พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 31 ต.ค. 2008 9:18 pm
อยู่กับชีวิต : ปัจจยการ ๑๑ แห่งชีวิต (ตอนที่ ๑-๔)
๑. อิริยาบถชีวิต : ยืน เดิน นั่ง นอน / สติปัฏฐาน ๔
ในวิถีการดำเนินชีวิตแต่ละวันของมนุษย์ ๆ เราใช้รูป- สรีระร่างกายเคลื่อนไหว กระทำการต่างๆ
โดยมีจิตธรรม ความรู้สึก นึก คิด กำหนดความเป็นไป
ธรรม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ มี ๒ อย่าง คือ สติ – ความระลึกได้
กับ สัมปชัญญะ –ความรู้ตัว หากในขณะใดที่เรารู้สึกตัวทั่วพร้อม เราจักดำเนินชีวิตได้ดี
ที่ที่จักทำให้เรามีสติสัมปชัญญะ มี ๔ คือ กาย- ร่างกายตัวเรา เวทนา- ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์
เฉยๆ จิต- ความรู้สึก นึก คิด ธรรม- สิ่งทั้งปวง หรือสรรพสิ่งที่เราเห็นในรูปวัตถุ และที่เราเห็นด้วยใจ
ในขณะที่เราเคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน เราใคร่ครวญเห็นในกาย เวทนา จิต ธรรม
รู้ว่ามีความเป็นไปอย่างไร จักทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในอดีต ขณะปัจจุบัน
และที่ใกล้จะเกิดขึ้น และจักทำให้มีความสามารถในการจัดการ
นี่จึงเป็นที่มาของการให้ทำสมาธิภาวนา เพื่อทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมองมีความตั้งใจมั่น
จนทำให้เหมาะกับการที่จะกระทำการงานต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีสุข
มีบทภาวนามาฝากเพื่อการเป็นอยู่ในอิริยาบถชีวิต /-
“....หายใจออก, ฉันรู้ว่าฉันกำลังหายใจออก, เข้า/ออก,
หายใจเข้า, ฉันเห็นตนเองเป็นดังดอกไม้,
หายใจออก, ฉันรู้สึกสดชื่น, ดอกไม้/สดชื่น,
หายใจเข้า, ฉันสงบกาย วาจา ใจ,
หายใจออก, ฉันยิ้ม, สงบ/ยิ้ม,
เข้า/ออก, ดอกไม้/สดชื่น, สงบ/ยิ้ม....”
“....การก้าวของฉัน, คือการกระทำที่สำคัญที่สุด,
อนาคตของฉันและโลก, ขึ้นอยู่กับก้าวแต่ละก้าวของฉัน,
การยืน เดิน นั่ง นอน, กิน ดื่ม, ทำ พูด คิดของฉัน, คือทางแห่งการเรียนรู้,
ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว, ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว,
ฉันเดินบนโลกสีเขียว, เพื่อสันติสุขแห่งสรรพสัตว์....”
