ข้อความบางตอนจากเล่มที่ ๗๘ พระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 1
พระอภิธรรมปิฎก
เล่มที่ ๒
วิภังค์ ภาคที่ ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๗. สติปัฏฐานวิภังค์
สุตตันตภาชนีย์
[๔๓๑] สติปัฏฐาน ๔ คือ
๑. ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ
อยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นกายใน
กายทั้งภายในและภายนอกเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก.
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาภายนอกเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนาใน
เวทนาทั้งภายในและภายนอกเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก.
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิต
ในจิตภายนอกเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและ
ภายนอกเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสเสียได้ในโลก.
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในเนือง ๆ อยู่ พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมภายนอกเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งภายในและภายนอกเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก.
กายานุปัสสนานิทเทส
พิจารณาเห็นกานในกายภายใน
[๔๓๒] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนือง ๆ อยู่ เป็น
อย่างไร ?
ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายภายใน แต่พื้นเท้าขึ้นไปในเบื้องบน
แต่ปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด
มีประการต่าง ๆ ว่า ในกายนี้ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
เยื้อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร…….
ผู้ที่มาศึกษาพระธรรม
ก็จะมีความสนใจ ตรง "สภาพธรรม" ที่มีจริง ๆ
เมื่อฟังแล้ว ก็เข้าใจได้ ว่า "สภาพธรรม" นั้น มีจริง ๆ
แต่
ผู้ที่มาสนทนา ก็อยากทราบว่า ที่บอกว่า มีจริง ๆ และตอกย้ำว่า มีจริง ๆ นั้น
จริงอย่างไร....?
ถ้าตราบใด ที่ "สติปัฏฐาน" ยังไม่เกิด ระลึก ตรงลักษณะของสภาพธรรม.
"ระลึก" ได้อย่างไร.!
ถ้ายังไม่มี "ความเข้าใจโดยละเอียด และ มั่นคง" จริง ๆ
แม้แต่ ความเข้าใจ....ก็ต้องเป็น "ความเข้าใจถูก" คือ ความเห็นถูก
จึงควร ที่จะอบรม-สะสม "ความเข้าใจถูก" ไปเรื่อย ๆ
แทนที่จะ"ระลึก" ....เข้าใจขึ้น ดีไหม.?
ในขณะที่กำลังเข้าใจ....ขณะนั้น มีสติเกิดแล้ว.!
เพียงแต่ไม่ใช้ คำ ว่า "สติ" ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ คำว่าสติ เลย
เพราะเหตุว่า ขณะที่ เริ่ม-เข้าใจ เป็น "สภาพธรรม-ที่เริ่มเข้าใจ"
และ ตามความเป็นจริง ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง
สภาพธรรม-ที่เริ่มเข้าใจ จะปราศจาก "โสภณเจตสิก" ไม่ได้.!
นี่คือ ทรงแสดงโดย โวหาร คือ โดย "ชื่อ"
แต่
สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คือ เริ่ม-เข้าใจ.!
และ ขณะที่เริ่ม-เข้าใจ.....ขณะนั้น ไม่ใช่ "อวิชชา" หรือ ความไม่รู้
เพราะเหตุว่า ความเข้าใจ คือ ความรู้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ ความไม่รู้.
และ จากความไม่รู้ มาเป็น ความรู้ หรือ ความเข้าใจ นั้น
ก็จะต้องเป็นการสะสม ซึ่ง ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย ๆ หมายความว่า
การศึกษาพระธรรม ยังไม่มากพอที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกสติก็ยังไม่ระลึก.?
แล้วถ้าหากว่า สติยังระลึกไม่ได้ ก็ให้ศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อให้เกิด ความเข้าใจ-เพิ่มขึ้น ๆ
มีทางเดียวเท่านั้น.?
.
ท่านผู้ฟัง ศึกษาพระธรรม เพื่ออะไร.!
เพื่อละ-ความไม่รู้.....หรือ เพื่อที่จะ-ระลึก.?
.
เพื่อละ-ความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วง
เมื่อฟังพระธรรม จนกระทั่งเกิด "ความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ"
สติ จะไม่ระลึกนั้น...มีหรือ.?
