Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จิตชาติวิบาก

ศุกร์ 07 ส.ค. 2009 7:54 am

เมื่อ "ปฏิสนธิจิต"

ซึ่งเป็น "จิตชาติวิบาก" ดับไปแล้ว.


"ปฏิสนธิจิต" นั้นเอง

ที่เป็น "อนันตรปัจจัย" ทำให้ "จิตดวงขณะต่อไป"

เกิด-สืบต่อ ทันที.!


"จิตขณะต่อไป"

ที่เกิด-สืบต่อจาก "ปฏิสนธิจิต" ทันทีนั้น

กระทำ "ภวังคกิจ"

ขณะนั้น จึงไม่ใช่ "วิถีจิต"

และ "ภวังคจิต" เป็น "วิบากจิต"



.



ฉะนั้น


"กรรม"

ไม่ได้เป็น "ปัจจัย" เพียงแค่ทำให้ "ปฏิสนธิจิต"เกิดขึ้น

แล้วดับไป เท่านั้น.!


แต่..........

"กรรม"

ยังเป็น "ปัจจัย" ทำให้ "วิบากจิต" เกิดขึ้น

และกระทำ "ภวังคกิจ" สืบต่อจาก "ปฏิสนธิจิต" ด้วย.


.


ซึ่ง

"ภวังคจิต" ขณะแรก

ที่เกิด-สืบต่อจาก "ปฏิสนธิจิต" นั้น

ใช้ คำบัญญัติเรียก ว่า....................


"ปฐมภวังค์"


ส่วน "ภวังค์" ขณะต่อ ๆ ไป

ที่เกิดขึ้นและดับไป............

จนกว่าจะถึง "จุติจิต" (ขณะที่เคลื่อนจากภพชาตินี้) นั้น

ไม่จำเป็นต้องนับเลย.!



.



"ภวังคจิต"

กระทำกิจ เกิด-ดับ-สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ

จนกว่าจะมี "ปัจจัย" ทำให้ "วิถีจิต" เกิดขึ้น

รู้ อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง

ที่กระทบทวารใด ทวารหนึ่ง (ทวารทั้ง ๖)

ตามเหตุ ตามปัจจัย.
"วิถีจิตขณะแรก"

ซึ่งเกิดก่อน วิถีจิตอื่น ๆ

คือ

"จิต" ที่กระทำ "อาวัชชนกิจ"

ได้แก่

"อาวัชชนจิต ๒ ประเภท"

คือ

๑. "ปัญจทวาราวัชชนจิต".....กระทำ "อาวัชชนกิจ" ทางปัญจทวาร.

๒. "มโนทวาราวัชชนจิต"......กระทำ "อาวัชชนกิจ" ทางมโนทวาร.


.


"จิต" ที่กระทำ "อาวัชชนกิจ"

ทั้ง ๒ ประเภท นี้.....เป็น "กิริยาจิต"

หมายความว่า

ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และ ไม่ใช่วิบากจิต.


เพราะว่า

"กิริยาจิต" ๒ ประเภทนี้

รู้ได้ทั้ง "อิฏฐารมณ์" คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ

และ "อนิฏฐารมณ์" คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ.


.


ซึ่ง ถ้าเป็น "วิบากจิต"

หมายความว่า

"กุศลวิบากจิต" รู้ได้แต่ "อิฏฐารมณ์" เท่านั้น.

และ

"อกุศลวิบากจิต" รู้ได้แต่ "อนิฏฐารมณ์" เท่านั้น.


.


ข้อความ ใน อัฏฐสาลินี

แสดง "ลักษณะของกิริยาจิต" ว่า

เป็นเพียงการกระทำ.!


และ

แสดง "ลักษณะของกิริยาจิต"

ที่ต่างกัน โดย "กิจ" ว่า...........


ก็ในบรรดา กิริยาจิตทุกดวง ทีเดียว

"กิริยาจิตดวงใด" ไม่ถึงความเป็น "ชวนะ"

"กิริยาจิตดวงนั้น" ย่อมไม่มีผล

เหมือนดอกไม้ลม.!


