Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 4:09 am

การเขียนบทความนี้ ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีความละเอียดอ่อนมาก หากแต่ต้องการถ่ายทอดทัศนะในฐานะพุทธบริษัทคนหนึ่ง ที่ปรารถนาจะเห็นความยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา จึงตัดสินใจบันทึกข้อคิดเห็นไว้เผื่อจะเป็นข้อฉุกคิดสำหรับบางท่าน

ความเห็นแรกอันเป็นส่วนพื้นฐานที่อยากให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญคือความจริงที่ว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้ว ค่อนข้างไปในทางสุดโต่งอยู่เป็นพื้น เช่น

• ถ้าไม่หลงในกามสุข ก็มักสุดโต่งไปในทางเคร่งเครียดเบียดเบียนตน

• ถ้าไม่หลงคำสอนครูบาอาจารย์จนละเลยคำของพระพุทธองค์ ก็สุดโต่งไปในทางจะยอมรับเฉพาะพระพุทธวัจนะ แล้วปฏิเสธหรือรังเกียจคำครูบาอาจารย์ไปเลย โดยลืมไปว่าคำของครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็อยู่ในกรอบแห่งพระพุทธโอวาทโดยแท้ แค่ปรับเปลี่ยนสำนวนโวหารและภาษาให้เหมาะแก่ชุมชนที่จะสามารถเข้าใจและเก็บเกี่ยวสาระได้โดยง่ายเท่านั้น

• บ้างก็ยึดมรรคข้อใดข้อหนึ่งมามุ่งเน้นจนละเลยองค์รวมของมรรคมีองค์แปด และอาจเลยเถิดไปถึงการมองมรรคบางข้อเป็นข้อน่ารังเกียจไปก็มี

จากธรรมชาติที่คนเราค่อนไปทางสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง แล้วผนวกเข้ากับวัตถุนิยมที่ชอบผลที่รวดเร็วทันใจ จึงมักนำไปสู่การบัญญัติทางลัดตรงในการปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหากไม่ทิ้งมรรคมีองค์แปดคือศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นสิกขาหรือข้อฝึกที่เป็นกรอบหลักของการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา แล้วสอนไปตามเทคนิคที่แตกต่างกันตามความถนัดของครูบาอาจารย์ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะในสมัยพุทธกาลก็ยังมีผู้สำเร็จและเชี่ยวชาญต่าง ๆ กัน แต่ลงกันได้เพราะเข้าถึงปฏิเวธคือผลแห่งการปฏิบัติอันเดียวกัน คือความสิ้นกิเลส และสิ้นทุกข์ทางใจ

แต่ปัญหาเริ่มเกิดให้เห็นชัดเจนว่าบางสำนักกำลังละเลยมรรคข้ออื่น ๆ จนคำว่า “มรรคสมังคี” หรือการปฏิบัติแบบองค์รวมกำลังถูกละเลย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่จะตลาดเคลื่อนจากมรรคปฏิปทาของพระพุทธองค์ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านไม่ให้ทิ้งองค์ธรรมโดยรวม เช่น ปฏิบัติข้อเมตตาก็ต้องไม่ทิ้งอุเบกขา มิเช่นนั้นก็อาจให้โทษ กลายเป็นเมตตาพาตกเหว หรือปฏิบัติข้อศรัทธาก็ต้องไม่ทิ้งข้อปัญญา มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นความงมงาย หรือปฏิบัติธรรมข้อธรรมวิจยะ (พิจารณาธรรม) ก็ต้องไม่ทิ้งสมาธิ ไม่อย่างนั้นกลายเป็นความฟุ้งซ่านและเหน็ดเหนื่อย ในทางกลับกัน การปฏิบัติธรรมข้อสมาธิก็ต้องไม่ทิ้งวิริยะ ไม่อย่างนั้นก็จะจมอยู่ในความสงบ กลายเป็นสมาธิหัวตอไป เป็นต้น

ทีนี้ก็วกเข้ามาตรงประเด็นของเรื่องการดูจิต ถามว่าการดูจิตนั้นอยู่ในมรรคข้อใด คำตอบคือ สัมมาสติ โดยเป็นเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากการดูจิตแล้ว พระพุทธองค์ยังสอนเรื่องการดูกาย ดูเวทนา และดูธรรม โดยในบาลีท่านไม่ได้ใช้คำว่าดู หากแต่ใช้คำว่าระลึกอันเป็นหน้าที่ของสตินั่นเอง คือ ระลึกในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งพูดโดยรวมก็คือระลึกในกาย-ใจ นั่นเอง ถามว่าระลึกไปทำไม คำตอบคือท่านสอนให้หมั่นระลึกเพื่อให้คลายความหลงยึดมั่นว่ากายใจหรือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จริง ๆ จัง ๆ โดยให้เห็นความจริงว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นก้อนนิจจัง ก้อนทุกขัง ก้อนอนัตตา ที่ใคร ๆ ไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างที่ใจต้องการได้

