พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 19 พ.ย. 2009 8:42 am
การเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎนั้น เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา
ซึ่งกุศลนั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ และมีผลเป็นคุณซึ่งย่อมเป็นที่พึงได้ และอีก
ประการหนึ่ง ขณะที่กุศลจิตนี้เกิด ย่อมแทนที่อกุศลจิตที่มักเกิดอยู่เสมอๆ จึงเป็นที่พึง
ให้ห่างจากอกุศล นอกจากนี้ ปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎนั้น
เป็นปัจจัยหรือเป็นหนทางอันเอกอันนำไปสู่สภาพที่ดับทุกข์ทั้งปวง การเข้าใจสิ่งที่
กำลังปรากฎจึงเป็นที่พึ่งที่ยอดเยียม
พระอริยบุคคล
ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งท่านเหล่านั้นยังมีกิจที่จะต้องกระทำ คือ
ศึกษาพระธรรม เจริญสติปัฏฐานเพื่อการดับกิเลสตามลำดับทั้งหมด จนกว่าจะบรรลุถึง
ความเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่ประมาท ซึ่งกิจธุระของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
จริงๆ นั้น มีเพียง ๒ คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ขณะที่ท่านยินดีในการงานอื่นๆ ที่
ไม่ใช่ธุระที่ควรกระทำในเพศบรรพชิต และไม่ได้เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา
ขณะนั้นท่านก็กำลังประมาทด้วยอำนาจของอกุศล ความประมาทของท่านจะเป็นเครื่อง
เนิ่นช้าไม่ให้ท่านได้เจริญคุณธรรมเบื้องสูงขึ้นไป พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
เพื่อเกื้อกูลอุปการะให้ท่านพระเสขะทั้งหลายไม่ตั้งอยู่บนความประมาท สำหรับปุถุชน
ในพระสูตรนี้ ท่านใช้คำว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดถึงเลย เพราะเหตุว่า ปุถุชนเป็นผู้ที่
ประมาทด้วยกำลังของกิเลสอย่างมาก ยังไม่เป็นผู้เที่ยงเพื่อการตรัสรู้ ยังไม่ใช่ผู้ที่จะ
ถึงที่สุดของพรหมจรรย์ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ผู้ซึ่งพ้นจากความเสื่อมทุกประการ
ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระ
อนาคามีนั้น เป็นพระเสกขบุคคลซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่า
จะดับหมดทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุ เพราะถ้ายังมีกุศลเหตุอยู่ก็เป็นปัจจัยให้
เกิดกุศลวิบากไม่จบสิ้น พระอรหันต์ผู้ดับอกุศลเหตุและกุศลเหตุแล้วนั้น ถึงแม้
ว่าจิตจะเกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นอัพยากตเหตุไม่เป็นเหตุที่จะให้
เกิดวิบากต่อไป เมื่อไหร่จะถึงวันนั้น ย่อมถึงได้ในวันหนึ่ง เมื่อเพียรอบรมเจริญ
ปัญญาไปเรื่อยๆ ผู้ที่บรรลุผลเช่นนั้นในอดีตมีแล้วเป็นอันมาก ถ้าเป็นสิ่งที่เป็น
ไปไม่ได้เลยก็จะไม่มีผู้ใดสามารถบรรลุผลเช่นนั้นได้ แต่ผลนั้นย่อมไม่เร็วตามที่
หวัง ต้องตามควรแก่เหตุ คือ เมื่อปัญญายังไม่เกิด ยังไม่เจริญขึ้น ก็ดับกิเลสไม่
ได้ และปัญญาก็ต้องเกิดขึ้นเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ที่สามารถประจักษ์แจ้ง
ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะดับกิเลสได้จริง ๆ
พระภิกษุท่านมีกิจ ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ถ้าท่านกระทำกิจอื่น จะทำ
ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามครับ แต่ถ้าไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส เพื่อขัดเกลา และขัดต่อคำ
สอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ควร ที่สำคัญต้องรู้ว่าจุดประสงค์ของการบวชคืออะไร เมื่อ
เป็นเพศบรรพชิตแล้วต่างกับเพศคฤหัสถ์มาก ดังนั้น กิจใดที่สมควรกับบรพพชิต ก็ควร
