พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 06 ม.ค. 2010 1:23 pm
ตามหลักพระธรรมของพระพุทธองค์ ทิฏฐิและมานะ เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน
คือ ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น ถ้ามีคำว่ามิจฉานำหน้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมายถึง
ความเห็นผิดจากความจริง ส่วนมานะ หมายถึงความถือตัว ความสำคัญตัวว่า
ดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า รวยกว่า เป็นต้น อกุศลธรรมทุกประเภทแก้ไขด้วยการ
อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญามีกำลังคมกล้าย่อมดับกิเลสอกุศลได้ตามลำดับมรรค
ขอเชิญอ่านคำอธิบายทิฏฐิจากข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 14
[๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ?
ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็น
เป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ
ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิ
เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า
มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น.
คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง อีก
อย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด.
ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมา
แต่ความฉิบหายบ้าง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ. อีกอย่างหนึ่ง
ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเอง
หรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น.
มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโย-
นิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา)
มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความ
ไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสน-
กามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง.
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 38
...............................ในบรรดาองค์เหล่านั้น สภาวะที่ชื่อว่า
มานะ เพราะอรรถว่า ย่อมถือตัว. มานะนั้นมีการทรนงตนเป็นลักษณะ
(อุนฺนติลกฺขโณ) มีการยุกย่องสัมปยุตธรรมเป็นรส (สมฺปคฺคหนรโส)
มีความปรารถนาดุจธงเป็นปัจจุปัฏฐาน (เกตุกมฺยตาปจฺจุปฏฺฐาโน) มีโลภะ
ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน (ทิฏฐิวิปฺปยุตตฺตโลภปทฏฺฐาโน) พึง
ทราบว่า เหมือนคนบ้า.
[๗๒๒] มานสัญโญชน์ เป็นไฉน ?
การถือตัว ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเสมอกับเขา ว่าเราเลวกว่าเขา
การถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความถือตัว มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด [และ]
การยกตน การเทอดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกจิตขึ้น ความที่จิตต้องการ
เป็นดุจธง นี้เรียกว่า มานสัญโญชน์.
ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี ชาตินี้ ชาติหน้าไม่มี
คุณของมาดาร บิดาไม่มี สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัตชอบไม่มี ฯลฯ
ส่วนมานะ หมายถึง ความสำคัญตน ดีกว่า เก่งกว่า ต่ำกว่า เช่น มีความ
สำคัญตนว่า เรามีทรัพย์ มีความรู้ มากกว่าเขา หรือสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา
เช่น เราเป็นคนจน ไม่มีความรู้ ฯลฯ
ขณะที่มีทิฏฐิคือความเห็นผิดเกิดขึ้น เช่น เห็นผิดว่า เที่ยง เป็นสุขและมีตัวตน ขณะนั้น
ไม่มีความถือตัว(มานะ)ในขณะนั้น ดังนั้น จากคำพูดที่พูดกันทั่วไปนั้น ที่บอกว่า คนนี้มี
ทิฏฐิมานะคำกล่าวนี้ จะหมายถึง มานะความสำคัญตนมากกว่า แต่โดยนัยของพระ
ธรรมแล้ว เป็นสภาพธัมมะคนละอย่างและไม่เกิดพร้อมกัน ขณะใดที่มานะ ขณะนั้นก็
ไม่มีความเห็นผิด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 299
ข้อความบางตอนจากอรรถกถาสังคีติสูตร
ที่แปลว่า มานะนั้น. อันที่จริง มานะท่านเรียกว่า วิชา เพราะจัดแจง
ด้วยอำนาจที่ให้ถือว่าดีกว่าเขาเป็นต้น. ด้วยคำว่า เสยฺโย หมสฺมิ นี้
ท่านกล่าวถึงมานะ ๓ อย่าง คือดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา. แม้ใน
สทิสวิธา และหีนวิธา ก็มีนัยเดียวกันนี้. ที่จริงมานะนี้มี ๙ อย่าง. คือ
คนดีกว่าเขามีมานะ ๓ อย่าง คนเสมอเขามีมานะ ๓ อย่าง คนเลวกว่าเขา
มีมานะ ๓ อย่าง. บรรดามานะ ๙ อย่างนั้น สำหรับคนดีกว่าเขา มานะ
ว่าเราดีกว่าเขา ย่อมเกิดขึ้นแก่พระราชาและบรรพชิต. พระราชาย่อมมี
มานะเช่นนี้ว่า "ใครหรือจะมาสู่เราได้ ไม่ว่าจะทางราชอาณาเขต ทาง
ราชทรัพย์ หรือว่าทางไพร่พลพาหนะ". ฝ่ายบรรพชิตก็ย่อมมีมานะเช่น
นี้ว่า "ใครเล่าจะมาทัดเทียมเราได้ด้วยศีลคุณ และธุดงคคุณเป็นต้น".
