พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เสาร์ 12 ธ.ค. 2009 9:24 am
ขออนุญาตินำบทความของท่านอื่นมาให้เป็นธรรมทานสักนิด
เป็นธรรมมะที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้
สวนสันติธรรม วันที่ ๓ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
คำถาม รบกวนหลวงพ่อช่วยสอนวิธีการดูจิตด้วยค่ะ
นี่กฎของการดูจิตนะ
ข้อที่ ๑ อย่าอยากดูนะ
ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วก็ค่อยรู้ เช่นโกรธขึ้นก่อนแล้วรู้ว่าโกรธ โลภขึ้นก่อนแล้วรู้ว่าโลภ
กฎข้อที่สองระหว่างดูให้ดูห่าง ๆ อย่ากระโจนลงไปดู
ไม่เหมือนดูโทรทัศน์นะ ใจไหลเข้าไปอยู่ในโทรทัศน์ นั่นใช้ไม่ได้ ดูห่าง ๆ
กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ เมื่อดูแล้วนะไม่เข้าไปแทรกแซง
ไม่ว่าเราจะเห็นสภาวะอะไรเกิดขึ้นเราจะไม่เข้าไปแทรกแซง
เช่นเราเห็นความโกรธเกิดขึ้น เราไม่ต้องพยายามทำให้หายโกรธ
หน้าที่ของเราคือก็แค่ รู้ไปว่าจิตมันโกรธนะ ทำตัวเป็นแค่คนดูไม่เข้าไปแทรกแซง
จิตโลภขึ้นมาก็แค่รู้ว่าจิตมันโลภนะ ไม่ต้องไปหาทางทำให้หายโลภ
มันมีความทุกข์ขึ้นมาเราก็รู้ว่าจิตมันมีความทุกข์ ไม่ต้องพยายามทำให้จิตหายทุกข์นะ
มันมีความสุขขึ้นมาก็ไม่ต้องพยายามรักษาความสุขเอาไว้
มันมีจิตที่เป็นกุศลขึ้นมาก็ไม่ต้องพยายามรักษาไว้
ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นนะ เราแค่รู้ลูกเดียว ไม่รักษาไว้ แล้วก็ไม่ปฏิเสธ ไม่ต่อต้านมัน
รู้ด้วยความเป็นกลาง รู้ด้วยความเป็นกลาง
เพราะฉะนั้นกฎข้อที่สามก็คือ ให้รู้สภาวะทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
จิตใจที่เป็นกลางเนี่ยเกิดจากการรู้ทัน ว่าจิตมันไปหลงยินดี จิตมันไปหลงยินร้าย
อย่าให้มันเป็นกลางเพราะไปบังคับไว้ ไม่ใช่บัง คับว่าชั้นจะต้องเป็นกลาง ถ้าบังคับเมื่อไหร่ เครียด
หลวงพ่อถึงบอกว่าวิปัสสนาไม่มีคำว่าบังคับ ไม่มีคำว่าห้าม ไม่มีคำว่าต้อง
มีแต่ว่ามันเป็นยังไง รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
ใจเราเห็น สมมติเราเห็นสาวสวยขึ้นมา ใจเรามีราคะ ไม่ต้องหาทางทำให้ราคะดับไป
โดยเฉพาะไม่ต้องหาทางทำให้สาวดับไปด้วย ไม่ต้องหาทางให้ราคะดับไป รู้ลูกเดียวว่าใจมีราคะ
ถ้าใจไม่ชอบราคะ เห็นมั้ยไม่เป็นกลาง ใจเกลียดราคะ อยากให้ราคะหายไป
รู้ทันว่าใจเราเกลียดราคะ ใจเราไม่เป็นกลาง
ถ้ามีความสุขเกิดขึ้น ใจเราชอบให้รู้ทันว่าใจเราชอบ
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไปรู้สภาวะรู้อารมณ์ทั้งหลายแล้วเนี่ย
ใจเรายินดีขึ้นมา คือเราชอบขึ้นมาก็ให้รู้ ใจเรายินร้าย คือเกิดความเกลียดชังสภาวะนั้นขึ้นมาก็ให้รู้
ถ้ารู้ทันนะ ต่อไปใจจะค่อย ๆ เป็นกลาง เราจะรู้สภาวะทั้งหลายอย่างเป็นกลาง นี่คือกฎข้อที่สาม
กฎข้อที่สี่ ทำบ่อย ๆ ถ้าทำบ่อย ๆ แล้ว
กฎข้อที่ห้า วันนึงเราจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะเราทำเหตุที่พอสมควรแล้ว เวลาที่เราบรรลุมรรคผลนิพพานนะ
จิตใจเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปนะ ถึงจุดหนึ่งมันเปลี่ยนปั๊ปเลย
ตอนที่เกิดมรรคผล ความทุกข์ที่มีอยู่เนี่ยตกหายไปเยอะเลย
เป็นลำดับ ๆ ไป แต่ละขั้นแต่ละภูมิ
เพราะฉะนั้นเวลาเราหัดรู้สภาวะ สรุปแล้วสรุป
การเรียนธรรมะเนี่ยเราเรียนแล้วเพื่อวันหนึ่งเราจะไม่มีทุกข์ทางใจเกิดขึ้น
วิธีปฏิบัติที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ทางใจนั้น คือหัดรู้ใจของเรา
ความทุกข์มันแอบมาอยู่ในใจของเรา เรารู้ทันนะ
ต่อไปความทุกข์มันจะไปเอง เราไม่ต้องไปไล่มันหรอก
ถ้าเราหัดรู้ใจของเรา ใจของเรามีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น รู้ไปเรื่อย ๆ นะ
มีกฎสามข้อของการรู้ คือก่อนที่จะรู้เนี่ยอย่าไปเที่ยวแสวงหา
อย่าไปดักดูไว้ก่อน ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้เอา
กฎข้อที่สองระหว่างที่รู้เนี่ยนะ อย่ากระโจนลงไปจ้องมัน ดูห่าง ๆ ดูแบบคนวงนอกนะ
ไม่ถลำลงไปจ้องมัน ถ้าไปจ้องเมื่อไหร่กลายเป็นสมถะเมื่อนั้น
กฎข้อที่สามคือรู้ด้วยความเป็นกลาง
ถ้าหากเรารู้สภาวะแล้วเกิดความยินดีขึ้นมาเราก็รู้ทัน เกิดความยินร้ายขึ้นมาเราก็รู้ทัน
รู้ทันความยินดียินร้ายในใจของเราบ่อย ๆ
ต่อไปใจเราจะเป็นกลาง เป็นกลางของมันเอง
ถ้าเมื่อไรเรารู้สภาวะทั้งหลายด้วยจิตใจที่เป็นกลางไปเรื่อย ๆ
เราจะเห็นสภาวะทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง
ม ันเป็นยังไงเรารู้ว่าเป็นอย่างนั้นโดยที่เราไม่เข้าไปแทรกแซง
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า เพราะรู้ตามความเป็นจริงนะ
เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ
เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดถือในกายในใจนี้
ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ไปด้วย เพราะความทุกข์นี้อาศัยอยู่ในกายในใจ
พวกเรารู้สึกมั้ย ความทุกข์ถ้าไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ
ถ้าจิตของเราหลุดพ้นจากกายจากใจแล้วนะ
ความทุกข์จะเข้ามาไม่ถึงจิตใจของเราอีกต่อไปแล้ว
มีแต่จะร่วงหายไปเลย หลังจากนั้นเราจะมีชีวิตที่ รู้ ตื่น เบิกบาน ตลอดเวลา
โดยที่ไม่ต้องประคอง ไม่ต้องรักษา
เคยได้ยินใช่มั้ยว่า
การศึกษานี่ต้องทำตลอดชีวิตใช่มั้ย
การศึกษาต้องทำตลอดชีวิตเพราะวิทยาการทางโลกเนี่ยไม่มีที่สิ้นสุด
แต่การศึกษาทางธรรมะนะ
เมื่อไรที่เราพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจแล้วเนี่ย งานศึกษาของเราสำเร ็จแล้ว
ผู้ที่เรียนสำเร็จแล้วเนี่ยคือพระอรหันต์ พระอรหันต์ถึงชื่อว่าพระอเสขะ
อเสขะแปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปแล้ว
เพราะฉะนั้นงานในทางศาสนาพุทธนะ
ถ้าเราเรียนรู้จนแจ่มแจ้งว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์
ใจมันจะปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจ แล้วไม่ต้องเรียนอีกแล้ว
ความทุกข์จะเข้ามาสู่ใจไม่ได้อีกแล้ว
ไม่เหมือนการศึกษาทางโลกนะต้องศึกษาตลอดชีวิต
นี่เป็นปรัชญาการศึกษาทางโลก ซึ่งมันก็จำเป็นสำหรับชาวโลกนะ
เพราะโลกนี้ปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องตามเรียนรู้ให้ทันความปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ
ส่วนธรรมะเนี่ยเราเรียนจนเราพ้นจากความปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นเนี่ย ไม่ต้องไปเรียนอีกแล้ว เห็นมั้ยมันคนละชั้นกันนะ
อย่าไปบอกอาจารย์นะเดี๋ยวอาจารย์จะเสียใจ
การศึกษาทางโลกไม่มีที่สิ้นสุด การศึกษาทางธรรมะมีจุดที่สิ้นสุดนะ
