นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 24 ม.ค. 2025 1:04 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ปัญหาภิกษุณี ๑
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 16 ธ.ค. 2009 8:25 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
จากอุบาสก–อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี

ธรรมกถาแก่ชาวธรรมะร่วมสมัย ผู้เดินทางไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน ในโอกาสเข้าพรรษาใหม่ ๆ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

..........................................................

เข้าพรรษา คือถึงฤดูแห่งการศึกษา

วันเข้าพรรษานี้ ทราบกันดีว่าเป็นเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ โดยเฉพาะเมื่อพระเก่าอยู่กับวัด ก็เป็นโอกาสให้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระใหม่ เมื่อพระใหม่กับพระเก่ามาอยู่ร่วมกัน พระเก่าก็จะได้เป็นกัลยาณมิตร ที่จะนำความรู้พระธรรมวินัย และประสบการณ์ในการปฏิบัติเป็นต้น มาถ่ายทอดแนะนำสั่งสอนให้แก่ผู้ใหม่ เราจึงได้มีประเพณีนิยมบวชในระยะเข้าพรรษา

ตัวอย่างเช่นที่วัดนี้ ปีนี้ มีพระทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ๑๘ รูปด้วยกัน เป็นพระเก่าครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูป และพระใหม่อีกครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูปเหมือนกัน

การบวชเรียนนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาตามประเพณี เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา คือเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น การที่เราปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ และทำต่อกันมานานเข้าก็กลายเป็นประเพณี ประเพณีนี้เราเรียกว่า “ประเพณีบวชเรียน” ซึ่งนิยมปฏิบัติกันมาในช่วงเข้าพรรษา ตลอดฤดูฝน ถ้าทำได้ตามนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ตามประเพณี

แต่ปัจจุบันผู้ที่จะปฏิบัติได้ครบอย่างนี้มีน้อยลง มักบวชกันไม่ค่อยเกินหนึ่งเดือน บางทีสั้นกว่านั้นอีก เหลือแค่ครึ่งเดือน บางแห่งเจ็ดวันก็มี สั้นกว่านั้นก็มี จนกระทั่งมีคำล้อกันว่า บวชยังครองผ้าไม่เป็น ก็สึกไปแล้ว การบวชที่แท้นั้นเป็น การบวชเรียน คือการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และให้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง คือเรียนด้วยชีวิตของตน เป็นไตรสิกขา ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา

เวลานี้ผู้ที่บวชอยู่จำตลอดพรรษามีน้อยลง เพราะฉะนั้น ที่วัดนี้จึงวางหลักว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้บวชอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง ถ้าบวชได้เต็มที่ครบสามเดือนก็ดี สำหรับพรรษานี้มีท่านที่อยู่ได้หลายรูป การบวชอยู่ได้สั้นลงนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเราจะไปว่าใครได้ยาก จะทำได้ก็เพียงว่า ทำอย่างไรจะให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดเป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อพระจำพรรษาอยู่ด้วยกัน มีผู้ใหม่กับผู้เก่า นอกจากพระใหม่จะได้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ก็ยังมีญาติโยม ซึ่งเมื่อพระอยู่ประจำที่ ก็เป็นโอกาสที่จะมาพบปะ มาทำบุญ มาปรึกษาสนทนาธรรมได้มากขึ้น บางท่านจึงได้ถือเหมือนกับเป็นวัตร คือเป็นข้อปฏิบัติประจำ ที่จะมาวัดวาอาราม แล้วก็มาทำบุญ มารักษาศีลเจริญภาวนา ญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่นัดหมายกันมาในวันนี้ ก็จัดเข้าเป็นการปฏิบัติตามคติแห่งประเพณีนี้เหมือนกัน


ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน


ชาวพุทธเรานั้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามหลักที่เรียกว่า องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไป มีอยู่ ๕ ข้อ คือ

๑. มีศรัทธา เป็นเบื้องต้น คือมีความเชื่อ มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ศรัทธางมงาย เพราะฉะนั้นจะเชื่อหรือมีศรัทธา ก็ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนเชื่อด้วย เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย เราต้องรู้เข้าใจว่า พระรัตนตรัยคืออะไร มีความหมายอย่างไรการที่ศรัทธาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้น คือปฏิบัติอย่างไร

๒. มีศีล อย่างน้อยตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นฐานสำหรับตนเองที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติเบื้องสูง พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องช่วยเกื้อกูลสังคม เพราะว่าผู้ถือศีล ๕ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ดำรงชีวิตที่สุจริต ใครตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ทำให้ที่นั้นมีความปลอดภัย ถ้าทุกคนรักษาศีล ๕ ได้ สังคมของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงอย่างแน่นอน เป็นหลักประกันสันติสุขของสังคมที่มั่นใจได้ เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็คือ สังคมนี้ขาดศีล ๕ เป็นอย่างยิ่ง

๓. อโกตูหลมังคลิกะ แปลกันว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือไม่มัวหวังผลจากความเชื่อถือนอกหลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นความงมงาย ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลต่างๆ แต่ให้เชื่อกรรม คือเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผล ให้หวังผลจากการกระทำด้วย ความเพียรพยายามของตน คุณสมบัติข้อนี้จะต้องให้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยของเรา

เวลานี้คุณสมบัติเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี้ ถ้าเราเอามาตั้งเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วัดละก็ คงจะเหลืออุบาสกอุบาสิกาน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของเราจึงเห็นได้ชัดว่า มีความเสื่อมโทรม แปรปรวนไปต่าง ๆ มากมาย

