Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

"รู้จำ" คนละเรื่องกับ "รู้จริง"

พฤหัสฯ. 22 ก.ค. 2010 2:41 am

หลงยึดติดแต่กับ “ปริยัติ” คือ มีแต่ความ “รู้จำ” แต่ “ไม่รู้แจ้ง”

พระพุทธองค์ได้เคยตรัสเตือนพระสาวกเรื่องการหลงยึดติดแต่กับ “ปริยัติ” คือ การศึกษาพระไตรปิฎก พุทธพจน์ หรือพระธรรมวินัย โดยพระองค์ได้อุปมาเปรียบเทียบผู้ที่มีแต่ความรู้ความทรงจำในพระไตรปิฎก แต่ขาดการ"ปฏิบัติ"ผึกผนตนเอง จนเกิดผลแห่งธรรมปฏิบัติที่เรียกว่า “ปฏิเวธ” ว่าเป็นเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค ซึ่งไม่มีสิทธิดื่มน้ำนมโค (คือรสแห่งธรรม) ในขณะที่ผู้ปฏิบัติที่แม้จะสามารถจำปริยัติได้ไม่มากแต่ตั้งใจปฏิบัติจนเกิดผลขึ้นที่ใจ เป็นดังเจ้าของโคที่มีสิทธิดื่มกินน้ำนมโค

หลวงปู่พระมหาอมร เขมจิตฺโต ศิษย์อาวุโสท่านหนึ่งของหลวงปู่ชา สุภัทโท ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างน่าฟังว่า

"เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าติดตามหลวงพ่อชาเข้าไปบิณฑบาต พอไปถึงทางเลี้ยวซ้าย หลวงพ่อเดินชะลอเหมือนคอยจังหวะให้ข้าพเจ้าไปถึง พอเดินไปทัน ท่านเหลียวไปดูบ้านหลังหนึ่งซึ่งชำรุดเก่าคร่ำคร่า เป็นบ้านช่างไม้รับจ้างปลูกเรือน ข้าพเจ้ามองตามท่าน

ทันใดนั้นก็ได้ยินท่านพูดว่า "เอ...บ้านช่างไม้นี่เก่าชำรุดเสียจริงนะ"

ข้าพเจ้าจึงคล้อยเสริมตามขึ้นว่า "เป็นช่างไม้มีฝีมือ มีคนมาจ้างบ่อย คงจะยังไม่มีเวลาทำของตนเอง"

หลวงพ่อหันมามองข้าพเจ้าพร้อมกับพูดว่า "เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มัวแต่สอนเขา"

เอาเข้าแล้วไหมล่ะ เราเผลอไปตกหลุมพรางของท่านเข้า...ข้าพเจ้าได้ยินท่านพูด ถึงกับสะอึกรู้สึกกินใจถึงใจ ไม่นึกว่าจะโดนท่านสอนธรรมะแบบเคลื่อนที่อย่างนี้ แต่ก็ดีแล้ว ทำให้ได้ข้อคิดจากที่ท่านเตือนสติ

ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ เดินตามหลังท่านไป ใจก็หวนระลึกถึงเรื่องๆ หนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในหนังสือธรรมบทว่า

มีภิกษุ ๒ รูปเป็นเพื่อนกัน ออกบวชพร้อมกันตั้งใจบวชถวายชีวิตในพระศาสนา ได้อยู่ศึกษาข้อวัตรต่างๆ อันนักบวชจะพึงรู้พึงทำให้ถูกต้องตามแบบสมณะที่ดีพึงทำ อยู่จำพรรษาในสำนักอุปัชฌาย์ จนมีพรรษากาลพอสมควรที่จะปกครองตนเองได้แล้ว

รูปหนึ่งคิดว่า ตนมีอายุเข้าเขตวัยกลางคนแล้วยากที่ศึกษาปริยัติธรรมให้จบบริบูรณ์แบบได้ จึงได้ศึกษาแนวทางแห่งการปฏิบัติจนเป็นที่เข้าใจแล้ว กราบทูลลาพระพุทธองค์มุ่งสู่ป่าเพื่อปฏิบัติธรรม

อีกรูปหนึ่งคิดว่า ตนพอมีกำลังจะศึกษาปริยัติธรรมได้ จึงตั้งใจศึกษาจดจำพระสูตรต่างๆ จนครบพระไตรปิฏก เที่ยวบอกธรรมสอนธรรมในที่ต่างๆ จนมีลูกศิษย์นับเป็นจำนวนร้อยๆ เมื่อมีคนรู้จักมาก ลาภสักการะต่างๆ เกิดขึ้นเป็นผลพลอยได้ติดตามมามากขึ้นๆ ท่านก็พอใจ อิ่มใจ และภาคภูมิใจในความมีลาภสักการะ และลูกศิษย์ลูกหามากเช่นนั้น เมื่อนึกถึงกิตติศัพท์และเสียงเยินยอที่ตนได้รับ ก็ทำให้ท่านสบายใจ เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับสิ่งที่ตนได้รับ เมื่อได้เข้ามาบวชในพระศาสนา

ส่วนภิกษุที่เข้าไปอยู่ในป่า ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ พิจารณาธรรมะ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยงทนได้ยาก มิได้อยู่ในอำนาจของตน มีแล้วหาไม่ เกิดแล้วดับไป บางโอกาสก็สาธยายอาการ ๓๒ พิจารณาตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา ตั้งแต่ปลายผมลงไปจรดปลายเท้า แยกแยะออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ไปจนถึงเยื่อมันสมองในกระโหลกศีรษะ ให้เห็นเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ซึ่งมีอยู่ในกายตนและกายของคนอื่น เมื่อมันยังเคลื่อนไหวไปมาได้ก็ยังพอน่าดูน่าชม และพอสิ้นลมเมื่อไร ก็เป็นของไม่น่าปรารถนา ถึงแม้จะมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ ก็มีการเกิดดับอยู่เป็นประจำ ไม่จีรั่งยั่งยืน

วันคืนผ่านไป ท่านบำเพ็ญเพียรด้วยความบากบั่นไปเรื่อยๆ โดยอาศัยขันติธรรมเป็นที่ตั้ง ยึดเอาหลักศีลสมาธิ ปัญญา เป็นเส้นทางเดินจนความยึดมั่นถือมั่นจางคลายหายไปหมดสิ้น จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะอย่างสิ้นเชิง จนท่านเปลี่ยนภาวะจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล ในขั้นอรหันต์ขีณาสพไปแล้ว จึงนับว่าพระอรหันต์สาวกของพระพุทธองค์ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก ๑ รูป ท่านอยู่ในลักษณะสำรวมกาย วาจา ใจ พักผ่อนอิริยาบถ ดื่มรสแห่งวิมุตติสุขอยู่ในราวป่าเป็นเวลานานพอสมควรแก่สันติสุขที่เกิดขึ้นนั้นๆ

ได้มีภิกษุจำนวนหลายรูป และหลายครั้ง ได้ทูลลาพระพุทธองค์ มุ่งหน้าสู่ป่า อันเป็นสำนักพระขีณาสพเถระ เข้าฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ในโอวาท ไม่ประมาท มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอย ถือเอาข้อวัตรปฏิบัติที่พระอาจารย์ดำเนินมาเป็นแนวทาง เดินตามบาทแห่งพระอรหันต์ ไม่นานวันท่านเหล่านั้นก็ได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม กลายเป็นพระอรหันต์ไปหมดทุกรูป

เมื่อสาวกเหล่านั้น ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ดังที่ตนตั้งปณิธาน จึงกราบพระเถระผู้เฒ่าซึ่งเป็นอาจารย์คืนสู่เชตวัน พระเถระได้แนะนำวิธีการเข้ากราบบังคมทูลพระศาสดา และการเข้านมัสการพระเถระผู้ใหญ่ ให้ไปนมัสการพระเถระผู้สหายของพระอาจารย์

นับเป็นเวลาหลายครั้ง ที่พระเถระเจ้าถิ่น ผู้หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นพหูสูต ลำพองใจในความมีลาภสักการะ สรรเสริญ สุข อยู่ในท่ามกลางสานุศิษย์นับเป็นจำนวนร้อยๆ จิตใจของท่านนับวันแต่จะพองขึ้น ด้วยอำนาจแห่งทิฐิมานะที่พอกเอาไว้ประดุจดังลูกโป่งที่อัดด้วยลม

พอมีพระภิกษุที่มาจากป่ามากราบนมัสการและเรียนท่านว่า

"พระอาจารย์ของพวกผมขอฝากนมัสการใต้เท้าขอรับ"


"ใครกันนะ...ที่เป็นอาจารย์ของพวกคุณ" พระเถระถามด้วยท่าทางผึ่งผาย


"พระอาจารย์ที่เป็นสหายคู่นาคของใต้เท้า...ขอรับ" พระสาวกเหล่านั้นตอบ

"ก็อะไรกันเล่า...ที่พวกคุณได้เรียนจากภิกษุรูปนั้น ธรรมะบทหนึ่ง หมวดหนึ่ง หรือว่าปิฎกไหนบ้าง ในพระไตรปิฎก" พระเถระถามเป็นเชิงข่มด้วยภูมิปริยัติ และท่านได้คิดเลยเถิดไปอีกว่า "เพื่อนของเรา บวชพร้อมกัน อยู่ด้วยกันไม่กี่ปีก็หนีเข้าป่า ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมเหมือนเรา เห็นจะไม่รู้แม้แต่คาถาหนึ่งของธรรมะ ก็ยังอุตส่าห์มีลูกศิษย์หลายรูป เอาเถอะ...มาเยี่ยมเมื่อไรจะไล่ให้จนเสียที..."

ความเข้าใจของท่านผู้คงแก่เรียน ในสมัยพระพุทธกาลก็ยังมีถึงเพียงนี้ ไฉนเล่า ในสมัยปัจจุบัน จะไม่พึงเกิดมีขึ้นอีก นี่หรือ...คือความมืดในแสงสว่าง ท่านผู้รู้โปรดได้พิจารณาหาความเป็นจริงกันเถิด

ครั้นต่อมา ท่านพระเถรผู้ขีณาสพ จึงออกจากป่าเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ พอมาถึงวัดเชตวัน เก็บบาตรและบริขารอื่นไว้ในสำนักของพระเถระผู้สหาย ไปถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ที่อยู่ในเชตวัน เสร็จแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของพระเถระเจ้าถิ่น หลังจากได้ทำปฏิสันถาร ด้วยอาคันตุกะวัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเถระผู้เจ้าถิ่น ซึ่งนั่ง ณ อาสนะเสมอกัน ข้างๆ พระเถระที่มาจากป่า ขณะนั้นจึงคิดว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ถามปัญหาธรรมะ เพื่อเป็นการวัดภูมิดูให้รู้แน่ว่า ใครจะเด่นดังกว่าใครอยู่ในท่ามกลางสานุศิษย์ทั้งสองฝ่ายในวันนี้"

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระหฤทัยว่า "ภิกษุรูปนี้จะก้าวร้าวลูกของเรา ผู้ซึ่งมีคุณธรรมสูง เธอจะตกนรกเสียเปล่า" ด้วยทรงมีพระเมตตาต่อพระเถระ พระองค์จึงทรงทำเป็นดำเนินผ่านมา จนถึงที่สังฆสันนิบาตแห่งนั้น ทรงประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ยังมิทันที่พระเถระจะถามปัญหา พระองค์ก็ตรัสถามเสียเอง

ครั้งแรกก็ทรงถามปัญหาธรรม ในขั้นปฐมฌานกับพระเถระเจ้าถิ่น เมื่อท่านทูลตอบไม่ได้ จึงทรงตรัสถามในขั้นรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ เป็นลำดับขึ้นไป พระเถระก็ทูลตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว

พระพุทธองค์จึงทรงผินพระพักตร์ไปถามพระเถระผู้ขีณาสพ ที่มาจากป่า พระเถระก็ทูลตอบได้หมด จนเป็นที่พอพระทัย ที่นั้นพระองค์จึงทรงตรัสถามในขั้นโสดาปัตติมรรค พระเถระเจ้าถิ่นทูลตอบไม่ได้ ถามพระเถระผู้ขีณาสพทูลตอบได้

พระพุทธองค์จึงทรงประทานสาธุการว่า สาธุ...

พระองค์จึงทรงตรัสถามในเรื่องมรรคผลสูงขึ้นเป็นลำดับ พระเถระเจ้าถิ่นก็จนปัญญามิอาจสามารถกราบทูลตอบได้

ส่วนพระเถระผู้ขีณาสพทูลตอบได้ทุกข้อ

พระองค์ทรงพอพระทัย จึงทรงประทานสาธุการอีก ๓ ครั้ง สาธุ...สาธุ...สาธุ...บรรดาเหล่าเทพยาดาฟ้าดินจนถึงพรหมโลกรวมทั้งนาค ครุฑ คนธรรพ์ ได้ฟังพระสุรเสียงสาธุการของพระพุทธองค์ต่างก็ชื่นชมยินดี ได้เปล่งสาธุการดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วจักรวาล

บรรดาลูกศิษย์ของพระเถระเจ้าถิ่น พอได้ยินและได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น แทนที่จะอนุโมทนาสาธุการด้วยแต่กลับเข้าใจผิดด้วยอกุศลจิต จึงพากันซุบซิบนินทาว่า "อะไรกันนี่ พระพุทธองค์ทรงทำอย่างไรกัน แค่พระหลวงตาแก่อยู่ในป่าเพิ่งกลับมา ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมอะไร เพียงตอบปัญหาได้ ๔-๕ ข้อ ก็ประทานสาธุการเสียยกใหญ่ ส่วนอาจารย์ของพวกเราได้ศึกษาปริยัติธรรมมามาก จนจบพระไตรปิฎก เที่ยวสอนธรรม สวดธรรมมานาน จนมีลูกศิษย์ลูกหานับเป็นร้อยๆ คำน้อยหนึ่งที่พระองค์จะทรงสรรเสริญก็ไม่มี"

พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตอันเป็นอกุศลของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงตรัสเตือนด้วยพระเมตตาว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอนั้น เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค รักษาโคเพื่อผู้อื่น เพียงเพื่อค่าจ้างประจำวัน ส่วน (มะมะปุตโต) ลูกของพ่อ (ทรงหมายถึงพระเถระขีณาสพ) เป็นเช่นเดียวกับเจ้าของโค ย่อมมีสิทธิในตัวโค และได้ดื่มน้ำนมโคตามใจชอบ"

พระองค์ทรงตรัสเพิ่มเติมอีก พอสรุปได้ว่า

"ผู้ใดได้เรียนพระพุทธพจน์ที่มีประโยชน์ไว้มาก แล้วนำพระพุทธพจน์นั้นไปสั่งสอนผู้อื่น แม้จะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอมากก็ตาม เมื่อเขายังประมาทอยู่ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับสันติสุขที่แท้จริง

ส่วนผู้ใด ถึงจะไม่ได้เรียนพุทธพจน์มาก ไม่ได้สอนมาก แต่หากประพฤติปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้นจนรู้แจ้งชัด ละสนิมในใจ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมได้รับสันติสุขที่แท้จริง"


จากพระดำรัสที่ทรงตรัสสอนมานี้ พระพุทธองค์มุ่งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้เรียนรู้ธรรมแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผลขึ้นมา มิใช่ให้เรียนรู้ไว้เพียงเพื่ออวดอ้างหรือประดับบารมีตนเท่านั้น เพราะคุณธรรมจะไม่ปรากฏผลเท่าที่ควร เปรียบเหมือนคนเตรียมเดินทาง ได้ศึกษาหาเส้นทางจากแผนที่แล้วก็ต้องออกเดินทาง โดยอาศัยแผนที่นั้นเป็นหลัก มิใช่ว่าเรียนรู้แล้วนอนกอดแผนที่ หรือเอาแผนที่ออกอวดอ้างกันอยู่ไม่ยอมออกเดินทาง ประโยชน์ย่อมมีน้อยเต็มที

---------------------------------------------------------------------------------

แหล่งที่มา

www.luangpudu.com

Re: "รู้จำ" คนละเรื่องกับ "รู้จริง"

พฤหัสฯ. 22 ก.ค. 2010 9:03 am

สาธุ อนุโมทนาด้วยเจ้าค่ะ

Re: "รู้จำ" คนละเรื่องกับ "รู้จริง"

พฤหัสฯ. 22 ก.ค. 2010 12:04 pm

สาธุ สาธุ อนุโมทนาด้วยครับผม
เห็นด้วยอย่างยิ่ง การศึกษาในพระพุทธศาสนามีอยู่สามอย่าง ปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวส
ปริยัติเรียนเป็นแนวทางของการปฎิบัติ เมื่อปฏิบัติจนถึงจุดใดจุดหนึ่ง ปฎิเวสคือผลทางจิตก็จะเกิดขึ้น พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของผมท่านสอนมาอย่างนี้ครับ

สาธุ :pry:
ตอบกระทู้