ทำสิ่งนั้น มิใช่จะมาทำแบบคฤหัสถ์ โดยอ้างหรือกล่าวว่าเป็นสาธารณประโยชน์ครับ
เรื่อง กิจที่ไม่ควรทำบางอย่าง แม้ดูเป็นสาธารณประโยชน์ก็ไม่ควรทำ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 14
ข้อความบางตอนจาก พรหมชาลสูตร
(๒๕) ๗. พระสมณะโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด
ด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่
เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้
คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกัน
บ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำ
พิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธี
บูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยา
ถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา
ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษา
เด็ก ใส่ยา ชะแผล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 73
ข้อความบางตอนจาก รัฐปาลเถรคาถา
จริงอยู่ กามทั้งหลายวิจิตรด้วยรูป เป็นต้น คือ มีรูปแปลก ๆ โดย
เป็นรูปสีเขียวเป็นต้น. กามทั้งหลายแสดงความชอบใจโดยประการนั้นๆ
ด้วยรูปแปลก ๆ นั้นอย่างนี้แล้ว ย่อมย่ำยีจิต คือ ไม่ให้ยินดีในการบรรพชา
เพราะเหตุนั้น เราเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย โดยมีความยินดีน้อยมีทุกข์
มากเป็นต้น เพราะฉะนั้น คือเพราะการเห็นโทษในกามคุณนั้น เราจึงบวช
ผู้ศึกษาธรรมควรรู้จุดประสงค์ของการบวชเป็นบรรพชิต
ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตนั้น
เพราะเห็นว่าชีวิตของฆราวาสคับแคบ ไม่ สามารถเจริญกุศลได้เต็มที่ตลอดเวลา
ชีวิตบรรพชิต ไม่มีกิจธุระที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง หรือวิตกกังวลมากอย่างชีวิตฆราวาส
บรรพชิตนั้นตั้งแต่เช้าก็มีแต่เรื่องของกุศลจิต มีการสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธคุณ
การออกบิณฑบาตร ซึ่งเป็นการเจริญกุศลทั้งผู้ให้และผู้รับ
มีการศึกษาธรรม สนทนาธรรม ปฏิบัติธรรม
ซึ่งเป็นชีวิตที่บำเพ็ญประโยชน์ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ
ฉะนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงของการบรรพชา อุปสมบทนั้น
ก็เพื่ออบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์
แต่ถ้าบรรพชาอุปสมบทแล้วไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส
เมื่อสึกออกมาแล้วก็อาจจะเป็นบุคคล ที่ประพฤติไม่ดี
แต่สำหรับผู้ที่บวชและได้รู้แจ้งอริย สัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้วนั้นจะไม่สึกเลย
เพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องอบรมเจริญปัญญานานมาก
ไม่ใช่เพียงหนึ่งชาติ แสนชาติ
ดังนั้น เมื่ออบรมเจริญปัญญาในสภาพฐานะของ บรรพชิต
จนได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิตแล้ว
จะไม่หวนกลับมาสู่การเป็นคฤหัสถ์อีกเลย
เรื่อง จุดประสงค์ในการบวชที่ถูกต้อง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒- หน้าที่ 310
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถา ปุตตมังสสูตร
พระองค์ได้ทรงเห็นกุลบุตรบางพวกผู้บวชใหม่ ผู้ไม่พิจารณาแล้ว
บริโภคอาหาร ครั้นพระองค์ทรงเห็นแล้วทรงพระดำริว่า เราบำเพ็ญ
บารมีสิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป จะได้บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปัจจัยจีวร
เป็นต้น ก็หาไม่ แต่ที่แท้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระอรหัตอันเป็นผลสูงสุด.