เวลานี้ที่มีปัญหาออกมาเป็นข่าวต่าง ๆ มากมาย จะเห็นว่าเป็นเพราะสังคมของเราเสื่อมลงไปจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นสังคมที่ไม่มีหลัก แค่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี่ก็แย่แล้ว ถ้าขาดข้อ ๒ คือเสื่อมศีล ก็ทำให้สังคมระส่ำระสาย พอขาดข้อ ๓ คือไม่หวังผลจากการเพียรทำ สังคมก็อ่อนแอ
เมื่อพลเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดคุณภาพ ไม่รู้จักเพียรพยายามทำการต่างๆ ให้บรรลุผลด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง ได้แต่มัวหวังพึ่งนอนรอคอยอะไรต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ สังคมจะเจริญได้อย่างไร

ถ้ามีองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาถึงข้อ ๓ นี้เท่านั้น สังคมของเราก็เจริญมั่นคงได้แน่นอน

๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยเวลานี้แปรปรวนในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็สืบเนื่องจากข้อ ๓ นั่นเอง เมื่อถือมงคลตื่นข่าว ไปเชื่อเรื่องไม่เข้าเรื่อง แล้วเขตบุญก็ย้ายออกจากพระพุทธศาสนาไปหาเขตบุญภายนอก ก็ยิ่งไปส่งเสริมให้ความเชื่อผิดปฏิบัติผิดแพร่หลายยิ่งขึ้น และแหล่งคำสอนที่ถูกต้องคนก็ไม่เอาใจใส่ คนก็ยิ่งห่างจากหลักศาสนาออกไป ไม่รู้และไม่เอาใจใส่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

๕. กระทำบุพการในพระศาสนานี้ หมายความว่าทำการขวนขวาย ทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนาที่จะทำให้พระธรรมวินัยเจริญมั่นคง นำกันช่วยกันดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลแท้จริง ที่เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม ที่จะทำให้ศีลธรรมเจริญงอกงาม

ถ้าเราเอาใจใส่ในหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้ เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดี สังคมไทยก็เจริญมั่งคงก้าวหน้า มีความเข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้นไป แต่เวลานี้มีปัญหา คนไทยขาดคุณสมบัติเหล่านี้กันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข

วันนี้ขออนุโมทนาญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่ได้ขวนขวายในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงชวนกันมาที่นี่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมาครั้งที่ ๒ และหวังว่าทุกท่านคงจะได้ปฏิบัติให้ครบตามหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วย ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ครบ ๕ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตนะ และอุบาสิการัตนะ คือเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสิกาแก้ว แก้วในที่นี้ หมายความว่า มีคุณค่าสูง ดีงาม ประเสริฐ ไม่ใช่อย่างที่เอาไปล้อกันว่า อุบาสกก็ดื่มแก้วหนึ่ง แล้วอุบาสิกาก็อีกแก้วหนึ่ง เลยไปคนละทิศละทาง

เวลานี้คำทางพระคนเอาไปใช้ล้อกันมาก เช่นพูดว่าวันนี้ถูกเทศน์มา กลายเป็นเรื่องเสียหาย ถูกสวดก็ไม่ดีอีก แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของสังคมของเรา จึงได้เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจว่าจะทำให้เกิดความถูกต้องกันอย่างจริงจัง

วันนี้อาตมาภาพคิดว่าจะไม่พูดอะไรมาก เพียงว่าจะอนุโมทนาที่ทุกท่านมีน้ำใจได้มาทำบุญอุปถัมภ์บำรุง และพระสงฆ์ก็มีน้ำใจตอบแทน คือมีเมตตาธรรม และมุทิตาธรรม เป็นต้น


เรื่องภิกษุณี พูดกันดี ๆ ไม่ต้องมีปัญหา ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด


เมื่อกี้นี้พันเอกทองขาว ผู้ดำเนินรายการธรรมะร่วมสมัย ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี คือว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีกำลังพูด คือเวลาพูดน่ะพูดได้ แต่ต่อจากนี้ไปจะทรุด พูดครั้งหนึ่งทรุดไปเป็นสิบวัน แต่ก็จะพูดเล็กน้อย

หลายท่านคงได้อ่านหนังสือที่อาตมภาพได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พิมพ์ออกมาชื่อว่า “ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี” หนังสือเล่มนี้พอดีออกมาตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังพูดกันในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี แต่ความจริงเป็นเรื่องเก่า คือมีผู้สัมภาษณ์ตั้ง ๓ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๕๔๑)

ต่อมาทางคณะผู้สัมภาษณ์ลอกเทปส่งมาให้ตรวจ และเขียนกำกับมาว่า มีผู้ศรัทธาที่มาในคณะสัมภาษณ์นั้นลอกเทปให้และขณะนี้กำลังป่วยมาก เพราะฉะนั้นอยากจะให้ผู้ที่ป่วยได้โอกาสชื่นใจในสิ่งที่ตนได้ทำด้วยศรัทธา จึงรีบตรวจให้ หนังสือก็ออกมาพอดีเกิดเหตุการณ์นี้ ตรงกันโดยบังเอิญ บางท่านเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องที่พูดตอนเหตุการณ์นี้ ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย เพียงตรงเวลากัน แต่ก็อาจเป็นประโยชน์

ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ถกเถียงเรื่องภิกษุณีกันนี้จริง ๆ พอดีเป็นช่วงใกล้วิสาขบูชา อาตมาคิดไว้ว่า วันวิสาขบูชาที่แล้วมานี้ เมื่อมีพิธีทำบุญเวียนเทียน ก็จะพูดเรื่องภิกษุณี แต่พอดีว่าตั้งแต่สงกรานต์จนกระทั่งเลยวิสาขบูชา สายเสียงอักเสบ เกือบไม่มีเสียงพูด ลงมาไม่ได้ เป็นอันว่าต้องงด จึงยังไม่ได้พูดจนบัดนี้ เฉพาะวันนี้ขอเล่าทัศนะทั่วๆ ไปโดยสรุป คือจะไม่พูดยาว เพราะในหนังสือเล่มนั้นอธิบายไว้หลายแง่แล้ว

