ธรรมดาแล้ว หากพระภิกษุสงฆ์ไปแสดงตัวว่าตนมีฤทธิ์เดช หรือรู้เห็นสิ่งที่คนอื่นยากจะรู้เห็นได้ ฯลฯ ก็อาจเข้าข่ายผิดวินัยข้อที่ว่า อวดอุตริมนุษธรรม
ตอนเข้าวัดสะแกและรู้จักหลวงปู่ใหม่ ๆ ก็สงสัยว่าทำไมหนอ เวลาหลวงปู่จะสงเคราะห์ใคร ทำไมต้องหาลูกศิษย์สักคนหนึ่งในที่นั้น มาเป็นทางผ่าน คือ มาเป็นตัวแทนขอบารมีหลวงปู่ทวด เพื่อสงเคราะห์คนป่วยบ้าง คนถูกคุณไสย์บ้าง ฯลฯ คิดอยู่ในใจบ่อยครั้งว่า ก็ทำไมหลวงปู่ไม่พูดบอกออกมาโดยตรงเลยล่ะ เพราะบางครั้งลูกศิษย์ก็มีสภาวะจิตที่ไม่แจ่มใสเท่าหลวงปู่ ดังครั้งหนึ่ง มีผู้ถูกของมาขอหลวงปู่สงเคราะห์ ท่านก็ให้ลูกศิษย์คนหนึ่งมานั่งสมาธิข้างหน้าท่านแล้วท่านก็บอกให้ขอบารมีหลวงปู่ทวด กำหนดจิตเอาไม้เท้าหลวงปู่ทวดจี้ลงไป ไล่ไปตามกระดูก ไล่จุดดำ ๆ ออกไปให้หมด สักครู่ท่านก็ถามลูกศิษย์คนนั้นว่า จุดดำหมดหรือยัง ลูกศิษย์บอกว่า หมดแล้วครับ
แต่หลวงปู่กลับบอกว่า เอ้า ดูใหม่ ขอบารมีหลวงปู่ทวดให้ตามเห็นไม่มีที่ปกปิด จากนั้น เขาจึงเห็นว่ามีจุดดำ ๆ หนีไปซ่อนด้านหลังกระดูก และหลังจากไล่จนสว่างไปทั้งร่างแล้ว หลวงปู่ก็ให้ขอบารมีหลวงปู่ทวดแผ่ให้กับวิญญาณและเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของเขา เป็นอันเสร็จ
คราวนั้น ทำให้ข้าพเจ้าสังเกตเอาเองว่า คำว่า "ถูกของ" นั้น คงต้องมีเรื่องของวิญญาณมากำกับด้วยกระมัง
มาบัดนี้ ข้าพเจ้าพอเข้าใจในกุศโลบายของหลวงปู่ที่จะสงเคราะห์คนโดยที่ท่านไม่เสียในเรื่องการรักษาข้อวินัย อีกทั้งยังเป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้ผู้ที่เป็นครูอาจารย์เกิดความหลงตัวว่าตนเป็นผู้วิเศษ แล้วไปยึดในลาภสักการะจากสิ่งเหล่านี้
ความละเอียดละออของหลวงปู่นั้นมีมากเหลือเกิน จะกินจะดื่ม จะประกอบการงานใด ๆ ท่านก็ฝึกให้เรามีสติ มีกิริยางดงามเรียบร้อย ไม่พูดไม่คุยให้เปลืองลมหายใจไปเปล่า ๆ
ใครมาหลอกถามถึงคุณวิเศษของหลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็จะว่าตัวท่านนั้นยังมืดอยู่เลย
นิสัยช่างสงสัยของข้าพเจ้า ก็อดคิดไม่ได้ว่า หลวงปู่มุสาฯ หรือเปล่า (นี่ ดูเอาเถิด ดวงจิตที่ชอบหาบาปใส่ตัวเอง เป็นอย่างนี้)
แต่ความรู้ที่เกิดในภายหลังก็คือ บุคคลที่จะมีจิตสว่างบริสุทธิ์โดยไร้มลทินใด ๆ ก็มีเพียงผู้ที่สำเร็จแล้ว คือ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น การที่หลวงปู่ว่ายังมืดนั้น จึงไม่ผิด (เพียงแต่จุดที่มืดของท่านนั้น อาจเป็นเพียงเศษธุลีเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับความสว่างในดวงจิตของท่าน)
ดังนั้นแล้ว จึงควรรักษาปฏิปทาอันดีงามนี้ไว้ ว่าผู้ปฏิบัติที่มุ่งละกิเลส จะต้องเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน การรู้เห็นภายในก็ให้เป็นเรื่องภายใน มิใช่สิ่งที่จะมาพูดอวดพูดคุย ไม่อย่างนั้นก็อาจ "ดีแตก" อย่างที่หลวงปู่เคยเตือนไว้หลายครั้งหลายหน เพราะมันอาจเป็นกับดักตัวโตสำหรับนักปฏิบัติ และไม่ควรลืมหลักที่ว่าการปฏิบัตินั้น เพื่อความไม่เป็นอะไรเลย คือ สุญญตา หรือ นิพพานนั่นเอง การมีการเป็นก็ให้เป็นเรื่องของสมมติที่คนเขาเรียกกันเฉย ๆ ปล่อยให้เป็นสภาวะธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ต้องมี "ตัวเรา" เข้าไปยึด เพราะ ที่ใดมี "ตัว" ที่นั้นย่อมมี "สังขาร" ที่ใดมี "สังขาร" ที่นั้นย่อมมี "ทุกข์"