สิ้นสุดตรงที่ใจเราพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง
บทความโดยหลวงพ่อปราโมทย์
เกี่ยวกับอดีตชาติ ชาติก่อน-ชาติหน้า ที่หาอ่านได้ยาก
18. ชาติก่อน มีจริงหรือ
ในช่วงที่ผู้เขียนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นช่วงที่แนวความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ มีอิทธิพลต่อนักศึกษาอย่างสูง หลักการสำคัญของแนวทางนี้ก็คือ ท่านเน้นที่การดับทุกข์ในปัจจุบัน ทำให้ลูกศิษย์ซึ่งฟังคำสอนอย่างไม่รอบคอบเข้าใจว่า ท่านอาจารย์ปฏิเสธเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า คิดว่าท่านอาจารย์เชื่อว่าตายแล้วสูญ คิดว่าท่านอาจารย์เห็นว่า โอปปาติกสัตว์ เช่นเทวดาและพรหม ไม่มีจริง และทุกอย่างที่แปลกๆ จะถูกอธิบายด้วยเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม เช่นอธิบายว่าสวรรค์คือจิตที่เป็นสุข นรกคือจิตที่เป็นทุกข์ อธิบายว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานในวันเดียวกัน หมายถึงว่าการตรัสรู้ คือการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า และกิเลสก็นิพพานจากพระทัยของท่านในขณะเดียวกัน เป็นต้น มีการตีความธรรมะออกไปอย่างกว้างขวางและสมเหตุสมผล รวมทั้งสอนกันเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง
ผู้เขียนเป็นศิษย์หน้าโง่ของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเต็มภูมิ ตอนนั้นเชื่อสนิทว่า เมื่อตายแล้วก็สูญ พระไตรปิฎกตัดทิ้งเสียบ้างก็ได้ พระพุทธรูปก็ไม่ต้องไหว้ เพราะเป็นก้อนอิฐและทองเหลือง ตอนไปบวชที่วัดชลประทานก็ได้รับคำสอนว่า ให้รู้จักถือศีลอย่างฉลาด กิเลสก็เลยพาฉลาดแกมโกงไปเลย เช่นฉันข้าวจนเกือบๆ จะเที่ยง เพราะไม่ถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
ขนาดรู้เห็นภพภูมิต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก แต่พอเป็นวัยรุ่นที่ร้อนแรงเข้า กลับเชื่อลัทธิวัตถุนิยมเต็มหัวใจ ความน่ากลัวของสังสารวัฏนั้น มันน่ากลัวขนาดนี้ทีเดียวครับ คืออาจจะหลงผิดเมื่อไรก็ได้ แล้วแต่ความคิดปรุงแต่งจะพาไป
บุญที่ผู้เขียนได้พบท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (_/I\_) ท่านได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่า ผู้เขียนกำลังหลงผิดด้วยอุทเฉททิฏฐิ (คือเชื่อว่าตายแล้วขาดสูญ) ผู้เขียนจึงเริ่มเฉลียวใจ หันมาศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างกว่าเดิม แทนที่จะเชื่อตามๆ ที่ได้รับคำบอกเล่ามา ตั้งใจอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ส่วนใดสงสัยก็กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุชีพฯเรื่อยมา
เมื่อได้ครูบาอาจารย์ทางปฏิบัติอย่างหลวงปู่ดูลย์ และหลวงปู่เทสก์ และปฏิบัติอย่างจริงจังจนเข้าใจจิตตนเองอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ผู้เขียนจึงทราบว่า ชาติก่อนและชาติหน้ามีจริง แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจมาแต่เดิมว่า พอร่างกายแตกดับจิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ซึ่งทัศนะนั้นเกิดจากความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตา
***เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเชื่ออย่างหมดใจก็คือ เมื่อผู้เขียนมีสติระลึกรู้ลงในกายในจิตของตนเอง ผู้เขียนเห็นสันตติ คือเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลาของรูปและนาม เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านมาอย่างไม่ขาดสาย ส่วนที่ดับไปแล้วก็เป็นอดีต หาประโยชน์อะไรไม่ได้ ส่วนที่ยังมาไม่ถึง แต่มีเหตุปัจจัยอยู่ มันก็จะต้องมาถึงในอนาคต จะห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ส่วนปัจจุบันเองก็สั้นจนหาระยะเวลาไม่ได้ แม้จะมีอยู่ ก็เหมือนไม่มีอยู่ เพราะจับต้องอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ปรากฏแล้วก็ผ่านไปๆเท่านั้น ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย จึงเป็นไปด้วยอำนาจของสัญญาและสังขาร คือตามหลงสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วบ้าง เพ้อเจ้อไปถึงสิ่งที่เป็นอนาคตบ้าง ส่วนปัจจุบันจริงๆ เหมือนความกว้างของเส้นๆ หนึ่ง คือไม่มีความกว้างพอที่สิ่งใดจะตั้งลงได้เว้นแต่มหาสติเท่านั้นที่จะหยั่งลงในปัจจุบันได้
ผู้เขียนเป็นคนมีความจำดี เรื่องที่ผ่านมาแล้วบางเรื่อง ที่เป็นอารมณ์อันรุนแรงประทับใจ ก็ยังจำได้แม้วันเวลาจะผ่านไปนานนักหนาแล้ว สิ่งนี้เป็นเครื่องมือเฉพาะตัว ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาติก่อนมีอยู่ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นตามได้ ผู้เขียนจึงไม่เคยเปิดเผยมาก่อน นอกจากกับคนใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น ไม่เหมือนการตามรู้วาระจิตผู้อื่น ซึ่งผู้ถูกรู้สามารถเป็นพยานให้กับผู้เขียนได้ แต่เนื่องจากในลานธรรมแห่งนี้มีแต่กัลยาณมิตร ปรึกษากับคุณดังตฤณแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะพูดกันได้บ้าง
ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเล็กน้อย เพียง 3 ชาติสุดท้ายนี้ ในช่วงประมาณสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ผู้เขียนบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำใกล้จังหวัดนนทบุรี จิตใจในชาตินั้นท้อแท้ต่อการค้นหาสัจจธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะหันหน้าไปทางใด ก็มีแต่ผู้ไม่รู้เหมือนๆ กัน ความทอดอาลัยนั้น ทำให้กลายเป็นพระขี้เกียจ วันหนึ่งๆ เอาแต่นั่งเหม่ออยู่ที่ศาลาท่าน้ำบ้าง ดูพระอื่นแกะสลักไม้ทำช่อฟ้าและหน้าบันบ้าง
ในชาตินั้นผู้เขียนอายุสั้น ด้วยผลกรรมในอดีตห่างไกลมาแล้ว จึงเป็นลมตกน้ำตายตั้งแต่ยังหนุ่ม และเพราะอกุศลกรรมที่สั่งสมในการปล่อยจิตหลงเหม่อไปเนืองๆ ประกอบกับที่เป็นพระขี้เกียจ ฉันข้าวของชาวบ้านโดยไม่ทำประโยชน์ใดๆ ผู้เขียนจึงพลาดลงสู่อบายภูมิ ไปเกิดเป็นวัวของชาวบ้านข้างวัดนั้นเอง และถูกนำตัวมาถวายวัด กลับมาอยู่ในวัดเดิมในฐานะใหม่