.....ฯลฯ บรรดามานะ
เหล่านี้ คนดีกว่า มานะว่าเราดีกว่าเขา, คนเสมอเขา มานะว่าเราเสมอ
เขา และคนเลวกว่าเขา มานะว่า เราเลวกว่าเขา ทั้ง ๓ ประเภทนี้ได้ชื่อว่า
เป็นมานะอย่างละเอียด จะฆ่าเสียได้ด้วยอรหัตตมรรค. ธรรมที่เหลือ ได้
ชื่อว่าเป็นมานะอย่างไม่เป็นไปตามความจริง ฆ่าเสียได้ด้วยมรรค ชั้นต้น.
ความเป็นเรา มีด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ(ความเห็นผิดว่าสัตว์ บุคคล) แม้จะดับการ
ยึดถือว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิแล้ว(พระโสดาบัน) แต่ ความสำคัญตนด้วยมานะ เพียง
การเปรียบเทียบ ว่าต่ำกว่า เสมอ ก็เป็นมานะแล้ว มานะเป็นกุศลที่ละเอียดมาก ต้อง
เป็นพระอรหันต์จึงละได้ เราก็คิดตามความเข้าใจขั้นคิดนึก แต่เราก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะ
ของ มานะ จริงๆ ด้วยสติเกิดระลึกสภาพธัมมะที่เป็นมานะ ซึ่งจะทำให้เห็นความ
ละเอียดของมานะ แม้ขั้นหยาบจนถึงละเอียด ซึ่งแล้วแต่ระดับปัญญาของบุคคลนั้น
เองที่จะเห็นมานะครับ แต่พระโสดาบัน ท่านก็ละมานะที่หยาบได้แล้ว แต่ส่วนละเอียด
ก็ยังมี ดังนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง ไม่รู้ได้ด้วยการตรึก ต้องด้วยปัญญาที่
ประจักษ์สภาพธัมมะ แม้ มานะเจตสิก
อธิมานะ [สัลเลขสูตร]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 269
อรรถกถาอัญญสูตรที่ ๖
อัญญสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อธิมานิโก ได้แก่ ประกอบด้วยความสำคัญว่าบรรลุแล้ว
ในธรรมที่ยังไม่บรรลุ. บทว่า อธิมานสจฺโจ ได้แก่ สำคัญว่าบรรลุแล้ว
จึงกล่าวโดยสัจจะ.
อรหัตตสูตร
ว่าด้วยผู้ควรและไม่ควรบรรลุอรหัตผล
[๓๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อม
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน ? คือ มานะ
ความถือตัว ๑ โอมานะ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑ อติมานะ ความ
เย่อหยิ่ง ๑ อธิมานะ ความเข้าใจผิด ๑ ถัมภะ ความหัวดื้อ ๑ อตินิปาตะ
ความดูหมิ่นตนเองว่าเป็นคนเลว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม
๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควร เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 1136
มานะ อติมานะ มานาติมานะ โอมานะ
อธิมานะ อัสมิมานะ มิจฉามานะ.๑
ในบทเหล่านั้น บทว่า มาโน - ความถือตัว คือ ลูบคลำบุคคล
ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ดีกว่าเป็นต้น แล้วเย่อหยิ่งด้วยวัตถุในชาติเป็น
ต้น.
