พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 25 เม.ย. 2010 8:45 am
ในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า มุสาวาท(การกล่าวเท็จ) ได้ทำลายประโยชน์ของผู้
อื่นมากมายทีเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว คำจริง หรือ ความจริง น่าจะพูดได้ง่ายกว่า
คำเท็จ แต่บุคคลผู้สะสมมาอย่างนี้กลับไม่พูดความจริง มักพูดแต่คำเท็จ คนพูดเท็จ
จึงน่ากลัวมาก เพราะเขาสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งตรงกับความจริงที่ว่า
"บุคคลผู้มักพูดเท็จ ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่น เป็นไม่มี" อย่างเห็นได้ชัด
การกล่าวเท็จ เป็นอกุศลธรรม เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้เห็น
ตามความเป็นจริง เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลดังกล่าว จึงเป็นเครื่องเตือนสำหรับ
ทุกคนเพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิตโดยประการทั้งปวง เพราะธรรมดาของปุถุชนมักไหล
ไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมกระทำอกุศลกรรมประการต่าง ๆ ได้
จึงไม่ควรประมาทกำลังของกิเลส ดังนั้น พึงเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลแม้จะเล็กน้อย
ก็ตาม เนื่องจากว่า ขึ้นชื่อว่าอกุศลแล้วไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ควรที่จะ
มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล แม้แต่การพูดเท็จ ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะ
ไม่เป็นไปเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น ก็ไม่ควรทำ และถ้าถึงขั้นที่ทำลายหรือหัก
รานประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว ยิ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 165
๕. สัมปชานมุสาวาทสูตร
ว่าด้วยสัมปชานมุสาวาท
[๒๐๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ
มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เรากล่าวว่า
บาปกรรมไร ๆ อันเขาจะไม่พึงทำไม่มีเลย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ
สัมปชานมุสาวาท.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บาปกรรม ที่สัตว์ผู้เป็นคนมักพูดเท็จ
ล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ข้ามโลกหน้าเสีย
แล้ว จะไม่พึงทำ ไม่มีเลย.
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า
ได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.
จบสัมปชานมุสาวาทสูตรที่ ๕
และข้อความตอนหนึ่งจากจริยาปิฎกว่า
อนึ่ง พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยมีอาทิว่า
เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้. เพราะไม่มีการปฏิบัติอัน
สมควรแก่ปฏิญญา. เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจ-
ธรรม. เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้. เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควร
ยึดถือต่อไปมาพูด. เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง.
เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวงให้บริสุทธิ์ได้. เพราะกระทำ
กิจแห่งโพธิสมภารทั้งปวง ด้วยไม่ให้ผิดสภาวธรรม และเพราะสำเร็จใน
การปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ดังนี้...
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 263
๒. ภิกขุวรรค
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร
ทรงโอวาทพระราหุล
[๑๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลัน-
ทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลอยู่ ณ
ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
ออกจากที่เร้นอยู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกา ปราสาทที่ท่านพระราหุ
ลอยู่ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะ
และตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปู
ลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระราหุลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๑๒๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อย
หนึ่งแล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่
ในภาชนะน้ำนี้หรือ.
ท่านพระราหุลกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า.
ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา
ทั้งรู้อยู่ก็มีน้อยเหมือนกันฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทน้าที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้ว
ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้ว
หรือ.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 264
รา. เห็น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าว
มุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้ว เหมือนกันฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่าน
พระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ.
รา. เห็น พระเจ้าข้า.
พ . ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าว
มุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะ
ท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ.
รา. เห็น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าว
มุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น.
[๑๒๗] พ. ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนช้างต้นมีงางอนงาม เป็น
พาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงคราม
แล้วย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วย
กายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสอง
บ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะ
การที่ช้างรักษาแต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้
แลมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดีเคยเข้าสงคราม เข้า
สงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสอง
บ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้างด้วยการเบื้องหน้าบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง
สองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 265
ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยังไม่ยอมสละ
แล ดูก่อนราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มี
กำเนิดดี เคยเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้า
หลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง
ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่
ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงา
อันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดีเคยเข้าสงคราม เข้าสงคราม
แล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกาย
เบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วย
งาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้ว
บัดนี้ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนราหุล เรากล่าวว่าบุคคล
ผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง
ไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจัก
ไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูก่อนราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๖๕๓
ในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่เช่นกับความสัตย์ ไม่มี เพราะว่า ผู้ที่ทิ้งความสัตย์
เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าว
แต่ความสัตย์เท่านั้น. จริงอยู่ ปาณาติบาต(ฆ่าสัตว์)ก็ดี อทินนาทาน(ถือเอาสิ่งของที่
เขาไม่ได้ให้)ก็ดี กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม)ก็ดี สุราปานะ(การดื่มสุรา)-
ก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่มุ่งกล่าวให้คลาด
เคลื่อนหักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย.