(วาตปุปผํ....ซึ่ง มูลฎีกา แก้ว่า โมฆปุปผํ

หมายถึง ดอกไม้ที่ไร้ผล.)


เพราะว่า

ดอกไม้บางดอก เมื่อร่วงหล่นไปแล้ว...ก็ไม่มีผล ฉันใด.

"กิริยาจิต" ก็ ฉันนั้น.!


"กิริยาจิต" ที่ไม่ถึงความเป็น "ชวนะ"

คือ ไม่เป็น "ชวนจิต" นั้น

มี ๒ ประเภท คือ


๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต.

๒. มโนทวาราวัชชนจิต.


.


"ปัญจทวาราวัชชนจิต"

กระทำกิจเดียวเท่านั้น คือ "อาวัชชนกิจ...ทางปัญจทวาร"


.




"มโนทวาราวัชชนจิต"

กระทำกิจ ๒ กิจ

คือ

๑. อาวัชชนกิจ.......ทางมโนทวาร.

๒. โวฏฐัพพนกิจ...ทางปัญจทวาร.


.


ส่วน "กิริยาจิต" ประเภทอื่น ๆ

ซึ่งถึงความเป็น "ชวนะ"..........

เป็น "ชวนจิตของพระอรหันต์"


.


ซึ่ง ข้อความ ใน อัฏฐสาลินี

อุปมา ว่า


"กิริยาจิตดวงใด" ถึงความเป็น "ชวนะ"

"กิริยาจิตดวงนั้น".......ก็ ไม่มีผล

เหมือนดอกของต้นไม้...ที่มีรากขาดเสียแล้ว

จึงเป็นแต่เพียงการกระทำ เท่านั้น...............

เพราะเป็นไป ด้วยอำนาจให้สำเร็จกิจ เท่านั้น.


("กิริยาจิต" ที่ถึงความเป็น "ชวนะ"

คือ "กิริยาชวนวิถีจิต" ของพระอรหันต์.)


.


"ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์"

มี "กิริยาจิต" เพียง ๒ ประเภท เท่านั้น.

คือ

๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต.

๒. มโนทวาราวัชชนจิต.


.


"กิริยาจิต" ประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด

นอกจาก

"ปัญจทวาราวัชชนจิต" และ "มโนทวาราวัชชนจิต"

เป็น "กิริยาจิตของพระอรหันต์" ทั้งสิ้น.!


.


ฉะนั้น

พระอรหันต์ มี "กิริยาจิต" ที่ไม่ใช่ "ชวนะ" ๒ ประเภท

คือ "ปัญจทวาราวัชชนจิต" และ "มโนทวาราวัชชนจิต"

และ "ชวนวิถีจิต" ของพระอรหันต์

เป็น "กิริยาจิต" เท่านั้น.!


.


เพราะว่า

พระอรหันต์ ดับ กุศลจิต และ อกุศลจิต ได้ทั้งหมด

จึงไม่มี "ชวนวิถีจิต" ที่เป็น กุศล และ อกุศล อีกเลย.!

ผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่ผิด ย่อมประสบบาปไม่ใช่บุญและไม่ใช่ศรัทธาที่เป็นธรรมฝ่ายดี

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 6

๓.ปฐมขตสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต

[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเป็นคนพาล

เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้วถูก

ขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็น

บุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉนคือบุคคลไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ชมคน

ที่ควร ติ ๑ ติคนที่ควรชม ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ แสดง

ความไม่เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล

เป็นคนพาล ฯลฯและได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 192

๒. ฐานสูตร

ว่าด้วยลักษณะผู้มีศรัทธา ๓ ประการ

[๔๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้ด้วยสถาน

๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่

เพื่อจะฟังธรรม ๑ มีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มี

การบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการ

สละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส

พึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ นี้แล

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนา

จะฟังพระสัทธรรม กำจัดมลทินคือความ

ตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า ผู้มีศรัทธา.

