ฌาน
โดยหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่
วันนี้จะขอพูดเรื่องการเจริญฌาน ให้พวกท่านทั้งหลายได้ฟังกัน เพื่อที่จะได้นำไปเป็นแนวทางในการปฎิบัติต่อไป ขอให้ตั้งใจกันให้ดีๆอย่าได้ส่งจิตส่งใจออกไปรับอารมณ์อย่างอื่น เพราะจะไม่มีประโยชน์เลย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนให้พวกเราบำเพ็ญสมถะ ก็คือการเจริญฌาน 4 นี่เอง คำว่าฌาน 4 ก็คือ
1.ปฐมฌาน
2.ทุติยฌาน
3.ตติยฌาน
4.จตุตถฌาน
สัมมาสมาธิ หมายความว่าให้เจริญฌานทั้งสี่ให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์หรือญาณทัสสนะ ญาณ แปลว่า ความรู้ ทัสสนะ แปลว่า ความเห็น ดังนั้นญาณทัสสนะ หมายความว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น เรียกว่ารู้ดีรู้ชอบ เห็นดีเห็นชอบ คือการเห็นร่างกายเวทนาและจิตเวทนานี่แหละ
ถ้าพูดแบบสรุปใจความฌานทั้งสี่กับวิปัสสนานี้ไม่สามารถที่แยกกันได้ เป็นคู่กันไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาอริยมรรคบุคคลแล้ว หรือเจริญมรรคหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่ปฐมมรรค เรียกว่าอนุโลมปฎิโลม ท่านหลวงปู่มั่น ท่านจึงสรุปในมุตโตทัยว่า ให้หัดมีอนุโลมปฎิโลม
อนุโลม คือการพิจารณาร่างกาย
ปฎิโลม คือการกำหนดจิต
ที่ว่าฌานทั้งสี่กับวิปัสสนาแยกกันไม่ได้ก็คือ ถ้าฌานเสื่อมวิปัสสนาก็ไปไม่ได้ ไม่สะดวกเมื่อเข้าฌานเข้าสมาธิแล้ว เมื่อถอนออกมาก็มาพิจารณารูปร่างกายของเราและเวทนา เมื่อเรานั่งนานไปจะเกิดการปวดแข้งปวดขา เรียกว่า ทุกขเวทนา
ถ้าสำเร็จฌานนับแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป เรียกว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา โดยจะมีเอกัคคตา ปีติ และความสุขเป็นเครื่องหมาย เมื่อผู้ปฏิบัติทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว เรียกว่าอิ่มกายอิ่มใจ จิตจะสงบไปเกือบตลอดวัน ไม่อยากพูดจากับใคร ไม่อยากพบกับใคร เพราะมันเกิดความสงบ ถึงเวลากลางคืน จะทำความเพียรทั้งคืนไม่นอนตลอดคืนก็ยังอยู่ได้ นี่เรียกว่า ธัมมปีติ สุขัง เสติ แปลว่าผู้มีปีติธรรมย่อมมีความสุขได้
ขอให้เข้าใจว่า ถ้าเราจะใช้แต่วิปัสสนา พิจารณาแต่รูปนาม พิจารณาไปนาน ๆ เกินกำลังของสติปัญญา มันก็ชักล้าไปเหมือนกัน พิจารณามันจะไม่ชัด ปัญญามันจะอ่อนลง จึงควรไปนั่งสมาธิ เมื่อเราไปเข้าสมาธิ เรียกว่าปฎิโลม เมื่อเราเข้าฌานจิตรวมสนิทดีแล้ว จนสำเร็จฌานมีปีติ สุข เอกัคคตา เสวยสุขอยู่ในฌานขนาดเป็นชั่วโมง ๆ หรือในบางครั้งตลอดทั้งคืนเลยก็มี
เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว จิตเป็นสมาธิที่ดี เมื่อเราพิจารณารูปร่างกาย หรือเวทนาความสุขความทุกข์ มันก็จะพิจารณาได้ชัดเจน พิจารณากายก็เห็นกายชัดเจน พิจารณาร่างกายขนาดเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในบางครั้งจนเกิดร้องไห้เพราะสลดสังเวชตนเอง บางทีเกิดเห็นตับ ไต ไส้ ก้เกิดสังเวช เมื่อเกิดสังเวชแล้ว เมื่อเราไปเข้าสมาธิอีก จิตก็จะรวมได้อีก
ตกลงว่าฌานกับวิปัสสนานี้ เป็นเครื่องรับซึ่งกันและกัน เหมือนกับตัวอย่างเช่น นายช่างเขามีเครื่องมือก็คือพวกมีดขวาน ถ้านำเครื่องมือไปใช้แต่เพียงอย่างเดียว มันก็จะหมดคมได้เหมือนกัน เมื่อหมดคมแล้วนายช่างเขาต้องเอาเครื่องมือนั้นมาลับอีก เมื่อลับได้คมเหมือนเดิมแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปใช้ได้ดีเหมือนเดิม ฉันใดก็ฉันนั้น
