ในบรรดาพระบูชาที่หลวงปู่ท่านสร้างซึ่งโดยทั่วไปจะสร้างด้วยปูนซีเมนต์แล้วก็ทาสีทอง (สมัยแรก ๆ จะปิดทองคำเปลวที่เรียกว่าทองวิทยาศาสตร์ คือไม่ใช่ทองคำแท้) ที่เป็นรูปเหมือนพระอริยสงฆ์ ได้แก่ พระสีวลี พระสังกัจจายน์ พระอุปคุต หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ และหลวงพ่อเกษม
สำหรับพระสังกัจจายน์นั้นมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าท่านเป็นสัญลักษณ์ของลาภเพราะดูจากความสมบูรณ์ขององค์ท่าน แต่ที่ถูกต้องนั้น พระสีวลีต่างหากที่เป็นเอตทัคคะหรือพระสาวกที่เด่นในเรื่องลาภ
พระสังกัจจายน์นั้นเป็นพระอสีติมหาสาวกที่เป็นเลิศด้านขยายและย่นย่อธรรม เรียกว่าแค่ยกหัวข้อมา ท่านก็สามารถบรรยายเป็นพิสดาร หรือหากใครแสดงธรรมตั้งมาก ท่านก็สามารถย่นย่อให้สั้นเข้าได้ จึงเป็นที่ไว้วางใจของพระพุทธเจ้าให้ประกาศธรรมแทนพระองค์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกตะวันตกของอินเดียที่พระพุทธเจ้ามิได้เสด็จไปด้วยพระองค์เอง
ตามประวัตินั้น พระสังกัจจายน์เดิมเป็นอำมาตย์ของกษัตริย์ทางซีกตะวันตกของอินเดียนามว่าพระเจ้าจันทปัตโชติ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย ชอบสั่งประหารชีวิตคน แต่มาภายหลังได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้า จึงส่งอำมาตย์มากราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรดบ้าง แต่อำมาตย์ที่ส่งไปกี่คน ๆ พอไปถึงพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดศรัทธาพากันบวชหมด แถมยังไม่ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าเสียอีก กระทั่งมาถึงอำมาตย์ผู้ที่มาเป็นสังกัจจายน์นี้แหละจึงได้นิมนต์อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยความที่พระพุทธองค์เห็นความสามารถของพระสังกัจจายน์ จึงได้มอบหมายหน้าที่เผยแผ่ให้แก่พระสังกัจจายน์
ถ้าเราไปอินเดีย ไปเห็นการแกะพระพุทธรูปจำนวนมากในถ้ำทางตะวันตกของอินเดีย ก็ให้ระลึกถึงการวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่แถบนี้ ตั้งแต่ครั้งพระสังกัจจายน์
นอกจากนี้ ยังมีผู้สับสนระหว่างพระสังกัจจายน์กับพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าของพระพุทธศาสนามหายานที่นิยมสร้างกันในประเทศจีน เพราะต่างก็สร้างเป็นองค์อ้วน ๆ เช่นกัน จุดต่างที่สังเกตง่าย ๆ ก็คือพระจีนนิยมสร้างให้เห็นความสุขสำราญ มีอาการหัวเราะ ในขณะที่พระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์สาวก จะสร้างแบบนั่งสมาธิสงบสำรวม แต่อันที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ย่อมได้ลักษณะมหาบุรุษ ดังนั้นคงไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดรูปร่างอ้วนอย่างนั้นหรอก เขาก็สร้างเป็นเพียงต้องการสื่อให้เห็นถึงความเชื่อว่ายุคท่านจะอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีแต่ความสุข สรุปก็คือองค์หนึ่งเป็นพระสงฆ์สาวกในอดีต ส่วนอีกองค์หนึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าในอนาคต
จริง ๆ แล้วพระสังกัจจายน์ เดิมทีก็มิได้อ้วนเช่นนั้น หากแต่ด้วยความที่ท่านบำเพ็ญจนได้ลักษณะมหาบุรุษบางประการจึงทำให้ท่านได้รูปร่างที่งดงาม จนบางครั้งมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น ด้วยความเคารพอย่างสูงสุดของท่านที่มีต่อพระพุทธองค์ ท่านจึงอธิษฐานร่างให้อ้วนขึ้นมา ทำให้ใคร ๆ ไม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าอีก ท่านจึงเป็นพระอริยสงฆ์สาวกสำคัญอีกองค์หนึ่งที่ควรแก่การกราบไหว้สักการะบูชา
---------------------------------------------- บทความจากพี่พรสิทธิ์
_________________ ชาตินี้ไม่จริง ชาติไหนก็ไม่จริง
|