Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

หลักชาวพุทธ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต ประยุทธ์ ป.ธ. ๙)

พุธ 16 ธ.ค. 2009 7:52 pm

หลักชาวพุทธ
ภูมิธรรมขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาการแห่งชีวิตและสังคม


ปัจจุบันนี้ ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไม่มีทั้งความรู้และการปฏิบัตของชาวพุทธ สภาพเช่นนี้เป็นเหมือนเมฆหมอกที่บดบังแสงสว่างและความงามแห่งคุณค่าของพระพุทธศาสนา นอกจากตัวบุคคลนั้นจะไม่เจริญงอกงามในธรรมแล้ว สังคมก็สูญเสียประโยชน์มากมายที่พึงได้จากพระพุทธศาสนา จึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่ควรตื่นตัวขึ้นมาเร่งแก้ไข

คำว่า “ชาวพุทธ” มิใช่เป็นถ้อยคำที่พึงเรียกขานกันอย่างเลื่อนลอย บุคคลที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ชาวพุทธ” จะต้องมีหลักการ มีคุณสมบัติประจำตัว และมีมาตรฐานความประพฤติที่รองรับ ยืนยัน และแสดงออกถึงความเป็นชาวพุทธนั้น

หลักการและปฏิบัติการที่เรียกว่า “หลักชาวพุทธ” ดังต่อไปนี้ เป็นภูมิธรรมขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักการและการดำเนินตามปฏิบัติการนี้ นอกจากเป็นชาวพุทธสมแก่นามแล้ว จะมีชีวิตที่พัฒนาก้าวหน้างอกงามและช่วยให้สังคมเจริญมั่นคงดำรงอยู่ในสันติสุข เป็นผู้สืบต่อวิธีชาวพุทธไว้ พร้อมทั้งรักษาธรรมและความเกษมศานต์ให้แก่โลก “หลักการชาวพุทธ” อันพึงถือเป็นบรรทัดฐาน มีดังต่อไปนี้

หลักการ

๑. ฝึกแล้วคือเลิศมนุษย์ : ข้าพเจ้ามั่นใจว่า มนุษย์จะประเสริฐเลิศสุด แม้กระทั่งเป็นพุทธได้เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือการศึกษา
๒. ใฝ่พุทธคุณเป็นสรณะ : ข้าพเจ้าจะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์และมีเมตตากรุณา ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. ถือธรรมะเป็นใหญ่ : ข้าพเจ้าจะถือธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสิน
๔. สร้างสังคมให้เยี่ยงสังฆะ : ข้าพเจ้าจะสร้างสังคมตั้งแต่ในบ้านให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์
๕. สำเร็จด้วยกระทำกรรมดี : ข้าพเจ้าจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท


ปฏิบัติการ

ข้าพเจ้าจะนำชีวิต และร่วมนำสังคมประเทศชาติไปสู่ความดีงามและความสุขความเจริญ ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

ก) มีศีลวัตรประจำตน

๑. บูชาบูชนีย์ : มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และ บุคคลที่ควรเคารพ
๒. มีศีลห่างอบาย : สมาทานเบญจศีลให้เป็นนิจศีล คือหลักความประพฤติประจำตัว ไม่มืดมัวด้วยอบายมุข
๓. สาธยายพุทธมนต์ : สวดสาธยายพุทธวจนะ หรือบทสวดมนต์โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน
๔. ฝึกฝนจิตด้วยภาวนา : ทำจิตใจให้สงบ ผ่องใส เจริญสมาธิอันค้ำจุนสติที่ตื่นตัว หนุนปัญญาที่รู้ทั่วชัดเท่าทัน และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ ๕ - ๑๐ นาที

ข) เจริญกุศลเนืองนิตย์

๕. ทำกิจวัตรวันพระ : บำเพ็ญกิจวัตรวันพระด้วยการตักบาตร หรือแผ่เมตตา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือที่ทำงานร่วมกัน ประมาณ ๑๕ นาที
๖. พร้อมสละแบ่งปัน : เก็บออมเงินและแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อการบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
๗. หมั่นทำคุณประโยชน์ : เพิ่มพูนบุญกรรม บำเพ็ญประโยชน์อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดาบิดา ครูบาอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
๘. ได้ปราโมทย์ด้วยไปวัด : ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของครอบครัว

ค) ทำชีวิตให้งามประณีต

๙. กินอยู่พอดี : ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญา ให้กินอยู่พอดี
๑๐. มีชีวิตงดงาม : ปฏิบัติกิจส่วนตน ดูแลของใช้ของตนเองและทำงานของชีวิตด้วยตนเอง ทำได้ ทำเป็น อย่างงดงามน่าภูมิใจ
๑๑. ไม่ตามใจจนหลง : ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน ไม่มัวสำเริงสำราญปล่อยตัวให้หลงไหลไปตามกระแส สิ่งล่อเร้าชวนระเริง และมีวันปลอดการบันเทิง อย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน
๑๒. มีองค์พระครองใจ : มีสิ่งที่บูชาไว้สักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ

บุคคลที่ถือปฏิบัติตาม “หลักชาวพุทธ” ดังกล่าวมานี้ เป็นผู้มีภูมิธรรมพิ้นฐานของชาวพุทธ จึงเป็นชาวพุทธที่แท้จริงสมกับชื่อที่เรียกขาน

แรกที่สุด พอเด็กเกิดมาลืมตาดูโลก การศึกษาก็เริ่ม ลูกจะเห็นโลกและมองโลกอย่างไรก็อยู่ที่พระพรหมคือพ่อแม่จะชี้แสดงชักนำให้การศึกษาเดินหน้าไป ดังนั้น ถ้าจะให้แน่จริงและมั่นใจที่สุด การปฏิบัติตามหลักชาวพุทธจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน โดยการนำของครูบาอาจารย์ คือคุณพ่อคุณแม่ ที่แน่แท้ว่าเป็นครูคนแรกของลูก

เมื่อเด็กมาเข้าโรงเรียน คือเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา ถือว่าเป็นจุดกำหนดในการแสดงความเป็นผู้ศึกษาให้ปรากฏชัดเจนออกมา เท่ากับบอกแจ้งว่าจะตั้งต้นเล่าเรียนศึกษาอย่างจริงจัง ให้สมนามที่เรียกว่าเป็น “นักเรียน”

ในขณะที่เริ่มแสดงความเป็นนักเรียนนั้น เด็กก็ควรได้โอกาสที่จะเริ่มแสดงความเป็นชาวพุทธของตนให้ปรากฏชัดออกมาด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการของการศึกษาทุกส่วนประสานเกื้อกูลและกลมกลืนกัน ดำเนินไปอย่างครบองค์สมที่จะเรียกว่าเป็น “ไตรสิกขา”

ด้วยการปฏิบัติ หมวด ๑๒ ข้อนี้

ข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธแท้จริงที่มั่นใจว่าจะสามารถรักษาธรรมไว้ และร่วมนำโลกไปสู่สันติสุข.

Re: หลักชาวพุทธ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต ประยุทธ์ ป.ธ. ๙)

พุธ 16 ธ.ค. 2009 8:43 pm

สาธุครับ

ถ้าอ่านแล้ว ไม่เอาไปใช้=ไม่ได้อ่าน ละตกลงจะเรียกว่า เราได้อ่านหรือไม่ได้อ่านดี

น่าคิดนะครับ :icry: :icry:

ขอบคุณอาจารย์ต่อ มักๆครับป๋ม :ilu: :ilu:

Re: หลักชาวพุทธ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต ประยุทธ์ ป.ธ. ๙)

พุธ 16 ธ.ค. 2009 9:45 pm

ขอบพระคุณครับอาจารย์รณธรรมฯ :) :) :)

Re: หลักชาวพุทธ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต ประยุทธ์ ป.ธ. ๙)

พุธ 16 ธ.ค. 2009 10:08 pm

ด้วยความยินดีครับ

ขอบพระคุณทุก ๆ ท่านเช่นกันครับ :P
ตอบกระทู้