บทว่า อติมาโน - ดูหมิ่นท่าน คือ ผยองเลยไปถึงว่า ไม่มีใคร
เช่นกับเราโดยชาติเป็นต้น.
บทว่า นานาติมาโน - ดูหมิ่นด้วยความทะนงตัว คือ เกิด
ถือตัวว่า คนนี้เมื่อก่อนเช่นกับเรา เดี๋ยวนี้เราดีกว่า คนนี้เลวกว่าเรา.
บทว่า โอมาโน - ถือตัวว่าเลวกว่าเขา คือ ถือตนว่าต่ำโดย
ชาติเป็นต้น คือ ถือตัวว่า เราเป็นคนเลวนั่นแหละ.
บทว่า อธิมาโน - ถือตัวยิ่ง คือ มานะว่า เราบรรลุสัจธรรม ๔
ซึ่งไม่มีผู้บรรลุเลย. อธิมานะนี้เกิดแก่ปุถุชนผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ประมาท
ในกรรมฐาน กำหนดนามรูปข้ามสงสัยโดยกำหนดปัจจัย ยกขึ้นสู่
พระไตรลักษณ์พิจารณาสังขาร ปรารภวิปัสสนา, ไม่เกิดแก่ผู้อื่น.
บทว่า อสฺมิมาโน - ถือเรา คือ มานะว่าเรามีอยู่ในขันธ์มีรูป
เป็นต้น. ท่านอธิบายว่า มีมานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิว่า อห รูป -
รูปเป็นเรา เราคือรูป.
บทว่า มิจฺฉามาโน - มานะผิ คือ มานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิ
ว่า ปาปเกน กมฺมายตนา - กัมมายตนะเกิดด้วยความลามก
เวทนาขันธ์ จำแนกเป็น ๖ โดยนัยของ ทวาร ๖
คือ เวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย และ ทางใจ.
เวทนาทั้ง ๖ นี้....ต่างกัน เพราะเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน.!
เวทนาเกิดขึ้นและดับไปพร้อมกับจิตที่เวทนานั้น ๆ เกิดร่วมด้วยเสมอ
ฉะนั้น ทุกขณะ (จิต) จึงไม่ใช่เวทนาเดียวกันเลย.!
.
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เคสัญญสูตรที่ ๒
มีข้อความว่า
".....ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติ-สัมปชัญญะ รอกาลเวลา
นี้เป็นคำของเรา สั่งสอนพวกเธอ ฯ
ถ้าเมื่อภิกษุ มีสติ-สัมปชัญญะ
เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้..........
สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น...เธอย่อมรู้อย่างนี้ ว่า สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็สุขเวทนานี้แล...อาศัย จึงเกิดขึ้น....ไม่อาศัย ก็ไม่เกิดขึ้น
อาศัยอะไร.....อาศัย "ผัสสะ" นี้เอง.!
ก็แต่ว่า "ผัสสะ" นี้ ไม่เที่ยง
มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย จึงเกิดขึ้น.
ก็สุขเวทนา....ซึ่งอาศัยผัสสะ อันไม่เที่ยง
มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย จึงเกิดขึ้น
(เวทนาและผัสสะ) เกิดขึ้นแล้วแก่เรา....จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้
เธอย่อมพิจารณา เห็นความไม่เที่ยง
เธอย่อมพิจารณา เห็นความเสื่อมไป
เธอย่อมพิจารณา เห็นความคลายไป
เธอย่อมพิจารณา เห็นความดับไป
เธอย่อมพิจารณา เห็นความสละคืน
ในผัสสะ และ สุขเวทนา อยู่..............
(เธอ) ย่อมละ "ราคานุสัย" ใน ผัสสะและสุขเวทนาเสียได้ฯ
.
ข้อความเกี่ยวกับผัสสะและทุกขเวทนา
ผัสสะและอทุกขมสุขเวทนา
ก็โดยนัยเดียวกัน.
.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 733
จะทราบชัดว่า อาศัยวัตถุอยู่.