ภิกษุแม้เหล่านี้บวชในสำนักเรา มิได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวร
เป็นต้น แต่บวชเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตนั่นเอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 499
๑. เชนตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระเชนตเถระ
[๒๔๘] ได้ยินว่า พระเชนตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็
ยากแท้ ธรรมเป็นของลึก การหาทรัพย์เป็นของยาก
การเลี้ยงชีพของเราด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ก็เป็น
ของยาก ควรคิดถึงอนิจจตาเนือง ๆ
บวช เป็นภาษาบาลี มาจาก ป (ทั่ว) + วช (เว้น) ดังนั้นจึงแปลว่าเว้นทั่ว เว้นจาก
คิหิสัญโญชน์ เว้นจากกามทั้งปวง เว้นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมตามสิกขาบทที่ทรง
บัญญัติไว้ในพระวินัย ดังนั้น กุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ควรตั้ง
ปุพพเจตนาเพื่อขัดเกลาอกุสลธรรมให้เบาบางลง และเจริญกุสลอันเป็นฝ่ายวิวัฏฏะอัน
จะนำไปสู่อุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่สุด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 82
[๕๒] อเจลกัสสปได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าแล้ว ครั้นท่านกัสสปอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่
อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนัก
ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอัน
ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มี ก็ท่านกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์
ทั้งหลาย.
บวช เป็นภาษาบาลี มาจาก ป (ทั่ว) + วช (เว้น) ดังนั้น จึงแปลว่าเว้นทั่ว เว้นจากคิหิ
สัญโญชน์ เว้นจากกามทั้งปวง เว้นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมตามสิกขาบทที่ทรง
บัญญัติไว้ในพระวินัย ดังนั้น กุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ควรตั้ง
ปุพพเจตนาเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมให้เบาบางลง และเจริญกุศลอันเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ
อันจะนำไปสู่อุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่สุด
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 614
เสขปริหานิยวรรคที่ ๔
๑. เสกขสูตร
ว่าด้วยธรรมเสื่อมและไม่เสื่อมของพระเสขะ ๖
[๓๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม
แก่ภิกษุผู้เสขะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความ
เป็นผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณใน
โภชนะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม
แก่ภิกษุผู้เสขะ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม แก่
ภิกษุผู้เสขะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑ ความ
เป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบความหลับ ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบการ
คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความ
เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แลย่อม
เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ.
จบเสกขสูตรที่ ๑
เสขปริหานิยวรรควรรณาที่ ๔
อรรถกถาเสกขสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในเสกขสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า เสขสฺส ได้แก่ พระเสขบุคคล ๗ จำพวก. สำหรับในปุถุชน ไม่มี
อะไรที่จะต้องพูดถึงเลย. บทว่า ปริหานาย ความว่า เพื่อเสื่อมจากคุณความดี
เบื้องสูง.
จบอรรถกถาเสกขสูตรที่ ๑
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเองและบุคคลอื่นๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือไม่ก็ตาม ควร
จะเป็นผู้ที่มีความเมตตาและอดทนด้วยใจที่เป็นกุศล ที่จะไม่ก้าวล่วงด้วยกายวาจาที่ไม่
เหมาะสม และที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยใจที่เป็นกุศลจริงๆ อย่างไรก็ตาม ควร
เข้าใจว่า เราไม่สามารถที่จะไปจัดการคนอื่นให้มีความคิดความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน
ได้ทั้งหมด เพราะทุกคนที่เกิดมาล้วนมีการสะสมที่แตกต่างกัน แล้วก็มีกรรมเป็นของ
ตนๆ ที่จะส่งผลให้มีสุข มีทุกข์ที่แตกต่างกันไปตามกรรม ให้ทราบว่าถ้าไม่มีการเกิด
ไม่มีกรรม ไม่มีกิเลส ปัญหาทุกอย่างจะไม่มี แต่เมื่อได้เกิดมาแล้ว ก็ควรที่จะได้ศึกษา
ว่า ความเป็นไปของชีวิตแต่ละวันโดยแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ผ่านพระธรรมที่พระพุทธ-
องค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ซึ่งเป็นสัจธรรม เป็นความจริงสูงสุดที่จะทำให้ผู้ที่ได้มี
โอกาสศึกษา ถึงที่สุดของการแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยปัญญาจริงๆ
เมื่ออบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรง
แสดงพระธรรมโดยละเอียดตั้งแต่ขั้นปาติโมกขสังวรศีล ความประพฤติทางกาย
และทางวาจาที่ควรแก่สมณะ คือเพศบรรพชิตผู้สงบ แม้แต่การมองก็มองชั่วแอก
เพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ควรต่อเรื่องให้ยืดยาว เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ควรคิดวิจิตร
เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เรื่องนั้น เรื่องนี้มากมาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นเพียง “เห็น”
จะชั่วแอกหรือไม่ชั่วแอกก็ตาม เห็นแล้วก็จบ ขณะนั้นก็จะไม่ผูกพันธ์เยื่อใยใน
นิมิต อนุพยัญชนะ เมื่อปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่าที่เคยเห็นเป็นโลกภายนอกมีคนมาก
มายนั้น ก็เป็นเพราะคิด ถ้าไม่คิด เพียงเห็นแล้วก็หมด จะมีคนเยอะไหม แต่
เพราะเคยคิดมานาน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมคิด แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร แม้ว่าจะเห็น
สิ่งเดียวกัน แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันเลยตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เช่น
เห็นดอกไม้ท่านหนึ่งพอใจว่าสวย อีกท่านหนึ่งว่าไม่สวย ฉะนั้น สวยหรือไม่สวย
จึงเป็นความคิดของแต่ละคน โลกที่แท้จริงจึงเป็นโลกของความคิดของแต่ละ
บุคคล เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ก็จะรู้ชัดว่าขณะนั้น
เป็นนามธรรมที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม เมื่อรู้ลักษณะ
ของนามธรรมที่คิดก็รู้ว่าเรื่องราวที่เป็นคน สัตว์ต่างๆ ไม่มีจริงๆ ขณะที่เป็นทุกข์
กังวลใจก็รู้ว่าทุกข์ เพราะความคิด ขณะที่เป็นทุกข์ก็โดยนัยเดียวกันขณะที่ดู
โทรทัศน์เรื่องที่ชอบใจก็เป็นสุข เพราะคิดตามภาพที่เห็น ฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ
ที่ใดก็ตาม ก็อยู่ในโลกของความคิดนึกนั่นเอง โลกแต่ละขณะจึงเป็นนามธรรมที่
เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็คิดนึก
ต่อทางใจเป็นเรื่องราวต่างๆ เท่านั้นเอง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๕๑ เป็นต้นไป
๙. อักขณสูตร
[๑๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึง
ทำกิจ ๆ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะ ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย กาลมิใช่ขณะ มิใช่
สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคต อุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง
โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
บุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้
เบิกบานแล้ว เป็นจำแนกธรรม และธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดง
นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าประกาศแล้ว
แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงนรกเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่
ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑
อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรม
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดง... แต่บุคคลผู้นี้ เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๒
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงปิตติวิสัยแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้
มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๓
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๔
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่ในพวก
มิลักขะ ไม่รู้ดีรู้ชอบ อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมา ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๕
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉา-
ทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผลยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวง
ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี
บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำ
ให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มี
ในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้ กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญา-
ทราม บ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๗.
อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติแล้วในโลก เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก
ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้
จำแนกธรรม ธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพานให้ถึงการตรัสรู้ อัน
พระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว พระตถาคต มิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้จะเกิดในมัชฌิม-
ชนบทและมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิต ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลายนี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๘
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลอันมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์
ประการนี้แล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีประการ
เดียว ประการเดียวเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรง
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันตถาคตทรงแสดง
เป็นธรรมนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพานให้ถึงการตรัสรู้ พระสุคตเจ้าทรง
ประกาศแล้ว และบุคคลนี้เกิดในมัชฌิมชนบท ตั้งมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ สามารถเพื่อจะรู้
อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิตได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นขณะ และสมัยในการ
อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ประการเดียว
อีกประการหนึ่ง ตถาคต เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก และ ธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพานให้ถึง
การตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว พระตถาคตมิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้
จะเกิดในมัชฌิมชนบทและมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและ
ทุพภาษิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
ข้อที่ ๘
อักขณสูตร
(ว่าด้วยกาลที่ไม่ใช่ขณะจะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์)
จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่มที่ ๓๗ หน้า ๔๕๑
ชนเหล่าใด เกิดในมนุษยโลกแล้ว เมื่อพระตถาคตทรง
ประกาศสัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าล่วงขณะ, ชนเป็น
อันมาก กล่าวเวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน, พระตถาคต
เจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้งบางคราว การที่พระตถาคต
เจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑ การแสดง
สัทธรรม ๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่
ประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะ
เข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะ
บุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ก็ย่อมเศร้าโศก
หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้
ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน เหมือน
พ่อค้าผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น คนผู้ถูกอวิชชา
หุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สังสาระคือ ชาติและมรณะ
สิ้นกาลนาน ส่วนชนเหล่าใดได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคต
ประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระ-
ดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสบขณะ คือ การประ-
พฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก ชนเหล่าใดดำเนินไปตามมรรคา
(หนทาง) ที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว สำรวมในศีลสังวรที่พระ-
ตถาคตเจ้า ผู้มีจักษุเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว คุ้ม
ครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวงอันแล่น
ไปตามกระแสบ่วงมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง
คือ นิพพานในโลกแล้ว.
