ที่พึ่งเป็น พึ่งตาย
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘
-----------------------------------------------------------------------------
ปัญญาทีแรกก็ได้ยินจากครูจากอาจารย์ เรียกว่า “สุตมยปัญญา”
เกิดอุบายต่าง ๆ ขึ้นมาจากการได้ยินได้ฟังคิดอ่านไตร่ตรอง หรือนำธรรมของท่านที่เทศน์แล้วสอนแล้ว เราได้ยินได้ฟังแล้วจากท่าน ไปคิดอ่านไตร่ตรองพินิจพิจารณา นี่ก็เป็น “จินตามยปัญญา” เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาไตร่ตรอง ปัญญาทั้งสองนี้เป็นกิ่งก้านของภาวนามยปัญญานั่นละ “ภาวนามยปัญญา” นั้นแลเป็นองค์แห่งปัญญาแท้
เบื้องต้นก็ล้มลุกคลุกคลานเสียก่อน ดังที่พูดตะกี้นี้ เมื่อบำเพ็ญไป ๆ สติก็ดีขึ้น ปัญญาก็เริ่มไหวตัว สมาธิมีความแน่นหนามั่นคง แต่ก่อนเคยได้ยินแต่อยู่ในตำรับตำราว่า สมาธิคือความตั้งมั่น สมาธิคือความมั่นคงของจิต ว่าไป ๆ นั้นเป็นชื่อของสมาธิซึ่งจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราผู้ปฏิบัติ แต่ยังไม่เกิดเพราะเรายังไม่ได้ทำ จะได้ยินแต่ชื่อได้เห็นแต่ชื่อในตำราเสียก่อน ทีนี้เอาชื่อในสมาธินี่แหละ คือความตั้งมั่น เราจะทำอย่างไรให้จิตตั้งมั่น ต้องภาวนาอย่างนั้น ๆ นี่บอกวิธีการ เช่น กำหนดพุทโธ ๆ หรือคำบริกรรมคำใดก็ตาม ยืนอยู่กับคำนั้น ๆ มีสติสตังตั้งไว้กับคำนั้น ๆ เป็นคำบริกรรม
จิตมีความเชื่องเข้ามาโดยลำดับ ๆ จนกลายเป็นความสงบเย็นลงไป เรียกว่าจิตรวมจิตสงบ พอสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไป จิตก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมา คือ “ความตั้งมั่นเป็นฐานของตัวเองมั่นคงขึ้นมา” ที่เราเคยได้ยินได้ฟังได้อ่านในตำราซึ่งมีแต่ชื่อนั้น กลับมาเป็นตัวของตัวขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมาที่ใจของเราแล้วทีนี้ นั่น
นี่ละถ้าพูดถึงว่าภาวนา “ภาวนามยปัญญา” หรือ “ภาวนามยสมาธิ” สมาธิสำเร็จขึ้นจากการภาวนาอย่างนี้ เราอย่าว่าแต่ ภาวนามยปัญญา ภาวนามยสมาธิก็เป็นได้ คือ “สมาธิ” สำเร็จด้วยการภาวนา นี่เวลาแปลออกตามศัพท์นะ ส่วนภาวนามยปัญญา “ปัญญา” เกิดขึ้นหรือว่าสำเร็จขึ้นมาจากการภาวนา “การอบรม การพิจารณาคลี่คลาย” แน่ะ สมาธิก็เหมือนกัน ภาวนามยสมาธิ สมาธินี้เกิดขึ้นสำเร็จขึ้นด้วยการภาวนา เช่น เราบริกรรมคำนั้นคำนี้เป็นต้น ที่นี่ก็เริ่มปรากฏขึ้นมา สมาธิเมื่อเราทำอยู่โดยสม่ำเสมอยังไงก็ไม่พ้น เพราะความสม่ำเสมอของสมาธิ “ความสงบของสมาธิ” เป็นสิ่งที่ดึงดูดจิตใจให้มีความเพียรแก่กล้าขึ้นโดยลำดับลำดา จะไม่ขี้เกียจ
