ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am โพสต์: 6586
|
ธรรมะต้องมาเป็นชุด พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ชยสาโร วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
"... อาทิตย์ที่แล้วอาตมาคุยกับชาวอเมริกันคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองไทย เขามีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ แกเคยเป็นบาทหลวงตั้งหลายสิบปี แต่ตอนหลังเกิดเสียศรัทธาแล้วออกจากศาสนาคริสต์ ไปอยู่เชียงใหม่ บ้านก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูป สวยงามมาก บ้านเหมือนพิพิธภัณฑ์ แกเล่าว่า นอกจากเป็นบาทหลวงแล้วแกยังเคยเป็นนักเปียโน ซึ่งในทัศนะของแก เพลงที่ถือเป็นสุดยอดก็มีเพลงของโชแปง ทีนี้ บางบทบางเพลงของโชแปงแม้แกจะมีความรู้ทางเทคนิคพร้อม รู้โน้ตทุกตัว แต่แกก็ไม่สามารถเล่นเพลงได้ เพราะอะไร ... เพราะการจะเล่นเพลงให้ได้อย่างโชแปงนั้นผู้เล่นต้องมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอ ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ในการเล่นที่ยังน้อย กล้ามเนื้อของแกยังไม่แข็งแรงพอที่จะเล่นเพลงนั้นได้ ต้องฝึกอีกหลายปี กระทั่งกล้ามเนื้อแข็งแรงพอ แกจึงสามารถเล่นเพลงของโชแปงได้ แกสรุปให้ฟังว่าแม้ความรู้ทางวิชาการหรือทางเทคนิคจะรู้หมดเลย แต่ว่าร่างกายยังไม่พร้อม ยังไม่เอื้อ ก็ทำไม่สำเร็จ ดังนั้น ถึงแม้ว่าเรารู้วิธีการทุกอย่าง แต่ว่ามันยังไม่พร้อมในตอนนี้เราก็ยังทำไม่ได้ เรียกว่าความรู้มันเกินกำลังของกาย หากสรุปเข้ากับเรื่องของการปฏิบัติธรรมก็ว่า
บางทีความรู้ทางธรรมมันเกินกำลังของจิต เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงสอนให้เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเนื่องอาศัยกันหมด อย่างเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้งสี่ข้อ มีข้อสังเกตว่า ธรรมะทุกหมวดต้องมีตัวแทนของปัญญาอยู่เสมอ และมักจะเป็นข้อสุดท้าย อย่างเช่นในอิทธิบาท ๔ ...ข้อที่ ๔ "วิมังสา" ก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ในพรหมวิหาร ๔ ..."อุเบกขา" ก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการศึกษา การพิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม เราอยากให้คนอื่นมีความสุข ไม่ต้องการให้เขาเป็นทุกข์ มีความหวังดี แต่โอกาสที่จะช่วยให้คนอื่นมีความสุขมันก็มีจำกัด แล้วเวลาคนรอบข้างเราเป็นทุกข์ โอกาสที่จะช่วยดับทุกข์ ที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์มันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอ บางทีเขาไม่เชื่อเรา หรือว่าเขายังติดมากเกินไป หรือว่ามันก็มีข้อขัดข้องต่าง ๆ ... เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องยอมรับความจริงด้วย อุเบกขา อุเบกขาเหมือนกับเป็นเกียร์ neutral (N) ในรถยนต์ ก่อนจะเข้าเกียร์ก็ต้องกลับมาอยู่ neutral ก่อน การอยู่ neutral คือ การอยู่อย่างจิตใจปกติสุข ในขณะที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการทำความดีหรือการช่วยคนอื่น ก็ถือว่าเวลายังไม่พร้อม หรือว่าตัวเรายังไม่พร้อม หรือว่าคนที่กำลังเป็นทุกข์เค้าไม่พร้อม แต่เมื่อเราพยายามจะช่วยคนอื่นแล้วไม่ได้ผล ส่วนมากก็จะน้อยใจ เสียใจ ท้อแท้ใจ บางทีเบื่อหน่าย ...ไม่เอาแล้ว ! อย่างนี้ เรียกว่า เมตตาก็ไม่พอ เพราะว่าขาดอุเบกขาหนุนหลัง ...นี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะใช้เมตตา ต้องอยู่ด้วยอุเบกขาก่อน แต่ในความอุเบกขานั้นไม่ใช่ความเฉยเมย ไม่สนใจ ไม่เอาแล้ว ! หากแต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อไหร่ที่มันเหมาะสมที่จะช่วยได้ผล ระหว่างนี้เราต้องอาศัยอุเบกขา จึงจะไม่เป็นทุกข์กับความดี ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นทุกข์ ความดีก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ถ้าเราขาดปัญญา หรือว่าใจร้อนเกินไป หรือใจเย็นเกินไป เป็นต้น ปัญญา จะเป็นตัวบอกว่า กาลใดควรวางท่าทีอย่างไร ฉะนั้น ธรรมะก็ต้องมาเป็นชุด แม้ศีล สมาธิ และปัญญา หรืออริยมรรคมีองค์แปด ก็ต้องมาเป็นชุดเช่นกัน (จะแยกหรือเลือกปฏิบัติเป็นบางข้อมิได้) ... "
_________________ ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน
|
|