การฝึกตนนั้นมันเต็มไปด้วยการฝึกการฝืน เพราะธรรมชาติของคนเราก็เหมือนธรรมชาติของน้ำที่คอยจะไหลลงต่ำเสมอ คนที่บัญญัติศัพท์คำว่า "อบรม" นี่ช่างเหมาะเจาะจริง ๆ คือทั้งอบทั้งรม เหมือนไม้ที่จะเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องผ่านการอบให้แห้ง ไม่ให้ยืดหรือหดตัว แล้วก็ยังมีการรมกันเชื้อราและเพิ่มความสวยงาม จึงสามารถนำไปใช้งานใช้การได้ดี
อย่างที่พระท่านสวด "กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมาฯ" ธรรมชาตินั้นมีทั้งที่เป็นกุศล อกุศล และกลาง ๆ ธรรมชาติของเด็กก็เช่นกัน หากเราไม่สอนให้เขารู้จักขับถ่าย ทิ้งขยะให้ถูกที่ เขาก็จะทำไปตามสะดวกด้วยความไม่รู้ นี้เรียกว่าธรรมชาติที่เป็นอกุสลา แต่เพราะคุณพ่อคุณแม่สอนเขาฝึกเขา เขาจึงรู้จักข้อปฏิบัติที่เป็นกุสลา
หลวงปู่สอนให้ภาวนาไว้เสมอ เป้าหมายก็คือพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งขึ้น ๆ ทั้งด้านสมาธิและปัญญา ก็โดยอาศัยการฝึกการฝืน ซึ่งธรรมชาติที่เป็นอกุสลามันก็คอยจะบอกเราว่า "ยังเช้าอยู่ขอพักผ่อนอีกหน่อย หรือไม่ก็ดึกไปแล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้ตื่นไปทำงานไม่สดชื่น นอนก่อนดีกว่า หรือวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว พรุ่งนี้ค่อยปฏิบัติใหม่ หรือเวลาโกรธใครก็อาจบอกตัวเองว่าขอพูดให้สะใจก่อนเถอะน่า แล้วค่อยปล่อยวาง ฯลฯ สารพัดที่กิเลสจะมีเหตุผลโน้มน้าวจิตใจเราให้เปลี่ยนจากกุลาธัมมา เป็นอกุสลาธัมมา
หากคิดว่าเป็น
"ปลาเป็น" ก็ต้องออกแรงว่ายทวนน้ำ เว้นเสียแต่เป็น
"ปลาตาย" ก็ปล่อยกายปล่อยใจให้ไหลไปตามน้ำ ตามกระแสของกิเลสคือความอยาก
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"บัณฑิตพึงฝึกตน" ดูเครื่องหวายสิ กว่าจะทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่น่าใช้ ก็ล้วนต้องผ่านกระบวนการอบ การดัด การรม ฯลฯ จิตของเราก็เหมือนกัน มันต้องอาศัยการดัด การทำให้มีความเห็นให้ตรง การทำให้แกล้วกล้าอาจหาญร่าเริงในการปฏิบัติ การให้ให้เข้มแข็งไม่ย่อท้อต่ออารมณ์ที่ยั่วยุไปในทางขาดสติ
มันทรมานจริง ๆ สำหรับผู้ฝึกตัว แต่มันก็ให้ผลที่คุ้มค่าเป็นความสุขเย็นทั้งแก่ตัวเราเองและคนรอบข้างไปตามลำดับ กระทั่งการฝึกการฝืนของเรามันเป็นปรกติ เมื่อนั้นคำว่าทรมานก็จะหายไปในที่สุด
-------------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์