แต่
ถ้าฟังพระธรรมแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจ แล้วจะไประลึก นั้น....ถูกไหม.?
ถ้าฟังพระธรรมแล้วยังไม่เข้าใจ...ก็ควรที่จะฟังให้เข้าใจขึ้น ๆ
ขณะที่กำลังเข้าใจขึ้น ๆ นั้นละคะ คือ "การระลึก" เกิดแล้ว
เพียงแต่ ไม่รู้ ว่า "สภาพธรรมที่มีลักษณะ-ระลึก" เกิดแล้ว.!
ซึ่ง ใช้ คำ เรียกว่า "สติ"
แต่
ขณะที่กำลังฟังพระธรรม แล้วเข้าใจ
ไม่ใช่ ขณะที่กำลังระลึก รู้ ตรงลักษณะของสภาพธรรม
เพียงแต่ รู้เรื่องของธรรมะ และ เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ได้ฟัง
นี่เป็น "สติ" ขั้นแรก
จนกว่า ความเข้าใจ จากการฟังพระธรรม จะมั่นคงจริง ๆ
จนกระทั่ง สติ-ขั้นระลึก รู้ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิด-ปรากฏ
ซึ่งเป็น "สิ่งที่มีจริง ๆ"
ขณะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริง ๆ นั้น...มีจริงอย่างไร.!
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง
เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง และ กำลังมี ในขณะนี้ด้วย.!
แสดงให้เห็นว่า "ความเข้าใจ" แต่ละระดับ จะมาก หรือ น้อย แค่ไหน
ก็ต้องมาจาก "การสะสม" และ "ความเข้าใจ"
คือ สะสม-ความเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังมี ในขณะนี้-ทีละเล็ก ทีละน้อย. ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ แล้วพยายามที่จะไประลึก
อย่างนี้ ก็จะยิ่งลำบาก.?
.
ถูกต้อง....เหนื่อยเปล่า และ เสียเวลาด้วย
.
ความเข้าใจ คือ การฟัง.?
.
ฟังแล้ว-เกิดความเข้าใจ.!
เมื่อสภาพธรรม-ที่เข้าใจ เกิดขึ้น
สภาพธรรม-ที่เข้าใจนั้น ก็ต้องดับไป
และต่อจากนั้น ก็เป็น "สภาพธรรมอื่น ๆ" เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง
คือ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต เกิดต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ "เหตุ-ปัจจัย"
แต่
ทั้งหมด เป็น "ธรรมะ"
หมายความว่า เมื่อ"ปัญญา" มีกำลังมากพอ "ปัญญา" จะรู้ว่า
สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สติ โลภะ โทสะ ฯลฯ ที่เกิด-ปรากฏ นั้น
เป็น "ธรรม" คือ สภาพธรรมแต่ละประเภท ๆ เท่านั้น
ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ใด ๆ ทั้งสิ้น.
เช่น แม้จะมีสภาพแข็ง ปรากฏ...ซึ่งเพียงปรากฏเล็กน้อย
เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ปรากฏแล้ว-ดับไปทันที ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว.
ยิ่งพยายามที่จะไประลึกถึงสภาพธรรมซึ่ง เกิด-ดับ-ผ่านไป-หมดไปแล้ว
มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็น "ตัวเรา".....ที่พยายามไประลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว.!
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้สติระลึก แต่ ไม่เข้าใจ ว่าสติ คืออะไร
ยิ่งไปพยายามให้สติระลึก ก็เป็นตัวเราที่พยายามที่จะไปทำ
ยิ่งทำเท่าไร....ก็ "เป็นตัวเรา" ที่ทำ.! ขณะที่ "กุศลจิต" เกิด
ขณะนั้น ไม่ใช่ขณะที่ "ลักษณะของสติ" ปรากฏ.!
โดยมากมักจะ "ข้ามความเข้าใจ" คือ ข้ามความเข้าใจในความเป็นธรรมะ
แต่มักจะเรียก ชื่อ เช่น คำว่า "สติ" ....รู้ชื่อ แต่ไม่รู้ว่า สติ คือ สภาพธรรม.
