รูปธรรม นามธรรม ช่วงที่ ๑ปัจจุบันมีการภาวนาทำสมาธิกันทั่วไป ไม่ว่าข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นิสิตนักศึกษา ซึ่ง
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
"หลังกึ่งพุทธกาล สำนักวิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด ผู้ที่จะเข้าไปศึกษาต้องมีวิจารณญาณว่า การสอนเป็นเพื่อการพัฒนาจิตหรือไม่"
ดังที่หลวงปู่เคยกล่าวไว้ว่า
"ทำแล้วโลภ โกรธ หลง ลดลงหรือไม่"เมื่อมีการตั้งสำนักเกิดขึ้นย่อมมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ ไว้ในแต่ละแห่ง หรือที่เราเรียกกันว่า "รูปแบบ" เช่น การนุ่งขาว ห่มขาว การกินมังสวิรัติ เป็นต้น หลวงปู่ท่านบอกว่า "ถ้าเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ดีทั้งนั้น" ท่านไม่ให้กล่าวร้ายป้ายสีเพราะท่านพูดว่า "คนดีไม่ตีใคร" บางครั้งมีผู้มาขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากหลวงปู่ดังนี้
ผู้ถาม "ถ้าจะมาปฏิบัติกับหลวงปู่ต้องเตรียมอะไรมาด้วยครับ"
หลวงปู่ "เตรียมใจ เตรียมจิต มาให้ดี"
ผู้ถาม "ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มขาวใช่ไหมครับ"
หลวงปู่ "แต่งอะไรมาก็ได้ไม่จำเป็น"
ผู้ถาม "แม้แต่ดอกไม้ ธูปเทียน"
หลวงปู่ "มีก็เอามา ไม่มีก็ไม่ต้อง เรากล่าวว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง เม ปูเชมิ นี่เราก็เอาชีวิตบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว"
ผู้ถาม "การกินมังสวิรัติ จำเป็นไหมครับ"
หลวงปู่ "เรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว คือ พระเทวทัตเคยขอพระพุทธเจ้า แต่ท่านไม่อนุญาต ดีชั่วอยู่ที่จิต ท่านกลัวลำบากญาติโยม"
รูปธรรม นามธรรม ช่วงที่ ๒ในการทำวัตรสวดมนต์ของพระจะมีการพิจารณาอาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และจีวรรวมอยู่ด้วย ที่เรียกว่า บทปฏิสังขาโย เพื่อไม่ให้พระคิดอยากได้ในสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เป็นเพียงเพื่อการประทังชีพในการบำเพ็ญคุณธรรมต่อไป ดังคำพูดของหลวงปู่ที่ว่า "อยู่ในโลกก็ต้องกิน"
หลวงปู่ "อาจารย์แด่ ท่านเคยบอกข้าตอนที่ไปนวดให้ท่านว่า เป็นพระต้องระวังนะคุณ ถ้าไม่ไหว้พระสวดมนต์ ตายไปต้องไปเกิดเป็นควายแก่ให้เขาใช้งาน ท่านเคยบอกด้วยนะว่า ควายแก่"
ผู้ถาม "การบิดเบือนพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า เขาว่าเป็นการทำลายศาสนา เหมือนกับตัดคอพระพุทธรูปทีละองค์"
หลวงปู่ "พระเทวทัตมีฤทธิ์ขนาดเหาะได้ ยังไปนรกเลย แล้วคนที่ยังเหาะไม่ได้ จะไปไหน"
ผู้ถาม "ลูกอธิษฐานไว้ว่าต้องถือศีลแปด แต่กลัวจะหิว เพราะไม่ได้กินข้าวเย็นครับ"