(ข้อความตอนหนึ่งจาก ...ขุททกนิกาย ชาดก หาริตจชาดก)
-----------------------------
บรรดาคำพูด ๑๐ คำ คำสัตย์แม้สักคำหนึ่งย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้เห็นปานนี้ ชื่อว่าผู้
มักพูดเท็จ, การพูดเท็จ เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ
ที่ครบองค์แล้ว ย่อมทำให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น กล่าวคือ ผลอย่างหนักทำให้ไปเกิดใน
อบายภูมิ ถ้าเป็นผลอย่างเบา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้รับคำพูดที่
ไม่จริงจากผู้อื่น
บุคคลผู้มักพูดเท็จ พูดโกหก ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่นเป็นไม่มี เพราะเหตุว่า
ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะต้องพูดเท็จ ยังพูดได้ จึงไม่ต้องพูดถึงอกุศลกรรมอย่างอื่น
ที่เขาจะไม่ทำ
พระธรรมเทศนาในเรื่องนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนสติได้เป็นอย่างดี เตือนไม่ให้ประมาท
โดยประการทั้งปวง เพราะตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ยังไม่ได้-
เป็นพระอริยบุคคล จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเมื่อมีเหตุ
ปัจจัย ย่อมล่วงศีลได้ ทำอกุศลกรรมประการต่าง ๆ ได้ ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม ดังนั้น
อกุศลแม้เล็กน้อย ก็พึงเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น ควรที่จะ
ละอาย และเกรงกลัวต่ออกุศล และถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แล้วสะสมเฉพาะ
สิ่งที่ดีเท่านั้น ครับ.
อริยสัจจะคือความจริงแท้อันประเสริฐ ผู้ที่จะรู้อริยสัจจะก็ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะตั้งแต่ต้น
เริ่มตั้งแต่วจีสัจจะ(คำพูดที่จริง) หากไม่ตรงตั้งแต่ต้นแล้ว คือเป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้
ล่วงเลยสัจจะก็ไม่มีทางถึงอริยสัจจะได้
แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากหรือน้อยในชีวิตประจำวัน กล่าวเท็จทั้งที่รู้
เช่น เมื่อถามว่าไม่ชอบก็บอกว่าเฉยๆ เป็นต้น ตัวผู้กล่าวเท็จเองก็รู้อยู่แต่ไม่มีความ
ละอาย ก็ย่อมทำบาปอื่นได้เพราะแม้เรื่องเล็กน้อยก็ยังไม่ละอายครับ พระธรรมจึงเป็น
เครื่องเตือนที่จะเห็นโทษแม้เล็กน้อย ที่สำคัญหากยังล่วงแม้วจีสัจจะแล้วการบรรลุ
อริยสัจจะก็มีไม่ได้เพราะไมได้เป็นไปเพื่อน้อมปฏิบัติตามในพระธรรมครับ
ธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุ การกล่าวเท็จทั้งๆที่รู้อยู่ก็ต้องมีเหตุคือ เป็นผู้ติดข้องในกาม
เป็นผู้ที่หนักในลาภสักการะ เป็นต้น
สำหรับคำถามที่ว่าสัจจบารมีเป็นบารมีข้อแรกที่ต้องบริบูรณ์ก่อนนั้น คงไมได้หมาย
ความอย่างนั้นครับ ทุกๆบารมีต้องดำเนินควบคู่กันไปจนเต็ม แต่ทรงแสดงให้เห็นถึง
ความสำคัญของสัจจบารมีว่าเป็นแกนสำคัญในการบรรลุธรรมเพราะเป็นสิ่งที่จริง ตรง
และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมอย่างแท้จริงอันเป็น
ไปเพื่อละกิเลสซึ่งเป็นการอบรมบารมีครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔-หน้าที่ 198
" ผู้มักพูดคำไม่จริง ย่อมเข้าถึงนรก, หรือแม้
ใดทำแล้ว กล่าวว่า 'ข้าพเจ้ามิได้ทำ,' ชนแม้ทั้ง
สองนั้น เป็นมนุษย์มีกรรมเลวทราม ละไปในโลก
อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกัน(คือเข้าถึงนรกเหมือนกัน)"
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภูตวาที ได้แก่ ผู้ไม่เห็นโทษของ
บุคคลอื่นเลย ทำการกล่าวเท็จ ตู่ผู้อื่นด้วยคำเปล่า.