เมื่อสิ้นอายุขัยลง ผู้เขียนได้ตามครูบาอาจารย์ไปเกิดทางตอนใต้ของจีน แซ่ฉั่ว ชื่อเอ็ง ต่อมาได้บวชเป็นเณรในวัดเซ็นอยู่บนเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ผู้เขียนก็หัดดูจิตอยู่เสมอๆ ตอนเป็นหนุ่มขึ้นมาเกิดไปหลงรักสาวซึ่งถวายดอกลิลลี่มาให้ ประกอบกับทางบ้านไม่มีผู้สืบตระกูล จึงลาสิกขากลับมาทำนา เรื่องนี้ชาวบ้านไม่ค่อยชอบใจอยู่แล้ว เพราะพระจีนนั้นเมื่อบวชแล้วมักนิยมบวชเลย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านทั้งหลาย ซึ่งนอกจากจะทำนาแล้ว เพื่อนบ้านยังเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และจับปลา ส่วนผู้เขียนสมาทานมั่นในศีลสิกขา แม้จะอดอยากเพียงใดก็ไม่ยอมฆ่าสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นกว่าคนอื่นๆ และเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวบ้านทั่วไป ว่าเป็นคนไม่รู้จักทำมาหากิน กระทั่งพวกเด็กๆ เมื่อเจอผู้เขียน ก็ร้องเป็นเพลงเล่นว่า ฉั่วเอ็งเป็นคนประสาท ฉั่วเอ็งเป็นคนอ่อนแอ ผู้เขียนถือมั่นในศีลอยู่ท่ามกลางแรงกดดันนั้นด้วยความอดทนอย่างยิ่ง
ต่อมาเกิดฝนแล้งต่อกัน 2 - 3 ปี คราวนี้ทั้งหมู่บ้านเผชิญกับความอดอยากอย่างยิ่ง กระทั่งคนที่เคยจับปลาก็ไม่มีปลาให้จับ ถึงตอนนั้นชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจำต้องทิ้งถิ่นเข้าไปหางานทำในเมือง ผู้เขียนและครอบครัวก็ไปกับเขาด้วย และไปพบการเกิดจราจลในเมือง พลอยถูกลูกหลงตายไปด้วย
ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์นั้น มีพระที่ทรงอภิญญาเลื่องชื่ออยู่หลายองค์ เช่นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และเจ้าคุณโชติ แห่งวัดวชิราลงกรณ์ ส่วนในบรรดาศิษย์รุ่นหลัง ที่จะหาผู้ทรงอภิญญาเสมอด้วยหลวงพ่อกิม ทีปธัมโม แห่งวัดป่าดงคู ผู้เขียนยังไม่เคยพบเลย
หลวงพ่อกิมสนิทกับผู้เขียนมาก แต่ท่านก็ไม่ค่อยยอมเล่าเรื่องแปลกๆ ให้ผู้เขียนฟังอย่างเปิดเผย เพราะติดด้วยพระธรรมวินัย แต่ถ้าแสดงธรรมอยู่แล้วพาดพิงไปถึง ท่านก็จะยอมเล่าให้ฟัง
เคยถามท่านว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ ท่านตอบว่า ท่านเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด บางชาติเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ บางชาติตกนรกหมกไหม้ หรือมาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน มีชาติหนึ่งเกิดเป็นวัว เจ้าของเอาไปผูกกับหลักไม้ไว้กลางนาตั้งแต่เช้า แล้วเขาไปทำธุระโดยคิดว่าไม่นานจะกลับมา ปรากฏว่าเขาติดธุระจนเย็นจึงกลับมาพาท่านกลับบ้าน ท่านบอกว่าวันนั้นแดดร้อนจัด ท่านกระหายน้ำทรมานมาก พอเห็นคนเดินผ่านไปมา ก็นึกดีใจว่าเขาคงเอาน้ำมาให้ดื่มบ้าง แต่คนกลับกลัววัวที่ดิ้นไปดิ้นมา ไม่กล้าเข้าใกล้ จนเย็นเจ้าของจึงมาพากลับเข้าคอก
หลังจากท่านทิ้งขันธ์แล้ว พระอุปัฏฐากท่านจึงเล่าเรื่องอันหนึ่งให้ฟังว่า หลวงพ่อกิม ท่านบอกว่าเมื่อชาติก่อนหลวงปู่ดูลย์ และหลวงพ่อกิมเป็นพระจีน ในชาตินี้มาเกิดที่เมืองไทย และมีศิษย์ในยุคนั้นตามมาอีก 10 คน ขณะที่ท่านเล่านั้น เป็นพระ 3 รูป อุบาสก 3 คน และอุบาสิกา 4 คน
สังสารวัฏนี้ยาวนานนัก ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงกล่าวว่า คนที่มาพบกันนั้น ที่จะไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกันมา หาได้ยากนัก
จากการที่ผมจำอดีตได้ยาวไกลมาก จึงได้ข้อสรุปมาอย่างหนึ่งว่า นิสัยของคนเรานั้น หมื่นปี ก็ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย เว้นแต่จะตั้งอกตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง จึงจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้
คนที่เคยขี้เกียจมาอย่างไร ก็มักจะขี้เกียจอย่างนั้น แล้วก็จะขี้เกียจต่อไปอีก คนที่ชอบศึกษาปริยัติธรรม ก็จะชอบศึกษาปริยัติธรรม แล้วชาติหน้าก็จะชอบอย่างนั้นอีก
สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงคนได้เร็วที่สุด คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน แต่ถึงจะปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์แล้ว บรรดาวาสนาคือความเคยชินต่างๆ ก็ยังติดอยู่เหมือนเดิม
19. ชาติหน้ามีจริงหรือ
คราวนี้มากล่าวถึงเรื่องชาติหน้า หรือเรื่องตายแล้วเกิดบ้าง ผู้เขียนเคยเห็นการตายและเกิดมาหลายคราวแล้ว ในที่นี้จะเล่าถึงการตายแล้วเกิดสัก 4 ราย
การตายแล้วเกิดนั้น ไม่ใช่ว่าพอร่างกายนี้แตกดับลง จิตดวงเดิมก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ เพราะจิตเองก็ตายและเกิดอยู่แล้วตลอดเวลา
เรื่องนี้ผู้เขียนเคยนั่งดูพ่อแท้ๆ ถึงแก่กรรม ตอนนั้นพ่อป่วยหนักอยู่ที่ศิริราช ในขณะที่จะตายนั้น ต้องนอนหายใจด้วยการขยับไหล่ขึ้นลง เพราะกระบังลมไม่มีกำลังจะหายใจแล้ว ขณะนั้นมีเวทนาทางกายอย่างรุนแรง สลับกับการตกภวังค์เป็นระยะๆ ผู้เขียนก็เพียรแผ่เมตตาให้เรื่อยๆ ไป ถึงจุดหนึ่งจิตของพ่อเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ แต่ไม่ได้ออกมาสู่โลกภายนอก เป็นสภาวะคล้ายๆ การฝันไปนั้นเอง จิตของผู้เขียนได้สร้างกายทิพย์ขึ้นในรูปของภิกษุ ส่วนจิตของพ่อก็สร้างกายทิพย์ขึ้นมาประนมมือไหว้พระลูกชาย ผู้เขียนก็เตือนให้พ่อระลึกถึงบุญที่เคยบวชลูกชายหลายคน จิตของพ่อก็เบิกบานอยู่ช่วงหนึ่งแล้วตกภวังค์ พอเคลื่อนจากภวังค์ จิตมีอาการหมุนอย่างรวดเร็ว ที่ว่าตายเป็นทุกข์นั้น จุติจิตหรือจิตที่เคลื่อนที่หมุนนี้ มันก็แสดงทุกข์ออกมาอย่างสาหัส ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับตัวเรานี้เหมือนลูกข่างที่หมุนติ้วๆ จนสลบเหมือด มันเป็นการหมุนอยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนออกจากกายไปทางไหนเลย จากนั้นก็ตกภวังค์ขาดความเชื่อมโยงกับกาย ขณะเดียวกันก็มีจิตอีกดวงหนึ่ง หมุนขึ้นมาในภพใหม่ แสดงความทุกข์ของการเกิด แล้วตกภวังค์อีกทีหนึ่ง พอจิตถอนขึ้นจากภวังค์ คราวนี้ความปรากฏแห่งอายตนะที่ยึดเป็นชีวิตใหม่ ก็เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ จึงเห็นว่า จิตไม่ได้ออกจากร่างไปเกิด และทันทีที่ตาย ก็เกิดทันที มีภวังค์คั่นอยู่นิดเดียวเท่านั้น
อีกรายหนึ่งเป็นพ่อของเพื่อน แต่สนิทคุ้นเคยกันดี เพราะที่บ้านของเพื่อนคนนี้ สร้างกุฏิไว้ให้พระป่ามาพัก ในเวลาที่พ่อของเขาเจ็บหนักนั้น เขาได้นิมนต์ครูบาอาจารย์พระป่า 2 รูปไปแผ่เมตตาให้ ผู้เขียนก็ตามไปดูด้วย คนเจ็บนอนหลับๆ ตื่นๆ อยู่ แล้วก็ร้องโวยวายว่า นั่นมดดำเดินเต็มไปหมดเลย ลูกก็ร้องไห้กระซิกๆ บอกว่าพ่อเจอมดดำเดินแถวไม่ได้ จะเอานิ้วโป้งรูดฆ่าทั้งแถวด้วยความสนุกเสนอ ทั้งลูกและพระก็ช่วยกันเตือนสติ ว่าไม่มีมดดำ จิตของแกก็ตกภวังค์ลงอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่จิตเคลื่อนออกจากภวังค์ มาอยู่ตรงที่เหมือนฝันนั้น แกนิมิตเห็นไก่บ้านตัวหนึ่ง พระทั้งสองรูปและผู้เขียนก็เร่งแผ่เมตตาให้มากขึ้น นิมิตไก่ก็ดับลง เกิดนิมิตของอสุรกาย แล้วจิตก็เคลื่อน พอตกภวังค์ลง ก็ไปเกิดเป็นอสุรกายทันที