การมีสติระลึกในกายในใจจึงเป็นมรรคที่สำคัญยิ่งที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายต่างก็สอน สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดหมั่นดูจิต รักษาจิต ผู้นั้นจักพ้นบ่วงแห่งมาร” แต่การสอนของครูบาอาจารย์บางท่านในยุคนี้ กลับต่างจากครูบาอาจารย์สมัยก่อน ที่ท่านสอนครบทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา เดี่ยวนี้จะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติในแนวดูจิตจะรังเกียจการทำสมาธิภาวนา เพราะเกรงจะติดสมถะ(ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีให้ติด)บ้าง เกรงจะเป็นการกดข่มกิเลสบ้าง รวมไปถึงการรังเกียจต่อการใช้ความคิด เพราะเกรงจะเป็นการแทรกแซงการดูจิตให้เป็นไปแบบธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่การใช้ความคิดในครรลองแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นคือการทำหน้าที่ของตัวปัญญาอันเป็นมรรคที่สำคัญอีกหมวดหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าจะสังเกตว่าผู้ที่ปฏิบัติในแนวดูจิต แทนที่จะเป็นผู้เห็นผลและแจ่มแจ้งแก่ตนเองถึงผลการปฏิบัติยิ่งกว่าแนวทางอื่น ๆ เพราะเป็นผู้เฝ้าสังเกตตัวเองโดยตลอด กลับเป็นว่าต้องคอยให้ครูบาอาจารย์มาพยากรณ์เพื่อให้ทราบผลหรือความคืบหน้าในการปฏิบัติของตน ซึ่งขัดกับหลักการที่ว่าธรรมะเป็นปัจจัตตัง รับประทานอาหารเอง ก็ควรรู้ความอิ่มด้วยตนเอง

โดยสรุปก็คือ การดูจิตเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นหนึ่งในสัมมาสติ หากแต่จำเป็นต้องปฏิบัติร่วมกับสัมมาสติข้ออื่น ๆ (ด้วยความเคารพในธรรม) รวมทั้งร่วมกับมรรคข้ออื่น ๆ ทั้งในหมวดศีล หมวดสมาธิ และหมวดปัญญา จึงจะถึงพร้อมด้วยพื้นฐานที่แน่หนามั่นคงเพียงพอ (ศีล) รวมทั้งมีกำลัง (สมาธิ) และความคม (ปัญญา)

การจะละอะไร หากจะดูให้มันดับไป มันก็จะเป็นความดับหรือความว่างที่ไม่ยั่งยืน เดี๋ยวมันก็กำเริบอีก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดพิจารณาจนจิตยอมรับความจริงในความเที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสียก่อน กระทั่งเกิดธรรมสังเวช เพื่อให้จิตมันคลายความยึดมั่นของมันเอง เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษ หมดความยินดีที่จะไปยึดมันไว้อีก

การดูจิตแล้วว่าถึงพร้อมด้วยองค์มรรคข้ออื่น ๆ คือจะเป็นศีลและปัญญาขึ้นพร้อมสรรพในขณะนั้น ก็ยังฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์จะสอนมรรคข้ออื่น ๆ ให้เป็นการเนิ่นช้าทำไม และหากการดูจิตเป็นของง่ายที่ใคร ๆ ก็เริ่มที่การดูจิตได้เลย พระพุทธเจ้าจะสอนกรรมฐานไว้ตั้งมากมายหลากหลายวิธี เพื่อจะตะล่อมให้จิตอยู่วงจำกัดและอยู่ในอาการทรงตัว ดังที่เรียกว่า “สภาพที่จิตอ่อนโยนควรแก่การงาน” ทำไม ?

ที่สำคัญ ข้อวัตร หรือศีลเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดหลวงปู่มั่นเมื่อครั้งปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ท่านตรวจสอบพบว่าท่านยังบกพร่องการทำข้อวัตรอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ และเมื่อท่านได้กลับมาทำข้อวัตรนั้น ท่านจึงผ่านอุปสรรคไปได้ นี้จึงเป็นประจักษ์พยานว่าศีลหรือข้อปฏิบัติทางกายหรือทางความประพฤติเป็นสิ่งที่จะเป็นฐานของการปฏิบัติทางจิตที่สำคัญ ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็น่าจะสอนแต่สมาธิและปัญญา หรือไม่ก็สอนแต่ปัญญา ๆ ไปเลยจะไม่ลัดตรงกว่าหรือ

การรังเกียจการทำกรรมฐาน ทั้ง ๆ ที่กรรมฐานที่นอกจากจะทำให้จิตอ่อนโยนควรแก่การงานทางปัญญาต่อไปแล้ว กรรมฐานยังนำมาซึ่งเครื่องอยู่หรือวิหารธรรมที่จะช่วยให้จิตเจ้าของอยู่ในสภาพที่มีพละกำลัง รวมทั้งอิ่มเย็น ทำให้จิตไม่โหยหาอารมณ์ หรือใคร่จะหาอารมณ์ใด ๆ มาป้อนให้มัน อันจะทำให้หลงอารมณ์หรือหลงโลก เหมือนคนที่ไม่อาจดูหนังดูละครอย่างผู้รู้เท่าทัน มีแต่จะหลุดเข้าไปเป็นพระเอก-นางเอกอยู่ในละครชนิดไม่รู้ตัวนั้นเอง