คนมีสมาธิภายในจิตใจ อยู่ตามปกติใจก็มีความเยือกเย็น ไม่วุ่นวาย ไม่ส่ายแส่ ไม่หิวโหยโดดโน้นโดดนี้ กินไม่อิ่มก็คือเรื่องอารมณ์ของใจที่คิด คิดไม่อิ่มไม่พอ คิดเท่าไรยิ่งฟุ้งซ่านวุ่นวาย ยิ่งคิดวุ่นไปหมด นี่คือคิดด้วยอำนาจของกิเลส ทำให้เกิดความหิวโหยไปเรื่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกับว่าเสียตัวไปด้วยความคิด เป็นบ้าเป็นบอไปด้วยความคิด ถ้าไม่มีสติธรรมปัญญาธรรมเข้ายับยั้งเข้าห้าม เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยสติธรรม ปัญญาธรรม เข้าเป็นองค์ภาวนา และบังคับจิตให้อยู่ในคำบริกรรมบทใดบทหนึ่ง นี้ละเป็นการสร้างสมาธิขึ้นมา สร้างแบบนี้
พอสร้างขึ้นแบบนี้จนปรากฏเป็นความสงบขึ้นที่ใจของตนเองแล้ว ทีนี้ปัญญาเริ่มพินิจพิจารณา เพราะสมาธิคือความอิ่มตัวความอิ่มใจ ใจอิ่มตัวใจไม่หิวโหย อยากคิดโน้นอยากคิดนี้เหมือนแต่ก่อน เพราะใจมีธรรมเป็นเครื่องเสวย มีความสงบเย็นสบายอยู่ภายในจิต จากนั้นก็พาพิจารณาทางด้านปัญญา นี่ท่านว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา คือสมาธินั้นเป็นบาทเป็นฐาน เป็นเครื่องหนุนที่จะให้เกิดปัญญาได้เร็วผิดธรรมดาของผู้ไม่มีสมาธิเป็นไหน ๆ พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น ท่านว่าสมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาทำปัญญาให้เกิดขึ้นได้
แต่ไม่ใช่สมาธิเป็นปัญญานะ ผู้ได้สมาธิแล้วจะเป็นปัญญาขึ้นมาเองอย่างนั้นไม่ถูก ต้องพาให้ “ทำงาน” ปัญญาถึงจะเกิด เมื่อจิตไม่หิวโหยจิตมีความอิ่มตัว พาทำการทำงานอะไรย่อมยอมทำตาม ไม่ส่ายแส่เร่ร่อนเหมือนอย่างแต่ ก่อนที่กำลังหิวโหยด้วยอารมณ์แห่งกิเลสทั้งหลาย ใจมีความสงบเย็นแล้วย่อมพิจารณาในธรรมทั้งหลายได้ด้วยความสะดวก จากนั้นก็เห็นเหตุเห็นผลไปโดยลำดับลำดา เห็นตามความจริง (ไตรลักษณ์) ไม่ฝืนความจริงที่มีอยู่ทั้งหลายทั้งภายนอกภายใน นั่นละท่านเรียกว่าปัญญา
เห็นตามความจริง สิ่งที่จะปล่อย ปล่อยไปเรื่อย ๆ สิ่งที่จะบำเพ็ญให้มากขึ้นก็บำเพ็ญให้มีความมากขึ้น หรือแน่นหนามั่นคงขึ้นโดยลำดับลำดา นั่นท่านเรียกว่าปัญญาทำให้แจ้ง ภาวิตา พหุลีกตา หรือ ภาวิโต พหุลีกโต ทำอยู่เรื่อย ๆ ไม่หยุดไม่ถอย ทำให้มากเจริญให้มาก นั่น “ปัญญาก็เจริญให้มาก” ทีนี้เมื่อปัญญาได้ค่อย ๆ เข้าอกเข้าใจในแง่ต่าง ๆ แล้ว ย่อมจะค่อยปล่อยวางไปโดยลำดับลำดา นั่นละท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาอันนี้ละเป็นปัญญาที่รักษาตัวได้โดยไม่ต้องสงสัย ปัญญาในความจำมันเป็นสัญญา ไม่ใช่ปัญญาในความจริงที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติของตนเองมีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ท่านจึงเรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญานี้เกิดขึ้นเองคล้ายคลึงหรือเช่นเดียวกับปัญญาของพระพุทธเจ้าเกิด เวลาจะรู้จะเห็นสิ่งต่าง ๆ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราไม่ประมาทนะ นั้นเป็นเงื่อนเป็นโอวาท เป็นกิริยาอันหนึ่งที่เราจะยึดมาเป็นเครื่องมือ เพื่อถากเพื่อถาง เพื่อขุดเพื่อค้นลงไป ๆ แต่เวลาถากเวลาถางเราเป็นผู้ทำเอง เวลาขุดค้นลงไปเจอก็เราเป็นผู้เจอเอง
สรุปแล้วท่านว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา คือหมุนตัวเป็นเกลียวไปเลย ปัญญาประเภทนี้แหละเป็นปัญญาที่เข้มแข็ง เป็นปัญญาที่แน่ใจ เป็นปัญญาที่สนิทใจตายใจของตัวเองโดยลำดับลำดา จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ๆ ประทับตราลงไปเรื่อย ๆ ๆ
นี่ละพระสาวกทั้งหลายรู้อย่างนี้ รู้ทีแรกรู้ตามอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเสียก่อน ยังไม่เห็นด้วยตนเอง จึงเรียกว่า สาวโก ๆ แปลว่าผู้สดับผู้ฟัง ฟังแล้วนำมาคิดมาไตร่ตรอง นำมาขุดมาค้นจนกระทั่งเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราขุดค้นลงไปนั้น เช่น เห็นน้ำก็เห็นได้ชัด และเห็นอรรถเป็นธรรมเห็นอย่างไรบ้าง ก็เห็นด้วยปัญญาของตัวเอง ๆ ชัดเจนลงไป ๆ จนกระทั่งเห็นได้หมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ รู้ได้หมด ละได้หมดบรรดาสิ่งที่ควรละ บรรดาสิ่งที่ควรรู้รู้ได้หมดด้วย สนฺทิฏฺฐิโก ๆ นี่เรียกว่าเป็นสมบัติของเราแท้ ๆ
นี่ท่านเรียกว่าธรรมเกิด เกิดที่ใจ ปัญญาเกิดที่ใจ ปัญญาเกิดก็เพื่อทำลายกิเลสที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย กิเลสบรรลัยไปธรรมก็เกิด ธรรมแท้ก็เต็มหัวใจของเรานี้ รู้ที่ตรงนี้ ๆ นี่เรียกว่าธรรมเกิด เกิดที่ใจ เกิดจากภาคปฏิบัติ ทีนี้เป็นสมบัติของเราแท้แล้ว ไม่เสื่อมไม่สูญไม่อันตรธานหายไปไหน เมื่อถึงขั้นที่ควรอยู่ยงคงกระพัน หรือถึงขั้นที่คงเส้นคงวาแล้ว ไม่เปลี่ยนไม่แปลงไม่สูญหายไปไหน ไม่มีวันไม่มีคืน ไม่มีกาลสถานที่ ไม่มีเวล่ำเวลา เป็นหลักธรรมชาติอยู่อย่างนั้นตลอด ท่านจึงว่านิพพานเที่ยง อะไรเที่ยง นิพพานเที่ยง นิพพานคืออะไร ก็คือใจที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันแล้วอย่างสมบูรณ์ นั้นแลท่านเรียกว่านิพพานเที่ยง เอาตรงนั้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
_________________ ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน
|