บางคนไม่ทำกรรมดี แต่กะว่าตอนตายจะค่อยตั้งใจตายให้ดี โดยจะท่องนามพระอรหันต์บ้าง พุทโธบ้าง ขอเรียนว่า เป็นความคิดที่เหลวไหลสิ้นเชิง เพราะพอจะตายจริงๆ นั้น จิตจะเกิดนิมิตขึ้นเหมือนกับฝันไป สิ่งที่ตั้งใจท่องไว้นั้น จะลืมจนหมด แล้ววิบากก็จะแสดงนิมิตขึ้นมาให้จิตผูกพันเข้าสู่ภพใหม่ตามกรรมที่ให้ผล
ถ้าควบคุมความฝันไม่ได้ ก็ควบคุมการเกิดข้ามภพข้ามชาติไม่ได้ รายพ่อของเพื่อนนั้น เมื่อเล่าให้เขาฟังว่าหวุดหวิดจะไปเป็นไก่ เขาก็สารภาพว่าพ่อนั้นตั้งแต่หนุ่มๆ ชอบดื่มเหล้า ตกเย็นจะมีเพื่อนมาชุมนุมที่บ้าน พ่อจะสั่งเชือดไก่เลี้ยงเพื่อนทุกวัน วันละตัว กรรมชั่วที่สะสมจนเคยชินเป็นเวลาหลายสิบปี จึงจะมารอให้ผล แต่อาศัยที่เคยทำบุญมาในช่วงปลายชีวิต ในขณะสุดท้ายนิมิตเกิดเปลี่ยนแปลงไป จึงรอดจากสัตว์เดียรัจฉาน ไปเกิดเป็นอสุรกาย เรียกว่าดีขึ้นขั้นหนึ่ง แต่ยังต่ำกว่าเปรต
หลังจากตายไม่นาน คืนหนึ่งลูกสาวนั่งภาวนาแล้วนึกถึงพ่อ ขอให้มารับส่วนบุญด้วยตนเอง ทันใดนั้น ทั้งบ้านก็เหม็นเน่าตลบไปหมด ทั้งลูกทั้งหลานกลัวกันลนลาน รีบกำหนดจิตบอกว่า ไม่ต้องมารับเองก็ได้ จะอธิษฐานจิตไปให้ วันนั้นพอดีมีพระเถระรูปหนึ่งมาพักในบ้าน พอรุ่งเช้าท่านก็บ่นขึ้นเองว่า ไม่น่าไปเรียกเขามาเลย
อีกรายหนึ่งเป็นสุนัขในบ้านของผู้เขียน เป็นหมาไทยธรรมดาไม่มีประวัติและดีกรี ผู้เขียนไปอุ้มมาจากจุฬาฯ เอามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็ก เขาเป็นสุนัขตัวเมียที่มีจิตใจงดงามมาก รู้จักให้ทาน ให้ลูกสุนัขอื่นๆ ดูดนมได้ เวลากินอาหาร จะให้แมวและสุนัขอื่นๆ กินก่อน ตัวอื่นอิ่มแล้วเขาจึงจะกินข้าว และแม้จะถูกสัตว์เล็กกว่ารังแก เขาก็จะเดินหนี ไม่ตอบโต้ทำร้าย ทั้งที่ทำได้ ในเวลาที่เขาตายนั้น เขานอนตาแป๋ว มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง และไปสู่ภพภูมิที่สูงกว่าพ่อของผู้เขียนเสียอีก
คนไปเกิดเป็นสัตว์ สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดา สังสารวัฏนี้เอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย แต่มีความเที่ยงธรรมอย่างที่สุด
รายสุดท้ายเป็นยายห่างๆ ของผู้เขียน แกเป็นคนขี้โมโหโทโส แถมเป็นนักเข้าทรงหลวงพ่อทวด เป็นคนที่มีพลังจิตกล้าแข็งมาก แกตายแล้วไปเกิดเป็นอสรุกาย มีผีหลายตัวเป็นบริวาร ทั้งนี้โอปปาติกสัตว์นั้น เขานับถือกันตามพลังอำนาจและบุญวาสนา
ลูกหลานรู้สึกสงสารแก แต่ที่มากกว่าสงสารคือกลัวแก เพราะญาติบางคนเห็นแกในสภาพที่น่ากลัวมาก ผู้เขียนจึงเป็นต้นคิดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นอกเหนือจากการจัดงานศพตามประเพณี โดยนำผ้าไตรไปถวายหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง เมื่อถวายทานแล้ว ก็กำหนดจิตอุทิศส่วนกุศลให้ พอกำหนดจิตถึง ภาพของแกก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตามีผู้เห็นถึง 3 คน ในภาพนั้นแกยังเป็นอสุรกาย แต่หน้าตาสดใสขึ้นบ้าง ในมืออุ้มผ้าไตรไว้อย่างงงๆ ว่าแกจะเอาไปทำอะไร ทั้งนี้เพราะแกเองไม่เคยทำบุญชนิดนี้ เป็นเพียงบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ จึงขาดความประทับใจเท่าที่ควร
รุ่งเช้าถวายอาหารต่อพระทั้งวัดโดยนำเงินไปทำบุญที่โรงครัว ให้เขาจัดการให้ แต่ทำบุญแล้วลืมอุทิศส่วนกุศลให้ ตกเย็นก็นั่งรถสองแถวที่จ้างไว้ออกจากวัด สิ่งที่พากันเห็นนั้นน่ากลัวมาก คืออสรุกายยายพร้อมทั้งบริวารพากันติดตามมาจากวัด ตอนขึ้นรถไฟที่หนองคาย ขณะที่รถวิ่งลงมาทางจังหวัดอุดรธานี อสุรกายก็มาโผล่หน้าใหญ่เต็มหน้าต่างรถไฟ เล่นเอาสะดุ้งไปตามๆ กัน ผู้เขียนนึกได้ว่ายังไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ จึงกำหนดจิตบอกยายว่า เมื่อเช้านี้ได้ทำทานถวายอาหารพระทั้งวัด เพื่ออุทิศให้กับเขา เมื่อบอกกล่าวถึงตอนนี้ อสุรกายก็ระลึกได้ว่า เมื่อสมัยยังสาวนั้น เขาชอบนำอาหารใส่ปิ่นโตไปถวายพระ ภาพพระนั่งฉันอาหารเต็มศาลาก็ปรากฏทางมโนทวารของเขา จิตในขณะนั้นเกิดความร่าเริงเบิกบานในบุญที่ตนเองเคยสร้างไว้ จิตก็เคลิ้มลงเรื่อยๆ ขณะนั้นเกิดกลุ่มควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นจากเท้าของเขา แผ่ขยายจนคลุมตัวไว้ทั้งหมด พอจิตตกภวังค์ดับวับลง กายอสุรกายก็สลายหายไป เกิดรูปเทพธิดารูปหนึ่งลอยทะลุกลุ่มควันสีขาวนั้นขึ้นไป
ความตายของโอปปาติกะนั้น เมื่อจิตจับนิมิตใหม่และดับลง รูปโอปปาติกะก็ดับลงด้วย แล้วจิตดวงใหม่ในภพใหม่ก็เกิดขึ้น แต่ผู้เขียนดูไม่ทันว่า รูปในภพใหม่เกิดก่อน หรือจิตเกิดก่อน
สัตว์ในภพอสุรกาย และภพอื่นๆ จะไม่รับส่วนบุญของผู้อื่น อย่างมากก็เพียงอนุโมทนาบุญ มีเพียงเปรตบางอย่างที่เป็นภพใกล้คนที่สุด จึงจะรับส่วนบุญจากผู้อื่นได้ กรณีที่เล่ามานี้ อสุรกายเพียงแต่อนุโมทนาบุญ และระลึกได้ถึงบุญของตนเอง
อนึ่ง ธรรมดาสัตว์ตระกูลโอปปาติกะทั้งหลายนั้นมักจะอายุยืน หากไม่มีบุญของตนเองเป็นที่พึ่งอาศัย ก็จะอยู่ด้วยความยากลำบาก เพราะจนลูกหลานเหลนตายหมดแล้ว สัตว์พวกนี้ก็ยังมักจะมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ถ้ามีโอกาสทำบุญ ก็ควรจะทำไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยในการท่องสังสารวัฏต่อไป
(16 มิถุนายน 2542)
รูปแบบใหม่ของชีวิต
ตั้งแต่เรียนวิปัสสนามา สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบบ่อยๆ คือ
มันมีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้น ในชีวิตเดิมๆของผมเสมอๆ
เมื่อวานนี้ หลังจัดรายการเสร็จ ผมไปเป็นอาสาสมัคร
ทำหน้าที่ช่วยแนะนำคนที่สนใจเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติ
คนที่มาคุยกับผม ถามผมว่า ผมเคยมีทุกข์ไหม
ผมตอบว่า เคยสิ ทุกข์บ่อยจะตาย ทุกข์ทุกวัน
เขาถามอีกว่า แล้วผมเคยอกหักไหม
เกือบจะตอบไปแล้ว ว่าอาชีพรองผม คือชาวไร่แห้ว
แต่เดี๋ยวจะดูเป็นคณะชวนชื่นไปหน่อย
เลยบอกไปว่า..เคยสิ หลายหนแล้ว
เขาถามว่า.. เวลาอกหัก ผมทำใจนานไหม
ผมบอกว่า.. ถ้าเข้าใจวิปัสสนา แล้วทำถูกทางมาระยะนึง
ผมให้อกหักไม่เกิน 3 วัน ก็จะดีขึ้น
เขาร้องโอ้โห.. ทำท่าทางไม่เชื่อ
ผมบอกว่า.. อันนั้นแบบชิวเด้น ชิวเด้นนะ
ถ้าคนเก่งๆแล้ว วันเดียวก็นานเกินไปแล้ว
ที่มันสั้น ไม่ใช่เพราะคนทำวิปัสสนาเป็น
มีอะไรวิเศษกว่าชาวบ้านเขามากมายหรอก
เพียงแต่เรามองเห็นความทุกข์ เป็นเรื่องธรรมชาติ
อ้าว.. เลิกกับแฟน อกหักรักคุด จะให้ดีใจหรือไง ..ใช่มะ
แต่เสียใจ รู้ว่าเสียใจ ...ไม่ได้พยายามปรุงแต่งจิต มากไปกว่าการรู้
รู้ด้วยอาการเข้าใจว่า.. สิ่งนี้เรียกว่าทุกข์
