พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 18 พ.ค. 2010 9:55 am
แต่ละคน คิดไม่เหมือนกันเลย ตามเหตุ ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา
เช่น เห็นดอกไม้ท่านหนึ่งพอใจว่าสวย.... อีกท่านหนึ่งว่าไม่สวย
ฉะนั้น สวยหรือไม่สวย จึงเป็นความคิดของแต่ละคน.
โลกที่แท้จริง จึงเป็น "โลกของความคิด" ของแต่ละบุคคล
เมื่อสติ-ระลึก-รู้-ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม จริงๆ
ก็จะรู้ชัดว่า ขณะนั้น เป็นนามธรรม ที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ เท่านั้น
ไม่ว่าจะคิดอะไร ก็ตาม.
เมื่อ รู้ "ลักษณะ" ของนามธรรมที่ "คิด"
ก็รู้ว่า เรื่องราวที่เป็นคน สัตว์ต่างๆ ไม่มีจริงๆ
ขณะที่เป็นทุกข์ กังวลใจ....ก็รู้ว่า ทุกข์เพราะความคิด
ขณะที่เป็นสุข...ก็โดยนัยเดียวกัน
ขณะที่ดูโทรทัศน์เรื่องที่ชอบใจ...ก็เป็นสุข เพราะคิดตามภาพที่เห็น.
ฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม..........
ก็ อยู่ใน "โลกของความคิด" นั่นเอง.
โลกแต่ละขณะ
จึงเป็นนามธรรม-ที่เกิดขึ้น-รู้อารมณ์-ที่ปรากฏ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย.......
แล้วก็ "คิดนึก"ต่อ ทางใจ เป็นเรื่องราวต่าง ๆ
เท่านั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 177
ข้อความบางตอนจาก...
ขัคควิสาณสูตร
พระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์หนึ่ง เสร็จเข้าที่บรรทมในกลางวัน
ในคิมหสมัย และในพระราชสำนักของพระองค์ นางวรรณทาสีกำลังบด
จันทร์เหลืองอยู่ ในแขนข้างหนึ่งของนาง มีกำไลทองหนึ่งวง ในแขนอีกข้าง
หนึ่ง มีกำไลทองสองวง กระทบกัน กำไลทองหนึ่งวงนอกนี้ไม่กระทบ
พระราชาทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงทรงแลดูนางทาสีบ่อย ๆ พลางทรงพระราช-
ดำริว่า ในการอยู่เป็นหมู่ย่อมมีการกระทบกัน ในการอยู่คนเดียว ย่อมไม่มี
การกระทบ เหมือนอย่างนั้นแล.
โดยสมัยนั้น พระเทวีผู้ทรงประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อม
สรรพ์ ประทับยืนถวายงานพัดอยู่ พระนางทรงดำริว่า พระราชาชะรอยจะมี
พระหทัยปฏิพัทธ์ในนางวรรณทาสี ทรงให้นางทาสีนั้นลุกออกไป ทรงปรารภ
เพื่อจะทรงบดด้วยพระองค์เอง ในพระพาหาทั้งสองข้างของพระนางมีกำไลทอง
หลายวงกระทบกันเกิดเสียงดังมาก พระราชาทรงเอือมระอายิ่งขึ้น ทั้งที่บรรทม
ด้วยปรัศว์เบื้องขวา ทรงปรารภวิปัสสนา ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระปัจเจกโพธิญาณ.
พระเทวีทรงถือจันทน์ เสด็จเข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น ซึ่งบรรทม
เป็นสุข ด้วยความสุขอันยอดเยี่ยม ทูลว่า มหาราช หม่อมฉันจะไล้ทา
พระราชตรัสว่า ออกไป อย่าไล้ทา พระนางทูลว่า อะไร มหาราช ! พระราชา
ตรัสว่า เราไม่ใช่ราชา. อำมาตย์ทั้งหลายฟังการสนทนานั้น ของพระราชา
และพระเทวีนั้น อย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า พระราชาผู้อันอำมาตย์เหล่านั้น
ทูลเรียกด้วยวาทะว่า มหาราช จึงตรัสว่า แน่ะพนาย เราไม่ใช่ราชา. บทที่
เหลือเป็นเช่นกับ คำที่กล่าวแล้ว ในคาถาต้นนั้นแล. ส่วนคาถาวัณณนามี ดังนี้ว่า
บุคคลแลดูกำไลทองสองอันงามผุด-
ผ่องที่บุตรแห่งนายช่างทองให้สำเร็จด้วยดี
แล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา ได้แก่แลดูแล้ว. บทว่า สุวณฺณสฺส
ได้แก่ ทองคำ. บาลีที่เหลือว่า วลฺยานิ เป็นคำที่นำมาเพิ่มเข้า เพราะอรรถ
ของคำที่เหลือ มีเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า ปภสฺสรานิ ได้แก่
อันแพรวพราวเป็นปกติ อธิบายว่า มีแสงรุ่งเรือง. บทที่เหลือเป็นบทมีอรรถ
ตื้นทั้งนั้น.
ส่วนโยชนาดังนี้ว่า เราแลดูกำไรทองกระทบกันอยู่ในข้อมือ จึงคิดว่า
เมื่อมีการอยู่เป็นหมู่ ย่อมมีการกระทบกัน เมื่อมีการอยู่คนเดียว หากระทบ
กันไม่ จึงปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุแล้ว. บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕
เรื่องพระอุทายี
[๔๒๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกะคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอุทายีเป็นพระกุลุปกะในพระนคร
สาวัตถี เข้าไปสู่สกุลเป็นอันมาก ที่ตนเห็นว่ามีเด็กชายหนุ่มน้อยยังไม่มีภรรยาหรือเด็กหญิงสาว
น้อยยังไม่มีสามี ย่อมพรรณนาคุณสมบัติของเด็กหญิงสาวน้อยในสำนักมารดาบิดาของเด็ก-
*ชายหนุ่มน้อยว่า เด็กหญิงสาวน้อยของสกุลโน้น มีรูปงาม น่าดู น่าชม คมคาย มีแววฉลาด มี
ไหวพริบดี ขยัน ไม่เกียจคร้าน เด็กหญิงสาวน้อยนั้นสมควรแก่เด็กชายหนุ่มน้อยนี้ มารดาบิดา
ของเด็กชายหนุ่มน้อยกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า คนเหล่านั้นไม่รู้จักพวกข้าพเจ้าว่า เป็นใคร
หรือเป็นพรรคพวกของใคร ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้ากรุณาพูดทาบทามให้ พวกข้าพเจ้าจะสู่ขอ
เด็กหญิงสาวน้อยนั้นมาให้แก่เด็กชายหนุ่มน้อยนี้ และพรรณนาคุณสมบัติของเด็กชายหนุ่มน้อย
ในสำนักมารดาบิดาของเด็กหญิงสาวน้อยว่า เด็กชายหนุ่มน้อยของสกุลโน้น มีรูปงาม น่าดู
น่าชม คมคาย มีแววฉลาด มีไหวพริบดี ขยัน ไม่เกียจคร้าน เด็กชายหนุ่มน้อยนั้นสมควร
แก่เด็กหญิงสาวน้อยนี้ มารดาบิดาของเด็กหญิงสาวน้อยก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า คนเหล่านั้น
ไม่รู้จักพวกข้าพเจ้าว่า เป็นใครหรือเป็นพรรคพวกของใคร ฝ่ายหญิงจะพูดขึ้น ดูๆ ก็ยากอยู่ ท่าน
เจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้ากรุณาช่วยพูดให้เขามาสู่ขอ พวกข้าพเจ้าจะยอมยกเด็กหญิงสาวน้อยนี้แก่
เด็กชายหนุ่มน้อยนั้น โดยอุบายนี้แล ท่านพระอุทายีให้มารดาบิดาของเจ้าหนุ่มเจ้าสาวทำอาวาท-
*มงคลบ้าง วิวาหมงคลบ้าง พูดให้สู่ขอกันบ้าง
[๔๒๒] สมัยต่อมา ธิดาของสตรีหม้ายคนหนึ่ง มีรูปงาม น่าดู น่าชม พวกสาวกของ
อาชีวกชาวบ้านอื่น มาพูดกะสตรีหม้ายนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่แม่ ขอแม่จงกรุณายกเด็กหญิงสาวน้อย
นี้ให้แก่เด็กชายหนุ่มน้อยของพวกข้าเจ้าเถิด