หลวงปู่ "เปลี่ยนจากข้อ ๓ เป็น อพรัมมะจริยา ก็ได้ นี่เป็นศีล ๕ แบบอุกฤษฏ์ ถือเป็นเพศพรหมจรรย์"
ผู้ถาม "เดี๋ยวนี้คนใจบาป ตัดเศียรพระพุทธรูปไปขายต่างประเทศ"
หลวงปู่ "อีกหน่อยศาสนาพุทธจะไปปรากฏในต่างแดน ตอนนี้ไปในส่วนของรูปธรรม ต่อไปจะปรากฏในส่วนของนามธรรม จะมีการปฏิบัติกันมากขึ้นกว่านี้"
ผู้ถาม "ทางรัสเซีย เขาว่ากันว่า ปฏิบัติเกินไปจากอเมริกาหลายสิบปี แต่เขาใช้ในด้านวินาศกรรมเพราะเรดาร์จับไม่ได้ ไม่บาปหรือครับ"
หลวงปู่ "ให้เขาทำไปเถิด อีกหน่อยเขาพลิกจิตได้ ก็ดีเอง"
ผู้ถาม "ทำไมต้องห้อยพระ ไม่ต้องใช้ได้ไหมครับ"
หลวงปู่ "กำลังใจของคนไม่เท่ากัน เรามีเวลาเผลอเพราะไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าจิตเป็นพระไม่ต้องใช้ก็ได้ หรือถ้าทำเป็นแล้วก็ไม่ต้อง"
ผู้ถาม "บารมีพระช่วยได้จริงหรือไม่"
หลวงปู่ "ถ้ากรรมไม่หนักพระช่วยได้ ถ้าหนักพระช่วยไม่ได้ ตอนตายถ้านึกถึงพระก็ยังไปสวรรค์"
ผู้ถาม "ทำอย่างไรจึงนึกถึงพระหรือความดีก่อนตาย"
หลวงปู่ "ต้องทำอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับทำไมต้องกินข้าวทุกวัน ถ้าไม่ทำบุญหรือทำ แต่บางทีนึกออกได้ยาก เช่นมีคนแถววัดสะแก ทำบาปกับปลาเอาไว้มาก ก่อนตายพอน้องเข้าไปบอกทางว่า พุทโธ แกกลับบอกว่าแกงส้มปลาเทโพอยู่ในครัว พอพี่เข้าไปบอกว่า อะระหัง แกกลับบอกว่า มีแต่กระชัง (ใส่ปลา) ทั้งนั้น"
พระชำรุด คนส่วนใหญ่มักจะไม่นิยมนำพระที่แตกหรือหักมาไว้ในบ้าน โดยเฉพาะพระที่ทำด้วยปูนมักแตกหักได้ง่าย ผู้เขียนเรียนถามหลวงปู่ถึงเหตุผล
หลวงปู่ "สมัยก่อนข้าเป็นฆราวาส ก็ห้อยพระหักเพราะเสียดายของ เมื่อก่อนเขาใช้ลวดถัก เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นเขาใช้กัน ไม่เห็นเป็นไร"
ผู้เขียน "แล้วความจริงเป็นอะไรหรือไม่ เพราะเคยฟังมาว่าแม้แต่พระสมเด็จวัดระฆังที่แตกหัก ยังนำชิ้นส่วนมาแกะเป็นองค์เล็กๆ ใช้กันได้"
หลวงปู่ "
พระที่ทำด้วยปูนหรือโลหะ ข้าอธิษฐานว่าเมื่อใดก็ตามที่ของที่ทำละลายเป็นน้ำ เมื่อนั้นจึงขอให้หมดอานุภาพ แล้วเมื่อไรจะละลายเป็นน้ำละแก"
ดังนั้น ถ้าพระของหลวงปู่หัก ไม่ต้องตกใจหรือเสียกำลังใจ เพราะคำตอบมีอยู่อย่างชัดเจน หลวงปู่เพียงแต่บอกว่า "ใครทำพระข้าหัก จะเสียใจไปตลอดชีวิต" ทั้งนี้เพื่อให้ทุกท่านมีความระมัดระวัง เนื่องจากของที่หักแล้วมักเกิดตำหนิ มองดูไม่สวยงามเท่าของที่สภาพสมบูรณ์
ผู้เขียน "การซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ที่คอหักหรือชำรุดนั้น มีอานิสงส์มากหรือน้อยกว่าการสร้างใหม่"
หลวงปู่ "ตามพระไตรปิฎกกล่าวว่า ซ่อมมีอานิสงส์มากกว่าการสร้างใหม่"