รู้ด้วยอาการยอมรับว่า.. ทุกข์เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ผ่านมาและจิตไปรู้เข้า
ไม่ใส่ใจมัน มากไปกว่าคนที่เห็นหมาขี้เรื้อนเดินผ่านหน้าบ้าน
ไม่ไยดีมัน มากไปกว่าคนที่นั่งริมน้ำแล้วเห็นหมาเน่าลอยผ่านไป
ไม่ดิ้นรนจะโดดลงไปผลักไสไล่มัน เพราะมันลอยมา ก็ลอยไปเอง
เพราะเราเห็นมาบ่อยแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า
มันผ่านมา แล้วมันก็จะผ่านไป ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่
ไม่ว่าเราจะยินดีหรือไม่ มันก็เหม็นตามธรรมชาติอยู่แล้ว
อย่าไปหวังให้หมาเน่ามันหอม
อย่าไปแกล้งคิดว่า อกหักแล้วดี มีความสุข
อันนั้นมันแทรกแซงธรรมชาติ ถึงจะเป็นเรื่องคิดดี
แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง ความจริง ก็ไม่ใช่วิปัสสนา
เวลาดูทุกข์ตัวเอง บ่อยๆ มันจะเห็นอย่างนึงว่า
คนเรามีทุกข์จากความรัก เพราะเราไม่ได้รักเขาเฉยๆ
แต่ในแพ็กเกจของความรัก มันมีความยึด ความอยาก อยู่ด้วย
แล้วเราก็ทุกข์ เพราะความอยาก อยากให้เขารัก อยากให้เขาดีกับเรา (เห็นด้วย)
ลำพังความรักหรือไม่รัก มันทำอะไรใครไม่ได้หรอก
ความอยาก ความยึด ของเราต่างหาก ที่ทำร้ายเราเอง
คนทำวิปัสสนา ก็คนธรรมดา ใช้หัวใจสูบฉีดเลือดนี่แหละ
เราก็ยังมีโลภ มีโกรธ มีหลง อาจจะรู้สึกว่าเยอะกว่าคนธรรมดาด้วยซ้ำ
เพราะเราดูตัวเอง แล้วเราเห็นบ่อยๆ เห็นเนืองๆ เห็นตามความเป็นจริง
ไม่ต้องเสแสร้ง แกล้งดี ไม่ต้องเก็บกด ไม่ต้องปฏิเสธว่า
ไม่จริ๊งงงง ฉันไม่เคยคิดร้าย ฉันไม่เคยโลภ ฉันไม่เคยหลง
ทั้งๆที่ จริงๆ เราก็หลงกันทั้งวันนี่แหละ หลงคิดดีบ้าง ร้ายบ้าง
ที่หลงกันแบบใหญ่โตที่สุด และดูยากที่สุด เข้าใจยากที่สุด
คือหลงเข้าใจว่า จิตนี้คือตัวตนของเรา
พระพุทธเจ้าบอกว่า.. ตัวเรา ไม่เคยมีในอดีต ไม่มีในปัจจุบัน ไม่มีในอนาคต
ที่มีอยู่ เป็นเพียงความเข้าใจผิด สำคัญผิด ว่าสิ่งนี้คือตัวเรา
งง รู้ว่า งง นะครับ สงสัย รู้ว่าสงสัย รู้ไวๆ
อยากถามรู้ว่า อยากถาม แล้วก็ไม่ต้องเชื่อด้วย
ที่พูดให้ฟังทั้งหมดเนี่ย ไม่ต้องเชื่อเลยสักข้อ
ให้ไปลองหัดทำ หัดดู หัดรู้สึกตัว แล้ววันนึงค่อยตอบตัวเองว่า
ผมพูดจริง หรือผมแค่โม้
ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก.. แค่รู้สึกตัวไว้ในปัจจุบันก็พอ
ความรู้บางอย่าง มันเหมือนผลไม้ มันจะสุกเมื่อมันถึงเวลาอันสมควร
ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย ดับไปก็ด้วยเหตุและปัจจัย
ไม่ใช่เพราะเกิดเพราะเราอยาก หรือไม่อยาก
ฝนจะตก ก็เพราะเหตุและปัจจัยมันสมควรจะตก
ฝนจะหยุด ก็เพราะมีเหตุและปัจจัยสมควรจะหยุด
ไม่ใช่เพราะเราอยากให้ตก หรืออยากให้หยุด
แต่ถ้ารู้ทันความอยากบ่อยๆ
จะเห็นว่า ในความเป็นคนธรรมดา ถ้ามีสติรู้ทันความอยาก
ความอยากก็จะเกิดสั้นลงๆ เราจะทุกข์น้อยลงๆ
ฝนตก ก็เรื่องของฝนมัน ฝนจะหยุด ก็เรื่องของฝนมัน
จิตจะสุข ก็เรื่องของจิต จิตจะทุกข์ ก็เรื่องของจิต
จิตไม่ใช่เรา .. แต่ที่เราทุกข์ เพราะเราไม่เคยรู้ทัน
เพราะเราหลงอยู่ในความคิดว่า จิต คือตัวเรา
เมื่อจิตทุกข์ เราจึงรู้สึกทุกข์ไปกับจิตด้วย
ผมขมวดท้ายการอธิบายว่า.. ที่ให้หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ
ก็เพราะต้องการให้สติเกิด เมื่อสติเกิดเอง ก็จะเห็นความจริง
เห็นความจริงบ่อยๆ ก็จะเริ่มเข้าใจได้ปัญญา
ปัญญายิ่งเพิ่ม ก็จะอยากสั้นลง ยึดน้อยลง
เพราะจะค่อยๆยอมรับว่า.. มันไม่มีอะไรที่บังคับได้สักอย่าง
ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ มันมาแล้วมันก็ไปเสมอกัน
มันเกิดขึ้น มันดับไปเสมอกัน ตามเหตุและปัจจัย
ไม่ใช่เพราะเราอยากหรือไม่อยาก
กระบวนการเห็นจริง ตามที่กาย ที่จิตเป็น
นี่แหละ เขาเรียกวิปัสสนา ไม่ได้เกี่ยวกับนั่งสมาธิ ยืนหรือเดินสมาธิ
ทำวิปัสสนาเก่งๆ ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาว เลิกแต่งหน้า
เลิกกับสามีภรรยา เลิกทำงาน คลานไปเฝ้าวัด
วิปัสสนาแท้ๆที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้ทำให้คนวิ่งหนีโลกเก่ง
แต่ทำให้คนอยู่กับโลกเก่ง เข้าใจ และไม่โดนโลกมันลากไป
อันนี้ประโยชน์แค่เบื้องต้น แต่เบื้องปลายไม่ต้องพูดละกัน
พูดเรื่องนิพพานมันจะดูไกลตัวไป
แต่อาจารย์ผมท่านบอกว่า.. ของดี มันอยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี่เอง
แต่แค่รู้สึกตัวเป็น ก็ดีถมเถแล้ว
รูปแบบใหม่ของชีวิต มันก็เกิดขึ้นพร้อมๆกับปัญญานี่แหละ
ท่านเขียนได้คมคายมาก มีข้อคิดดีดีมากมาย
อาจจะยาวไปนิดแต่คิดว่ามีประโยชน์มาก
เหมาะกับทุกคนที่มีความรักในทุกรูปแบบ
ปุ้ม
**********************************
“…คนเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างผู้มีปัญญา เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก และพยายามลดสัดส่วนที่เกิดจากตัณหาเท่าที่จะลดได้ ควรจะพัฒนาความรู้สึกของเราให้เป็นไปในทางเมตตาเท่าที่เราจะทำได้ ถ้าเทียบเป็นระดับ (spectrum) ก็มีตั้งแต่ความรักตาบอด หรือความรักที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เรียกว่าความรักที่มืด ที่นำไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมากที่สุด จนถึงความรักระดับสูงสุด สว่างที่สุด ก็คือ เมตตาธรรมที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง
ทำอย่างไร เราจึงพัฒนาความรักให้สว่างขึ้น ให้เป็นเหตุให้ต้องทุกข์ต้องทรมานใจน้อยลง อารมณ์ของคนเรา ส่วนมากมันอยู่ได้หรือเข้มข้นได้ เพราะเราหลับหูหลับตาต่อความจริงบางประการ อารมณ์นั้นไม่ใช่ท่างไปสู่ความพ้นทุกข์แน่นอน เพราะอาศัยอวิชชาจึงอยู่ได้ อวิชชาอยู่ที่ไหน ตัณหาต้องอยู่ที่นั่น เพราะแยกออกจากกันไม่ได้ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน เหมือนกับวิชาความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง ต้องอยู่กับฉันทะ หรือกุศลฉันทะ เป็นความอยากที่ปราศจากโทษ”
“…บางครั้ง คนแสวงหาความรักเพื่อดับทุกข์อย่างตาบอด คือว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์ แล้วเชื่อว่าความรักจะดับความทุกข์ของตนได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าจะมีปัญหา เพราะความทุกข์ไม่เคยดับไปด้วยความรัก ความทุกข์ดับไปด้วยการดับอวิชชา ทุกข์ดับเพราะอวิชชาดับ เพราะตัณหาดับ ไม่ใช่เพราะความรัก ถ้าเราหวังความดับทุกข์จากความรักนั้นคือการตั้งต้นไว้ผิด และจะต้องผิดหวัง…
มีละคร หนังสือ เพลง หลายสิ่งหลายอย่างที่จะชวนให้เราเข้าใจว่าความรักดับทุกข์ได้ แต่ชีวิตของเราแต่ละคนฟ้องขึ้นมาว่า ไม่ใช่!