เรื่องที่คิดว่าน่าจะพูดมี ๓ ประเด็น

ข้อที่ ๑ เราต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งจิตเมตตา คือมีความปรารถนาดี เพราะว่าผู้หญิง ถ้านับถือพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เริ่มแรกก็เป็นอุบาสิกา

ถ้าพูดกว้างออกไป ทั้งหญิงและชายก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปฏิบัติแล้วบรรลุธรรมได้ ในเมื่อทั้งหญิงและชายมีความสามารถนี้ แต่เวลานี้ผู้หญิงมีโอกาสภายนอกเกื้อหนุนน้อยลง เราก็มีความปรารถนาดี คืออยากให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุผล อย่างที่เรียกว่าให้เต็มตามศักยภาพของตน

เวลานี้มีผู้หญิงที่อยากจะบวชเป็นภิกษุณี แต่พอดีว่าในประเทศไทยเราไม่มีภิกษุณี ถ้าพูดกว้างออกไป ภิกษุณีสายเถรวาทเวลานี้หมดไปแล้ว ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร เฉพาะขั้นที่หนึ่งเราทำได้ก่อน คือ ตั้งจิตปรารถนาดีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีโอกาสมากที่สุดที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม


ตั้งหลักไว้ : ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย


ข้อที่ ๒ ความปรารถนาดีและความต้องการของเรานี้จะได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อหลักการ เราต้องดูว่าหลักการเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติไว้อย่างไรในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น

การปฏิบัติในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณีนี้ ถึงจะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้าว่าโดยหลักการกว้างๆ เราทราบกันแล้วว่า การที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องมีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณี แต่ข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าอุปัชฌาย์นั้นยังไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภิกษุณีได้ การบวชเป็นภิกษุณีหรือภิกษุก็ตาม สำเร็จด้วยสงฆ์ ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ และเป็นตัวตัดสิน คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทำอย่างไรจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาบวชให้ ในเมื่อภิกษุณีสงฆ์ขาดตอนไปแล้ว

ในเรื่องนี้ ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะภิกษุณี ภิกษุถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์อย่างในประวัติศาสตร์ของลังกา ภิกษุสงฆ์หมดไปตั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งทำให้ในลังกากุลบุตรบวชเป็นภิกษุไม่ได้ แต่พอดีว่าในประเทศไทยและพม่า ซึ่งเป็นประเทศเถรวาทเหมือนกัน ยังมีภิกษุสงฆ์อยู่ ทางศรีลังกาจึงได้ส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ ไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เกิดมีพระภิกษุขึ้นใหม่ ต่อมาภิกษุสงฆ์หมดอีก ก็ขอใหม่อีก ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าภิกษุสงฆ์ในประเทศอื่นไม่มี ภิกษุก็บวชใหม่ไม่ได้ ก็จบสิ้นเหมือนกัน

ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทขาดตอนไปหมดแล้ว เราเลยบอกว่า ไม่รู้จะเอาภิกษุณีสงฆ์ที่ไหนมาบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี ถึงแม้ภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะการที่จะบวชภิกษุณีได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ภิกษุณีสงฆ์ มีภิกษุสงฆ์อย่างเดียวบวชให้เป็นภิกษุณีไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญก็คือภิกษุณีสงฆ์นี่แหละ

ตอนนี้มีคำถามว่า ที่ประเทศมหายานเช่นไต้หวันนั้นมีภิกษุณีสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็บวชภิกษุณีได้ใช่ไหม ก็ตอบง่าย ๆ ชัดเจนว่าบวชได้ คือบวชเป็นภิกษุณีมหายาน เพราะเมื่อบวชโดยภิกษุณีสงฆ์มหายานและภิกษุสงฆ์มหายาน ก็ต้องเป็นภิกษุณีมหายาน เป็นเรื่องธรรมดา บวชอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าบอกว่าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นเป็นภิกษุณีสงฆ์เถรวาท เพราะสืบต่อมาจากสายเถรวาท ก็ต้องไปสืบประวัติกันให้ชัดออกมา คือตรงไปตรงมา ให้ชัดลงไปว่าเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร นอกจากนี้ ยังจะมีปัญหาอีกขั้นหนึ่งว่า ถ้าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันเริ่มต้นโดยเกิดจากภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริง แต่ต่อจากนั้นมา เวลาบวชภิกษุณีก็กลายเป็นว่า สงฆ์ ๒ ฝ่ายที่บวชให้นั้น ภิกษุณีสงฆ์เป็นเถรวาท ภิกษุสงฆ์เป็นมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง คือเป็นภิกษุณีที่เป็นกึ่งเถรวาทกึ่งมหายาน

ที่ว่ามานี้เป็นข้อที่จะต้องยกมาพิจารณาตามหลักการ ซึ่งต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการยกตัวอย่างให้ฟังว่า การจะทำอะไรก็ต้องรู้ก่อนว่า ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักจะต้องทำอย่างไร

แต่ขั้นที่หนึ่ง เรามีความรู้สึกที่ดี มีเจตนาที่ดี ปรารถนาดี ต่อจากนั้นก็หาทางว่าจะทำได้เท่าไร คือความต้องการต้องถูกจำกัดด้วยหลักการ หลักการเปิดให้เท่าไรเราก็พยายามหาทางทำให้เต็มที่เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกั้น เจตนาไม่ได้อยู่ที่จะปิดกั้น แต่เจตนาจะหาทางให้ แต่หาทางให้เท่าที่หลักการจะเปิดให้ แล้วก็มาช่วยกันพิจารณา ถ้าตั้งจิตอย่างนี้ และทำตามหลักแล้ว คงจะไม่ต้องมามัวเถียงกันมาก เป็นการยกตัวอย่างหัวข้อที่จะพิจารณาก็แล้วกัน ในเมื่อจะไม่พูดยืดยาวนัก