สรุปก็คือ ท่านที่ทำการดูจิต ก็ขอจงปฏิบัติต่อไป แต่ได้โปรดเชื่อพระพุทธเจ้า โดยการปฏิบัติมรรคอื่น ๆ ให้ถึงพร้อม อย่าได้ดูแคลนมรรคข้ออื่น ๆ เป็นต้นว่าการดูกาย การทำกรรมฐาน ฯลฯ เป็นเรื่องพื้น ๆ เป็นเรื่องหยาบ ๆ เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ขอจงอย่าเป็นผู้บั่นทอนอายุพระพุทธศาสนาโดยมิได้ตั้งใจด้วยการกล่าวหรือเผยแพร่ธรรมที่ขัดกับพระพุทธโอวาท ขอจงประพฤติและเผยแผ่ธรรมโดยใจเคารพเอื้อเฟื้อเถิด

...................................................................


หมายเหตุ : บทความจากศิษย์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านหนึ่งที่ภาวนาได้ดีจนได้รับการรับรองจากครูบาอาจารย์หลาย ๆ องค์รวมทั้งองค์ปฐมอาจารย์ด้วยคือ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ซึ่งผมได้ขอร้องให้ท่านได้เมตตาแสดง "ธรรมทรรศนะ" คือ ความเห็นในธรรมของท่านที่มีต่อการปฏิบัติภาวนาแบบ "ดูจิตล้วน" ซึ่งท่านก็เมตตาตอบรับและได้เขียนบทความธรรมะนี้ขึ้นมา ขอทุกท่านได้โปรดศึกษาด้วยใจเที่ยงธรรมและเป็นกลาง ก็จะได้ของดีติดมือกลับไป สมดังพุทธพจน์ที่ว่า "สุสสุสัง ลภเต ปัญญัง" ... ฟัง(อ่าน)ด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

ด้วยความเคารพ
รณธรรม ธาราพันธุ์

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 9:34 am

กราบขอบพระคุณ ท่านผู้แสดง และ ท่านผู้นำมาเผยแผ่ด้วยฮะ

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 1:15 pm

จริงแท้ เคยวิพากษ์ร่วมกับชาวศรีลังกาบุตรชายของสถานปฏิบัติธรรม ในแนวสติปัฏฐาน 4
ว่าการทรงสติปัฏฐานล้วน แล้วจะให้ยกเข้าเป็นวิปัสสนา โดยไม่มีสมถะอันดีรองรับ เหมาะสมเพียงผู้มีปัญญา อินทรีย์กล้า ไม่ใช่ทำได้ทุกคน
พระอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านเมตตาสอนการดูจิต ท่านทรงปัญญาและสมาธิ หลายท่านในปัจจุบันเข้าถึงธรรมชั้นสูง แต่บรรดาผู้ติดตาม และตีความต่างหากที่น่าเป็นห่วงว่าจะเอนเอียงไปตามคติส่วนตน ยังไม่ทันเข้าถึงธรรมพื้นฐาน จะเข้าถึงธรรมชั้นสูงได้อย่างไร แต่เป้าหมายที่ชัดเจนนั้นก็น่าอนุโมทนา ถ้าตั้งใจจริงก็ยิ่งประเสริฐ
อุปมาหนองน้ำคือจิต ปลาคือกิเลส ทั้ง 1500 ปลาอยู่ในหนองน้ำ คนหาปลาจะเดินอ้อมเดินเฉียงมาจากทิศไหน ขอเพียงอย่าหันหลังกลับ สุดท้ายก็ถึงบ่อน้ำ พระอาจารย์ท่านกลัวศิษย์จะหลงทาง ชี้ทางลัดให้ ศิษย์หลายคนก็รีบร้อนวิ่งมาที่หนอง กลัวแต่ยังไม่มีอุปกรณ์และภาชนะจับปลา แล้วได้แต่ยืนดูปลาผลุบโผล่ แต่ไม่มีวิธีทำให้ได้ปลามาทำแกง ต้องย้อนมาเอาอุปกรณ์ไปด้วย จะเสียเวลาไปโดยเปล่าดาย
นิโรธ เดียวกัน ยังมีหลายสถานะ จะเป็นสุกขวิปัสสโก หรือ เจโตวิมุตติ จะถึงเร็วหรือช้า ก็อยู่ที่โพธิปักขิยธรรมส่วนบุคคล

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 7:34 pm

ขอบพระคุณครับ

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 10:18 pm

เห็นด้วยทุกประการครับผม :P

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

อังคาร 15 ก.ย. 2009 10:38 pm

ขอบพระคุณครับ :D

Re: การดูจิต… มรรคที่ถูกต้อง แต่ไม่สมบูรณ์

พุธ 16 ก.ย. 2009 10:30 pm

ขอบพระคุณ ท่านผู้แสดง และ ท่านผู้นำมาเผยแผ่ด้วยครับ
ตอบกระทู้