บทว่า กตฺวา ความว่า หรือผู้ใดทำกรรมลามกแล้ว กล่าวว่า
" ข้าพเจ้ามิได้ทำกรรมนั่น. "
หลายบทว่า เปจฺจ สมา ภวนฺติ ความว่า ชนแม้ทั้งสองนั้นไปสู่
ปรโลก ย่อมเป็นผู้เสมอกันโดยคติ เพราะการเข้าถึงนรก, คติของชน
เหล่านั้นเท่านั้น ท่านผู้รู้กำหนดไว้แล้ว, แต่อายุของเขาท่านมิได้กำหนด
ไว้; เพราะว่าชนทั้งหลายทำบาปกรรมไว้มาก ย่อมไหม้ในนรกนาน ทำ
บาปกรรมไว้น้อย ย่อมไหม้สิ้นกาลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น; ก็เพราะกรรมที่
ลามกของชนแม้ทั้งสองนั้นนั่นเอง (เป็นเหตุ), เพราะฉะนั้น พระผู้มี-
พระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ. "
ก็บทว่า ปรตฺถ สัมพันธ์เข้ากับบทว่า ' เปจฺจ ' ข้างหน้า. อธิบาย
ว่า ชนผู้มีกรรมเลวทรามเหล่านั้น ละไปในโลกอื่น คือไปจากโลกนี้
ย่อมเป็นผู้เสมอกันในปรโลก.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 656
รูปิยปาติสูตร
ว่าด้วยลาภสักการะเป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรม
[๕๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจแล้วย่อมรู้
บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า แม้เพราะถาดเงินอันเต็มด้วยผงทองคำ
เป็นเหตุ ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภ
สักการะและความสรรเสริญครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ ฯ ล ฯ
อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
จบรูปิยปาติสูตรที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑-หน้าที่ 433
อัตถกรณสูตร
[๓๔๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ชอบแล้ว ๆ มหาบพิตร
กษัตริย์มหาศาล พราหมณมหาศาล คฤหบดีมหาศาล แม้บางพวกเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ฯลฯ มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย ยังจักกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่
เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล ข้อนั้นจักเป็นไป
เพื่อความเสื่อมประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน.
ความเสื่อมแห่งโภคะ และความเสื่อมแห่งปัญญา อะไรจะชั่วร้ายกว่า ? ควรพิจราณา
ว่าความสื่อมทั้งหลายนั้น ความเสื่อมแห่งปัญญานั้นชั่วร้ายน่ากลัวที่สุด เพราะเหตุว่า
ความเสื่อมปัญญานั้นเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นเหตุทำให้
การประพฤติปฏิบัติผิด บางคนอาจไม่เห็นโทษเห็นภัยของความเสื่อมแห่งปัญญา ไม่
เห็นอันตราย ตามความเป็นจริงแล้ว ความเสื่อมญาติก็ดี ความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ก็
ดี เป็นแต่เพียงความเสื่อมในภพชาตินี้ที่เห็น ๆ กันอยู่เท่านั้น แต่ความเสื่ยมแห่ง
ปัญญานั้นจะเป็นเหตุปัจจัยให้ไปเกิดในทุคติภูมิ เกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจ-
ฉาน เป็นต้น อันจะเป็นเหตุตัดรอนไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริย-
สัจจธรรมได้ ในทางกลับกัน ถ้ากล่าวถึงความเจริญ ความเจริญด้วยปัญญา ย่อม
ประเสริฐที่สุด เลิศที่สุด ถ้าไม่ได้พิจารณาไม่ได้ไตร่ตรอง ก็อาจจะเข้าใจว่าความ
เจริญด้วยญาติ การเป็นผู้มีญาติมากย่อมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลมาก สามารถช่วยเหลือ
เกื้อกูลได้ในยามจำเป็น แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่ประเสริฐเลย เพราะญาติทั้งหลาย
ไม่สามารถติดตามไปเกื้อกูลในชาติต่อไปได้ แต่ปัญญาที่มี ที่อบรมเจริญในชีวิตประ-
จำวัน ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง
เรื่องทรัพย์สมบัตินั้นมีได้ก็ย่อมเสื่ยมไปได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ไม่อยู่
ในอำนาจบังคับบัญชาได้ แต่เมื่อเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผู้ไม่มีปัญญา
ย่อมรู้สึกเดือดร้อนมาก แต่ตราบใดที่ยังเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา ยังประเสริฐกว่าการมี
ทรัพย์สมบัติแต่ขาดปัญญาหรือเสื่อมจากปัญญา
ดังนั้น สิ่งที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตจริง ๆ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็น
ถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษา
พระธรรม ค่อย ๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๔๔
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติ มีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่
สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย
ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย ...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญา
ชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยโภคะ มี
ประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เธอ
ทั้งหลายพึงสำเหนียก(ศึกษา) อย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญปัญญา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน
ได้อนุโมทนาบุญกับผู้ใส่บาตรตามถนนหนทาง กรวดน้ำอุทิศบุญ
เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน
รักษาศีล อาราธนาศีล เจริญวิปัสสนา ได้ปฏิบัติธรรม
ได้ถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระธาตุ
ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ทุกวัน
และเจริญอาโปกสิน
ฟังธรรมศึกษาธรรม
ศึกษาการรักษาโรค
ทำบุญเลี้ยงพระทั้ง วัดซึ่งมีผู้มาร่วมงานเยอะมาก
เดินจงกรมนั่งสมาธิ สวดมนต์ ตั้งแต่เช้า
และสร้างบารมีครบทั้ง 10 อย่าง ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
ขอเชิญซ่อมแซมปิดทองพระประธาน(คู่)ในโบสถ์และสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
089-031-8708
ขอให้สรรพสัตว์ทั้ง 31 ภพภูมิจงบรรลุมรรคผลนิพพานเทอญ