อาจจะสรุปอย่างสั้นที่สุดว่า เราควรทำโดยวิธีที่ว่า “ผู้หญิงก็ได้ ธรรมวินัยก็ไม่เสีย”

การจะทำได้อย่างนี้ ก็ต้องมีความรู้เข้าใจเรื่องที่จะทำ โดยเฉพาะหลักธรรมวินัยเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี ถึงแม้จะคิดแก้ไข จะไม่ทำตามหลักการ ก็ต้องรู้เข้าใจหลักที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นให้ดี แล้วก็ต้องตั้งตัวให้ดี ไม่ใช่ว่าหลักการอะไร จะใช้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่า ฉันชอบใจหรือไม่ชอบใจ


ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี


ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการถกเถียงกันคราวนี้ เพียงฟังและพิจารณาเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า มีการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้เข้าใจเรื่องราวกันมากทีเดียว หลายท่านก็พูดให้ทั้งตัวเองและคนอื่นยิ่งสับสน แล้วปัญหาก็เลยยิ่งสับสนแก้ไขยาก บางคนพูดทำนองว่า ทำไมจึงไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี บางคนถึงกับอ้างรัฐธรรมนูญ บางคนว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ภิกษุณีสิ บางคนก็พูดทำนองว่า เถรวาทใจแคบ ทำไมไม่ทำอย่างในฝ่ายมหายานที่บวชภิกษุณีได้ บางคนว่าองค์กรปกครองคณะสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม ทำไมไม่รับรองการบวชเป็นภิกษุณี

ความจริงก็เป็นเรื่องชัดเจนง่าย ๆ ผู้หญิงเคยมีสิทธิบวชในสมัยพุทธกาลอย่างไร ปัจจุบันผู้หญิงก็ยังมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีอยู่เช่นนั้น แต่ความติดขัดอยู่ที่ไม่มีคนมีสิทธิบวชให้ หรือคนที่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีนั้น เวลานี้ไม่มี ที่บางคนจะให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีโดยไม่ต้องมีภิกษุณีสงฆ์นั้น เป็นเพราะไม่รู้ขั้นตอนการบวชภิกษุณีนั้นว่า ทำอย่างไรบ้าง ตรงนี้แหละควรจะพูดเสียเลยว่า ภิกษุสงฆ์ไม่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณี แม้แต่บวชสามเณรี พระภิกษุก็บวชให้ไม่ได้ พระภิกษุบวชเด็กผู้ชายเป็นสามเณรได้ พระภิกษุณีก็บวชเด็กผู้หญิงเป็นสามเณรีได้ ฝ่ายไหนฝ่ายนั้น ภิกษุณีไม่บวชสามเณร ภิกษุก็ไม่บวชสามเณรี

ดังที่ทราบกันอยู่ว่า แต่เดิมมีภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นก่อน ต่อมาภิกษุณีรูปแรก คือพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ส่วนสตรีท่านอื่นที่ติดตามพระมหาปชาบดีโคตมีมา พระพุทธเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คือบวชโดยภิกษุสงฆ์

เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นแล้ว และภิกษุณีก็มีจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงให้ภิกษุณีสงฆ์บวชภิกษุณีก่อน แล้วจึงมาบวชที่ภิกษุสงฆ์ต่อภายหลัง กลายเป็นว่าภิกษุณีบวชจากสงฆ์สองฝ่าย เมื่อถึงตอนนี้ ภิกษุสงฆ์จะประชุมบวชภิกษุณีได้ ต่อเมื่อภิกษุณีนั้นบวชเสร็จจากภิกษุณีสงฆ์มาแล้ว ขั้นตอนการบวชที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บวช ที่ศัพท์พระเรียกว่าสอบถามอันตรายิกธรรมต่างๆ นั้น ต้องทำโดยภิกษุณีสงฆ์

การที่ภิกษุสงฆ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะบวชเป็นภิกษุณีนั้น พระพุทธเจ้าทรงระงับตัดไปแล้ว การที่จะยอมรับคุณสมบัติของสตรีที่ขอบวช ทรงให้เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ เป็นธรรมดาตามหลักกฎหมาย เมื่อมีบัญญัติใหม่ บัญญัติเก่าที่ขัดกัน ก็ระงับไป การบวชภิกษุณีแทบจะสมบูรณ์มาแล้ว ในขั้นตอนของภิกษุณีสงฆ์ ขั้นตอนของภิกษุสงฆ์เรียกได้ว่าเหลือแค่รับทราบและยอมรับตามที่ภิกษุณีสงฆ์ดำเนินการมา ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีมีสิทธิบวชสตรีเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้บวชให้

ต่อมาทรงอนุญาตแม้กระทั่งว่า เมื่อสตรีบวชเป็นภิกษุณีเสร็จในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ถ้ามีเหตุติดขัด เช่นการเดินทางอาจมีอันตราย การบวชในขั้นภิกษุสงฆ์ เจ้าตัวภิกษุณีนั้นจะไม่มาเองก็ได้ เพียงให้มีผู้แจ้งแทนเรียกว่า การอุปสมบทโดยทูต (ทูเตนอุปสัมปทา)

ถ้าภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี หรือภิกษุบวชสามเณรี ดีไม่ดี อีกไม่ช้า คนที่ทวงสิทธิสตรีก็จะท้วงว่า พระภิกษุถือสิทธิอะไรมาเป็นผู้บวชให้แก่สตรี ทำไมสตรีจะต้องไปให้ภิกษุบวชให้

