Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

กฐิน

อังคาร 06 ต.ค. 2009 3:28 pm

.jpg
.jpg (29.3 KiB) เปิดดู 1014 ครั้ง

ประมวลจาก : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ฐิน ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่คณะที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นก็จะนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำการ ซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันนั้น แล้วทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร โดยหมู่คณะจะต้องช่วยภิกษุผู้นั้นทำด้วย

พินทุกัปปะ คือการทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือดที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำ คล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย เรียกกันง่าย ๆ ว่า พินทุ

ไตรจีวร คือจีวร ๓ หรือ ผ้า ๓ ผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัว คือ

๑. สังฆาฏิ ผ้าทาบ
๒. อุตราสงค์ ผ้าห่ม เรียกสามัญในภาษาไทยว่า จีวร
๓. อันตรวาสก ผ้านุ่ง เรียกสามัญว่า สบง


ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นต้องบอกแก่คณะภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา และเมื่อภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน

เมื่อคณะสงฆ์ คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว จะทำให้คณะสงฆ์ได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔)

ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ)

สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป

ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากวันสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น

อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ

๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา

๒. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
คณโภชน์ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง ฉันเป็นหมู่ ปรัมปรโภชน์ คือ ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งแล้วไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น แต่ไปฉันเสียในที่อื่นที่เขานิมนต์ทีหลังซึ่งพ้องเวลากัน

๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา อติเรกจีวร หมายถึง ผ้าที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามา นอกจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร (จีวรเหลือเฟือ, ผ้าส่วนเกิน)

๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)

Re: กฐิน

อังคาร 06 ต.ค. 2009 11:46 pm

ขอบคุณครับ กำลังเข้าช่วงกฐินพอดีเลย เป็นประโยชน์มาก ๆ เลยครับ :D

Re: กฐิน

พฤหัสฯ. 08 ต.ค. 2009 9:03 am

ขอบคุณครับ แหมจังหวะพอดีเลย :lol:
ตอบกระทู้