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า อวิชชาปรากฏอยู่ในลักษณะตัณหา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่แก่นแท้ของอวิชชา คือการมองว่าชีวิต มีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ตัวของตัว สิ่งที่ท่านเรียกว่าอัตตา คือตัวเรา ศูนย์กลางของชีวิต พระพุทธองค์ท้าทายว่า ถ้ามีจริง มันอยู่ตรงไหน อยู่ในกายไหม อยู่ในความรู้สึกไหม อยู่ในความจำได้ไหม อยู่ในความคิด อยู่ในการรับรู้ทางประสาทไหม มีอยู่ตรงไหน แต่ส่วนมาก คนก็ไม่ได้สนใจวิเคราะห์อย่างนี้ แต่เชื่อว่ามีตัวเราที่เป็นของเที่ยงแท้ถาวร เกิดความเชื่องมงาย เกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเอง
สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ หนึ่ง ความกลัว สอง ความเหงา กิเลสทั้งหลายทั้งปวง มันจะเกิดขึ้น เพราะมีตัวเราที่แปลกแยกจากคนอื่น แปลกแยกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง แต่พอเราไม่ได้ดูตัวเองดีๆ ก็ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร คืออวิชชา การไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง รู้แต่ว่าเหงา รู้แต่ว่าแปลกแยก รู้แต่ว่ากลัว… ผู้มีอวิชชามักจะแสวงหาความรัก เพื่อจะไม่ต้องเหงา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง…
ถ้าเรากล้าดูตัวเอง กล้าพิจารณาความเหงา กล้าพิจารณาความกลัว ความกังวลต่างๆ กล้าดูสิ่งต่างๆ ที่เป็นทุกข์อยู่ในใจ ความหิวโหย ความหวังจากคนอื่นก็จะน้อยลงไปเอง จะเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร มันเป็นแค่อารมณ์ มีเกิด มีดับ ผู้ที่เห็นแก่ตัวมาก เพราะเชื่อในอัตตาตัวตนมาก และเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงความคิดผิดที่เราให้ชื่อว่าอัตตาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งจะต้องเจอความเหงา ยิ่งต้องเจอความกลัว ความกังวล ความกลัวบางทีก็ปลอมตัว… มันจะออกในรูปแบบความก้าวร้าว ความก้าวร้าวนี้มักจะเป็นอาการของความกลัว”
“…ถ้าจะรู้สึกว่า เราขาดอะไรสักอย่าง และก็หวังว่าคนอื่นเขาจะเสริมส่วนที่ขาด ก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่น แปรไปในทางที่ต้องการอะไรสักอย่างจากเขา เมื่อเราต้องการอะไรสักอย่างจากคนอื่น และเชื่อว่า ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นชีวิตเราจะแย่ ก็ต้องเครียด และความหึงหวงก็จะต้องรุนแรงมาก เพราะถ้าเราฝากความหวังในความสุขใจความมั่นคงของชีวิตไว้กับคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องกลัวว่า เราต้องพลัดพรากจากคนนั้น สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักธรรมชาติของชีวิต และผู้ที่มีความหวังในคนรักมากเกินไป ต้องการสิ่งที่คนอื่นให้เราไม่ได้…”
“…ส่วนมากคนแต่งงานกัน เท่าที่สังเกต เมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่เพราะไม่รักกัน ที่จริงก็รักกันอยู่ แต่ไม่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน คนสองคนรักกันได้โดยไม่ค่อยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน พอคนสองคนเกิดมีปัญหา ก็จะเข้าใจว่า ไม่รักกันจริง หรือมีปัญหาเรื่องความรัก ที่จริงก็รักกันอยู่แต่ไม่เข้าใจกัน มีความคิดผิดบางอย่าง ที่ยังปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเราไม่ฝึกหัดตัวเอง ความรักก็จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชีวิตและกิเลสต่างๆ ก็จะทำให้ความรักเศร้าหมองได้ โดยไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นได้เลย
เรื่องความรัก แรกๆ คนรักกัน ก็อยากจะสบตากันนานๆ อยากจะมองแต่หน้าและดวงตานานๆ อันนั้นก็เป็นวาระของมัน แต่ว่าเสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทั้งสองคนมองที่เป้าเดียวกัน มองข้างหน้าที่เป้าเดียวกัน จะอยู่ได้นาน แต่มองตาซึ่งกันและกัน นี่ไม่แน่นอน ถ้ามองข้างหน้า มองที่เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ก็มีทางไปด้วยกันได้ คือ มองว่าต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ความรักเป็นอารมณ์ เป็นสังขาร ความหวานก็เป็นอารมณ์ ความหวานก็เปลี่ยนเป็นความเปรี้ยวได้ แต่การเป็นมิตรที่ดีต่อกัน พึ่งธรรมะในการดำเนินชีวิตก็มีความสดชื่นได้ตลอด ผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันมีความไว้วางใจต่อกัน สามารถให้กำลังใจ ในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังท้อแท้ใจ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้เข้าใจ เป็นผู้ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่คิดจะชนะกัน ไม่คิดจะต่อสู้กัน ต่างคนต่างอยู่ด้วยการยอมรับว่า ต่างเป็นปุถุชน ยังมีกิเลส แต่ว่าต่างคนต่างอยากพ้นจากกิเลส อย่าจะช่วยกันแก้กิเลส พร้อมที่จะรับฟังข้อคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อตักเตือนจากอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นความรักก็จะไปในทางเมตตามากขึ้น
เมตตาคือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักที่ทำให้คนตกนรก คือ ความรักที่มีเงื่อนไขมาก ความรักที่มีเงื่อนไขมากที่สุด ก็คือ ฉันรักเธอเฉพาะช่วงที่เธอทำตามใจฉัน ถ้าเธอให้ความสุขแก่ฉันได้ ฉันจะรักเธอ เธอให้ความสุขแก่ฉันไม่ได้เมื่อไหร่ ฉันก็จะไม่รัก ก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ฉันรักเธอแต่ถ้าเธอเบื่อฉันเมื่อไหร่ ฉันก็ไม่รัก คือ ไม่ได้เป็นมิตร ไม่ได้มีความจริงใจต่อกัน เอาอารมณ์ เอากามเป็นที่ตั้ง การอยู่ในเพศฆราวาส เรื่องกามก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เป็นส่วนที่ควรควบคุมและไม่ควรจะหวังอะไรมากเกินไปจากความรัก พูดถึงการรักษาศีลข้อสาม สังเกตว่า ผู้ชายผิดศีลข้อสามถือว่า เป็นธรรมชาติของผู้ชาย อ้างร่างกาย อ้างความต้องการของร่างกาย ผู้หญิงผิดศีลข้อสาม ก็จะอ้างความรัก ช่วยตัวเองไม่ได้ รักเขาเหลือเกิน…
การจะอยู่ในโลก แต่งงานแล้ว จะไม่เกิดความรู้สึกว่าชอบ หรือรักคนอื่น ก็คงเป็นไปได้ยาก…แต่ที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมกาย วาจา เมื่อเกิดความรู้สึกต่อคนอื่น ทำอย่างไร ถ้ายินดีในความรู้สึกนั้น แล้วมีการกระทำอันใด ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา มันก็ผิดแล้ว และเราถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถือว่ากามารมณ์เป็นไฟ เผาลนจิตใจของคน ทำให้คนทำบาปกรรมได้สารพัด เราระมัดระวัง ไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้คนที่เรารักต้องทุกข์ ต้องเดือดร้อน ไม่ทำสิ่งใดลับหลังคนที่เรารัก เพียงเพราะว่าอยากได้รสชาติแห่งกาม มันไม่คุ้มค่า เราต้องพยายามดูจิตใจของตัวเอง แล้วมาแก้ที่จิตใจตัวเอง อย่างไปแก้ที่อื่น