การยกเอารัฐธรรมนูญมาอ้างว่า สตรีต้องมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพราะผู้หญิงมีสิทธิบวชอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่มีผู้มีสิทธิบวชให้แก่สตรีนั้น การอ้างรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ก็เหมือนกับว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไม่มีโรงเรียนแพทย์ หรือไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แล้วมีคนหนึ่งมาอ้างว่าตนต้องมีสิทธิได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้น หรืออะไรทำนองนั้น (รัฐธรรมนูญนี้อ้างกันจนชักจะเลอะ และเลยเถิด จนบางคนต่อไปรับประทานอาหารแล้ว ก็คงต้องอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้กระเพาะและลำไส้ของฉันมีสิทธิย่อยอาหารได้)

เวลานี้ เมื่อบวชเป็นภิกษุณีในสายเถรวาทไม่ได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีมหายานที่ไหนจะบวชเป็นภิกษุณีที่นั่นได้ พุทธศาสนามหายานมีนิกายย่อยแยกออกไปมากมาย มหายานบางแห่งบางนิกายยังมีภิกษุณี มหายานหลายแห่งก็ไม่มีภิกษุณี การที่จะบวชเป็นภิกษุณีมหายาน ก็บวชได้กับมหายานบางแห่งบางนิกายเท่านั้น

ส่วนเรื่องคณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมนั้น เมื่อเป็นเรื่องหลักพระธรรมวินัย ท่านทำได้แค่ให้ความรู้และท่านก็ต้องปฏิบัติตาม จะให้คณะสงฆ์มาตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองไม่ได้

ตามเรื่องที่ปรากฏและเถียงกันอยู่นี้ เห็นได้ว่า คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจ ไม่ว่าโดยพระธรรมวินัยหรือโดยกฎหมายของรัฐ ที่จะรับรองการบวชภิกษุณีนั้น จะทำได้ก็แค่รับรู้การบวชและให้ความรู้แก่ประชาชน การให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนนี้เป็นหน้าที่ยืนตัว ที่ควรทำตลอดเวลา รวมแล้วก็ต้องย้ำว่า การจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร ก็ควรจะได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นบ้าง มิฉะนั้น พูดกันไปพูดกันมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่ยิ่งสับสน


ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง


ข้อที่ ๓ เรื่องเก่าเกี่ยวกับสิ่งดีที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีเราก็มองข้ามไป ไม่เอาใจใส่ ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสองข้อที่พูดไปนั้นโดยตรง คือการที่สังคมไทยเรามีแม่ชีสืบมา

การที่เรามีแม่ชีก็เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า สังคมไทยเราเคยพยายามหาช่องทางให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการแสวงวิเวกหาความสงบ ในการมีชีวิตแบบผู้ปลีกตัวจากสังคม แล้วก็บำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติทางจิตภาวนาและปัญญาภาวนา

แต่สังคมของเราสมัยก่อนนี้ ไม่ใช่เป็นสังคมขยายใหญ่อย่างปัจจุบัน ที่ต้องมีเรื่องของกฎหมาย หรือระบบระเบียบข้อบัญญัติของรัฐหรือของสังคมอะไรต่างๆ มากมาย เพราะในอดีตสังคมของเราเป็นชุมชนแต่ละชุมชนที่สำเร็จในตัว เราอยู่กันง่าย ๆ แต่พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องการจะมีสถานะอะไรต่างๆ ก็เกิดขึ้น

นอกจากนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็มีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ทำให้แม่ชีซึ่งเดิมนั้นคงอยู่เพื่อแสวงหาชีวิตที่สงบ เพื่อมีโอกาสปฏิบัติในทางวิเวกได้มาก ก็กลายเป็นว่า ต่อมาแม่ชีมีภาพเสียหาย เพราะมีแม่ชีที่ไปเที่ยวขอทาน เมื่อไม่นานมานี้มีคนมาเล่าว่า ที่ศูนย์การค้าบางแห่ง ซึ่งมีฝรั่งมามาก มีแม่ชีไปขอทาน ไปเที่ยวขอเงินจากฝรั่ง อย่างนี้ก็เสียหมด

นอกจากนั้น ในยุคหลัง ๆ มาถึงปัจจุบันนี้ แม่ชียังมีภาพเสียหายในด้านอื่นอีก เช่นว่า เป็นคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ตลอดจนเป็นคนอกหัก อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นเรื่องของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งบางทีผู้ที่อยู่ในระบบชีวิตแบบนั้นเองเป็นผู้ทำให้เสื่อมเอง เมื่อตัวแม่ชีปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งถ้าคนทั่วไปหรือสังคมส่วนรวมไม่ช่วยรักษา ก็ย่อมเสื่อมลงไป

แม้แต่พระภิกษุก็เหมือนกัน อย่างเวลานี้เมื่อมีพระภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสียมากๆ ภาพพระภิกษุเองก็เสื่อม ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายอย่างนี้ต่อไป สภาพก็จะไม่ต่างจากแม่ชี ต่อไปคนจะมองพระเสียหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ ในทางพระศาสนาถือว่า พระภิกษุเป็นบรรพชิต เป็นสมณะ ซึ่งตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์สอนว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี บรรพชิตเป็นผู้ไม่ทำร้ายคนอื่น สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นจึงเป็นสมณะ

ตามหลักการนี้ ภาพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็คือเป็นผู้ที่ไม่มีภัย คนไปพบพระที่ไหนก็ใจสบาย มีความร่มเย็น คนสมัยก่อนไปในป่า ในที่เปลี่ยว ในที่น่ากลัว พอเจอพระ ใจก็มา โล่งอก สบายใจเลย คือหมดภัยอันตราย แต่ภาพสัญลักษณ์นี้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี บางทีเจอพระ หรือแต่งเป็นพระจริง คือภายนอกห่มผ้ากาสาวพัสตร์จริง แต่ภายในเป็นพระหรือเปล่า คนชักจะไม่ไว้ใจ ไปเจอพระแทนที่จะปลอดภัย เลยชักหนักใจ อย่างนี้ก็ไม่ไหว

ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายกันมาก ไม่เฉพาะแม่ชีหรอก พระภิกษุก็จะหมดสถานะไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะมีสถานะดี ปัจจัยขั้นแรกไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนไกล ก็อยู่ที่คนผู้อยู่ในระบบนั่นเอง ที่จะประพฤติตัวและดูแลกันให้ประพฤติให้ถูกต้องตามหลัก


พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น


แม่ชีเรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องภิกษุณีกันหรือไม่ก็ตาม ก็ขออย่าให้มองข้างเรื่องแม่ชีไป เมื่อแม่ชีมีอยู่ เราทำอย่างไรจะจัดให้ดี ให้มีสถานะเป็นที่น่าเคารพนับถือ ให้มีโอกาสปฏิบัติได้ดีมากที่สุด

พร้อมกันนี้ นอกจากการปฏิบัติในชีวิตส่วนตัว แม่ชียังมีความเป็นอยู่ที่ยืดหยุ่น เชื่อมกับสังคมของชาวบ้านได้ดีกว่าพระภิกษุ เพราะไม่มีวินัยเป็นกรอบมาก เพราะฉะนั้น ถ้าช่วยกันจัดปรับให้ดี แม่ชีของเราจะทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น

๑. เราควรสนับสนุนการศึกษาของแม่ชี และยกย่องสถานะด้วยวิธีการที่จำเป็นตามยุคสมัย

๒. เราควรสนับสนุนให้แม่ชีมีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคมให้มาก เช่น สอนเด็ก เป็นครูอาจารย์ ทำประโยชน์ในกิจกรรมประเภทสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ

ที่พูดมานี้แหละ คือการตอบคำถามว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ ทำอย่างไรเราจะมาช่วยกันส่งเสริมหรือจัดทำให้ดี อย่าให้ใครติเตียนได้ว่า ขนาดสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม เราก็ยังไม่สามารถทำให้ดีได้ จะคอยแต่ตื่นสิ่งใหม่ แล้วสิ่งใหม่นั้นต่อไปก็คงไม่ได้เรื่องอีก

มันจะเหมือนกับเป็นเครื่องฟ้องว่า สิ่งที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดี แล้วจะไปตื่นสิ่งใหม่ แล้วต่อไปสิ่งใหม่นั้นจะได้เรื่องหรือเปล่า ไม่ช้าก็คงเข้าแบบเดียวกัน ถ้าเหตุปัจจัยอยู่ที่สังคมไทยเอง ไม่มีความสามารถที่จะจัดสิ่งที่ตัวมีให้ดี ถึงจะได้อะไรมาใหม่ ไม่ช้าของดีนั้นก็จะเสื่อมทรามไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจสอบตัวเองว่าเหตุปัจจัยอยู่ที่ไหน ถึงเวลาที่ต้องศึกษาและพัฒนาตัวเอง

เป็นอันว่า จะพูดเรื่องภิกษุณีหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดทำให้ดี ก็คือเรื่องแม่ชี เราควรจะต้องมาช่วยกันให้โอกาสแม่ชี ด้วยการสนับสนุนต่าง ๆ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของสตรีแก่สังคม และแก่พระศาสนามาก

ในพุทธกาลเอง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับพระภิกษุ ก็ทรงจำแนกว่า พระภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นมัชฌิมะ เป็นนวกะ ภิกษุณีก็เป็นเช่นเดียวกัน มีเถรี มัชฌิมา นวกา ในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา พระพุทธเจ้าก็ตรัสแยกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นอุบาสกและอุบาสิกาประเภทพรหมจารี ถือพรหมจรรย์ กับอุบาสกอุบาสิกาที่ไม่ได้ถือพรหมจรรย์ เรียกว่าเป็นกามโภคี คือเป็นผู้อยู่ครองเรือน

พุทธพจน์นี้แสดงว่า อุบาสิกาประเภทที่เป็นพรหมจารีมีมาแต่พุทธกาลแล้ว ถ้าว่าไปแล้วแม่ชีก็เป็นอุบาสิกาประเภทนี้ คือประเภทที่ท่านเรียกว่า โอทาตวสนา พรหมจารินี แปลว่า เป็นผู้นุ่งห่มขาว ถือพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรจะได้รับความเคารพนับถือ แต่เดี๋ยวนี้เราเอาใจใส่แค่ไหน

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราต้องพยายามจัดสิ่งที่มีอยู่ให้ถูกต้อง และต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ บางคนที่พูดถึงเรื่องภิกษุณีก็ไม่ได้รู้ไม่ได้ศึกษาหลัก ได้แต่แสดงความเห็นเรื่อยไป เราควรจะพูดในสิ่งที่ตนรู้ การแสดงความเห็นนั้นต้องมาคู่กับการหาความรู้


การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้


การศึกษาปัจจุบันเดี๋ยวนี้พูดกันบ่อยว่า เด็กไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็นจะต้องสนับสนุนให้เด็กแสดงความเห็น อย่าลืมว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ประเทศที่จะเจริญต้องเน้นการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้ และบนฐานของความรู้นั้น จึงแสดงความคิดเห็นได้เป็นหลักเป็นฐาน

ถ้าไม่มีความรู้ ไม่รู้เรื่องราว ก็ได้แค่แสดงความคิดเห็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็นต้องมาคู่กับการหาความรู้ ให้ความคิดเห็นเกิดจากความรู้ความเข้าใจและเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นที่มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ

ถ้าเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจก็พูดไป อย่างนั้นพูดได้แค่ว่าฉันต้องการอะไร แต่ถ้าจะก้าวต่อไปว่า ที่ฉันต้องการนั้นควรจะได้หรือไม่แค่ไหน ตอนนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ จะเอาแต่ชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้ ฉะนั้น การศึกษาทั่วไปนี้อย่าเอาแค่ส่งเสริมให้เด็กชอบแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวก็แสดงความคิดเห็นเหลวไหลไร้สาระ เอาแค่มาพูดแข่งกัน ข่มกัน ทะเลาะกัน ไม่เป็นเรื่อง

