Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

วิปัสสนาภาวนา

เสาร์ 26 ก.ย. 2009 10:14 am

วิปัสสนาภาวนา

วิ ( วิเศษ , แจ้ง ฯ. ) + ปสฺสนา ( เห็น ) + ภาวนา ( การอบรม , การเจริญ )

การอบรมเพื่อความเห็นแจ้ง , การเจริญปัญญาเพื่อเห็นอย่างวิเศษ หมายถึง

การเจริญปัญญาเพื่อเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามลำดับขั้น จากขั้นต้น

คือ การอบรมสติปัฏฐาน เป็นการเจริญวิปัสสนาเพื่อเห็นแจ้งลักษณะของนามธรรมและ

รูปธรรม จนสติปัฏฐานถึงความสมบูรณ์ วิปัสสนาญานซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นพร้อม

กับมหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ จึงเกิดขึ้นเห็นสภาพธรรมอย่างวิเศษ คือประจักษ์แจ้ง

ไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับขั้น

ของปัญญาที่เจริญยิ่งขึ้น ตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ ( นามรูปปริจเฉทญาณ ) จนถึง

วิปัสสนาญาณที่ ๑๒ ( อนุโลมญาณ ) จะมีสังขารคือนามธรรมและรูปธรรมเป็นอารมณ์

วิปัสสนาญาณที่ ๑๓ ( โคตรภูญาณ ) วิปัสสนาญาณที่ ๑๔ ( มรรคญาณ ) วิปัสสนา

ญาณที่ ๑๕ ( ผลญาณ ) มีวิสังขารคือพระนิพพานเป็นอารมณ์ วิปัสสนาญาณที่ ๑๖

( ปัจจเวกขณญาณ ) มีมรรคจิต ผลจิต พระนิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลือ

อยู่ เป็นอารมณ์



วิปัสสนาญาณ

วิ ( วิเศษ , แจ้ง , ต่าง ) + ปสฺสนา ( การเห็น ) + ญาณ ( ความรู้ , ปัญญา )

ปัญญาที่เห็นแจ้ง , ปัญญาที่เห็นอย่างวิเศษ , ปัญญาที่เห็นโดยประการต่างๆ

หมายถึง ความสมบรูณ์ของปัญญาซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการอบรมสติปัฏฐาน ได้แก่

ปัญญาเจตสิกที่เกิดกับมหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ ที่เห็นแจ้งสภาพธรรมโดยประการ

ต่างๆ คือ เห็นแจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็นอนัตตา เห็นแจ้ง

ความเกิดดับของนามธรรมรูปธรรม เห็นนามธรรมรูปธรรมโดยความเป็นภัย เห็นโดย

ความเป็นโทษ เห็นโดยความเป็นผู้ใคร่ที่จะพ้นจากสังขาร ฯลฯ



วิปัสสนาญาณมี ๑๖ ขั้น คือ

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความแยกขาดจากกันของ

นามธรรมและรูปธรรมที่ละอารมณ์ โดยสภาพความเป็นอนัตตา

๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ความเป็นปัจจัยของนาม-

ธรรมและรูปธรรม คือ รู้ชัดว่านามรูปแต่ละอย่างมีปัจจัยเป็นเหตุให้เกิด

๓. สัมมสนญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อของนาม-

ธรรมรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นโทษของการเกิดดับได้ไม่ชัดเจน

๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของนามธรรม

รูปธรรมอย่างละเอียด เป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง เห็นโทษของการเกิดดับของ

สภาพธรรมได้ยิ่งขึ้น

๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ความดับทำลายของนาม

รูป โดยไม่ใฝ่ใจถึงการเกิด

๖. ภยตุปัฎฐานญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูป โดยเห็นความเป็น

ภัยในสังขารทั้งหลาย

๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งรูป โดยเห็นความเป็นโทษ

ในสังขารทั้งหลาย

๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูป โดยเห็นทุกข์โทษ

ภัย จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนามรูป โดยความที่ใคร่

จะพ้นจากสังขารธรรมทั้งปวง

๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะทั้ง ๓ ของนามรูป

เป็นเหตุที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากสังขารธรรม

๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะทั้ง ๓ ของนามรูป

ที่คมกล้ายิ่งขึ้น จนเกิดความมัธยัสถ์ วางเฉยในสังขารธรรมทั้งปวง

๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาในอนุโลมชวนะ ๓ ขณะในมัคควิถี ( บริ-

กรรม อุปจาร อนุโลม ) คล้อยตามเพื่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน

๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาในโคตรภูชวนะ กระทำนิพพานให้เป็น

อารมณ์ ข่มเสียซึ่งโคตรปุถุชนเพื่อถึงอริยโคตร เป็นอาวัชชนแก่มรรคญาณ

๑๔. มรรคญาณ ปัญญาในมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตระ สำเร็จกิจ

