ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am โพสต์: 6586
|
“จะเดินทางไกลโดยไม่หยุดกินข้าวเลย ... มันไปไม่ถึงหรอก” มักเป็นคำตอบของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เมื่อมีผู้มาถามท่านเรื่องการพิจารณาทางด้านปัญญา แต่มองข้ามความสำคัญของการฝึกสมาธิ มีผู้มาใหม่จำนวนไม่น้อยมักเกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนาที่หลวงปู่สอน เช่น 1. จะกำหนดนิมิตอย่างเดียว หรือจะบริกรรมภาวนาอย่างเดียว หรือควรต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน
2. เวลาบริกรรมภาวนานั้น จะต้องบริกรรมภาวนามากน้อยเพียงใด บริกรรมห่าง ๆ หรือบริกรรมถี่ ๆ
3. การปฏิบัติแบบหลวงปู่ ไม่กลัวทำให้ติดนิมิต หรือติดอาการปีติหรือ
4. ต้องสวดมนต์ อาราธนากรรมฐานก่อน หรือปฏิบัติสมาธิภาวนาได้เลย
5. เมื่อเกิดอาการปีติหรือสงบแล้วต้องทำอย่างไรต่อ ฯลฯ
ในเรื่องนี้คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่จะขออนุญาตเรียนไว้เป็นทัศนะอันหนึ่งว่า การจะทำให้หายสงสัยในคำถามต่าง ๆ ข้างต้น ตลอดถึงคำถามอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้ไปอีกนั้น ขอแนะนำแบบกว้าง ๆ ว่า เราควรศึกษาพอประมาณแล้วลงมือปฏิบัติไป จากนั้นก็สังเกตใจเราเอง เช่น ถ้าฟุ้งนัก ก็ให้มีทั้งการกำหนดนิมิตและบริกรรมภาวนา หากไม่ฟุ้งเท่าไรก็อาจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะเอาทั้งสองอย่างก็ไม่แปลกอะไร ผลที่ปรากฏแก่ใจเรา จะเป็นตัวบอกเราเองว่าควรปฏิบัติแค่ไหนอย่างไร เรียกว่า เรียนรู้จากภาคปฏิบัติ ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่ต้องกลัว ตราบที่เรายังรักษาความเป็นผู้อ่อนน้อมสงบเสงี่ยมเจียมตัว ...ไม่ต้องกลัวหลง จะรอศึกษาให้ครบถ้วนบริบูรณ์ก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อจะได้ปฏิบัติไม่ให้ผิดพลาดเลยนั้น ไม่มีหรอก มันต้องพบกับภาวะ ขาดบ้าง เกินบ้าง จึงจะรู้ว่าความพอดีหรือมัชฌิมาของเรานั้นอยู่ตรงไหน สิ่งที่ต้องตระหนักอีกประการหนึ่งก็คือ เรามิได้ปฏิบัติสมาธิเพื่อสมาธิ หากแต่เพื่อจะอาศัยเป็นอุปกรณ์ในการเจริญปัญญาต่อไป สมาธิจะช่วยให้จิตของเรามีภาวะที่เรียกว่า อ่อนโยนควรแก่การงาน มีกำลังวังชาเหมือนคนกินข้าวอิ่ม นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ จากนั้นก็ต้องทำงาน นั่นคือการพิจารณาทางด้านปัญญา แต่ที่จะพิจารณาเลยโดยมองข้ามสมาธินั้น หลวงปู่อุปมาว่า
"เหมือนคนจะเดินทางไกลโดยไม่หยุดกินข้าวเลย มันไปไม่ถึงหรอก" อิทธิบาท ๔ ควรนำมาใช้ อย่าให้อยู่แต่ในตำรับตำรา หรือบูชาไว้ที่หิ้ง สร้าง ฉันทะ ความพึงใจในการปฏิบัติ กำหนดนิมิตก็ดี บริกรรมภาวนาก็ดี ให้ทำอย่างมีความสุข ทำอย่างผู้เห็นค่าเห็นประโยชน์ของการกระทำ ยินดีในองค์พระหรือภาวะความสว่างของจิตที่เกิดขึ้นในทุก ๆ คำบริกรรมภาวนา มี วิริยะ ความเพียร บริกรรมภาวนาและกำหนดนิมิตให้ต่อเนื่องเรื่อยไป เมื่อเผลอสติหลงลืมไปก็ตั้งขึ้นใหม่ ไม่อ่อนแอต่อนิวรณ์ ความฟุ้ง ความขี้เกียจขี้คร้าน ความง่วงเหงาหาวนอน หรือความลังเลสงสัยต่าง ๆ ก็ให้วางไว้ก่อน มี จิตตะ คือ จดจ่อต่อเนื่องในการปฏิบัติ ให้เหมือน "มดแดง" ที่กัดจนแม้กระทั่งถูกเด็ดหัวหลุดก็ยังไม่ยอมปล่อย หรือเหมือนการเอาไม้มาสีกัน สีจนกระทั่งเกิดความร้อนและเกิดเปลวไฟ สติ แปลว่า ระลึกหรือนึกขึ้นมา นึกขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งนิมิตและคำบริกรรมภาวนา สติก็จะต่อเนื่องมากขึ้น ...เจริญสติ จึงจะได้สติ มี วิมังสา คือใช้ปัญญาสอดส่องว่าวางจิตไม่หนักหรือบังคับให้เคร่งเครียดเกินไป และ ในทางตรงกันข้าม ก็อย่าวางจิตหย่อนยาน จนความง่วงเหงาหาวนอนมาเยือน เผลอสติทีไรก็ให้ระลึกรู้โดยเร็ว นิมิตเกิดขึ้นก็อย่าปักใจเชื่อ ให้วางใจเป็นกลาง ๆ รับทราบ และน้อมเพียงความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย มิใช่ปักใจเชื่อนิมิต หลงนิมิต หรือคล้อยตามนิมิตจนหลุดออกไปจากกรรมฐานเดิม เล่าไว้พอเป็นแนวทางเบื้องต้น ตามที่หลวงปู่ท่านได้เมตตาให้หลักเรื่องการปฏิบัตภาวนาแก่พวกเราไว้....
_________________ ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน
|
|