จบฐานสูตรที่ ๒

บางส่วนจาก๘. วิสาขาสูตร ว่าด้วยรักมีเท่าไรทุกข์ก็มีเท่านั้น

[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาทของ

นางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล หลานของนาง

วิสาขามิคารมารดาเป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคาร-

มารดามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับในเวลา

เที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ

มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง นางวิสาขากราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละ

เสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ใน

เวลาเที่ยง

คำว่า กระทำกาละ (กาลกิริยา) เป็นอีกคำหนึ่งที่หมายถึง ความตาย แปลตามศัพท์

หมายถึงสิ่งที่กระทำซึ่งที่สุดแห่งอัตภาพ,สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเหล่าสัตว์สิ้นไป นอกจาก

คำว่า กระทำกาละ ที่หมายถึง ความตายแล้ว ยังมีอีกหลายคำที่หมายถึง ความตาย

เช่น จุติ ความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความแตก-

แห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย

ความตาย นั้นเป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้

อย่างเด็ดขาด ไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป

เมื่อยังมีกิเลสอยู่ยังต้องเกิดอยู่ร่ำไป สิ่งที่จะเป็นที่พี่งได้อย่างแท้จริงในชีวิตนั้น ก็คือ

ความเข้าใจพระธรรม

พระโสดาบันดับความเห็นผิดทั้งหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็จริง แต่ปัญญาของท่าน

ยังไม่เพียงพอที่จะดับโลภะที่ติดข้องในกามคุณได้ ท่านจึงยังคงละความยินดีในสิ่งอัน

เป็นที่รักไม่ได้ เมื่อยังละไม่ได้ โลภะที่สะสมไว้ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความโศก

ความโทมนัส เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งๆ นั้นเป็นธรรมดา

แต่ถึงจะดีใจ เสียใจอย่างไร ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ก็จะไม่มีความเห็นผิดเกิดอีก

เลย เพราะปัญญาของพระโสดาบัน มีความรู้ชัด เห็นถูกว่า สิ่งที่เกิดปรากฏทุกๆ ขณะ

นั้นเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

ที่เสียใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดเพราะยังมีเหตุปัจจัยให้ต้องเสียใจ ความ

เสียใจที่เกิดนั้น เกิดตามอำนาจของอกุศลที่สะสมไว้และยังไม่ได้ดับ แต่ปัญญาของ

พระโสดาบันเห็นถูกโดยตลอด ชัดเจน และไม่คลาดเคลื่อน เพราะไม่เหลือพืชเชื้อของ

ความเห็นผิดให้ท่านหลงยึดถือนามธรรมที่เสียใจนั้นว่า เป็นท่าน เป็นตัวตน หรือว่าเป็น

เพราะใครทำให้ท่านเสียใจอีก

ขณะที่จิตของพระโสดาบัน คิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความเศร้าโศก เสียใจ

ขณะนั้นปัญญาของท่านก็รู้ว่า บุคคลนั้นไม่มีจริง แต่มีสัญญาที่จำได้ว่าเป็นใคร ตาม

ความเป็นไปของจิตที่จะต้องมีการคิดถึงบัญญัติ ไม่มีใครจะสามารถห้ามความคิดนึก

ได้ เพราะความคิดเป็นธรรมะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แม้ท่านจะเป็นถึง

พระอริยเจ้าก็ตาม ท่านก็ห้ามความคิดไม่ได้ แต่ปัญญาของท่านรู้ชัดว่าขณะที่กำลังคิด

นั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่กำลังตรึก นึกไปด้วยอำนาจของกุศลธรรมบ้าง

หรืออกุศลธรรมบ้าง

ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ยังมีการคิดที่เป็นไปตามอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งท่านก็รู้

ว่าท่านยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าท่านจะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระ

อนาคามี และพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับอกุศลที่ยังไม่ได้ดับเหล่านั้นเป็นสมุจเฉทได้

ทั้งหมดตามลำดับขั้น

Re: จิตชาติวิบาก

เสาร์ 08 ส.ค. 2009 12:54 am

ขอบคุณครับ
ตอบกระทู้