การที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นก็เพราะต้องการจะส่งเสริมสติปัญญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ให้ได้แก่นสาร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมการหาความรู้ขึ้นมาเป็นคู่กัน โดยเฉพาะจะต้องส่งเสริมลักษณะนิสัยให้มีคุณสมบัติเป็นคนใฝ่รู้

ในประเทศที่คนไม่มีความใฝ่รู้แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนั้น จะไม่มีแก่นสารอะไร ข้างในกลวงหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า ถ้าการศึกษาไปเน้นในด้านการแสดงความคิดเห็นก็เป็นการข้ามขั้นตอนไป เพราะฉะนั้น จะต้องหันไปเน้นด้านการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะต้องสร้างความเป็นคนใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นแกน แล้วการแสดงความคิดเห็นจึงจะไปได้ดี

เวลานี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่แล้ว ที่ว่าคนมักชอบแสดงความคิดเห็นกันมากโดยไม่หาความรู้ และเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแค่ชอบใจไม่ชอบใจแล้วก็เลิกกัน หรือทะเลาะกัน ขัดใจกัน ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจและไม่หาความรู้ต่อไป

หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้เป็นขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า เมื่อรับรู้ด้วยตาหูจมูกเป็นต้น ไม่ใช่ว่าได้เห็นได้ยินแล้วก็ได้แค่ยินดียินร้าย ตาเห็นรูป พอถูกตาก็ชอบใจ ไม่ถูกตาก็ไม่ชอบใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสเริ่มด้วยเรื่อง อินทรียสังวรว่า ให้รับรู้ดูฟังด้วยสติ ทำให้ได้ความรู้ได้ปัญญา ท่านให้มองอะไรด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่มองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ

เรื่องนี้เป็นหลักขั้นต้นสำหรับพุทธศาสนิกชนว่า จะมองอะไรไม่ใช่มองแค่ชอบใจไม่ชอบใจ แต่ต้องมองด้วยความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ต้องมองตามเหตุปัจจัย ตอนนี้มีหลายใจนะ อย่างที่หนึ่งต้องตัดทิ้งคือมองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ ให้เปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย แล้วก็มองด้วยความรู้ความเข้าใจหรือมองเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจ

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ชีวิตของตัวเองก็ไม่งอกงาม สังคมก็ไปดีไม่ได้ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พึงนำมาใช้ แม้แต่ในการถกเถียงปัญหาของสังคม


สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่


อย่างเรื่องของภิกษุณีนี้ ไม่ว่าจะได้แค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมาซึ่งควรยกมาพิจารณาก็คือ การที่ได้ถกเถียงกันมานั้น ทำเพียงด้วยความชอบใจไม่ชอบใจหรือทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มีการแสวงหาความรู้ให้เห็นเหตุปัจจัยหรือไม่ ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็ได้ฝึกตัวเองไปในตัว ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา เราก็ได้ประโยชน์

อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการชี้แจงตอบปัญหาต่าง ๆ เราต้องทำโดยมีเมตตา เรียกว่า ตั้งเมตตาธรรม อย่างที่ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปุเรจาริก คือเอาเมตตาความปรารถนาดีต่อกันมานำหน้า ส่วนจะได้แค่ไหนก็ต้องว่าไปตามหลัก

ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็ฝึกตัวเองไปด้วย การพูดจากันก็เป็นเหตุเป็นผลและพูดสุภาพไม่หยาบคาย เอาละ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็คงจะได้จุดเน้น ๓ ข้อ คือ

๑. ขอให้ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง

๒. หาทางทำให้ดีที่สุดเท่าที่หลักการเปิดให้โดยไม่ให้ความต้องการมาล้มหลักการ ไม่เอาความต้องการของเราเหนือหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ใช่ว่าคราวนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรฉันไม่ฟังแล้ว ต้องเอาอย่างที่ฉันว่าก็แล้วกัน

๓. เรื่องราวกิจการที่เรามีอยู่แล้วขอให้สังคมไทยแสดงความสามารถออกมา โดยจัดการให้ดี มิฉะนั้นมันจะฟ้องว่า ต่อไปเธอรับสิ่งใหม่มาก็คงไม่ได้เรื่องอีกนั่นแหละ

แม่ชีมีอยู่แล้วก็แก้ไขปรับปรุงจัดทำให้ดี ให้แน่นอนเสียก่อน ส่วนเรื่องใหม่จะได้หรือไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่เพิ่มเข้ามา ขอให้ช่วยเอาใจใส่เรื่องแม่ชีด้วย เราชาวพุทธด้วยกันทำไมไม่เอาใจใส่ ถ้าแม่ชีเป็นอะไรไปก็ทำความเสื่อมเสียแก่พุทธบริษัทด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาใจใส่รับผิดชอบช่วยกันหนุนในทางที่ดี ส่งเสริมทั้งประโยชน์ตนของแม่ชีเอง และประโยชน์ผู้อื่นที่แม่ชีจะช่วยได้แก่พระศาสนา และแก่สังคมประเทศชาติ

เมื่อทำได้อย่างนี้เราก็ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกตัวไปเรื่อย ๆ เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ตลอดเวลานี้ให้ถูกต้อง

เราก็มาดูว่าเมื่อเจอสถานการณ์ต่าง ๆ หรือพบปัญหาต่าง ๆ เราปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร จัดการปัญหานั้นอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติธรรม เราก็ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เราก็พัฒนาตัวเอง ก้าวหน้าไปได้เรื่อย ๆ ผลดีก็เกิดทั้งแก่ตนเองและแก่สังคมพร้อมไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไปเอาความชอบใจไม่ชอบใจมาเป็นที่ตั้ง เราก็ไม่ได้ฝึกไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ชีวิตก็เสีย สังคมก็ไม่ได้