อิริยาบถชีวิต คือ การเคลื่อนไหวในการเป็นอยู่ มนุษย์มีกระบวนการภายในที่ทำให้เกิดการเคลื่อน
ไหวทั้งทางกาย วาจา ใจ ในการเคลื่อนไหวของกิริยาทั้ง ๓ นั้น ต้องอาศัยตัวกำหนดเพื่อให้การเคลื่อนไหว
นั้นเป็นไปในทิศทางหรือเป้าประสงค์ที่ต้องการ และโดยเอาเป้าประสงค์ที่ต้องการนั้นมาเป็นตัวกำหนด
ยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว
จุดแรกของชีวิตเริ่มการเคลื่อนไหวตรงนี้- สติ
-----------------------
๒. อาการวัตตชีวิต : กิน ดื่ม ทำ พูด คิด / อินทรีย์ ๕,พละ ๕
ข้อนี้สืบต่อเนื่องมาจาก อิริยาบถชีวิต คือ การยืน เดิน นั่ง นอน ของเราที่มีสติ
สัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเป็นอยู่ของกายและความรู้สึกนึกคิด ข้อนี้ขยายย่อยออกมาอีก
ซึ่งหากรวมเอาทั้งอิริยาบถชีวิตกับอาการวัตตชีวิตเข้าด้วยกันก็จะเป็นกระบวนการดำเนินชีวิต
ของมนุษย์ ๙ อย่าง ได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด
อิริยาบถชีวิตนั้นเป็นลักษณาการชีวิตต้นบท ส่วนอาการวัตตชีวิตเป็นลักษณาการสืบเนื่อง
เมื่อมนุษย์เรียนรู้ รู้จักและกระทำอิริยาบถได้ถูกต้องแล้วก็ต้องหนุนอาการกิริยาทางกาย วาจา
ใจให้แข็งกล้ามีกำลังที่จักดำเนินชีวิตอยู่
องค์ธรรมนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ได้แก่ อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕
อินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่เป็นใหญ่สำหรับการทำหน้าที่ของมนุษย์ ข้อแรก คือ สัทธา ให้มีความเชื่อมั่น
ศรัทธา ๒. วิริยะ ให้มีความพากเพียรพยายาม ๓. สติ ใช้สติให้เต็มกำลัง
๔. สมาธิ ให้มีความตั้งใจมั่นแน่วแน่ในการกระทำการทั้งปวง ๕.ปัญญา ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต
ส่วน พละ ๕ นั้นก็คือข้อธรรมเดียวกันทั้ง ๕ ข้อนี้
อินทรีย์ ๕ นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตมนุษย์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราต้องกระทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้นเพื่อ
เอาพลังศรัทธา พลังวิริยะ พลังสติ พลังสมาธิ และพลังปัญญา นั้นมาก่อมาสร้างมาสานให้ชีวิตเราดำเนินไป
อย่างถูกต้องมีคุณค่ามีประโยชน์สุข
อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕ จึงได้แก่ ยุทธศาสตร์ชีวิตมนุษย์ที่ต้องกำหนดไว้ภายในตนแล้วกระทำการออก
มาให้สำเร็จทางจิตธรรมและวัตถุธรรม
อาการวัตตชีวิต คือ การเป็นอยู่ที่มีความเป็นไปต่าง ๆ นานา ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปตามความเคลื่อนไหว
ของชีวิตและสังคม จำเป็นที่เราต้องกระทำอินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ในชีวิตให้เกิดกำลัง เป็นกำลังภายในที่
จักต้องเอามาต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค
-------------------------------
๓. ทวารชีวิต : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ / อายตนะ ๖ (ฐานการเรียนรู้)
เราได้เรียนรู้ถึงความเคลื่อนไหว อาการชีวิต และองค์ธรรมอันเป็นตัวกำหนดชีวิตและยุทธศาสตร์ชีวิตที่เป็น
หมายหลักผ่านมา ๒ ข้อแล้ว ทีนี้มาถึงข้อ ๓ นี่ คำ ๕ คำนี้เป็นจุดสตาร์ท เป็นจุดเริ่มที่จะทำให้เกิดกระบวน
การภายในชีวิตมนุษย์
นี่เป็นประตูชีวิต
เป็นประตูชีวิตมนุษย์ที่เปิดรับสรรพสิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตาและเห็นได้โดยใจ
ประตูชีวิตมนุษย์ คือ ดวงตา ตาเราเห็นรูปพรรณสัณฐาน หูเราได้ยินเสียง จมูกเราได้กลิ่น ลิ้มเราได้
รับรู้รส กายเราได้จับต้อง ใจเรารู้สึกนึกคิด
ตรงนี้เรียกว่า ฐานการเรียนรู้ชีวิต เป็นตัวรับ เป็นตัวนำเข้าสรรพสิ่งเพื่อไปสู่กระบวนการภายในชีวิต
