ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am โพสต์: 6586
|
ต่อไปนี้จะว่าด้วยเรื่องอานิสงส์ของการสวด “อรหัง” การสวด “อรหัง” เป็นการระลึกถึงพระคุณบทหนึ่งของพระพุทธเจ้าในนวหรคุณ พระองค์ทรงได้พระนามว่า “อรหัง” เพราะทรงห่างไกล ทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลส ทรงหักกำสังสารจักร ไม่ทรงทำชั่วทั้งที่ลับที่แจ้ง และทรงควรแก่การเคารพบูชา)
เรื่องที่ ๑
ในสมัยหนึ่งนางจันทเทวีเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ ณ เมืองปาฏลีบุตร การปกครอง ณ เมืองนี้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงไม่ให้มีการนับถือศาสนาพุทธ นางจันทเทวีเป็นชนชั้นกลางไม่จนและไม่รวยนัก นางชอบไปวัดมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เนื่องจากบิดา-มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ของนางปฏิบัติอยู่เช่นนี้เป็นประจำ นางก็ได้ปฏิบัติสืบต่อมาโดยเคร่งครัด
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองปาฏลีบุตรห้ามนับถือศาสนาพุทธ หากผู้ใดนับถือก็จะถูกจับประหารชีวิตโดยการตัดคอ นางจันทเทวีก็บังเกิดความอึดอัด ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี เพราะว่านางเคยไปวัดและสวดมนต์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นเมื่อนางไปวัดไม่ได้ นางจึงอยู่บ้านและสวดมนต์ทุกวัน โดยใช้คำว่า “อรหัง” อยู่ทุกวันเป็นประจำ เพื่อนบ้านข้างเคียงจึงเตือนนางว่า ให้เลิกสวดมนต์เสียหากไม่เลิกภัยอันตรายจะเกิดแก่นาง แต่นางก็ตอบไปว่า
นางไม่สวดมนต์ไม่ได้หรอก เพราะว่านางปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ นางต้องมีสัจจะและต้องสวด “อรหัง” เป็นประจำทุกวัน ดังนั้นนางจึงมิได้หยุดสวดมนต์ นางจึงสวดต่อไป เพื่อนบ้านข้างเคียง ได้ยินนางสวดมนต์ทุกวันเกรงภัยจะมาถึงตนต่างก็ย้ายบ้านหนีกันไปหมด ในแถบหมู่บ้านนั้น จึงมีแต่บ้านนางจันทเทวีที่ยังปฏิบัติสวดมนต์ “อรหัง” อยู่เป็นประจำทุกวัน
อยู่มาวันหนึ่งเรื่องของนางที่สวดมนต์ “อรหัง” ก็รู้ถึงเสนาบดี เสนาบดีก็มาที่บ้านของนางจันทเทวีและก็มาได้ยินนางสวดมนต์ “อรหัง ๆ ๆ” เสนาบดีจึงได้เตือนนางให้เลิกสวดมนต์เสียเพราะว่า หากผู้ใดระลึกถึงพระโคตะมะจะถูกประหารชีวิต นางก็ตอบไปว่า ให้นางเลิกสวดมนต์ไม่ได้หรอก นางขอยอมตายพร้อมกับการสวดมนต์ “อรหัง” เสนาบดีจึงได้จับตัวนางไปเพื่อประหารชีวิต นางจึงถามเสนาบดีว่า ใครเป็นผู้บัญญัติมิให้นับถือศาสนาพุทธ พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้บัญญัติหรือ ถ้าหากพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้บัญญัติ ก่อนที่นางจะตายก็ขอกราบพระเจ้าอยู่หัวก่อนสักครั้งหนึ่งเถิด
เมื่อเพชฌฆาตเสนาบดีได้ฟังดังนั้น ก็ประหารชีวิตไม่ลง เพราะคิดว่ามีเทวดาคุ้มครองอยู่คือ จาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็เลยส่งนางจันทเทวีไปให้เขาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวเมื่อได้ทรงทราบก็บอกว่าไม่อยากพบ ไม่อยากเห็นหน้าผู้ที่ขัดคำสั่ง นางจึงนั่งร้องไห้อยู่อย่างนั้น พระเจ้าอยู่หัวเมื่อทราบก็คิดทบทวนว่า นางก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากสวด “อรหัง” อรหังมีอานุภาพอะไร ?