กรชกายชื่อว่า วัตถุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาว่า ก็แลวิญญาณ
ของเรานี้อาศัยอยู่ในกรชกายนี้ ผูกพันอยู่ในกรชกายนี้.
โดยเนื้อความ พระโยคาวจรนั้นย่อมเห็นทั้ง(มหา)ภูตรูป ทั้งอุปาทายรูป
เมื่อเป็นเช่นนี้ในเวทนาบรรพนี้ พระโยคาวจร จะเห็นเพียงนามรูปเท่านั้นว่า
วัตถุเป็นรูป เจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ เป็นนาม. และในข้อนี้ รูปได้แก่
รูปขันธ์ นามได้แก่อรูปขันธ์ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นจึงมีเพียงเบญจขันธ์เท่านั้น.
เพราะว่า เบญจขันธ์ที่จะพ้นจากนามรูปหรือนามรูปที่จะพ้นไปจากเบญจขันธ์
ไม่มี.
พระโยคาวจรนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูว่า เบญจขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ
ก็จะเห็นว่า มีอวิชชาเป็นต้นเป็นเหตุ. แต่นั้นพระโยคาวจรจะยก (เบญจขันธ์)
ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ด้วยอำนาจนามรูป พร้อมทั้งปัจจัยว่า นี้เป็น (เพียง) ปัจจัย
และสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกอง
สังขารล้วน ๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาตรวจตราไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ตามลำดับแห่งวิปัสสนา.
เธอหมายมั่นปฏิเวธว่า (จะได้บรรลุ ) วันนี้ วันนี้ ได้อุตุสัปปายะ
(อากาศสบาย) ปุคคลสัปปายะ ( บุคคลสบาย) โภชนสัปปายะ (โภชนะสบาย)
ธัมมัสสวนะสัปปายะ ( การฟังธรรมสบาย) นั่งขัดสมาธิท่าเดียว ยังวิปัสสนาให้
ถึงที่สุด แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตตมรรค ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นอันตรัส
บอกพระกัมมัฏฐานแก่ชนทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ จนถึงพระอรหัต.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑-หน้าที่ 45
๙. ปฐมสัปปายสูตร
ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง
[ ๓๔ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่
การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นที่
สบายแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิ เป็น
ไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุ ในจักษุ
แต่จักษุ ว่าจักษุของเรา ย่อมไม่สำคัญรูป ย่อมไม่สำคัญจักษุวิญญาณ ย่อมไม่
สำคัญซึ่งจักษุสัมผัส ย่อมไม่สำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข
เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส. เป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้น ว่า
เวทนานั้นเป็นของเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะสิ่งใดที่ตนสำคัญไว้ เป็นที่
ให้สำคัญ เป็นแดนให้สำคัญ เป็นเหตุให้สำคัญว่า เป็นของเรา สิ่งนั้นล้วน
เปลี่ยนแปลงออกไปจากที่สำคัญนั้น คือ สัตว์ในภพก็มีความเปลี่ยนแปลงไป
เป็นอย่างอื่น สัตว์โลกย่อมเพลิดเพลินเฉพาะภพเท่านั้น ฯลฯ ย่อมไม่สำคัญ
ซึ่งใจ ในใจ แต่ใจ ว่าใจของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งธรรมารมณ์ในธรรมารมณ์
แต่ธรรมารมณ์ ว่าธรรมารมณ์ของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนวิญญาณ ในมโน
วิญญาณ แต่มโนวิญญาณ ว่า มโนวิญญาณของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโน
สัมผัส ในมโนสัมผัส แต่มโนสัมผัส ว่า มโนสัมผัสของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่ง
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
ปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้น ว่า เวทนานั้นเป็นของเรา ดูก่อนภิกษุทั้ง
หลาย บุคคลนั้นย่อมไม่สำคัญซึ่งขันธ์ ธาตุและอายตนะ ในขันธ์ ธาตุและ
อายตนะ แต่ขันธ์ ธาตุและอายตนะ ว่า ขันธ์ ธาตุและอายตนะเป็นของเรา
บุคคลรู้ไม่สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่
สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับสนิทได้เฉพาะตนทีเดียว รู้ชัดว่าชาติ
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบาย
แก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิ.
