Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ประการที่ 5

พุธ 23 ก.ย. 2009 8:10 am

ลักษณะของจิต ประการที่ ๕

ชื่อว่า "จิต" เพราะกระทำให้วิจิตร.


.


ความวิจิตรของกรรม

ที่ทุกท่านกระทำในวันหนึ่ง ๆ

ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง

ที่เป็นกุศลกรรม และ ที่เป็นอกุศลกรรม

ย่อมมีความวิจิตรมากมาย

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นลักษณะของจิต ซึ่ง วิจิตร.


.


"รูปธาตุภายนอก" ที่วิจิตร

เช่น พืชพันธุ์ต่าง ๆ ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ

ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

ซึ่งมีลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไหล เกาะกุม

ในระดับต่าง ๆ ซึ่งทำให้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิจิตรต่าง ๆ


แต่ สิ่งที่วิจิตรกว่า "รูปธาตุภายนอก"

ก็คือ "จิต"

เพราะว่า "จิต" เป็นสภาพธรรมที่กระทำให้วิจิตร.


.


อกุศลกรรมที่วิจิตร

เป็นปัจจัยให้สัตว์ดิรัจฉาน มีรูปร่างวิจิตรต่าง ๆ กันมาก ฯลฯ


และ


กุศลกรรมที่วิจิตร

เป็นปัจจัยให้มนุษย์ วิจิตรต่างกันไป โดยเพศ รูปร่าง หน้าตา ฯลฯ

ซึ่งทำให้เกิด "โวหาร"

คือ คำพูดที่แสดงลักษณะ

และ อาการของสภาพธรรมทั้งหลาย ตามที่ปรากฏ.


คำพูดมีมาก ภาษาที่พูดถึงสิ่งต่าง ๆ

แสดงให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งต่าง ๆ ที่วิจิตร....มากเพียงไร

ก็ทำให้เกิด "โวหาร"

เพื่อที่จะเรียกสิ่งที่ปรากฏที่วิจิตร....มากเพียงนั้น.


และ คำพูด ไม่มีวันจบ

เพราะว่า มีสิ่งซึ่ง จิต กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเรื่อย ๆ

ฉะนั้น

จึงต้องบัญญัติคำพูด

เพื่อเรียกสิ่งที่ จิต กระทำให้วิจิตรมากขึ้น ๆ นั้น.


.


ในวันหนึ่ง ๆ

ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด...ทำอะไร.!

ย่อมแสดงให้เห็นความวิจิตรของจิต

ซึ่งกระทำสิ่งเหล่านั้นให้วิจิตร.


.


พระผู้มีพระภาคฯ

ตรัสให้ระลึกถึง ลักษณะของจิต ในขณะนี้

เมื่อเห็นความวิจิตรต่าง ๆ ซึ่ง จิต กระทำให้วิจิตร.

จิต ในขณะนี้เอง

กำลังกระทำให้วิจิตรต่อไปข้างหน้าอีก.!


และ ไม่ควรคิดถึงความวิจิตรของสิ่งภายนอก

ที่จิต กระทำให้วิจิตร เท่านั้น.


พระผู้มีพระภาคฯ

ตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของจิต ที่กำลังเป็นไปในขณะนี้

ซึ่งก็คือ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" นั่นเอง.


.


การที่จะรู้ลักษณะของจิต

ต้องรู้ในขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ

และ กำลังคิดนึก ซึ่งต้องอาศัยทวารทั้ง ๖

คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.


.


ข้อความในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตรที่ ๒

ข้อที่ ๒๕๙

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า


"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง

สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

จิต ที่ชื่อว่า จรณะ (เที่ยวไป)

เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ.?"


ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า

"เห็นแล้ว พระเจ้าข้า"


.


จิต เที่ยวไปอย่างไร.?

ทางตา-เห็น ทางหู-ได้ยิน ทางจมูก-ได้กลิ่น ทางลิ้น-ลิ้มรส

ทางกาย-รู้โผฏฐัพพะ ทางใจ-คิดนึก.

ฉะนั้น

จิต เมื่อเกิดขึ้น

ก็เที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทางทวารต่าง ๆ


.


ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ต้องรู้ว่า จิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

ทางทวารหนึ่งทวารใดแล้ว ก็ต้องดับไป


.


ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า


"จิต ชื่อว่า จรณะ แม้นั้นแล

เธอทั้งหลาย คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ

จิต (เป็นเครื่องคิด) นั้นแหละ วิจิตรกว่า จรณจิต แม้นั้น.

เพราะเหตุนั้น

เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า

จิตนี้ เศร้าหมองแล้ว ด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน

สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง

สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้หมู่อันหนึ่งอื่น

ซึ่งวิจิตร เหมือนสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย.


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

สัตว์ดิรัจฉาน แม้เหล่านี้แล คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ

จิตนั่นแหละ วิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉาน แม้เหล่านั้น.


เพราะเหตุนั้น

เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า

จิตนี้ เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน

สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง

สัตว์ทั้งหลาย ย่อมผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว.


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี

ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี

พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ

มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่กระดานเกลี้ยงเกลา

หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด.


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อจะให้เกิด

ย่อมยัง รูปนั่นแหละ ให้เกิด.

เมื่อจะให้เกิด

ย่อมยัง เวทนานั่นแหละ ให้เกิด

เมื่อจะให้เกิด

ย่อมยัง สัญญานั่นแหละ ให้เกิด

เมื่อจะให้เกิด

ย่อมยัง สังขารนั้นแหละ ให้เกิด

เมื่อจะให้เกิด

ย่อมยัง วิญญาณนั่นแหละ ให้เกิด


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร

รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง.?"


ภิกษุฯ..."ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"


พระผู้มีพระภาคฯ...

"เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.?"


ภิกษุฯ..."ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"


พระผู้มีพระภาคฯ....

"เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ

รู้ชัด ว่า กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ "


จบสูตรที่ ๘


.


ช่างเขียนรูป อาศัยสี ในการเขียนรูปต่าง ๆ

กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ฉันใด

ขณะนี้ จิตของแต่ละท่าน

ก็เหมือนกับช่างเขียน

ซึ่งกำลังเขียน

รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์

สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์

ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต.


.


ขณะนี้ ทุกท่านต่างกัน ตามกรรมที่วิจิตร

ที่ได้กระทำนานมาแล้ว ฉันใด

จิต ซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรอยู่ในขณะนี้

ก็จะกระทำให้ คติ เพศ รูปร่างสัณฐาน

ลาภ ยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ฯ

วิจิตรต่าง ๆ กัน ในกาลข้างหน้า ฉันนั้น.


.


ฉะนั้น

ด้วยเหตุนี้

จึงควรพิจารณา ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ

ซึ่งกำลังเขียนสภาพธรรมทั้งหลาย

ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า.

ซึ่งถ้าไม่รู้ลักษณะของจิต ขณะนี้

ย่อมไม่ทราบเลย ว่า วิจิตรจริง ๆ

ทั้ง ๆ ที่กำลังนั่งอยู่

จิตก็เกิด-ดับ-สืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน.!


.


นั่งอยู่ที่นี่.....แต่บางครั้ง

นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู ฯ

ก็ยังมีจิตที่คิดนึกไกลออกไป

แล้วแต่ว่า จะคิดท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้าง

หรืออาจจะคิดทำอะไร ที่วิจิตร ให้เกิดขึ้น ในขณะนั้น.!


.


ข้อความในคัททูลสูตรที่ ๑ ข้อที่ ๒๕๖

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า


"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก

ถูกล่ามไว้ที่หลัก หรือ เสาอันมั่นคง

ย่อมวิ่งวนเวียนหลัก หรือ เสานั่นเอง

เวลายืน ย่อมยืนใกล้หลัก หรือ เสานั่นเอง

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล"


.


ช่างเขียน ยึดถือ จิตรกรรมที่เขียนขึ้น

ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด

จิต ของปุถุชน

ซึ่งยังยึดถือในรูป ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

ก็จะยังคงยึดถือต่อไป ทุกภพ ทุกชาติ

เหมือนกับช่างเขียน

ซึ่งยึดถือในจิตรกรรมที่ตนเขียนขึ้น ฉันนั้น.