เราจะใช้แต่วิปัสสนาเอาแต่พิจารณาอย่างเดียวก็ทำให้ปัญญาอ่อนลงได้เหมือนกัน เราจึงต้องเข้าสมาธิเพื่อเพิ่มพลังเข้าไปใหม่ ถ้าเราไม่สำเร็จฌาณเสียก่อน เราก็จะเดินวิปัสสนาไม่ได้ ขออย่าให้เรากลัวฌาน ฌานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ในหลักธรรมท่านจึงกล่าวไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมีฌานเป็นเกราะ จงมีฌานเป็นที่พึ่ง และจงมีฌานเป็นเครื่องอยู่เถิด”
คนที่ไม่มีฌานก็คือคนสามัญที่มีจิตใจไม่สงบฟุ้งซ่าน คิดออกไปนอกกาย คิดไปตามอารมณ์สัญญา จิตยึดไม่อยู่ ก็เพราะจิตไม่มีเครื่องอยู่ นั่นเอง จิตมีเครื่องอยู่ คือมีฌาน ก็จะมีปีติ ความสุข และจิตถึงเอกัคคตา เป็นจิตดวงเดียวเกิดความอิ่มใจ นี่เป็นเครื่องอยู่ ธรรมดาจิตที่สงบนั่นแหละ เรียกว่า ฌาน
ถ้าจิตไม่สงบแล้ว เราจะพิจารณาร่างกายได้อย่างไร จะพิจารณาเวทนาหรือความสุขความทุกข์ได้อย่างไร เหมือนกับพ่อค้าไปทำการค้าขายต่างจังหวัด ถ้ายังไม่มีที่พักแล้วจะไปค้าขายที่นั่นได้อย่างไร เรียกว่าพ่อค้านั้นยังไม่มีที่อยู่ หรือแม้แต่ข้าราชการที่ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด เขาก็ยังมีบ้านรับรองให้ ถ้าเราไม่มีบ้านอยู่ ร่างกายของเราจะอยู่ได้อย่างไร นี่เป็นการเปรียบเทียบทางโลกให้ฟัง
เมื่อเราเข้าฌานได้แล้ว เราอย่าไปติดในฌาน ท่านว่าไว้ “ ถ้าไปติดในฌานก็มีบุญในฌาน ตายไปก็จะไปเกิดในรูปพรหม 16 ชั้น เรียกว่ายินดีในฌาน ติดอยู่ในฌาน” แต่ถ้าเราไม่ยินดี ถึงจะเกิดความสุขในฌาน เราก็ไม่พอใจในสุขในฌานนั้น เพราะเรารู้เท่าทันสุขในฌาน ซึ่งก็คือ สุขเวทนา
เมื่อเรารู้ถึงสุขเวทนา มันก็รู้ทันทุกขเวทนาได้เหมือนกัน สุขเวทนาที่เกิดจากฌานหรือทุกขเวทนาที่เกิดจากการปวดแข้งปวดขาหรือจากโรคภัยต่าง ๆ นั้นก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาได้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
ถ้าเรายินดีในความสุข และเศร้าใจในความทุกข์ เรียกว่าใจลำเอียงใจไม่เป็นกลาง เราต้องทำใจให้เป็นกลาง คือให้เห็นว่าสุขหรือทุกข์มีค่าเท่ากัน เป็นของคู่กัน ถ้าเราไปยึดเอาความสุข เราก็จะได้รับเอาความทุกข์มาด้วย เรียกว่าเอาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องได้แถมอีกอย่างหนึ่งเพราะเป็นของคู่กัน เช่น เราเอาความเกิดก็จะได้ความตายมาด้วย เอาความรักก็ได้ความชังมาด้วย มีร้อนก็ต้องมีหนาว เรื่องของโลกเป็นเช่นนี้ ถ้าเราไม่ยินดีในสุขในทุกข์ เห็นสุขกับทุกข์เป็นอันเดียวกัน นี่เรียกว่าจิตไม่ลำเอียง เรารู้เวทนา เรียกว่า “เวทนานุปัสสนา”
ถ้าเราจะเอาจิตออกจากมิจฉาสมาธิ ต้องเอากายกับใจเป็นหลัก ความรู้อย่างอื่นต้องปล่อยหมด ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอะไรต้องละวางให้หมด ทำใจให้เป็นกลาง ปล่อยความยินดียินร้าย ให้ตั้งอุเบกขาเป็นหลัก อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญขอให้จำให้ดี
เมื่อเราเข้าถึงฌานที่ 3 แล้ว เราท่านส่วนมากไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เข้าใจว่าหมดกิเลสแล้ว เป็นอย่างนั้นเสียโดยมาก เรียกว่า หลงฌาน หรือติดฌาน สมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กันไปเรื่อย ๆ เมื่อสมถะแก่กล้า จนกลายเป็นวิปัสสนา การพิจารณาร่างกายนี้ ก็ใช้สัญญานี่แหละเสียก่อน ขอให้จำไว้
นี่ก็พูดเรื่องฌาน มาจนพอสมควรแก่เวลา เอวัง...............................................................
จากหนังสือแก่นพระพุทธศาสนา