ทำลายกิเลส ดับวัฏฏทุกข์ ปิดประตูอบาย ๔ เป็นขณะที่ถึงพร้อมด้วย

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

๑๕. ผลญาณ ปัญญาในผลจิตที่เกิดต่อกัน ๒ – ๓ ขณะ เสวย

วิมุตติสุขอันปราศจากกิเลสซึ่งอริยมัคค์ประหารแล้ว

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาในปัจจเวกขณวิถีอันเป็นโลกียะพิจารณา

มรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลืออยู่รวม ๕ วาระ สำหรับ

พระอรหันต์ไม่มีกิเลสที่เหลืออยู่ให้พิจารณา จึงมีปัจจเวกขณวิถีเพียง ๔

วาระ ปัจจเวกขณวิถีของพระอริยบุคคลทั้งหมดจึงมี ๑๙ วาระ


ตรุณวิปัสสนา

ตรุณ ( อ่อน , รุ่น , ใหม่ ) + วิ ( แจ้ง , วิเศษ ) + ทสฺส ---> ปสฺส ( เห็น ) การเห็น

แจ้งอย่างอ่อน , วิปัสสนาญาณขั้นต่ำ หมายถึง วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒

และที่ ๓ คือ นามรูปปริทเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ เพราะ

เป็นวิปัสสนาญาณเริ่มต้น จึงไม่มีกำลังเหมือนวิปัสสนาญาณขั้นสูงที่เป็นพลววิปัสสนา

พลววิปัสสนา

พลว ( มีกำลัง , แข็งแรง ) + วิ ( แจ้ง , วิเศษ ) + ทสฺส ปสฺส ( เห็น )

การเห็นแจ้งที่มีกำลัง , วิปัสสนาญาณอย่างกล้าแข็ง หมายถึง วิปัสสนาญาณที่

พ้นจากตรุณวิปัสสนาแล้ว ได้แก่ วิปัสสนาญาณที่ ๔ ( อุทยัพพยญาณ ) เป็นต้นไป

ที่ชื่อว่า พลววิปัสสนาเพราะปราศจากการตรึกถึงนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังประจักษ์

แจ้ง
คำว่า วิปัสสนากับสติปัฏฐาน ในบางแห่งมีความหมายเหมือนกัน ในบางแห่งมีความ

หมายแตกต่างกัน คือ เหมือนกันโดยนัยที่ว่า สติปัฏฐานไม่ใช่กุศลขั้นทาน ศีล หรือ

สมถภาวนา แต่เป็นกุศลขั้นวิปัสสนา ต่างกันโดยนัยว่า สติปัฏฐานเป็นขั้นอบรมเจริญ

สติปัญญา แต่เมื่อปัญญาสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เรียกว่า วิปัสสนา

มีความสัมพันธ์กันโดยนัยว่า เพราะมีการอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ วิปัสสนา-

ญาณจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่อบรมสติปัฏฐานวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็น

เรื่องของภาษาที่ใช้





วิปัสสสนา หมายถึง ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมะตามความเป็นนจริง เช่น

วิปัสสานาญาณขั้นที่ 1 ปัญญาที่แยกนามธรรมรูปธรรม ส่วนสติปัฏฐานเป็นเบื้องต้น

เป็นปัญญาที่ยังไม่คมกล้า ยังไม่สามารถแยกขาดจากนามธรรมรูปธรรมได้

วิปัสสนา คือเห็นแจ้ง เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ สภาพธรรม

ที่เห็นแจ้งคือสติและปัญญา

สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญา ที่ระลึกรู้ลักษณะอันเป็นที่ตั้งให้สติและปัญญารู้

ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่มีในขณะนี้

ต่างกันโดยพยัญชนะ ความหมายเหมือนกัน

แต่เมื่อมีคำว่าญาณต่อท้าย คือ วิปัสสนาญาน ญาณคือปัญญา ปัญญามีหลาย

ระดับ สติปัฏฐานมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า

เป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นปัญญาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่สู่วิปัสสนาญาณระดับต่างๆ

วิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่สมบูรณ์อันเกิดจากการอบรมสติปัฏฐานบ่อยๆ

วิปัสสนาญาณ แยกขาดว่านี้นามธรรมและรูปธรรม แต่สติปัฏฐานยังไม่ได้แยก

ขาดให้รู้ชัดเจนเพียงแต่รู้ว่าเป็นธรรมแต่จะค่อยๆ ละเอียดมากขึ้น แต่ปัญญายัง

ไม่สมบูรณ์เท่าวิปัสสนาญาณ ดังนั้น วิปัสสนากับสติปัฏฐานบางนัยความหมาย

เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณกับสติปัฏฐานเป็นปัญญาที่ต่างระดับกัน แต่

ก็ไม่พ้นไปจากปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ซึ่งอาศัยสติ

ปัฏฐานที่อบรมจนปัญญาสมบูรณ์ถึงระดับวิปัสสนาญาณ

การอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา

ละกิเลสให้เบาบาง จนดับหมดสิ้นได้ตามลำดับ เพราะว่า

เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะที่แท้จริง

ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ.









ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา หรือ การฟังพระธรรม

เป็นความรู้ที่เพียงละความไม่รู้ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด

(ในเรื่องราวของธรรม) เพราะไม่เคยฟัง

เพราะไม่เคยรู้ "เรื่องลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย" เท่านั้นเอง.







และความรู้ขั้นนั้น (ขั้นฟัง...พิจารณา)

ยังไม่สามารถละกิเลสให้ดับหมดสิ้นได้

เพราะไม่ใช่ "การประจักษ์แจ้ง" ลักษณะที่แท้จริง

ของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังเกิดขึ้นจริงๆ

เช่นในขณะนี้ เป็นต้น.











ถ้าตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน

ยังไม่ได้ดับความยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรมว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน

กิเลสอย่างละเอียดก็ยังมีประจำอยู่ในจิตตลอดเวลา

ถึงแม้ในขณะนอนหลับ ขณะให้ทาน

ขณะรักษาศีล ขณะอบรมเจริญสมถภาวนา.







ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล อบรมเจริญสมถภาวนานั้น

ยับยั้ง ระงับกิเลส คืออกุศลจิต ไม่ให้เกิดขึ้น ตามขั้นของกุศลนั้นๆ

ขณะนั้นๆ กิเลสไม่พอกพูนเพิ่มขึ้น

แต่ว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดให้เบาบางลงเลย.







เหตุกับผล ต้องตรงกัน...เมื่อกิเลสมี ๓ ขั้น คือ

กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด

กุศลที่ขัดเกลากิเลส ก็ต้องมี ๓ ขั้นด้วย

กุศลขั้นศีล ขจัดกิเลสอย่างหยาบ

กุศลขั้นอบรมเจริญสมถภาวนา ระงับกิเลสอย่างกลาง

กุศลขั้นอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ละกิเลสอย่างละเอียด.







การเจริญกุศลขั้น ศีล และสมาธิ ต้องประกอบด้วยปัญญา

แต่เป็นปัญญาคนละขั้น ไม่ใช่ปัญญาขั้นอบรมเจริญวิปัสสนา.


เช่น คนที่เห็นโทษของกายทุจริต วจีทุจริต

แล้วละเว้นด้วยปัญญาขั้นวิรัติทุจริต.

สำหรับคนที่เห็นโทษของกาม คือ ความติดข้อง

ความพอใจยึดมั่นใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สงบ

ก็เพียรระงับกิเลสเหล่านั้น ด้วยการระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ

เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา

ซึ่งต้องเป็นปัญญาขั้นที่เห็นโทษของกาม

และรู้ว่าจิตจะสงบระงับจากกามได้นั้น ต้องอบรมเจริญอย่างไร







แต่การเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนา เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง

คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ

เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความเห็นผิดและกิเลสต่างๆ

ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา เมื่อคมกล้าขึ้น

ก็สามารถดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

ตามขั้นของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม.
กิเลสที่เกิดปรากฏให้รู้ได้

ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ และกิเลสอย่างกลาง

ที่รู้ว่ายังมีกิเลสอย่างละเอียดอยู่

ก็เพราะกิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างหยาบ เกิดขึ้นนั่นเอง

เพราะกิเลสอย่างละเอียด

เป็นเหตุให้เกิดกิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างหยาบ.







และกิเลสอย่างละเอียดนั้น จะดับหมดไปได้

ก็เมื่ออบรมเจริญปัญญา จนรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย

ที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

และเมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔

กิเลสอย่างละเอียดจึงจะดับหมดสิ้นไป เป็นประเภทๆ.







ก่อนถึงชาติที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคล

ก็ต้องอบรมเจริญปัญญามาแล้วในอดีตชาติ เป็นหมื่นเป็นแสนกัปป์

เพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ได้นั้น

จะต้องสะสมอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาแต่ละขั้นจะเกิดขึ้น

ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ชัด และประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม

ที่ปรากฏตามความเป็นจริง.







ถ้าใครมุ่งปฏิบัติ

โดยไม่เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อน

ก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญวิปัสสนาได้เลย.

ถ้าไม่พูดถึงกันเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้ ให้เข้าใจก่อน

ก็ไม่มีปัญญาขั้นต้นที่เกิดจากการฟัง หรือการศึกษา

เมื่อไม่มีปัญญาขั้นต้น

ก็เจริญปัญญาขั้นต่อไปไม่ได้เลย.

Re: วิปัสสนาภาวนา

เสาร์ 26 ก.ย. 2009 10:22 pm

SugarwareZ-118.gif
SugarwareZ-118.gif (19.6 KiB) เปิดดู 856 ครั้ง

ขอบคุณครับสำหรับประดับปัญญาอันน้อยนิด
ตอบกระทู้