กระบวนการภายในชีวิตอยู่ที่สมองและหัวใจ
สมองที่เป็นก้อนและสมองที่เป็นตัวรู้
หัวใจที่เป็นก้อนและหัวใจที่เป็นตัวรู้
ฐานการเรียนรู้ชีวิตทั้ง ๖ นี้พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า อินทรีย์ ด้วยเช่นกันเพราะมีความเป็นใหญ่
เป็นทางของการเรียนรู้ชีวิตโดยเป็นตัวตั้งรับ (Input) ของชีวิตที่จะนำสิ่งที่ได้รับเข้าไปสู่การไตร่ตรอง
(Procedure) แล้วกระทำการออกมา (Output)
ในขั้นตอนของทวารชีวิตทั้ง ๓ ช่วงนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงองค์ธรรมไว้เพื่อให้เป็นบทศึกษาเรียนรู้
ปฏิบัติ ๒ ข้ออันเป็นประธาน คือ ๑ การเลือกรับทุกสรรพสิ่งที่เป็นกัลยาณมิตร ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารที่ดี
คบหาสมาคมกับผู้คนที่ดี และอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่ดี ๆ ที่สำคัญคือ อยู่กับใจที่ดีมี
ความรู้สึกเป็นกลาง ๆ ไม่พร่ามัวสั่นไหวและไม่ลิงโลด
ใจที่ดี เกิดได้ด้วยองค์ธรรมที่ ๒ คือ โยนิโสมนสิการ ได้แก่ การรู้จักไตร่ตรองมองชีวิตให้เป็น
ตรงนี้เป็นกระบวนภายในชีวิต เป็นหน้าที่ของสมองและหัวใจ นั่นก็คือการใช้สติปัญญามาวินิจฉัยเหตุการณ์
ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาและมีขึ้นในชีวิตเรา ตรงนี้เป็นการใช้อินทรีย์ ๕ เข้ามากำกับ
เมื่อเรารู้เห็นสภาพความเป็นจริง ๆ ของสิ่งนั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้นแล้วนั้น เราก็ใช้พละ ๕ เพื่อเป็นกำลังให้
แก่ชีวิตโดยการเอาความเชื่อมั่น ความพากเพียร สติสมาธิปัญญามาใช้ในการบริหารจัดการชีวิต
ทวารชีวิต คือที่เชื่อมต่อ เป็นที่สำหรับให้เกิดการเรียนรู้และเป็นที่ผ่องถ่ายกระบวนทัศน์ออกมาเป็น
พฤติกรรม โดยใช้ความเป็นใหญ่แห่งทวารนั้น ๆ โดยท้ายสุดสำคัญอยู่ที่ใจ เก็บรับ กลั่นกรอง สร้างสานเพื่อ
ก่อชีวิตเราให้เป็นสัมมาทิฏฐิกบุคคล
------------------------------------------------------------------------------------------
๔. กำลังชีวิต : ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาส วิญญาณ/ ธาตุรู้ ธาตุสมดุล หนุนธาตุ ปรับอินทรีย์ให้เป็น
เราผ่านการเรียนรู้เรื่อง อิริยาบถชีวิต, อาการวัตตชีวิต, และทวารชีวิต
มาแล้ว ทำให้เราได้รู้ว่าความเป็นไปของชีวิตมีการไหวเคลื่อนอย่างไร
ชีวิต แปลว่า ความเป็นอยู่ ๆ นี่เองมีลักษณะที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่
ตลอดเวลา เวลานี้ก็คือ ทุกลมหายใจเข้า-ออก
เป็นอย่างนี้ถึงเรียกว่า มีชีวิต
การที่จักมีชีวิตที่สัมบูรณ์ได้นั้นก็คือ ชีวิตนั้นมีสติสัมปชัญญะ
มีสติสัมปชัญญะในการจัดการทางกาย เวทนา จิต ธรรมที่เกิดขึ้นจาก
การรับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖
จัดการโดยใช้อินทรีย์ในตัวเราเอง สร้างอินทรีย์นั้นให้เกิดพละ
อินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ มีอยู่กับความมีชีวิต
การที่จักสร้างอินทรีย์ให้เกิดพละ เพื่อเป็นกำลังชีวิตนั้น มาถึงตรงนี้
เราต้องรู้จักและเรียนรู้เรื่อง "ธาตุ"
"ธาตุ" คือสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้น มีสภาพแปรอยู่ตลอดเวลา และ
มีกำลังในตัวเอง
ธาตุของชีวิต เรียกว่า ธาตุ ๔ ,ธาตุ ๖
ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สี่อย่างนี้เป็นแม่ธาตุ ที่ก่อรูป
อีกสอง คือ อากาสธาตุและวิญญาณธาตุ ที่นำรูปให้เคลื่อนไหวเป็น
ชีวิต
ดังนั้น กำลังชีวิตเราที่เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะธาตุนี่เอง ธาตุที่ประกอบ
สร้างขึ้นเป็นอินทรีย์แล้ว
ทำอย่างไรที่จักหนุนธาตุให้ดำรงอยู่อย่างสมดุล ?