หรือ พยายามที่จะไปรู้ว่า อย่างนี้เรียกว่า"กุศล" หรือ อย่างนี้ เรียกว่า "อกุศล"
แต่ ไม่รู้ "ลักษณะ" ที่เป็น "ธรรมะ"
คือ เรียกชื่อของสภาพธรรม แต่ ไม่รู้ ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม.
ความเป็นสภาพธรรมของสิ่งที่มีจริง ๆ นั้น
เกิดขึ้นได้ ก็เพราะมี เหตุ-ปัจจัย.....เมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องดับไปทันที.!
โดยมาก ข้ามการพิจารณา
ว่า แท้จริงแล้ว....ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่เกิด-ปรากฏ
สิ่งนั้นเกิด-ปรากฏ เพราะมี "ปัจจัย" จึงเกิดขึ้น
เมื่อหมดปัจจัย ก็ต้องดับไป เป็น ปกติ ธรรมดา.
และ "ธรรมะ" มีความหลากหลาย.!
เช่น ขณะที่โลภะ-ความติดข้อง-พอใจ เกิดขึ้น ขณะนั้น ไม่ใช่ ขณะที่เห็น
ถ้ามีความเข้าใจ ก็คือ เข้าใจ ว่า สภาพธรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความต่างกัน
คือ รู้จัก "ตัวธรรมะ" ที่ต่างกัน
เพราะเหตุว่า การเห็น ก็เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่ง
ส่วน โลภะ ก็เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง
แต่ ทั้ง ๒ ประเภท เป็นต้น นั้น ล้วนเป็น "ธรรมะ" ทั้งสิ้น.
แทนที่จะพยายยามไปเรียกชื่อ ระบุชื่อ ว่า นี่คือเห็น เป็น จักขุวิญญาณ
นั่นเป็นโลภะ มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือ โลภะที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ฯลฯ
หรือ พยายามที่จะไปคิดอะไร ๆ
แทนที่ "ควร"จะเข้าใจก่อน ว่า "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง ๆ
เมื่อปรากฏ ก็ปรากฏ โดยมี "ลักษณะที่ต่าง ๆ กัน"
รู้ ว่ามี "ลักษณะ"ต่างกัน...แม้โดยไม่เรียกชื่อ.! ทุกวันนี้ มีแต่เรื่องราวทั้งนั้นเลย
พอมาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ก็รู้เรื่องราว
ไม่ปรากฏลักษณะแท้ ๆ ของสภาพธรรมเลย.!
.
ก็เป็นธรรมดา....แล้วทำไมจึงเดือดร้อน.?
ก็เป็นเรื่อง "ปกติ" ธรรมดา ที่ต้องเป็นไปอย่างนี้ ตามเหตุ ตามปัจจัย
จนกว่า ทุกอย่างที่ปรากฏ จะเป็นธรรมดา
ก็คือ เป็น "ธรรมะ" แต่ละประเภท ๆ
แม้แต่ "ความเดือดร้อน" ก็เป็น สภาพธรรมประเภทหนึ่ง ใช่ไหม?
แล้วจะเดือดร้อนอะไร.!
เมื่อเป็น "ความเข้าใจที่มั่นคง" ว่า ทุกอย่าง เป็น "ธรรมะ"
ก็จะไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจจริง ๆ ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
เกิดแล้ว เพราะเหตุ-ปัจจัย....เกิดแล้ว ดับไปแล้วด้วย.!
ถ้าเป็นความเข้าใจจริง ๆ ว่าเป็น "ธรรมะ"
คือ เข้าใจ ว่า ธรรมะ นั้น แม้ไม่มี ชื่อ
แต่ก็มี "ลักษณะเฉพาะ" ของธรรมแต่ละประเภท ๆ
"ธรรมะทั้งหลาย"
เมื่อเกิด-ปรากฏ ตามเหตุ ตามปัจจัย แล้วก็ต้องดับไป
และไม่กลับมาอีกเลย.!
เพื่อที่จะ คลาย-การยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย
ก็คือ เข้าใจ ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย เพียงเกิด-ปรากฏ-ดับไป
เมื่อหมดไปแล้ว....จะยึดถือเพื่ออะไร.?
ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงจริง ๆ คือ เข้าใจ ว่า สิ่งใดก็ตาม ที่ปรากฏ
ปรากฏ เพียง "ชั่วคราว"
เมื่อมีเหตุ มีปัจจัย สภาพธรรมก็เกิด ตามเหตุ ตามปัจจัย
เมื่อเกิด-ปรากฏแล้ว...ก็ต้องดับไป
ดับหมดไปแล้ว....ไม่กลับมาอีกเลย.!
"ปกติ" เป็นเช่นนั้น....ก็ เป็นเช่นนั้น.!
สภาพธรรมนั้น ๆ ก็ มีจริง ๆ
แต่ กว่าจะเข้าถึง และ รู้จัก "ตัวธรรม" จริง ๆ
ก็ต้องเข้าถึงด้วย สติ-สัมปชัญญะ หรือ สติ-ปัญญา
ซึ่งหมายถึง การอบรม "ความเข้าใจที่ถูกต้อง" ให้เพิ่มขึ้น ๆ
ไม่ได้หมายความว่า
เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม แล้วจะเข้าถึง และ รู้จัก "ตัวธรรมะ" ได้ทันที.!
ฟังอีก ก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นอีก...นี่คือ การอบรมเจริญปัญญา.!
ขณะที่ยัง "เป็นเรา" ที่ขัดข้อง หรือ เดือดร้อน
หมายความว่า ยังไม่เข้าใจ ว่า ความขัดข้อง หรือ เดือดร้อน ก็เป็น "ธรรมะ"
"ธรรมะ" คือ สภาพธรรมที่เกิดตามเหตุ ตามปัจจัย และ เกิด-ดับ.
ที่สำคัญที่สุด คือ เข้าใจ และรู้ว่า เป็นเพียง "ธรรมะ"
แม้รู้สึกว่า ไม่ติดข้องมากมายอะไร อย่างที่กล่าวมา
แต่ก็ยัง"เป็นเรา" ที่ไม่ขัดข้อง.....?
ถ้ายัง "เป็นเรา"
โดยที่ไม่เป็นเพียง "ลักษณะของสภาพธรรม" แต่ละประเภท ๆ
หมายความว่า ยังไม่เข้าถึง-ไม่รู้จัก "ตัวธรรมะ" จริง ๆ
เมื่อฟังเรื่องของธรรมะแล้ว และทั้ง ๆ ที่สภาพธรรมกำลังมีจริง ๆ ขณะนี้.!
แล้วจะรู้ "ลักษณะของธรรมะ" ได้....เมื่อไร.?
ก็เมื่อ "ปัญญา" หรือ "ความเข้าใจ" ในสิ่งที่ได้ฟัง เพิ่มขึ้น ๆ
"มากพอที่จะเป็นปัจจัย" ให้รู้ ลักษณะของสภาพธรรม ได้
ไม่ใช่เพียงแค่ฟัง แล้วจะรู้ลักษณะของธรรมะได้ทันที.!
ขณะใด มีปัจจัยที่จะทำให้ เริ่ม-รู้ลักษณะของสภาพธรรม ได้
ขณะนั้น ปราศจาก "ความเป็นเรา"
การฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น บ่อย ๆ เนือง ๆ
คือ ปัจจัยที่จะทำให้ เริ่ม-เข้าใจ-ลักษณะของสภาพธรรม หรือ สิ่งที่มีจริง ๆ
การฟังพระธรรม คือ การศึกษาพระธรรม และ การอบรมเจริญปัญญา
เพื่ออะไร......?
ก็เพื่อ ละ-ความไม่รู้ หรือ อวิชชา
และ เพื่อการละ-คลาย-การยึดถือในสภาพธรรม-เพราะความไม่รู้.!
เมื่อ ความเข้าใจ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ
ความไม่รู้ ก็ค่อย ๆ ละ-คลายลงไป ทีละเล็ก ทีละน้อย
เพื่ออะไร.....?
