจริญคุณงามความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะได้ไม่เสียใจว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ คำของพระพุทธองค์อีกอันหนึ่งที่น้อมนำมาเตือนใจได้ดีก็คือ จงอย่าเป็นผู้เก้อเขินในยามที่มาพบเจอหมู่คณะ เพราะในขณะที่หมู่คณะกำลังพากเพียรปฏิบัติ จนมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ๆ นั้น เรากลับทอดธุระในการประกอบความเพียร เวลาผ่านไป ๆ ก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นเลย ดีไม่ดีกลับเป็นผู้ถอยหลังไปเสียอีก ดังนั้น เวลามาพบเจอสนทนาแลกเปลี่ยนธรรมกัน เราก็จะต้องเป็นผู้เก้อเขินเพราะความเป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาทนั้นเอง
----------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์