ทำอย่างไรที่จักสร้างอินทรีย์ให้เกิดพละ ?
ตรงนี้เราต้องบริหารจัดการแบบให้บริการตนเองด้วยการศึกษาเรียนรู้
และปฏิบัติโดยตนเอง
ให้บริการที่ร่างกายและจิตใจ กระทำที่รูปและนามนี้แหล่ะให้เกิด
สัปปายะ- ความสบาย
สบายในที่นี่ คือ ความสบายของร่างกายและจิตใจที่ปลอดจาก
ความขัดข้อง คับข้อง อึดอัดขัดเคือง เป็นไปโดยยาก ฯ
ความสบายของร่างกายและจิตใจ จักเกิดขึ้นได้แท้จริงอยู่ตรงที่เรารู้จัก
หนุนธาตุเป็น สร้างอินทรีย์เป็น ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ ปรับธาตุ ปรับอินทรีย์
ให้เป็นให้ถูก
จักปรับให้เป็นให้ถูกก็อยู่ตรงตัว "วิญญาณ"
เราต้องทำ "วิญญาณ" ให้เกิดรู้แจ้งเห็นจริง
หรือทำให้ความเป็น "พุทธะ" ในตัวเราแจ่มชัดขึ้น
เรามีกำลังแห่งชีวิตอยู่แล้วในตัวทุกคน
ธาตุทั้งหมดเป็นตัวรู้ เพียงเราเรียนรู้จักตัวธาตุตัวรู้นั้นให้ถูกให้เป็น
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาอยู่กับชีวิตเรา เพียงเรากระทำเพิ่ม
ธาตุ คืออินทรีย์ อินทรีย์ คือธาตุ
สัมผัสรู้แล้วจักยิ่งเป็นกำลังชีวิต
ของฝาก-
"เรียนรู้ความหนาแน่นของดิน ความเอิบของน้ำ
ความไหวของลม ความร้อนของไฟ
ความเป็นอยู่ของช่องว่าง และความล่องของตัวรู้"
กำลังชีวิต คือ ธาตุทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปและที่เป็นนาม- เป็นสสารและ
พลังงาน เป็นพลังศักย์ พลังจลน์
เป็น พุทฺธ ธาตุ ในความรู้
ความรู้ที่ถูกต้อง คือกำลังชีวิต.
------------------ทั้งหมดมี ๑๑ ตอน/หัวข้อ--------------------
ธัมมศิลป์นันทะ
อัญญาสิกขาลัย นนทบุรี
อาทิตย์ 02 พ.ย. 2008 7:46 am
โห ยอดเยี่ยมครับ กราบขอบพระคุณครับ หวังว่าคงได้อ่านเรื่อย ๆ นะครับผม
ศุกร์ 30 ม.ค. 2009 11:19 am
สวัสดีปีใหม่
มาต่อตอน ๔ ให้
ขอให้มีความสุขกายใจทุกคน
ศุกร์ 30 ม.ค. 2009 11:31 pm
เลข อักขระ เขียน:สวัสดีปีใหม่
มาต่อตอน ๔ ให้
ขอให้มีความสุขกายใจทุกคน
สาธุก่อง
เช่นกันครับ ขอให้ท่านเลข อักขระ มีความสุขกาย สุขใจ
และเจริญในธรรมนะครับ
จันทร์ 02 ก.พ. 2009 2:01 am
ขอบพระคุณมากครับ ขออนุโมทนาด้วยครับผม