“…เราจะรัก ก็รักได้ แต่ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราจะอยู่ด้วยกันก็เป็นเรื่องชั่วคราว จะเป็นชั่วคราวสั้นๆ เป็นเดือน เป็นปี หรือจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องชั่วคราว ถ้าเราระลึกอยู่ในความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของการอยู่ด้วยกัน เราน่าจะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ให้อภัยได้ง่ายขึ้น ไม่ทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเล็กเรื่องน้อย เพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างชั่วคราว
ถ้าเราเป็นเทวบุตร เทวธิดา อยู่บนสวรรค์ อยู่ด้วยกันล้านๆปี ทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องเล็กเรื่องน้อย คงไม่เป็นไร คงมีเวลาแก้ไข แต่มนุษย์ไม่มีเวลามากขนาดนั้น
การระลึกถึงความจริงก็มีผลต่อความรัก ทำให้เป็นความรักที่ฉลาดขึ้น ประกอบด้วยปัญญา การรู้เท่าทันชีวิตในโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เรามีความตาย เรามีความพลัดพรากจากกันแน่นอน ระลึกอยู่เสมอ ชีวิตไม่แน่นอนจริงๆ วันใดวันหนึ่ง เราต้องพลัดพรากจากกัน ถ้าไม่คิดบ่อยๆ ไม่ซ้อมบ่อยๆ พอเราพลัดพรากจากคนที่เรารักจริงๆ เราก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน ฟังเทศน์ ฟังธรรม กี่ร้อยกัณฑ์ กี่พันกัณฑ์ ก็ไม่เกิดประโยชน์ทางจิตใจเรา บางคนครวญครางว่าไม่เคยคาดคิดว่า เขาจะเป็นอย่างนี้… ทำไมจึงไม่คาดคิด ควรจะคิดทุกวัน…”
“…พระพุทธองค์ให้เราสังเกตว่าความรักสามัญมีโทษบางอย่าง ความรักสามัญมีโทษอย่างไร พอเรารักใครแล้ว ใครที่เป็นศัตรูกับคนที่เรารัก ก็กลายเป็นศัตรูของเราไปด้วย ยากที่จะหวังดีต่อคนเหล่านี้ หรือคนอื่นที่รักศัตรูของคนรักของเรา เราก็ไม่ค่อยชอบ มันมีการแบ่งแยกเกิดขึ้น”
“…ขอให้เราเรียนรู้เรื่องความรัก รักอย่างไรเศร้าหมอง รักอย่างไรผ่องใส รักอย่างไรทำให้เราอ่อนแอ รักอย่างไรทำให้เราเข้มแข็ง รักอย่างไรทำให้มีความสุขชั่วแวบเท่านั้น ความรักอย่างไรทำให้มีความสุขระยะยาวและสามารถให้ความสุขแก่คนอื่น ทำอย่างไร เราจะได้ขัดเกลาพัฒนาความสุขความรักของเราให้มีลักษณะของเมตตามากขึ้นๆ ทุกวัน นี่ก็คือข้อวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา”.
ท่านเขียนได้คมคายมาก มีข้อคิดดีดีมากมาย
อาจจะยาวไปนิดแต่คิดว่ามีประโยชน์มาก
เหมาะกับทุกคนที่มีความรักในทุกรูปแบบ
ปุ้ม
**********************************
“…คนเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างผู้มีปัญญา เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก และพยายามลดสัดส่วนที่เกิดจากตัณหาเท่าที่จะลดได้ ควรจะพัฒนาความรู้สึกของเราให้เป็นไปในทางเมตตาเท่าที่เราจะทำได้ ถ้าเทียบเป็นระดับ (spectrum) ก็มีตั้งแต่ความรักตาบอด หรือความรักที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เรียกว่าความรักที่มืด ที่นำไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมากที่สุด จนถึงความรักระดับสูงสุด สว่างที่สุด ก็คือ เมตตาธรรมที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง
ทำอย่างไร เราจึงพัฒนาความรักให้สว่างขึ้น ให้เป็นเหตุให้ต้องทุกข์ต้องทรมานใจน้อยลง อารมณ์ของคนเรา ส่วนมากมันอยู่ได้หรือเข้มข้นได้ เพราะเราหลับหูหลับตาต่อความจริงบางประการ อารมณ์นั้นไม่ใช่ท่างไปสู่ความพ้นทุกข์แน่นอน เพราะอาศัยอวิชชาจึงอยู่ได้ อวิชชาอยู่ที่ไหน ตัณหาต้องอยู่ที่นั่น เพราะแยกออกจากกันไม่ได้ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน เหมือนกับวิชาความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง ต้องอยู่กับฉันทะ หรือกุศลฉันทะ เป็นความอยากที่ปราศจากโทษ”
“…บางครั้ง คนแสวงหาความรักเพื่อดับทุกข์อย่างตาบอด คือว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์ แล้วเชื่อว่าความรักจะดับความทุกข์ของตนได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าจะมีปัญหา เพราะความทุกข์ไม่เคยดับไปด้วยความรัก ความทุกข์ดับไปด้วยการดับอวิชชา ทุกข์ดับเพราะอวิชชาดับ เพราะตัณหาดับ ไม่ใช่เพราะความรัก ถ้าเราหวังความดับทุกข์จากความรักนั้นคือการตั้งต้นไว้ผิด และจะต้องผิดหวัง…
มีละคร หนังสือ เพลง หลายสิ่งหลายอย่างที่จะชวนให้เราเข้าใจว่าความรักดับทุกข์ได้ แต่ชีวิตของเราแต่ละคนฟ้องขึ้นมาว่า ไม่ใช่!
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า อวิชชาปรากฏอยู่ในลักษณะตัณหา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่แก่นแท้ของอวิชชา คือการมองว่าชีวิต มีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ตัวของตัว สิ่งที่ท่านเรียกว่าอัตตา คือตัวเรา ศูนย์กลางของชีวิต พระพุทธองค์ท้าทายว่า ถ้ามีจริง มันอยู่ตรงไหน อยู่ในกายไหม อยู่ในความรู้สึกไหม อยู่ในความจำได้ไหม อยู่ในความคิด อยู่ในการรับรู้ทางประสาทไหม มีอยู่ตรงไหน แต่ส่วนมาก คนก็ไม่ได้สนใจวิเคราะห์อย่างนี้ แต่เชื่อว่ามีตัวเราที่เป็นของเที่ยงแท้ถาวร เกิดความเชื่องมงาย เกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเอง
สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ หนึ่ง ความกลัว สอง ความเหงา กิเลสทั้งหลายทั้งปวง มันจะเกิดขึ้น เพราะมีตัวเราที่แปลกแยกจากคนอื่น แปลกแยกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง แต่พอเราไม่ได้ดูตัวเองดีๆ ก็ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร คืออวิชชา การไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง รู้แต่ว่าเหงา รู้แต่ว่าแปลกแยก รู้แต่ว่ากลัว… ผู้มีอวิชชามักจะแสวงหาความรัก เพื่อจะไม่ต้องเหงา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง…
ถ้าเรากล้าดูตัวเอง กล้าพิจารณาความเหงา กล้าพิจารณาความกลัว ความกังวลต่างๆ กล้าดูสิ่งต่างๆ ที่เป็นทุกข์อยู่ในใจ ความหิวโหย ความหวังจากคนอื่นก็จะน้อยลงไปเอง จะเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร มันเป็นแค่อารมณ์ มีเกิด มีดับ ผู้ที่เห็นแก่ตัวมาก เพราะเชื่อในอัตตาตัวตนมาก และเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงความคิดผิดที่เราให้ชื่อว่าอัตตาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งจะต้องเจอความเหงา ยิ่งต้องเจอความกลัว ความกังวล ความกลัวบางทีก็ปลอมตัว… มันจะออกในรูปแบบความก้าวร้าว ความก้าวร้าวนี้มักจะเป็นอาการของความกลัว”
“…ถ้าจะรู้สึกว่า เราขาดอะไรสักอย่าง และก็หวังว่าคนอื่นเขาจะเสริมส่วนที่ขาด ก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่น แปรไปในทางที่ต้องการอะไรสักอย่างจากเขา เมื่อเราต้องการอะไรสักอย่างจากคนอื่น และเชื่อว่า ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นชีวิตเราจะแย่ ก็ต้องเครียด และความหึงหวงก็จะต้องรุนแรงมาก เพราะถ้าเราฝากความหวังในความสุขใจความมั่นคงของชีวิตไว้กับคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องกลัวว่า เราต้องพลัดพรากจากคนนั้น สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักธรรมชาติของชีวิต และผู้ที่มีความหวังในคนรักมากเกินไป ต้องการสิ่งที่คนอื่นให้เราไม่ได้…”