จบ ปฐมสัปปายสูตรที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ 47
๑๐. ทุติยสัปปายสูตร
ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง
[ ๓๕ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่
การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อฏิบัติอันเป็นที่สบาย
แก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิเป็นไฉน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง
หรือไม่เที่ยง. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
พ. สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เทียง.
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ ล ฯ
"สัญญาขันธ์"
(สัญญาเจตสิก)
เป็นสภาพธรรมที่ มีจริง
และ รู้ลักษณะของสัญญาเจตสิกได้....เมื่อจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้.
สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ
ขณะที่จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ (ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖)
สัญญาเจตสิก
(ซึ่งเกิดกับจิตในขณะนั้น)
ทำกิจ "จำ" และ "หมายรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏนั้น"
สัญญาเจตสิก เกิดและดับ พร้อมกับจิต
(จิต ขณะที่สัญญาเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย)
เพราะฉะนั้น
สัญญาเจตสิก จึงไม่เที่ยง
(เป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ เป็นอนัตตา เพราะเกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัย)
ตราบใด
ที่ไม่รู้ลักษณะของสัญญาเจตสิก ตามความเป็นจริง
ว่า สัญญาเจตสิก เป็น "นามธรรมชนิดหนึ่ง"
ซึ่ง เกิดขึ้น และ ดับไปทันที
ก็เป็นปัจจัยให้เกิด"การยึดถือสัญญา ว่า เป็นตัวตน"
ขอเรียนว่าผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา อภิธรรมมัตถสังคห และฎีกา
ตามแนวที่อาจารย์ทั้งหลายสอนสืบต่อกันมา ย่อมทราบความเป็นกรรมบถและ
ไม่ถึงกรรมบถ และผลย่อมต่างกัน กรรมใดถึงกรรมบถนำนั้นย่อมปฏิสนธิ ส่วน
กรรมใดไม่ถึงกรรมบถ ย่อมให้ผลในปวัตติกาล
ขอยกข้อความบางตอนจากอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 829
อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้ ได้แก่ กายทุจริต ๓ คือ ฆ่าสัตว์ ๑
ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑. วจีทุจริต ๔ คือ พูดปด ๑ พูด
ส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑. มโนทุจริต ๓ คือ เพ่ง
เล็งอยากได้ ๑ พยาบาท ๑ เห็นผิด ๑.
อนึ่ง แม้ทั้งกุศลและอกุศลท่านก็กล่าวว่ากรรมบถ เพราะให้
เกิดปฏิสนธิ. เหลือจากที่กล่าวแล้วท่านไม่กล่าวว่ากรรมบถ เพราะไม่
เกิดปฏิสนธิ...
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน
กำหนดอิริยาบทย่อย สวดมนต์ ถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระธาตุ
อนุโมทนากับผู้ใส่บาตรตอนเช้าตามถนนหนทาง คุณป้าได้
ซื้อตุ้กตาและของเล่น ให้แก่เด็กประมาณ 50 คน และวันนี้ผมได้ซื้อตุ๊กตาและของเล่นจะเอาไปแจกเด็ก และทุกๆวันก็ได้ให้อาหารเป็นทานแก่สัตว์ตามถนนหนทาง
และวันนี้ตั้งใจว่าจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดอิริยาบทย่อย
เจริญอนุสติกรรมฐานหลายอย่าง ฟังธรรม และได้ทำความสะอาดตามที่สาธารณะ
และวันนี้ได้สนทนาธรรมด้วย ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
ขอให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้ง 31 ภพภูมิจงได้มรรคผลนิพพานเทอญ
ขอเชิญไหว้พระเก้าวัด พระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ได้สั่งสมความเจริญในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามากมาย และนับเนื่องจากความเก่าแก่ที่ควรต้องอนุรักษ์ไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลานนี้เอง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ประกาศให้กรุงเก่าของเรา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534
เมื่อพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลายๆ คนคงจะนึกถึงเมืองแห่งวัดวาอาราม และโบราณสถานมากมาย หากใครต้องการทั้งหาของอร่อย และทำบุญไหว้พระไปในเวลาเดียวกัน ต้องที่นี่เลย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรามาดูกันดีกว่าว่า การไหว้พระ 9 วัดนั้น ควรจะไปที่วัดไหนกันบ้าง
วัดพนัญเชิง มหามงคล ด้านการค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ความสำเร็จในงาน