จบ อักขณสูตร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๓๕ หน้า ๓๑๕
๘. สังเวชนียสูตร
(ว่าด้วยสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง)
[๑๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความ
สังเวช แห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้ ๔ แห่งเป็นไฉน คือ สถาน
ที่ควรเห็นควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคต
ประสูติ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่
นี้ ๑ พระตถาคตทรง ประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ ๑ พระ
ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้ ๑ ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิด ความสังเวช แห่งกุลบุตร
ผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล.
จบสังเวชนียสูตรที่ ๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนจะถึงนิคมคาถาแห่งอักขณสูตร (โดยสรุป)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงกาลมิใช่ขณะจะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ แก่ภิกษุ
ทั้งหลาย รวม ๘ ประการ ดังนี้ คือ
๑. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้
เกิดเป็นสัตว์นรก
๒. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้
เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
๓. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้
เกิดเป็นเปรต
๔. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้
เกิดในหมู่เทพที่มีอายุยืนนาน (อสัญญีสัตว์)
๕. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม แต่บุคคลผู้นี้
เกิดในปัจจันตชนบท โง่เขลา และอยู่ในที่อันไม่มีบริษัท ๔
๖. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม บุคคลผู้นี้
ถึงจะเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เป็นคนมีความเห็นผิด
๗. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม บุคคลผู้นี้
ถึงจะเกิดในมัชฌิมชนบท แต่ไม่มีปัญญา เป็นคนโง่เขลา
๘. บุคคลผู้นี้ เกิดในมัชฌิมชนบท มีปัญญา เป็นคนไม่โง่เขลา แต่พระพุทธเจ้า
ไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก และ ไม่ได้ทรงแสดงพระสัทธรรม
และทรงแสดงต่อไปว่า ขณะที่สมควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีประการเดียว
คือ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก และทรงแสดงพระสัทธรรม พร้อมกันนั้น บุคคล
ผู้นี้ได้เกิดในมัชฌิมชนบท เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา สามารถรู้เนื้อความแห่งคำ
สุภาษิตและทุพภาษิตได้ ต่อจากนั้น พระองค์จึงได้ตรัสนิคมคาถา (คาถาซึ่งเป็น
บทสรุปรวมความทั้งหมด) ดังที่ปรากฏแล้วนั่นแล.
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน สวดมนต์ อาราธนาศีล ปิดไฟตามที่สาธารณะ
เมื่อวานนี้ได้ช่วยเหลือดันรกให้ขึ้นจากหลุม และวันนี้ได้เห็นผู้คนมาตักบาตร
ตามถนนหนทางก็ได้อนุโมทนา ตลอดทางวันนี้ได้เดินก็เห็นสุนัขตัวหนึ่งที่ขาหักก็เกิดความเมตตาจึงเอามือลูบหัว และก็ได้กำหนดอิริยาบทย่อยตลอดถึงอากาศตอนเช้าจะหนาวเย็นก็ยังมีสติ และตั้งใจว่าจะสวดมนต์ เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน นั้งสมาธิเดินจงกรม กำหนดอิริยาบทย่อย ขอให้อนุโมทนา
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.