นางจึงได้พบพระเจ้าอยู่หัว และทูลว่า “อรหัง” แปลว่า “พระพุทธองค์” เป็นบุคคลประเสริฐ เป็นบุคคลสิทธัง สิทธะปาการัง ดีกว่าคนอื่น ดีกว่าเทวดา พรหมทั้งหลาย เป็นอาจารย์พรหม เทวดา มนุษย์ที่นางนับถือ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่เชื่อ ขอให้นางได้สวดมนต์ให้เทวดามาแสดงตัว ถ้าพระพุทธองค์ดีจริง ให้คุ้มครองชีวิตของนาง ให้หลุดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง และนางก็นั่งสวดมนต์ สวดอรหัง กระทั่งท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แสดงตน พระเจ้าอยู่หัวก็บังเกิดความกลัวเทวดาขึ้นมาจึงยกให้นางจันทเทวีขึ้น เป็น อัครมเหสี แห่งเมืองปาฏลีบุตร นี่จึงเป็นอานิสงส์ของ “อรหัง” ปัจจุบัน ปิทะ ในเมืองปาฏลีบุตรเป็นสูตรอรหัง พอนางตายก็ได้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์
เรื่องที่ ๒
ในตำราบูรณะหนังสือโบราณกล่าวไว้ว่า มีหมู่บ้านอยู่หมู่บ้านหนึ่ง และมีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่ง สอนเด็ก ๆ ไว้ว่า ถ้าหากใครจะตีกัน ใครจะทะเลาะกัน จะด่ากัน ให้ใช้คำว่า “อรหัง” คำว่า “อรหัง” ถ้าถูกใครด่าจะเป็นคำด่าที่เจ็บปวดรุนแรงมาก ถ้าไม่โกรธมาก ๆ ก็ไม่ให้ใช้คำว่า “อรหัง” ในหมู่บ้านนี้มีพญางูใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำด้วย
อยู่ต่อมาวันหนึ่ง ได้มีหมองูเดินทางมาถึงหมู่บ้าน เพื่อมาตามล่าพญางู หมองูได้มาพบเด็ก ๆ จึงถามว่าที่หมู่บ้านนี้มีพญางูหรือไม่ เด็ก ๆ ก็ตอบกับหมองูว่า ในหมู่บ้านนี้มีพญางูอาศัยอยู่ หมองูจึงให้เด็ก ๆ พาไปที่ถ้ำพญางู เด็ก ๆ ไม่ยอมพาหมองูไปที่ถ้ำ หมองูก็ด่าเด็ก ๆ เป็นการใหญ่ เด็ก ๆ จึงด่าตอบหมองูไปว่า “อรหัง ๆ”
หมองูเมื่อได้ฟังเด็ก ๆ ด่าอย่างนั้น จึงถามเด็ก ๆ ว่า “อรหัง” แปลว่าอะไร เด็ก ๆ ก็ตอบหมองูว่า “ก็เป็นคำด่านะซิ” เป็นคำด่าที่รุนแรงมาก ถ้าใครถูกด่าด้วยคำนี้จะเจ็บมาก
หมองูเมื่อพบถ้ำพญางูจึงไปเป่ามนต์เรียกพญางูให้ออกมา พญางูซึ่งรับศีลอยู่เมื่อได้ฟังเสียงสวดมนต์ ก็ทำขันติ ๆ ๆ ๆ คือ อดทน เมื่อหมองูเป่ามนต์มาก ๆ พญางูจึงทนไม่ไหว ขันติไม่ไหวแล้ว จึงอยู่ในถ้ำไม่ได้จึงออกมาจากถ้ำ และคิดว่าจะไล่ฉกกัดหมองูให้ตาย
ดังนั้นพญางูจึงไล่ฉกกัดหมองู หมองูจึงบังเกิดความโกรธพญางู จึงด่าพญางูว่า “อรหัง ๆ” พญางูเมื่อได้ยินดังนั้น จึงคิดว่าหมองูผู้นี้ แม้จะเป็นผู้ที่ฆ่างู ทำบาป แต่ก็ยังรู้จักคำว่า “อรหัง” คือ พระพุทธองค์อยู่ พญางูจึงกลับใจไม่ทำร้ายหมองู หมองูจึงรอดตายไปในที่สุดด้วยอานิสงส์ของคำสวดว่า “อรหัง”.
พระธรรมเทศนาโดย พระราชอุดมมงคล (อุตตมะ อุตตมะรัมโภ) วัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
...................................................................................
ขอบพระคุณเว็บ MonStudies.com
_________________ ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน
|
|