ก็เพื่อที่จะ "ไม่มีเรา" อีกเลย ! มีเงินมีทอง มีชื่อเสียง มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ไม่มีศรัทธาในพระธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ได้ชื่อว่ายากจน จนศรัทธาและจนกุศลธรรมทั้งปวง...ใน
ทางกลับกันผู้ที่ยากจนเงินทอง ไม่มีสมบัติ ไม่มีบ้านใหญ่โต ไม่มีชื่อเสียงแต่มีศรัทธา
ในพระธรรม มีจิตน้อมไปในทางกุศล ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีทรัพย์อันประเสริฐ ไม่ยากจน
เพราะฉะนั้น จนอะไรก็จนได้...แต่อย่าได้จนศรัทธา เพราะความศรัทธานำมาซึ่ง
กุศลธรรมทั้งหลาย ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ศรัทธาเป็นลาภอันประเสร็ฐนำมา
ซึ่งกุศลธรรม ขั้นทาน..ขั้นศีล..ขั้นภาวนา การอบรมเจริญปัญญานั้นมีการฟังพระธรรม
ให้เข้าใจ เริ่มมีศรัทธาประกอบด้วยปัญญา จนกว่าจะมีศรัทธาที่มั่นคงขึ้น อบรมเจริญ-
ปัญญาเผากิเลส จนถึงความเป็นพระอริยบุคคลเป็นลำดับขั้น ส่วนผู้ที่ไม่มีศรัทธา
ย่อมตายเพราะอกุศลกรรม....อกุศลกรรมนำมาซึ่งผลอันเป็นทุกข์ สร้างอบายภพให้
เกิดขึ้นในสัมปรายภพ
ภพภูมิมนุษย์เป็นภูมิที่เทวดาก็อยากมาเกิด มนุษย์มีโอกาสได้ฟังพระธรรม มีโอกาส
ได้เจริญกุศล การเกิดเป็นมนุษย์นั้น ได้เห็นความทุกข์ ความไม่เที่ยงของความเกิด
แก่ เจ็บ ตาย แต่การอยู่ในเทวโลกนั้น มีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ใด ๆ เพราะเป็น
ผลของบุญ ได้เห็น ได้ยิน...แต่สิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่สวยงาม จึงมีแต่ความเพลิดเพลินติด
ข้อง แม้เทวโลกก็ไม่เที่ยง แม้เทพที่เกิดเพราะผลบุญก็ไม่เที่ยง มีวันสิ้นสุด เพราะ
ฉะนั้นการได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ฟังพระธรรม และเจริญกุศลทุก
ประการ ผู้ทำสุจริตทั้งหลายเปรียบเหมือนอวยพรให้กับตน แต่ผู้ที่ไม่มีศรัทธาเจริญ
กุศล ไม่มีศรัทธาฟังพระธรรม ผู้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เปรียบเหมือน
กับการสาปแช่งตัวเอง การกระทำกรรมชั่วย่อมไปอบาย ไม่มีใครทำให้ เขาทำ
ของเขาเอง เสียชาติเกิด...
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา กำหนดอิริยาบทย่อย อนุโมทนากับผู้ใส่บาตรตอนเช้าตามถนนหนทาง สักการะพระธาตุ ถวายข้าวพระพุทธรูป ให้ธรรมะเป็นทานเมื่อคืนนี้ข้างบ้านได้เปิด เพลงดังมากนอนไม่หลับ และให้อภัยแก่เพื่อนบ้าน เลยได้ฟังธรรม หลายชั่วโมงและทำให้ตื่นสายเลยไม่ได้สวดมนต์ตอนเช้า แต่ได้ให้อภัยทาน และฟังธรรม และวันนี้ตั้งใจว่าจะสร้างบารมี ครบทั้ง 10 อย่าง สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดอิริยาบทย่อย เจริญอนุสติกรรมฐาน 8 ชนิด ศึกษาการรักษาโรค ศึกษาธรรม และฟังธรรมให้อภัยทาน อฐิษฐานจิต ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
ขอเชิญสัการะพระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อติ้ว เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย แกะสลักด้วยไม้แต้ว ลักษณะเป็นศิลปะของชาวลาว ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ. 2537 พระพุทธรูป หลวงพ่อติ้ว เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย แกะจากไม้แต้ว (ชาวลาวเรียกไม้ติ้ว) โดยประดิษฐานห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคมประมาณ 10 กม. ตามเส้นทาง พนัสนิคม-สระสี่เหลี่ยม ณ วัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม พอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน ของทุกปีจะมีการแห่องค์หลวงพ่อติ้ว ไปรอบหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าจะช่วยดลบันดาลให้ประสบกับสิ่งที่หวังทุก ๆ ประการ
|