พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 17 ก.ย. 2009 8:53 pm
จำแนกจิต
โดย
โลกิยจิต และ โลกุตตรจิต.
.
ก่อนอื่น
ควรเข้าใจ ความหมายของคำว่า
"โลก" ในวินัยของพระอริยเจ้า.
.
พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง
ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๕
ปโลกสูตร.
ซึ่ง มีข้อความ ว่า
(๑๐๑)
ครั้งนั้นแล
ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคฯ ถึงที่ประทับ
ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคฯ ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่เรียกกันว่า โลก ๆ ดังนี้
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกกันว่า โลก."
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า
"ดูกร อานนท์
สิ่งใด มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
นี้ เรียกว่า โลก ในอริยวินัย.
ก็อะไรเล่า
มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา.
จักขุ แล มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา
รูป มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา
จักขุวิญญาณ มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา
จักขุสัมผัส มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา.
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส เป็นปัจจัย
มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา ฯลฯ......"
.
ตลอดไปจนถึง
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ.
.
เป็นธรรมดาของพระอริยเจ้า.
แต่ ไม่ใช่ธรรมดา
สำหรับ ผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม.
ฉะนั้น
จะเห็นได้ว่า
ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล
ต้องประจักษ์การเกิด-ดับ ของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ
ตามปกติ ตามความเป็นจริง.
.
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า
"ดูกร อานนท์
สิ่งใด มีความแตกสลายไป เป็นธรรมดา
นี้ เรียกว่า โลก ในอริยวินัย ฯ"
.
"โลก"
คือ ทุกสิ่งที่เกิด-ดับ
ฉะนั้น
สภาพธรรมซึ่งไม่เกิด-ดับ เท่านั้น.....ที่ไม่ใช่ "โลก"
.
สภาพธรรมที่พ้นจากโลก-เหนือโลก....เป็น "โลกุตตระ"
คือ
"พระนิพพาน"
เมื่อจำแนกจิต
เป็นประเภท โลกิยะ และ โลกุตตระ นั้น
.
จิต ที่ไม่ประจักษ์แจ้ง ลักษณะของนิพพาน
คือ จิต ที่ไม่มีนิพพาน เป็นอารมณ์.
จิต ขณะนั้น เป็น "โลกิยจิต"
.
จิต ที่มี นิพพาน เป็นอารมณ์ โดย ดับกิเลส
หรือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดย ดับกิเลสแล้ว.
จิต ขณะนั้น เป็น "โลกุตตรจิต"
.
ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล นั้น
ต้องอบรมเจริญ "โลกิยปัญญา"
ซึ่ง รู้ ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม.
.
"โลกิยปัญญา"
ไม่ใช่ความรู้ ในการสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เป็นต้น.
หมายความว่า
ความรู้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ การรู้ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม
ไม่ใช่ "โลกิยปัญญา" ในพระพุทธศาสนา.
.
"โลกิยปัญญา"
รู้ ลักษณะของ "โลก"
ซึ่งก็คือ
รู้ สภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ.
ซึ่ง สภาพธรรม ที่เป็น โลก" เหล่านี้
ไม่ใช่ "นิพพาน"
.
ฉะนั้น
นอกจาก
มัคคจิต ๔ ประเภท ซึ่งเป็น "โลกุตตรกุศลจิต"
ที่มี นิพพาน เป็นอารมณ์ โดย ดับกิเลส.
และ
ผลจิต ๔ ประเภท ซึ่งเป็น "โลกุตตรวิบากจิต"
ซึ่งมี นิพพาน เป็น อารมณ์ โดย ดับกิเลสแล้ว.
จิตประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด
เป็น "โลกิยจิต"
.
โลกุตตรจิต มี ๘ ประเภท
จำแนกเป็น ๔ คู่
คือ
โสตาปัตติมัคคจิต ๑.
โสตาปัตติผลจิต ๑.
.
สกทาคามิมัคคจิต ๑.
สกทาคามิผลจิต ๑.
.
อนาคามิมัคคจิต ๑.
อนาคามิผลจิต ๑.
.
อรหัตตมัคคจิต ๑.
อรหัตตผลจิต ๑.
.
เมื่อ โสตาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้น
ทำกิจ ดับกิเลส
โดยมี นิพพาน เป็นอารมณ์....ดับไปแล้ว.
เป็นปัจจัยให้ โสตาปัตติผลจิต ก็เกิดสืบต่อทันที
โดย มี นิพพาน เป็นอารมณ์
โดย ทำกิจ ดับกิเลสแล้ว.