“…ส่วนมากคนแต่งงานกัน เท่าที่สังเกต เมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่เพราะไม่รักกัน ที่จริงก็รักกันอยู่ แต่ไม่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน คนสองคนรักกันได้โดยไม่ค่อยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน พอคนสองคนเกิดมีปัญหา ก็จะเข้าใจว่า ไม่รักกันจริง หรือมีปัญหาเรื่องความรัก ที่จริงก็รักกันอยู่แต่ไม่เข้าใจกัน มีความคิดผิดบางอย่าง ที่ยังปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเราไม่ฝึกหัดตัวเอง ความรักก็จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชีวิตและกิเลสต่างๆ ก็จะทำให้ความรักเศร้าหมองได้ โดยไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นได้เลย
เรื่องความรัก แรกๆ คนรักกัน ก็อยากจะสบตากันนานๆ อยากจะมองแต่หน้าและดวงตานานๆ อันนั้นก็เป็นวาระของมัน แต่ว่าเสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทั้งสองคนมองที่เป้าเดียวกัน มองข้างหน้าที่เป้าเดียวกัน จะอยู่ได้นาน แต่มองตาซึ่งกันและกัน นี่ไม่แน่นอน ถ้ามองข้างหน้า มองที่เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ก็มีทางไปด้วยกันได้ คือ มองว่าต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ความรักเป็นอารมณ์ เป็นสังขาร ความหวานก็เป็นอารมณ์ ความหวานก็เปลี่ยนเป็นความเปรี้ยวได้ แต่การเป็นมิตรที่ดีต่อกัน พึ่งธรรมะในการดำเนินชีวิตก็มีความสดชื่นได้ตลอด ผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันมีความไว้วางใจต่อกัน สามารถให้กำลังใจ ในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังท้อแท้ใจ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้เข้าใจ เป็นผู้ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่คิดจะชนะกัน ไม่คิดจะต่อสู้กัน ต่างคนต่างอยู่ด้วยการยอมรับว่า ต่างเป็นปุถุชน ยังมีกิเลส แต่ว่าต่างคนต่างอยากพ้นจากกิเลส อย่าจะช่วยกันแก้กิเลส พร้อมที่จะรับฟังข้อคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อตักเตือนจากอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นความรักก็จะไปในทางเมตตามากขึ้น
เมตตาคือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักที่ทำให้คนตกนรก คือ ความรักที่มีเงื่อนไขมาก ความรักที่มีเงื่อนไขมากที่สุด ก็คือ ฉันรักเธอเฉพาะช่วงที่เธอทำตามใจฉัน ถ้าเธอให้ความสุขแก่ฉันได้ ฉันจะรักเธอ เธอให้ความสุขแก่ฉันไม่ได้เมื่อไหร่ ฉันก็จะไม่รัก ก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ฉันรักเธอแต่ถ้าเธอเบื่อฉันเมื่อไหร่ ฉันก็ไม่รัก คือ ไม่ได้เป็นมิตร ไม่ได้มีความจริงใจต่อกัน เอาอารมณ์ เอากามเป็นที่ตั้ง การอยู่ในเพศฆราวาส เรื่องกามก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เป็นส่วนที่ควรควบคุมและไม่ควรจะหวังอะไรมากเกินไปจากความรัก พูดถึงการรักษาศีลข้อสาม สังเกตว่า ผู้ชายผิดศีลข้อสามถือว่า เป็นธรรมชาติของผู้ชาย อ้างร่างกาย อ้างความต้องการของร่างกาย ผู้หญิงผิดศีลข้อสาม ก็จะอ้างความรัก ช่วยตัวเองไม่ได้ รักเขาเหลือเกิน…
การจะอยู่ในโลก แต่งงานแล้ว จะไม่เกิดความรู้สึกว่าชอบ หรือรักคนอื่น ก็คงเป็นไปได้ยาก…แต่ที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมกาย วาจา เมื่อเกิดความรู้สึกต่อคนอื่น ทำอย่างไร ถ้ายินดีในความรู้สึกนั้น แล้วมีการกระทำอันใด ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา มันก็ผิดแล้ว และเราถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ถือว่ากามารมณ์เป็นไฟ เผาลนจิตใจของคน ทำให้คนทำบาปกรรมได้สารพัด เราระมัดระวัง ไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้คนที่เรารักต้องทุกข์ ต้องเดือดร้อน ไม่ทำสิ่งใดลับหลังคนที่เรารัก เพียงเพราะว่าอยากได้รสชาติแห่งกาม มันไม่คุ้มค่า เราต้องพยายามดูจิตใจของตัวเอง แล้วมาแก้ที่จิตใจตัวเอง อย่างไปแก้ที่อื่น
“…เราจะรัก ก็รักได้ แต่ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราจะอยู่ด้วยกันก็เป็นเรื่องชั่วคราว จะเป็นชั่วคราวสั้นๆ เป็นเดือน เป็นปี หรือจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องชั่วคราว ถ้าเราระลึกอยู่ในความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของการอยู่ด้วยกัน เราน่าจะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ให้อภัยได้ง่ายขึ้น ไม่ทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเล็กเรื่องน้อย เพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างชั่วคราว
ถ้าเราเป็นเทวบุตร เทวธิดา อยู่บนสวรรค์ อยู่ด้วยกันล้านๆปี ทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องเล็กเรื่องน้อย คงไม่เป็นไร คงมีเวลาแก้ไข แต่มนุษย์ไม่มีเวลามากขนาดนั้น
การระลึกถึงความจริงก็มีผลต่อความรัก ทำให้เป็นความรักที่ฉลาดขึ้น ประกอบด้วยปัญญา การรู้เท่าทันชีวิตในโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เรามีความตาย เรามีความพลัดพรากจากกันแน่นอน ระลึกอยู่เสมอ ชีวิตไม่แน่นอนจริงๆ วันใดวันหนึ่ง เราต้องพลัดพรากจากกัน ถ้าไม่คิดบ่อยๆ ไม่ซ้อมบ่อยๆ พอเราพลัดพรากจากคนที่เรารักจริงๆ เราก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน ฟังเทศน์ ฟังธรรม กี่ร้อยกัณฑ์ กี่พันกัณฑ์ ก็ไม่เกิดประโยชน์ทางจิตใจเรา บางคนครวญครางว่าไม่เคยคาดคิดว่า เขาจะเป็นอย่างนี้… ทำไมจึงไม่คาดคิด ควรจะคิดทุกวัน…”
“…พระพุทธองค์ให้เราสังเกตว่าความรักสามัญมีโทษบางอย่าง ความรักสามัญมีโทษอย่างไร พอเรารักใครแล้ว ใครที่เป็นศัตรูกับคนที่เรารัก ก็กลายเป็นศัตรูของเราไปด้วย ยากที่จะหวังดีต่อคนเหล่านี้ หรือคนอื่นที่รักศัตรูของคนรักของเรา เราก็ไม่ค่อยชอบ มันมีการแบ่งแยกเกิดขึ้น”
“…ขอให้เราเรียนรู้เรื่องความรัก รักอย่างไรเศร้าหมอง รักอย่างไรผ่องใส รักอย่างไรทำให้เราอ่อนแอ รักอย่างไรทำให้เราเข้มแข็ง รักอย่างไรทำให้มีความสุขชั่วแวบเท่านั้น ความรักอย่างไรทำให้มีความสุขระยะยาวและสามารถให้ความสุขแก่คนอื่น ทำอย่างไร เราจะได้ขัดเกลาพัฒนาความสุขความรักของเราให้มีลักษณะของเมตตามากขึ้นๆ ทุกวัน นี่ก็คือข้อวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา”.
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทานชุดใหญ่ เจริญวิปัสสนา เมื่อวานนี้ได้เจริญสติ คือเดินจงกรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ กำหนดอิริบทย่อย เจริญอนุสติหลายอย่าง
เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ สีลานุสติ มรณานุสติ กายคตานุสติ ทั้งวันได้ผลักกับเจริญกรรมฐานที่กล่าวมาจนหลับด้วยการกำหนดพองยุบ และที่ผ่านมาได้ ร่วมบริจาคเงินให้แก่โรงทานของพระสงฆ์
และได้บริจาคเงินค่าโรงศพ ผ้าขาวห่อศพ และได้สักการะพระธาตุ และวันนี้ได้ถวายข้าวพระพุทธรูป และตั้งใจว่าจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดอิริบทย่อย พร้อมกับเจริญอนุสติที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทั้งวัน จนหลับ และได้อุทิศบุญกุศล และได้อนุโมทนาบุญกับผู้ใส่บาตรตอนเช้าตามถนนหนทาง ให้ธรรมะเป็นทานและที่ผ่านมาได้ให้อภัยแก่เพื่อน ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.