.


ตราบใด

ที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ซึ่ง เป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป ตามความเป็นจริง.


.


ผู้ที่เป็นปุถุชน

เมื่อยืน ก็ย่อมยืนอยู่ใกล้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ด้วยความเป็นตัวตน

ตราบนั้น

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

มารสังยุตต์ ทุติยวรรค ปัตตสูตรที่ ๖


ทำให้เข้าใจ พยัญชนะ ที่พระผู้มีพระภาคฯ

ทรงแสดงเพื่อให้พระภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง

ให้สมาทาน

ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง


ดังนี้


พึงทราบวินิจฉัย ในปัตตสูตรที่ ๖

ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคฯ ทรงยังภิกษุทั้งหลาย

ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง

ด้วย ธรรมีกถาเกี่ยวด้วย อุปาทานขันธ์ ๕

ก็ภิกษุเหล่านั้น ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์

น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ

เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่.


.


คำว่า "ให้สมาทาน"

คือ ให้ถือเอา ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้อง

ว่า นี้คือ การแสดงธรรม ของพระผู้มีพระภาคฯ

เพื่อประโยชน์ คือ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง.


.


เมื่อฟังแล้ว

ก็ให้สมาทาน ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้อง ว่า

กุศลธรรม เป็น กุศลธรรม

อกุศลธรรม เป็น อกุศลธรรม

ซึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคฯ ไม่ทรงแสดงโดยละเอียด

หลายท่าน

อาจจะยึดถืออกุศลธรรม ว่าเป็นกุศลธรรม ก็ได้.


.


แต่ เพราะว่า สภาวลักษณะ ของกุศลธรรม ไม่ใช่ อกุศลธรรม

และ สภาวลักษณะ ของอกุศลธรรม ไม่ใช่ กุศลธรรม.


ฉะนั้น

พระผู้มีพระภาคฯ จึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

โดยตลอด นั้น


เกี่ยวด้วย "อุปาทานขันธ์ ๕"

คือ จิต เจตสิก รูป

ซึ่งแยกเป็น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์

สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์.


ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม..............

ก็จะไม่พ้นไปจาก "ขันธ์ ๕" เลย.!

จึงควรที่จะศึกษา เรื่องของขันธ์ ๕

และ พิจารณา เรื่องของขันธ์ ๕

ด้วยความแยบคาย

เพื่อที่จะได้ถือเอา ด้วยความถูกต้อง

และ ไม่เข้าใจผิด.!


.


คำว่า " ให้อาจหาญ"

คือ ให้เกิดความอุตสาหะ ในการสมาทาน.


การที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น

ไม่ใช่จะเป็นไปได้ง่าย ๆ และ รวดเร็ว.


แต่ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงนั้น

เพื่อ ให้สมาทาน.


"ให้อาจหาญ"

คือ ให้เกิดความเพียรที่จะพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจ.


จนกว่า สติจะเกิด ระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรม

จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

ตามปกติ ตามความเป็นจริง.


.


พระผู้มีพระภาคฯ

มิได้ทรงเรื่องอื่น ที่พิสูจน์ไม่ได้

หรือ

เรื่องที่ไม่ได้กำลังปรากฏเฉพาะหน้า.!


พระผู้มีพระภาคฯ

ทรงแสดงเรื่อง จักขุวิญญาณ

เรื่องของการเห็น

เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา.


ทรงแสดงเรื่องของโสตวิญญาณ

เรื่องของสภาพธรรมที่รู้เสียง

และ เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางหู.


ฯลฯ


.


ทรงแสดงเรื่องที่กำลังมีอยู่

และ กำลังปรากฏให้พิสูจน์ได้.!

ฉะนั้น

ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว

ก็อาจหาญ คือ อุตสาหะ ในการที่จะศึกษา พิจารณา

เพื่อ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ.

จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้น ๆ

ตรง ตามความเป็นจริง.

ตามที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง.


.


คำว่า "ร่าเริง"

คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณ ที่ตนแทงตลอดแล้ว.!


.


ท่าน สามารถที่จะร่าเริงได้ ในขณะที่กุศลจิตเกิด.!


