พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องของสมาธินี่ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นสิ่งที่เราสามารถบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสมาธิย่อมมีเสื่อมมีเจริญ เหตุแห่งความเสื่อมของสมาธินั้นคือ ความประมาท ไม่ฝึกฝนให้ต่อเนื่องกัน หรือบางทีเราอาจจะทำผิดศีลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ในเมื่อเป็นเช่นนั้นสมาธิก็ย่อมเสื่อมได้ เพราะเรื่องของสมาธิเป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลกียวิสัย มีเสื่อมแล้วก็มีเจริญ
เช่นอย่างผู้ที่บำเพ็ญสมาธิได้สำเร็จฌานสมาบัติเหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้าประมาทขาดการสำรวมไปเกิดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะนั้นก็สามารถทำให้ฌานเสื่อมได้เหมือนกัน เช่นอย่างสามเณรที่ได้ฌานสมาบัติแล้ว เธอไปไหนมาไหนเธอก็เหาะไป ครูบาอาจารย์ก็เตือนว่า เณรอย่าประมาท เณรอย่าประมาท อันนี้ได้แก่เณรลูกศิษย์พระมหากัสสปะ เวลาท่านจะไปไหนท่านเข้าสมาธิ เข้าฌานสมาบัติ แล้วท่านก็อธิษฐานจิตเหาะไป อาจารย์ก็เตือนว่า อย่าประมาทนะเณร
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไปธุระท่านก็เหาะไป พอเหาะไปได้สักครึ่งทางพอดีสมาธิมันถอนออกมา ได้ยินเสียงสตรีร้องเพลงไปเกิดความกำหนัดยินดีในเสียงของสตรี กำหนดจิตเข้าฌานไม่ทัน ก็ตกลงมาจากกลางอากาศมาถึงดิน แต่ก็ไม่เป็นอันตรายเพราะว่ากำลังของฌานนั้นอุ้มเอาไว้ ที่นี้ในเมื่อมันเสื่อมอย่างนั้นแล้ว มันก็สามารถบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นมาได้
ผู้ที่ได้ฌานสมาบัติแล้วเสื่อมเพราะการทำผิด ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าในสมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วก็มาสู่แดนมนุษย์เป็นครั้งคราว อยู่มาภายหลังเผลอไปทำผิดกับพระราชินีของพระเจ้าแผ่นดินนครหนึ่ง สมาธิก็เสื่อม ฌานก็เสื่อม ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงทราบ ท่านก็ไม่ทรงเอาเรื่อง ท่านยกโทษให้ อโหสิกรรมให้ เมื่อได้รับการอภัยโทษแล้วท่านก็หนีมาบำเพ็ญสมาธิภาวนาอีก ก็สามารถได้สมาธิเข้าฌานสมาบัติเหาะไปอยู่ป่าหิมพานต์ได้
เพราะฉะนั้น สมาธิจะเสื่อมได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ หนึ่ง ความประมาท ไม่ปฏิบัติต่อเนื่องกัน คือไม่เป็น ภาวิตา อบรมมาก ๆ พหุลีกตา ทำให้มาก ๆ ให้คล่องตัว ให้ชำนิชำนาญ ก็เป็นทางเสื่อม เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญสมาธินี่จะต้อง ภาวิตา การอบรมให้มาก ๆ พหุลีกตา การทำให้คล่อง ให้ชำนิชำนาญ แม้ผู้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ภูมิจิตซึ่งเรียกว่าสมาธินี้ก็อ่อนกำลังลงได้ แต่ไม่ถึงขนาดที่เสื่อมสลายโดยไม่มีอะไรเหลือ ถ้าหากท่านผู้ที่เข้าฌานเข้าสมาธิได้คล่องตัวแต่ท่านไม่ฝึกฝนอบรม ท่านปล่อยตามบุญตามกรรม พลังของสมาธิหรือความชำนาญในการเข้าฌานให้คล่องแคล่วว่องไวนั้นมันก็เสื่อมลงเหมือนกัน
บางท่านอาจจะสงสัยว่าพระอรหันต์มีเสื่อมอยู่หรือ เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นเรื่องโลก ๆ ไม่ใช่เรื่องโลกุตระ แต่มันก็เป็นอุปกรณ์เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนุนส่งดวงจิตให้ดำเนินไปสู่ที่สุดคือพระนิพพาน อันนี้มันเป็นพลังที่เราจะสร้างขึ้นเท่านั้น ในเมื่อเราสร้างพลังพร้อมแล้ว บรรลุถึงพระนิพพานหมดกิเลสแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่มีความหมาย สิ่งที่พระอรหันต์ไม่เสื่อมก็คือความหมดกิเลส กิเลสที่ท่านทำให้บริสุทธิ์สะอาด จิตที่เคยมีกิเลสท่านชำระให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลส แม้ธุลีก็ไม่มีเหลืออยู่ในจิตของท่าน ความหมดกิเลสนั้นไม่รู้จักเสื่อม
เพราะฉะนั้น การตรัสรู้กับความเป็นพระอรหันต์มันคนละอย่าง เช่นอย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ ตรัสรู้เป็นโลกวิทูก็ดี ตรัสรู้จุตูปปาตญาณการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายก็ดี ตรัสรู้กิเลสอันเป็นเหตุเป็นพิษเป็นภัยที่ยังสัตว์ให้ข้องอยู่ในวัฏสงสารก็ดี อันนี้มันเป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เป็นฐานสร้างจิตให้มีพลังงานเพื่อที่จะได้ขจัดกิเลสที่มีอยู่ในจิตให้หมดไป แต่ในเมื่อกิเลสหมดสิ้นไปแล้ว ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมันก็ไม่มีความหมายสำหรับผู้ที่สำเร็จแล้ว นอกจากท่านจะเอาเป็นเครื่องมือเพื่ออบรมสั่งสอนคนอื่นให้ปฏิบัติตาม เพื่อจะได้ไปสู่มรรคผลนิพพานตามแนวทางของท่านเท่านั้นเอง แต่ความหมดกิเลสนั้นพระอรหันต์คือผู้ขจัดกิเลส ผู้ฆ่ากิเลส กิเลสน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในจิตในใจตัดขาดไปด้วยพลังของพระอรหัตมรรค เมื่อพระอรหัตมรรคตัดกิเลสให้ขาดสะบั้นไปแล้ว กิเลสนั้นก็ไม่ย้อนกลับมาทำให้ท่านเสื่อมอีก คือไม่กลับมาทำให้ท่านเป็นผู้มีกิเลสอีกนั้นเอง
.....................................................................................................................................................................................
ที่มา
http://www24.brinkster.com/thaniyo/phraputto0445_1.html