.
โสตาปัตติมัคคจิต เป็น "โลกุตตรกุศลจิต"
ซึ่งเป็นปัจจัย ให้ "โลกุตตรวิบากจิต" คือ โสตาปัตติผลจิต เกิดขึ้น
ซึ่ง ต้องเกิดสืบต่อจาก โสตาปัตติมัคคจิต ทันที
โดยไม่มี จิตอื่น เกิดคั่นได้เลย.!
.
ฉะนั้น
การให้ผลของ โลกุตตรกุศลจิต นั้น
ให้ผล ทันที.!
เป็น "อกาลิโก"
คือ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า.
.
อกุศล และ กุศล อื่น ๆ นั้น
จะให้ผลทันทีที่ดับไป อย่างเช่น โลกุตตรกุศลจิต
ไม่ได้เลย.!
.
ผู้ที่ อบรมเจริญสมถภาวนา
จนกระทั่ง "ฌานกุศลจิต" เกิดแล้ว
จะยังไม่มี "ฌานวิบากจิต" เกิดขึ้น
ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์.
เพราะว่า
"ฌานวิบากจิต"
ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ
ในพรหมโลก.
.
ผู้ที่ "ฌานกุศลจิต" ไม่เสื่อม
ฌานกุศลจิต จะเกิดก่อนจุติจิต
เมื่อ จุติจิต ดับไป
ฌานกุศลจิต ที่เกิดก่อนจุติจิต นั้นเอง
เป็นปัจจัยให้ ฌานวิบากจิต ทำกิจ ปฏิสนธิ
ใน พรหมภูมิใด พรหมภูมิหนึ่ง.
.
เช่น
ปฐมฌานกุศลจิต.
เป็นปัจจัยให้ ปฐมฌานกุศลวิบากจิต
ทำปฏิสนธิกิจ ใน ปฐมฌานพรหมภูมิ.
.
สูงขึ้นไป ตามลำดับของ ฌานกุศลจิต.
จนถึง
อรูปฌานกุศลจิต.
คือ
อากาสานัญจายตนกุศลจิต.
ซึ่งเป็นปัจจัยให้ อากาสานัญจายตนวิบากจิต
ทำปฏิสนธิกิจ ใน อากาสานัญจายตนภูมิ.
.
และ สูงขึ้นไปตามลำดับของฌานกุศลจิต.
จนถึง
เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต.
ซึ่งเป็นปัจจัยให้ เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต
ทำปฏิสนธิกิจ ใน เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ.
.
กรรมอื่น ๆ นั้น
ต้องมีจิตอื่น เกิดคั่น มากมาย
กว่าจะถึง กาล ที่กรรมนั้น ๆ จะให้ผล.
แต่
กรรม ประเภทเดียว ที่ให้ผล สืบต่อ ทันที
โดยที่ จิตอื่น เกิดคั่นไม่ได้เลย.!
คือ
"โลกุตตรกุศลกรรม"
.
หมายความว่า
ทันที ที่ โลกุตตรกุศลจิต ดับไป
โลกุตตรวิบากจิต
ต้องเกิดสืบต่อทันที่.!
เพราะว่า
โลกุตตรวิบากจิต
ไม่ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และกิจอื่น ๆ
เช่นเดียวกับ วิบากจิตประเภทอื่น ๆ เลย.!
ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคนีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์
อธิบาย จูฬันตรทุกะ มีข้อความว่า
ชื่อว่า "โลกียธรรม"
เพราะประกอบใน โลก โดยเหตุที่นับเนื่องอยู่ใน โลก นั้น.
ชื่อว่า "อุตตรธรรม"
คือ ธรรมอันยิ่ง เพราะข้ามพ้นขึ้นจาก โลก นั้น.
ชื่อว่า "โลกุตตรธรรม"
เพราะ ข้ามพ้นขึ้นจาก โลก นั้น
โดย เหตุ ที่ไม่นับเนื่องอยู่ใน โลก.
.
จิต เจตสิก รูป
เป็น สังขารธรรม.
เป็น สภาพธรรมที่เกิด-ดับ.
แม้
โลกุตตรจิต และ เจตสิก
ที่มี นิพพาน เป็นอารมณ์
ก็ เกิด-ดับ.
แต่ ที่จำแนกจิต
โดยเป็น โลกิยจิต และ โลกุตตรจิต นั้น
ก็เพราะ โลกุตตรจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์
โดย ดับกิเลส (มัคคจิต) และ โดย ดับกิเลสแล้ว (ผลจิต)
.
ข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒
โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส
ตรงกับ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุญญสูตร ข้อ ๑๐๒
ซึ่ง มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล
ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคฯ ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่เรียกว่า โลกว่างเปล่า ๆ ดังนี้
ด้วยเหตุเพียงไรหนอ
จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า."
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า
"ดูกร อานนท์
เพราะว่างเปล่าจากตน หรือ จากของตน.
ฉะนั้น
จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า.
อะไรเล่า
ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน.
จักขุ แล ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
รูป ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
จักขุวิญญาณ ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
จักขุสัมผัส ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้น เพราะ จักขุสัมผัส เป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน.
ฯลฯ
ใจ ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
ธัมมารมณ์ ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
มโนวิญญาณ ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
มโนสัมผัส ว่างเปล่าจากตน หรือ จากของของตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัส เป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตน และ จากของของตน.
ฉะนั้น จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า."
จบสุญญสูตร ที่ ๒.
.
ไม่ใช่ว่า ไม่รู้อะไรเลย ก็จะทำให้ว่างได้
โดยไม่รู้ว่า อะไรว่าง.......ว่างอย่างไร.!
แต่ ต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่า
ที่ว่างจากตน หรือ ว่างจากของของตน
เพราะเป็น "สภาพธรรม" ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แต่ละอย่าง ๆ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ.
บางท่าน อาจจะมีความรู้สึกว่า
บางวัน เหมือนกับไม่มีอะไรเป็นของของเราเลย
และ ทำไมจึงไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน.!
แต่ก่อน เคยยึดถือ ว่า เป็นเรา และเป็นของของเรา
แต่อยู่ ๆ วันหนึ่ง เมื่อฟังธรรมบ่อย ๆ มาก ๆ เข้า.......
ก็เกิด "นึก" ขึ้นมา ว่า
ไม่เห็นมีอะไรที่จะเป็นของของเราสักอย่างเดียว
ไม่น่าที่จะหลงยึดถือ ว่าเป็นของของเราเลย.
.
แต่
เพียง "คิด" เท่านั้น
ไม่พอ.!
เพราะ ดับกิเลส ไม่ได้.
.
ซึ่ง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง
ก็อาจเข้าใจผิดว่า มีปัญญามากแล้ว..........
ใกล้ต่อการที่จะได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว.
เพราะว่า
แต่ก่อนนี้ ไม่เคยคิด ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้.!
บางคนเกิดความรู้สึก ว่า อัศจรรย์
ที่คิดอย่างนั้นได้.!
.
แต่ ให้ทราบว่า
นั่น ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส.!
เพราะยังไม่รู้ว่า
ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็น ธาตุรู้
เป็นสภาพรู้.......ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น
กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และ กำลังคิกนึก
เป็นต้น นั้น.....ไม่ใช่ตัวตน อย่างไร.!
ในเมื่อยังไม่ได้ระลึก ศึกษา พิจารณา สังเกต
อบรมเจริญปัญญา
เพื่อ รู้ ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ
ตามปกติ ตามความเป็นจริง.
ฉะนั้น
ก็ยังไม่ใช่ การเข้าถึงอรรถ คือ
ลักษณะที่แท้จริง ของนามธรรม และ รูปธรรม
จึงไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และ ดับไป
ของนามธรรม และ รูปธรรม
ซึ่งกำลังเป็น "โลก" ที่เกิด-ดับ อยู่ในขณะนี้.!
.
ฉะนั้น
ไม่ว่าจะ "คิด"
จะเข้าใจลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม อย่างไร.........
ก็ "อย่าหลงคิด" ว่า เป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้แล้ว.!
เพราะถ้า "สติ" ไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้....................
ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
จนประจักษ์ ลักษณะที่ต่างกัน
ของ นามธรรม และ รูปธรรม.
ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจน
ทางมโนทวาร...ทีละลักษณะ.!
ถ้ายังไม่ประจักษ์
ปัญญาก็ยังไม่ได้เจริญขึ้นจริง ๆ
จนสามารถรู้ ว่า
............สภาพธรรมทั้งหลาย
เป็นเพียง "โลกซึ่งว่างเปล่า"
สูญ จากการที่จะยึดมั่น.........
ว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล.
พฤหัสฯ. 17 ก.ย. 2009 11:15 pm
ขอบคุณครับ
- 1187888343540.gif (3.35 KiB) เปิดดู 827 ครั้ง
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.