บางท่านเป็นทุกข์

เช่น เป็นห่วงเป็นกังวลว่าอายุมากแล้ว

แต่ สติปัฏฐาน ก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน

ขณะที่กังวล...ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต.


.


พระผู้มีพระภาคฯ

มิได้ทรงแสดงธรรมให้บุคคลใด มีอกุศลจิตมาก ๆ

หรือ เป็นห่วง เป็นกังวลมาก ๆ

แต่ทรงแสดงธรรม เพื่อให้สมาทาน

ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง.


.


อกุศลธรรมทั้งหมด

เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ยับยั้งไม่ได้.!

เมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น

อกุศลจิตนั้น ก็เกิดขึ้นแล้ว.


แต่ ร่าเริงได้.!

ในขณะที่ สติ ระลึก รู้ลักษณะของอกุศลธรรม ที่กำลังปรากฏ

และ มีการศึกษา

พิจารณา ลักษณะของอกุศลธรรม ที่กำลังปรากฏ

เพื่อจะได้รู้ว่า

แม้ อกุศลธรรม ที่เกิด ปรากฏ ในขณะนั้น

ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน.


.


เมื่อ สติเกิด

ระลึกรู้ ลักษณะของอกุศลธรรม ที่กำลังปรากฏ

ย่อม รู้ชัด ได้จริง ๆ ว่า

ขณะที่สติกำลังระลึก ตรง อกุศลธรรม ที่กำลังปรากฏนั้น

จิตใจไม่เศร้าหมองเลย.!

เพราะว่า

เมื่อไม่ยึดถือ อกุศลธรรม ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น

ว่า เป็นตัวตน หรือ เป็นเรา

ก็ไม่เดือดร้อนใจ.


.


หนทางเดียว

ที่จะบรรเทา ละคลายอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น

ไม่ให้เพิ่มความเป็นห่วงกังวล ซึ่งเป็นอกุศลธรรม มากขึ้นนั้น

ก็โดยการที่ สติ ระลึก และ สังเกต พิจารณา รู้ว่า

สภาพธรรมที่เป็น อกุศลต่าง ๆ นั้น....ไม่ใช่เรา

ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใด ๆ เลย.


.


ฉะนั้น

เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน

ก็จะเข้าใจถึงความหมายของคำว่า

"ให้ร่าเริง"

คือ ให้ผ่องใส และ ให้รุ่งเรืองด้วยคุณ ที่ตนแทงตลอดแล้ว

คือ สามารถที่จะประจักษ์ ลักษณะของสภาพธรรม

ตามปกติ ตามความเป็นจริง

ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน.


.


คำว่า "ทำให้สำเร็จประโยชน์"

คือ พิจารณา รู้ อย่างนี้ ว่า

ประโยชน์นี้ เราทั้งหลาย ควรบรรลุได้.!

ดังนี้แล้ว

ก็ชื่อว่า มีประโยชน์แต่เทศนานั้น.


.


การเจริญสติปัฏฐาน นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะท้อถอยเลย.!


สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เป็นสิ่งที่สามารถแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้น และ ดับไป

ว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล.


ในขณะที่พิจารณา รู้อย่างนี้ ว่า

ประโยชน์ นี้

เราทั้งหลาย ควรบรรลุได้.!

ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่หมดหวัง

เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรบรรลุได้ ในวันหนึ่ง

แม้ยังไม่ใช่วันนี้.


.


ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วง

ว่า จะไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้ในวันนี้

เพราะว่า

สติ สามารถที่จะ เริ่ม ระลึก ได้ ในวันนี้.!

ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอด ในลักษณะของสภาพธรรม

ย่อมจะต้องวันหนึ่ง

ในเมื่อวันนี้ สติ สามารถที่จะเกิด ระลึกรู้ ได้.


.


เมื่อทราบแล้ว ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ

ทรงแสดงว่า...."นี้มีประโยชน์"

คือ ให้ รู้ ว่า

"เราควรบรรลุได้"

ก็จะไม่ท้อถอย ที่จะฟัง และ ศึกษาต่อไป

ในเรื่องของสภาพธรรม

ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงโดยละเอียด ต่อไป

เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมสติ ฯ
ตอบกระทู้