การปฏิบัติตามหลักอย่างนี้ ก็เพื่อไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน ซึ่งนอกจากทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงแล้ว ก็ช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขด้วย สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ก็คือ การที่เราได้แผ่ขยายธรรม คือความดีงามนี้ ให้กระจายออกไปทั่วถึง จนกระทั่งคนมายึดถือตั้งอยู่ในธรรม

สังคมจะอยู่ดีได้นั้นหลักพระพุทธศาสนาก็บอกแล้วว่าเราต้องมีธรรมเป็นใหญ่ ถ้าคนไม่มีธรรมเป็นใหญ่ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยคือมีประชาชนเป็นใหญ่มันก็ไม่ไปไหน

ถ้าประชาชนเป็นใหญ่แต่ไม่มีธรรมเป็นใหญ่ เช่นประชาชนจำนวนมากเป็นคนขี้ยา ประชาชนส่วนมากเป็นคนเห็นแก่การเสพบริโภค มัวเมาลุ่มหลง ติดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว ตกอยู่ในความประมาท หวังผลจากสิ่งที่เหลวไหล ไม่หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม มัวแต่จ้องหาผลประโยชน์ขัดแย้งแย่งชิงกันอยู่อย่างนี้ ถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่เมื่อประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่มีธรรม มันก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตยก็เสื่อมโทรม บ้านเมืองก็ไม่ก้าวหน้า ไม่ร่มเย็นเป็นสุข

ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ เพราะประชาชนไม่มีคุณภาพ ประชาชนจะมีคุณภาพประชาธิปไตยจะดีก็ต้องมีธรรมเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่เหนือประชาธิปไตยและต้องเป็นแกนของประชาธิปไตย ก็คือ ธรรมาธิปไตย ต้องให้ธรรมาธิปไตยมาเป็นแกนให้แก่ประชาธิปไตยอีกทีจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี เพราะประชาชนตั้งอยู่ในธรรม

ฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้ อย่าไปภูมิใจแค่ประชาชนเป็นใหญ่ แค่นั้นไปไม่รอดหรอก ถ้าไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ฉะนั้น เข้ามานำเอาหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยประชาธิปไตย ชาวพุทธจะต้องช่วยกันให้ธรรมเป็นใหญ่ อาจจะเลียนคำศัพท์ที่เขาเคยพูดก็ได้ เขาเคยพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราก็บอกว่าต้องให้ธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงจะมีความร่มเย็นงอกงามและเป็นสุขแท้จริง

จะพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ได้ แต่ต้องพูดให้เป็นขั้นเป็นตอน คือ ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของคน แล้วให้ประชาชนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อย่างนี้จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี คือเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกน หรือประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมาธิปไตย


สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน


ขออนุโมทนาญาติโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่มีน้ำใจ ทั้งด้านหนึ่งคือศรัทธาในพระรัตนตรัยและอีกด้านหนึ่งคือมีจิตเมตตา มีความปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ แล้วสองอย่างนี้ก็มาประสานกัน จิตที่มีศรัทธาประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดี ก็แสดงออกมาทางกายกรรมและวจีกรรม

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักทิศ ๖ ที่ว่า อุบาสก อุบาสิกา หรือกุลบุตรกุลธิดานี้ ตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาต่อพระสงฆ์ จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา จะทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา เมื่อมีเมตตาปรารถนาดีอยากจะให้พระสงฆ์มีกำลังในการปฏิบัติศาสนกิจ จึงมาอุปถัมภ์บำรุงโดยนำภัตตาหารมาถวาย เรียกกันว่า ทำบุญเลี้ยงพระ ให้พระสงฆ์มีกำลัง

พระสงฆ์จะได้ไม่ต้องมัวห่วงกังวลในด้านปัจจัยสี่ แล้วจะได้ตั้งหน้าตั้งตาอุทิศตัวอุทิศใจ อุทิศเวลา อุทิศเรี่ยวแรงกำลังให้กับการปฏิบัติศาสนกิจ โดยตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติเจริญไตรสิกขาแล้วนำธรรมมาเผยแผ่สั่งสอนแก่ประชาชน อย่างนี้ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยดี

เข้าหลักที่ว่า ญาติโยมถวายอามิสทานและพระสงฆ์ก็ปฏิบัติหน้าที่อำนวยธรรมทานให้แก่ประชาชน ด้วยวิธีนี้พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงยั่งยืนและประโยชน์สุขก็จะเกิดขึ้นแก่สังคม ประเทศชาติและชาวโลกโดยทั่วไป

ในวาระนี้ ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร อภิบาลรักษาให้ชาวธรรมะร่วมสมัยทุกท่านพร้อมทั้งครอบครัวญาติมิตรและประชาชนคนไทย พร้อมทั้งชาวโลกทั้งมวล เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีที่จะช่วยกันดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมหมาย ยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่ชีวิต แก่ครอบครัวและแก่ส่วนรวม ทั้งสังคมประเทศชาติและทั่วทั้งโลกสืบไป ตลอดกาลนาน

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: ปัญหาภิกษุณี ๑
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 16 ธ.ค. 2009 10:10 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 24 พ.ค. 2009 9:57 am
โพสต์: 106
สาธุ
ขอบพระคุณครับอาจารย์รณธรรมฯ :grt: :grt: :grt:

_________________
************สนับสนุนให้คนไทย************
พิมพ์ พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยอย่างถูกต้อง


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: ปัญหาภิกษุณี ๑
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 16 ธ.ค. 2009 10:43 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ด้วยความยินดีครับ :P

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: ปัญหาภิกษุณี ๑
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 17 ธ.ค. 2009 12:43 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
1187888343540.gif




ขอบคุณครับ ได้ฟามรู้เพิ่มเติม :D

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO