พฤหัสฯ. 20 พ.ย. 2008 5:36 pm
- longnimit2.jpg (58.43 KiB) เปิดดู 1037 ครั้ง
เมื่อย้อนระลึกถึงคำสอนของหลวงปู่เกี่ยวกับสมถะ-วิปัสสนา ก็ไม่พบว่าท่านพูดแบ่งแยกให้เห็นเท่าใดนัก ประกอบกับเมื่อได้ยินได้ฟังคำสอนของหลวงปู่ชาว่า อย่าแยกให้ห่างกันนักเลย เรื่อง สมถะ วิปัสสนา
ทำให้เข้าใจได้ว่า สมถะ วิปัสสนา ในทางตำรับตำราท่านแยกเอาไว้ให้เห็นหน้าที่หรือบทบาทของสติในแต่ละขั้นแต่ละตอน แต่แท้จริงแล้ว พอถึงขั้นปฏิบัติหรือภาคสนามแล้ว เราไม่ควรไปแบ่งแยกมัน เพราะมันต้องควบคู่กันไป
เหมือนคนจะเดินทางไกล ก็จำเป็นต้องอาศัยการพักผ่อน รับประทานอาหาร แล้วก็อาศัยการเดินทาง เดินอย่างเดียวก็ไปไม่รอด พักผ่อน กินข้าว แล้วไม่เดิน ก็ไปไม่ถึง
ในทางปฏิบัติ เราต้องอาศัยความสงบเพื่อทำให้อะไร ๆ มันกระจ่างชัด ทำให้ความคิดนึกเป็นภาพ slow motion อยู่ในจิตเรา เพื่อให้สติเราทันมัน แล้วก็เพียรมองเห็นมันให้แจ้งในความเป็นก้อนอนิจจัง ก้อนทุกขัง ก้อนอนัตตา
ก้อนข้างนอกเป็นอย่างไร ก้อนสังขารร่างกายเราก็ไม่ต่างกัน
สมัยนี้ เขานิยมแบ่งแยกสมถะ วิปัสสนา กันมากเหลือเกิน เหมือนจะไม่ฟังคำเตือนของครูบาอาจารย์ เราจะสังเกตว่า ในทางตำราเขาแบ่งแยกเพื่อประโยชน์ในทางการศึกษา แต่ผู้ศึกษาไม่น้อยยึดติดตำรามากเกินไป จนบางครั้งคิดว่า ความรู้จำ เป็น ความรู้จริง เที่ยวค่อนขอดว่านั่นแนวพุทโธ ฯลฯ โอ๊ย แนวสมถะ พวกกดข่มกิเลส ต้องวิปัสสนาสิ จึงจะละกิเลสได้ แต่ขณะที่พูดก็มิได้ระลึกรู้ตัวว่ากำลังพูดด้วยความหลง (ดี) หรือไม่
มิน่าเล่า หลวงปู่จึงไม่สงเสริมให้ลูกศิษย์อ่านตำรับตำรามาก ท่านคงกลัวลูกศิษย์ไปติดตำรับตำราจนแยกไม่ออกว่าความรู้ที่มีอยู่นั้น เป็นความรู้จำ (ความรู้โดยสัญญา) หรือความรู้จริง (ความรู้จากการภาวนา ที่เรียกว่า ปัญญา)
ความรู้ใดที่มีอยู่ แต่ไม่ช่วยให้เราไม่กระเทือน เวลามีสิ่งมากระทบ นั่นแหล่ะ เขาเรียกว่าความรู้จำ เขาไม่ให้ความนับถือก็โกรธเขา เขานินทาว่าร้าย ก็อาฆาตเขา ได้รับอาหารอร่อย ๆ ได้เห็นรูปที่น่าเพลินใจ ก็หลงยินดีไป นั่นก็เรียกว่ากระเทือนเพราะสิ่งกระทบอีกเช่นกัน
หากหมั่นตรวจสอบตัวเองก็จะรู้ได้ว่า ความรู้ที่อยู่กับตัวเรานั้นเป็นความรู้จำซะส่วนมาก เมื่อรู้แล้ว จะได้ไม่หลงในความรู้จำว่าเป็นปัญญาอีก เพื่อจะได้บำเพ็ญเพียรสร้างปัญญาให้เกิดให้มี หรือให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ด้วยความไม่ประมาท
มีหลักอันหนึ่งที่ดีมาก จนอาจประยุกต์ไปใช้เป็นคำบบริกรรมภาวนา คือ
"ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เป็นอะไร" หลวงปู่ให้หลักว่า
จงปฏิบัติอย่างคนโง่ อย่าปฏิบัติอย่างคนรู้มากเพราะเราปฏิบัติเพื่อความว่าง (จากกิเลส จากความยึดมั่นต่าง ๆ) เพื่อความเบาสบาย ความปลอดโปร่ง ไม่ต้องแบก... แม้กระทั่งความดี