วัดพนัญเชิง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร ในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างเมื่อพ.ศ.1867 เดิมชื่อ “พระพุทธเจ้าพนัญเชิง” แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปองค์จึงนี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่า ซำปอกง) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14.10 เมตรและสูง 19 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก อาจนับได้ว่า เป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้น ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ใครมาอยุธยาต้องไม่พลาดที่จะแวะที่วัดนี้
วัดใหญ่ชัยมงคล มหามงคลด้านชัย – มงคล เมตตามหานิยม
วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อ พ.ศ. 1900 ได้รับพระราชทานนามว่า วัดป่าแก้ว ต่อมาเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าวันรัต พระสังฆราชฝ่ายวิปัสนา ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดเจ้าพระยาไทย” (หมายถึงสังฆราช) มีเจดีย์องค์ใหญ่ทรงระฆังคว่ำ สูงประมาณ 60 เมตร ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนเรศวร ว่า “เจดีย์ชัยมงคล” สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า พระศักดิ์สิทธิ์คู่วัดนี้ได้แก่ พระนอนขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร
วัดพระญาติการาม เมตตามหานิยม บูชาพระรัตนตรัย
วัดพระญาติการาม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกกันว่า “วัดพระญาติ” สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคลของวัดนี้ คือพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหินทรายขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก ปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดสมณโกฐาราม บูชาบูรพกษัตริย์ กตัญญูกตเวทิตา เมตตามหามงคล
เป็นวัดที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่งดงามมาก รูปทรงสัณฐานแปลกตากว่าที่อื่น สันนิษฐานว่าเลียนแบบมาจากวัดเจดีย์เจ็ดยอด เมื่อคราวที่เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2205 ภายในอุโบสถ มีพระประธานเก่าแก่ซึ่งสร้างสมัยอยุธยา เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป
วัดประดู่ทรงธรรม เมตตามหานิยม การช่วยเหลือสรรพสัตว์และการเสียสละ
เดิมชื่อวัดประดู่ หรือวัดประดู่โรงธรรม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างสมัยใด ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ภาพกระบวนพยุหยาตราทางสถลมาตร การแสดงมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า
พระบรมสารีริกธาตุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต
ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุนี้จากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชน จะมีความเชื่อถือในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่กับพระบรมสารีริกธาตุนั้น และสักการะ เพื่อน้อมขอพระบารมีให้คุ้มครองตัวเอง ให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีผอบเจดีย์ทองคำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ณ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ เจดีย์สุริโยทัย
วิหารพระมงคลบพิตร พระคู่บ้าน คู่เมืองอยุธยา สิริมงคลทุกด้าน
พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตรและสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้ชะลอมาไว้ ณ ที่ปัจจุบัน ต่อมาฟ้าผ่ายอดมณฑปที่สวมไว้ พระเจ้าเสือจึงโปรดให้ก่อสร้างใหม่เป็นวิหาร ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่
วัดธรรมิกราช เมตตามหานิยม คุ้มครองรักษาโรคภัยอันตราย
เป็นวัดสงฆ์มหานิกาย เดิมชื่อวัดมุขราช ที่วิหารหลวงแห่งนี้ เคยเป็นที่ประดิษฐ์ของเศียรพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ศิลปะสมัยอู่ทอง ซึ่งปัจจุบัน กรมศิลปากรนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์สิงห์ล้อม 52 ตัวที่แตกต่างไปจากเจดีย์ช้างล้อมพระพุทธไสยาสน์มีความยาว 12 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ที่ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจก
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม มหามงคล ความเจริญรุ่งเรือง เมตตามหานิยม
มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมาก
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.