สตรีหม้ายนั้นตอบดังนี้ว่า คุณขา ดิฉันไม่ทราบว่า พวกคุณเป็นใคร หรือเป็นพรรคพวก
ของใคร อนึ่งเล่า เด็กหญิงสาวน้อยนี้ ก็เป็นธิดาคนเดียวของดิฉัน และจะต้องไปอยู่บ้านอื่น
ดิฉันจะยกให้ไม่ได้
คนทั้งหลายซักถามสาวกของอาชีวกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายมาธุระอะไร
พวกสาวกของอาชีวกชี้แจงว่า พวกข้าพเจ้ามาขอธิดาของหญิงหม้ายชื่อโน้น ในตำบล
บ้านนี้ให้เด็กชายหนุ่มน้อยของพวกข้าพเจ้า นางตอบอย่างนี้ว่า คุณขา ดิฉันไม่ทราบว่า พวกคุณ
เป็นใคร หรือเป็นพรรคพวกของใคร อนึ่งเล่า เด็กหญิงสาวน้อยนี้ก็เป็นธิดาคนเดียวของดิฉัน
และจะต้องไปอยู่บ้านอื่น ดิฉันจะยกให้ไม่ได้
คนพวกนั้นแนะนำว่า พวกคุณไปขอธิดาต่อหญิงหม้ายนั้นทำไม ไปพูดกะท่านพระอุทายี
มิดีหรือ ท่านพระอุทายีจักช่วยพูดให้เขายกให้เอง
จึงพวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระอุทายี ครั้นแล้วได้เรียนท่านพระอุทายีว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้า พวกข้าพเจ้าขอธิดาหญิงหม้ายชื่อโน้น ในบ้านนี้ให้แก่เด็กชายหนุ่มน้อยของพวก
ข้าพเจ้า นางตอบอย่างนี้ว่า คุณขา ดิฉัน ไม่ทราบว่า พวกคุณเป็นใคร หรือเป็นพรรคพวก
ของใคร อนึ่งเล่า เด็กหญิงสาวน้อยนี้ก็เป็นธิดาคนเดียวของดิฉัน และจะต้องไปอยู่บ้านอื่น
ดิฉันจะยกให้ไม่ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าได้โปรดช่วยพูดให้หญิงหม้ายนั้น ยอมยกธิดา
ให้แก่เด็กชาย หนุ่มน้อยของพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระอุทายีเข้าไปหาสตรีหม้ายนั้น ครั้นแล้วได้ถามสตรีหม้ายนั้นว่า ทำไม
เธอจึงไม่ยอมยกธิดาให้แก่คนเหล่านั้นเล่า
สตรีหม้ายนั้นตอบว่า เพราะดิฉันไม่ทราบว่าคนเหล่านี้เป็นใคร หรือเป็นพรรคพวกของใคร
อนึ่งเล่า เด็กสาวน้อยนี้ก็เป็นธิดาคนเดียวของดิฉัน และจะต้องไปอยู่บ้านอื่น ดิฉันจึงไม่
ยอมยกให้ เจ้าค่ะ
อุ. จงให้แก่คนเหล่านี้เถิด คนเหล่านี้ฉันรู้จัก
ส. ถ้าพระคุณเจ้ารู้จัก ดิฉันยอมยกให้เจ้าค่ะ
จึงสตรีหม้ายนั้นได้ยกธิดาให้แก่สาวกของอาชีวกเหล่านั้น ครั้นพวกสาวกของอาชีวก
เหล่านั้นนำเด็กหญิงสาวน้อยนั้นไปแล้ว ได้เลี้ยงดูอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นก็
เลี้ยงดูอย่างทาสี
สาวน้อยร้องทุกข์
[๔๒๓] ต่อมา สาวน้อยนั้นส่งทูตไปในสำนักมารดาว่า ดิฉันตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้รับ
ความสุข พวกสาวกของอาชีวกได้เลี้ยงดูดิฉันอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาก็
เลี้ยงดูอย่างทาสี ขอให้คุณแม่ดิฉันมารับดิฉันไป
พอทราบข่าว สตรีหม้ายนั้นจึงเข้าไปหาพวกสาวกของอาชีวก ครั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า
ท่านทั้งหลายโปรดอย่าเลี้ยงดูสาวน้อยนี้อย่างทาสี โปรดเลี้ยงดูอย่างสะใภ้เถิดเจ้าค่ะ
สาวกของอาชีวกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่ได้รับรอง และตกลงไว้กับท่าน
พวกเรารับรอง และตกลงไว้กับสมณะต่างหาก ท่านจงไป เราไม่รู้จักท่าน
ครั้นสตรีหม้ายนั้นถูกพวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นรุกรานแล้ว ได้กลับมายังพระนคร
สาวัตถีตามเดิม
แม้ครั้งที่สอง สาวน้อยนั้นก็ได้ส่งทูตไปในสำนักมารดาว่า ดิฉันตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้
รับความสุข พวกสาวกของอาชีวกได้เลี้ยงดูดิฉันอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นมา
ก็เลี้ยงดูอย่างทาสี ขอให้คุณแม่ดิฉันมารับดิฉันไป
จึงสตรีหม้ายนั้นเข้าไปหาท่านพระอุทายี ครั้นแล้วได้เรียนท่านพระอุทายีว่า ข้าแต่พระ-
*คุณเจ้า ข่าวว่า ลูกสาวของดิฉัน ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้รับความสุข พวกสาวกของอาชีวกได้
เลี้ยงดูนางอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาก็เลี้ยงดูอย่างทาสี พระคุณเจ้าควรพูดขอร้อง
ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายโปรดอย่าได้เลี้ยงดูสาวน้อยนี้อย่างทาสี โปรดเลี้ยงดู
อย่างสะใภ้เถิด
ดั่งนั้น ท่านพระอุทายีจึงเข้าไปหาสาวกของอาชีวกเหล่านั้น ครั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายโปรดอย่าได้เลี้ยงดูสาวน้อยนี้อย่างทาสี โปรดเลี้ยงดูอย่าง
สะใภ้เถิด
พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้รับรอง และตกลงไว้กับท่าน
เรารับรองและตกลงไว้กับหญิงหม้ายต่างหาก สมณะต้องเป็นผู้ไม่ขวนขวาย สมณะต้องเป็นสมณะ
ที่ดี เชิญท่านไปเถิด เราไม่รู้จักท่าน
ครั้นท่านพระอุทายีถูกพวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นรุกรานแล้ว ได้กลับมายังพระนคร
สาวัตถีตามเดิม
แม้ครั้งที่สาม สาวน้อยนั้นก็ได้ส่งทูตไปในสำนักมารดาว่า ดิฉันตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้
รับความสุข พวกสาวกของอาชีวกได้เลี้ยงดูดิฉันอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาก็
เลี้ยงดูอย่างทาสี ขอให้คุณแม่ดิฉันมารับดิฉันไป
แม้สตรีหม้ายนั้น ก็ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีเป็นครั้งที่สอง แล้วได้เรียนท่านพระอุทายี
ดังนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ข่าวว่า ลูกสาวของดิฉันตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้รับความสุข พวกสาวก
ของอาชีวกได้เลี้ยงดูนางอย่างสะใภ้ชั่วเดือนเดียวเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาก็เลี้ยงดูอย่างทาสี พระคุณ-
*เจ้าควรพูดขอร้องว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายโปรดอย่าได้เลี้ยงดูสาวน้อยนี้อย่างทาสี
โปรดเลี้ยงดูอย่างสะใภ้เถิด
ท่านพระอุทายีกล่าวว่า ฉันถูกพวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นรุกรานมาครั้งหนึ่งแล้ว เชิญ
เธอไปเถิด ฉันไม่ไปละ ฯ
นินทาและสรรเสริญพระอุทายี
[๔๒๔] ครั้งนั้น สตรีหม้ายจึงเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ลูกสาวของเรา ตกทุกข์-
*ได้ยาก ไม่ได้รับความสุข เพราะแม่ผัวชั่ว พ่อผัวชั่ว และสามีชั่วฉันใด ขอให้ท่าน
พระอุทายีจงตกทุกข์ได้ยาก อย่าได้รับความสุขฉันนั้นเถิด แม้สาวน้อยนั้นก็เพ่งโทษติเตียน
โพนทะนาว่า เราตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้รับความสุข เพราะแม่ผัวชั่ว พ่อผัวชั่ว และสามีชั่วฉันใด
ขอให้ท่านพระอุทายีจงตกทุกข์ได้ยาก อย่าได้รับความสุข ฉันนั้นเถิด แม้สตรีเหล่าอื่น บรรดา
ที่ไม่พอใจด้วยแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี ต่างก็กล่าวแช่งชักอย่างนี้ว่า เราตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้
รับความสุข เพราะแม่ผัวชั่ว พ่อผัวชั่ว และสามีชั่ว ฉันใด ขอให้ท่านพระอุทายีจงตกทุกข์
ได้ยาก อย่าได้รับความสุข ฉันนั้นเถิด ส่วนสตรีบรรดาที่ยินดีด้วยแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี
ต่างก็อำนวยพรอย่างนี้ว่า เราสบาย สมบูรณ์ พูนสุข เพราะแม่ผัวดี พ่อผัวดี และสามีดี
ฉันใด ขอให้ท่านพระอุทายี จงสบาย สมบูรณ์ พูนสุข ฉันนั้นเถิด ฯ
[๔๒๕] ภิกษุทั้งหลายได้ยินสตรีบางพวกกล่าวแช่งชักอยู่ บางพวก อำนวยพรอยู่
บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขาบท ต่างก็เพ่งโทษ
ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายี จึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความ
นั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอถึงความเป็น
ผู้ชักสื่อจริงหรือ
ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อเล่า
ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็น
ไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนพวกที่เลื่อม-
*ใสแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายี โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ
เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักยาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ
คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่เหมาะสม การ
ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อ
ข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด
ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้:-
พระปฐมบัญญัติ
๙. ๕. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรี
ก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้
ก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ
ฉะนี้
เรื่องพระอุทายี จบ
เรื่องนักเลงหญิง
[๔๒๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกนักเลงหญิงหลายคนพากันไปเที่ยวรื่นเริงในสวน ได้ส่ง
ชายสื่อไปในสำนักหญิงแพศยาคนหนึ่งว่า ขอให้นางมา พวกเราจักพากันเที่ยวรื่นเริงในสวน
หญิงแพศยานั้นได้ตอบไปอย่างนี้ว่า ข้าแต่นาย ดิฉันไม่ทราบว่า พวกท่านเป็นใคร หรือเป็น
พรรคพวกของใคร อนึ่ง ดิฉันมีเครื่องแต่งกายมาก มีเครื่องประดับเรือนมาก และจะต้องไป
นอกเมือง ดิฉันไปไม่ได้ ครั้นแล้วชายสื่อนั้นได้แจ้งเรื่องนั้น แก่นักเลงหญิงเหล่านั้น
เมื่อชายสื่อแจ้งอย่างนั้นแล้ว บุรุษคนหนึ่งได้กล่าวกะนักเลงเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย
พวกท่านไปอ้อนวอนหญิงแพศยานั้นทำไม ควรบอกท่านพระอุทายีมิดีหรือ ท่านพระอุทายีจักส่ง
มาให้เอง
เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกคนหนึ่งได้กล่าวกะบุรุษผู้นั้นว่า คุณอย่าได้พูด
อย่างนั้น การกระทำเช่นนั้นไม่สมควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ท่านพระอุทายีจักไม่
ทำเช่นนั้น
เมื่ออุบาสกนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นักเลงหญิงเหล่านั้น ได้พนันกันว่า ท่านพระอุทายี
จักทำหรือไม่ทำ แล้วเข้าไปหาท่านพระอุทายีกล่าวดังนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พวกข้าพเจ้าพากัน
ไปเที่ยวรื่นเริงในสวนนี้ ได้ส่งชายสื่อไปในสำนักหญิงแพศยาชื่อโน้นว่า ขอให้นางมา พวกเรา
จักพากันเที่ยวรื่นเริงในสวน นางตอบอย่างนี้ว่า ข้าแต่นาย ดิฉันไม่ทราบว่า ท่านทั้งหลายเป็น
ใคร หรือเป็นพรรคพวกของใคร อนึ่ง ดิฉันมีเครื่องแต่งกายมาก มีเครื่องประดับเรือนมาก
และจะต้องไปนอกเมือง ดิฉันไปไม่ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าได้โปรดส่งหญิงแพศยา
นั้นไปให้สำเร็จประโยชน์ด้วยเถิด ขอรับ
ลำดับนั้น ท่านพระอุทายีเข้าไปหาหญิงแพศยานั้น ครั้นแล้วได้ถามหญิงแพศยานั้นดังนี้
ว่า ทำไมเธอจึงไม่ไปหาคนเหล่านี้เล่า?
หญิงแพศยานั้นตอบว่า ดิฉันไม่ทราบว่า คนเหล่านี้เป็นใคร หรือเป็นพรรคพวกของใคร
อนึ่ง ดิฉันมีเครื่องแต่งตัวมาก มีเครื่องประดับเรือนมาก และจะต้องไปนอกเมือง ดิฉันไปไม่ได้
เจ้าค่ะ
อุ. จงไปหาคนเหล่านี้เถิด คนเหล่านี้ฉันรู้จัก
ญ. ถ้าพระคุณเจ้ารู้จัก ดิฉันจะไป เจ้าค่ะ
ครั้งนั้น นักเลงหญิงเหล่านั้น ได้พาหญิงแพศยานั้นไปเที่ยวสวน จึงอุบาสกนั้นเพ่ง
โทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่ออันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่ง
เล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกนั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ
มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขาต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายี
จึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่ออันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติอนุบัญญัติ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอถึงความเป็น
ผู้ชักสื่ออันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่ง จริงหรือ?
ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ
อันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำ
ของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น
ของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายีโดยอเนกปริยายแล้ว
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่
สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคน
บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่
สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม
แก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ
ประโยชน์ ๑๐ ประการ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้:
พระอนุบัญญัติ
๙. ๕. ก. อนึ่ง ภิกษุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรี
ก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้
ก็ตาม โดยที่สุด บอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส ฯ
เรื่องนักเลงหญิง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๒๗] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด
เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็น
ผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้ ชื่อว่า
ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
คำว่า ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ ความว่า ถูกสตรีวานไปในสำนักบุรุษ หรือถูกบุรุษวานไป
ในสำนักสตรี
คำว่า บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของชายแก่
หญิงก็ดี
คำว่า บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของหญิงแก่
ชายก็ดี
คำว่า ในความเป็นเมียก็ตาม คือ บอกว่า เธอจักเป็นเมีย
คำว่า ในความเป็นชู้ก็ตาม คือ บอกว่า เธอจักเป็นชู้
คำว่า โดยที่สุด บอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ คือ บอกว่า
เธอจักเป็นภรรยาชั่วคราว
บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัส
เรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือ เป็นชื่อของอาบัตินิกายนั้นแล
แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.
บทภาชนีย์ มาติกา
สตรี ๑๐ จำพวก
[๔๒๘] สตรี ๑๐ จำพวก คือ สตรีมีมารดาปกครอง ๑ สตรีมีบิดาปกครอง ๑ สตรี
มีมารดาบิดาปกครอง ๑ สตรีมีพี่น้องชายปกครอง ๑ สตรีมีพี่น้องหญิงปกครอง ๑ สตรี
มีญาติปกครอง ๑ สตรีมีโคตรปกครอง ๑ สตรีมีธรรมคุ้มครอง ๑ สตรีมีคู่หมั้น ๑ สตรีมี
กฏหมายคุ้มครอง ๑ ฯ
ภรรยา ๑๐ จำพวก
[๔๒๙] ภรรยา ๑๐ จำพวก คือ ภรรยาสินไถ่ ๑ ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ ๑
ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ ๑ ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า ๑ ภรรยาที่สมรส ๑ ภรรยาที่ถูกปลง
เทริด ๑ ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา ๑ ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา ๑
ภรรยาเชลย ๑ ภรรยาชั่วคราว ๑ ฯ
มาติกาวิภังค์
[๔๓๐] สตรีที่ชื่อว่า มีมารดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มารดาคอยระวัง ควบคุม ห้าม
ปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีบิดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีบิดา คอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม
ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีมารดาบิดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีมารดาบิดา คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีพี่น้องชายปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีพี่น้องชาย คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีพี่น้องหญิงปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีพี่น้องหญิง คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีญาติปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีญาติคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่
ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีโคตรปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีบุคคลร่วมสกุลคอยระวัง ควบคุม ห้าม
ปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีธรรมคุ้มครอง ได้แก่ สตรีที่มีสหธรรมมิกทั้งหลาย คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
สตรีที่ชื่อว่า มีคู่หมั้น ได้แก่ สตรีที่มีผู้หมั้นไว้แต่ในครรภ์ โดยที่สุด แม้สตรีที่ถูก
บุรุษสวมด้วยพวงดอกไม้ ด้วยมั่นหมายว่า สตรีคนนี้เป็นของเรา
สตรีที่ชื่อว่า มีกฏหมายคุ้มครอง ได้แก่ สตรีที่มีพระราชาบางองค์ ทรงกำหนดอาชญา
ไว้ว่า บุรุษใดถึงสตรีผู้มีชื่อนี้ ต้องได้รับอาชญาเท่านี้
[๔๓๑] ภรรยาที่ชื่อว่า สินไถ่ ได้แก่ สตรีที่บุรุษช่วยมาด้วยทรัพย์แล้วให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่ด้วยความเต็มใจ ได้แก่ สตรีที่บุรุษคู่รัก ให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่เพราะสมบัติ ได้แก่ สตรีที่บุรุษยกสมบัติให้ แล้วให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่เพราะผ้า ได้แก่ สตรีที่บุรุษมอบผ้าให้แล้ว ให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า สมรส ได้แก่ สตรีที่บุรุษจับต้องภาชนะน้ำด้วยกัน แล้วให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า ถูกปลงเทริด ได้แก่ สตรีที่บุรุษปลงเทริดลง แล้วให้อยู่ร่วม
ภรรยาที่ชื่อว่า เป็นคนใช้ ได้แก่ สตรีที่เป็นทั้งคนรับใช้ เป็นทั้งภรรยา
ภรรยาที่ชื่อว่า เป็นลูกจ้าง ได้แก่ สตรีที่เป็นทั้งคนทำงาน เป็นทั้งภรรยา
ภรรยาที่ชื่อว่า เชลย ได้แก่ สตรีที่เรียกว่า ถูกนำมาเป็นเชลย
ภรรยาที่ชื่อว่า ภรรยาชั่วคราว ได้แก่ สตรีที่เรียกว่า เป็นภรรยาชั่วขณะ
เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน
อนุโมทนาบุญกับผู้ใส่บาตรตามถนนหนทาง กรวดน้ำอุทิศบุญ
เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน
รักษาศีล อาราธนาศีล เจริญวิปัสสนา ได้ปฏิบัติธรรม
ได้ถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระธาตุ
ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ทุกวัน
และเจริญอาโปกสิน
ฟังธรรมศึกษาธรรม
ศึกษาการรักษาโรค
และสร้างบารมีครบทั้ง 10 อย่าง ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
ขอเชิญสร้างพระสมเด็จองค์ปฐม
โทร. 089-1818-726
ขอให้สรรพสัตว์ทั้ง 31 ภพภูมิจงบรรลุมรรคผลนิพพานเทอญ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.