พุธ 26 ส.ค. 2009 1:29 pm
- saing.jpg (42.93 KiB) เปิดดู 1062 ครั้ง
ในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิต ท่านเคยพูดเล่าถึงความละเอียดที่แฝงอยู่ในการจัดโต๊ะหมู่บูชา
หลวงปู่ท่านกล่าวว่า หากว่าโดยธรรม การที่เราจะตั้งพระพุทธรูป หรือรูปเหมือนพระสงฆ์ไว้เท่า ๆ กันก็ไม่ผิด เพราะในพระพุทธรูปที่ท่านอธิษฐานจิต ก็มีทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในรูปเหมือนพระสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นรูปเหมือนของท่าน รูปเหมือนหลวงปู่ทวด หลวงพ่อเกษม พระสีวลี พระสังกัจจายน์ ฯลฯ ก็ล้วนมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เช่นเดียวกันกัน
แต่หากจะว่าโดยสมมติ เราก็ต้องลำดับลดหลั่นลงมาตั้งแต่พระพุทธมาหาพระสงฆ์
ที่ท่านสอนนี้ ผมคิดเอาเองว่าท่านมิได้มีเจตนาจะให้ไปจัดโต๊ะหมู่แบบอวดรู้ โดยตั้งพระพุทธและพระสงฆ์ให้เสมอกัน แต่ท่านคงจะไม่ให้ยึดติดกับสมมติจนเกินไป เช่น หากที่โต๊ะหมู่บูชา หรือตู้พระ มีพระพุทธ และพระสงฆ์คละกันอยู่ ผู้ที่ยึดติดเคร่งครัดก็อาจรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อฟังหลวงปู่ท่านสอนเช่นนี้ ก็จะได้สบายใจขึ้น และจะได้ทำทุกอย่างด้วยปัญญา
การทำตามสมมตินั้นมีประโยชน์ เป็นความเรียบร้อยพร้อมเพรียงงามตา แต่ก็ต้องทำด้วยความเข้าใจว่าเรากราบรูปเหมือนท่าน เรามิได้กราบแค่อิฐ หิน ปูน ทราย หรือโลหะ หากแต่เรากำลังใช้เป็นแค่สื่อเพื่อจะนบนอบพระคุณของท่านต่างหาก
ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า เราก็นบนอบในพระบริสุทธิคุณในความหมดจนหมดกิเลส พระปัญญาธิคุณในการแยกแยะธรรมให้คนเข้าใจและปฏิบัติตามได้ และพระกรุณาธิคุณที่ท่านเดินทางไปในที่ต่าง ๆ เพื่อตรัสสอนโปรดเวไนยสัตว์ตลอด ๔๕ พรรษา แม้ขณะที่กำลังจะเสด็จปรินิพพาน ก็ยังได้โปรดพราหมณ์ผู้หนึ่งให้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย
เวลาเรากราบรูปเหมือนพระสงฆ์ ก็เคารพนบนอบในคุณแห่งศีล สมาธิ และปัญญาในองค์ท่าน การเอาตัวเองเป็นประจักษ์พยานว่าหากตั้งใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้ว มรรคผลย่อมเกิดขึ้นได้จริง ทำให้บุคคลธรรมดากลายเป็นบุคคลที่ควรแก่การกราบไหว้ขึ้นมาได้
เรื่องที่หลวงปู่ดู่สอนนี้ ทำให้ระลึกถึงเรื่องราวของหลวงปู่มั่นที่ท่านเล่าไว้ว่า ท่านเคยเห็นนิมิตพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นั่งคละกันอยู่ดูแปลก ๆ แต่พอดูใหม่ พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกก็กลับนั่งลดหลั่นไปตามลำดับ
ความรู้ที่เกิดกับหลวงปู่มั่นก็คือ นิมิตแรกนั้น แสดงถึงว่าหากว่าโดยธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกนั้นเสมอกันโดยธรรม คือความหมดจดจากกิเลสเสมอกันหมด ดังนั้น จะนั่งเสมอกันก็ไม่ผิด แต่นิมิตอันหลังนี้แสดงการลำดับไปตามสมมติหรือโลกนิยมเท่านั้น
เรื่องนี้จึงสอนว่า เรายังคงจำเป็นต้องทำไปตามสมมตินั่นแหละ เพื่อความเรียบร้อยงดงามและไม่ถูกตำหนิติเตียนจากผู้มาพบเห็น แต่ในใจเราก็ให้มีปัญญา ทำทุกอย่างด้วยความรู้และเข้าใจ ทำด้วยปัญญา มิใช่ด้วยความยึดติดเคร่งเครียด
----------------------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์