Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การปฏิบัติเพื่อเอาดีกับพระพุทธเจ้า

จันทร์ 22 ธ.ค. 2008 11:49 pm

เราปฏิญาณตนถึงพระองค์ท่าน พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แล้วคอยปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน คือพระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง คำสอนที่พระองค์ย้ำนักย้ำหนาก็คือ ให้มนุษย์สร้างความรัก ความเมตตาปรานีในกันและกัน

ปาณาติปาตา... สูเจ้าอย่าฆ่ากันนะ
อะทินนาทานา... สูเจ้าอย่าเบียดเบียนกันนะ
กาเมสุมิจฉาจารา... สูเจ้าอย่าข่มเหงน้ำใจกันนะ
มุสาวาทา... สูเจ้าอย่ารังแกกันนะ
สุราเมระยะมัชฌะปะมาทัฏฐานา... สูเจ้าอย่าอิจฉาตาร้อนกันนะ

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ สูเจ้าจงมีน้ำจิตน้ำใจ อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ปรารถนาให้ทุกชีวิตมีความสุขกาย สุขใจ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีสุข รักษาตนให้พ้นภัยทั้งปวงเถิด

นี่คือหลักที่จะเอาดีกับพระพุทธเจ้า ให้มีศีลห้า ใครปฏิบัติตามศีลห้าได้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยึดเอาคุณธรรมอันเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคมไว้ได้อย่างเต็มที่

คุณธรรมอันนี้ เป็นคุณธรรมป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน จึงเป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัยของสังคมและเป็นคุณธรรมตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม เมื่อวานนี้เราอาจได้ทำบาป ทำกรรม ที่วันนี้เรามีศีลห้าครบถ้วนบริบูรณ์ เราก็ได้ตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม บาปเก่ามีอยู่เท่าไรมันก็ยุติเพียงเท่านั้น ไม่เพิ่ม เพราะเราไม่ทำหรือเราไม่ละเมิดศีลห้า และศีลห้าข้อนี้แหละ จะเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม เรามีกิเลสอยู่ในใจ ถ้าเราจะใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์ อย่าให้ผิดศีลห้าข้อใดข้อหนึ่งเป็นใช้ได้

และศีลห้าข้อนี้แหละ เป็นคุณธรรมปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ผู้ที่จะเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ต้องมีศีลห้า ชั่วชีวิตที่เกิดมานี้เราแน่ใจไหมว่าเราเป็นมนุษย์สมบูรณ์ทุกกระเบียดนิ้ว

เรามีหลักให้ท่านพิจารณาตาม ดังนี้

ขณะใดที่ท่านมีใจโหดเหี้ยมโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและกฎหมายปกครองบ้านเมือง อยากฆ่าใครฆ่า อยากแกงใครแกง อยากเบียดเบียนข่มเหงรังแกใครก็ทำไปตามอำเภอใจของตัวเอง ในขณะนั้นใจของเราเป็น "สัตว์เดรัจฉาน" แต่ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ เพราะวิสัยของสัตว์เดรัจฉานนั้นทำอะไรโดยไม่มีขอบเขต เขาทำตามอำเภอใจของเขา ไม่ได้คำนึงว่าใครจะสุขจะทุกข์ ดังนั้น มนุษย์เราผู้มีความประพฤติเช่นนั้น กายของเขาเป็นมนุษย์ แต่ใจของเขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน

แต่ในขณะใดที่เขามีจิตใจเมตตา โอบเอื้ออารี นึกถึงอกเขาอกเรา ไม่เบียดเบียนรังแกใคร ในขณะนั้นกายของเขาเป็นมนุษย์และใจของเขาก็เป็น "มนุษย์" เช่นเดียวกัน เรียกว่า มนุสสะ มนุสโส มนุษย์ผู้มีใจสูงส่ง

ในขณะใดที่เขามีหิริโอตตัปปะ คือความละอายต่อบาป สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ในขณะนั้นใจของเขาเป็น "เทวดา" แต่ร่างกายเขาเป็นมนุษย์

ถ้าหากผู้ใดมานั่งสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ใจของเขาเป็น "พรหม" ผู้มีใจสว่างไสว แต่กายของเขาเป็นมนุษย์

ถ้าหากว่าในขณะใดที่เขามีใจเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ไม่เอาไหน ขี้เกียจศึกษาเล่าเรียน ประโยชน์ตนก็ไม่เอา ประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่เอาไหน ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความดี เป็นบุคคลผู้ทอดธุระเสียแล้ว ในขณะนั้นกายของเขาเป็นมนุษย์แต่ใจของเขาเป็น "เปรต" เปรตแปลว่า ผู้ละทิ้งซึ่งประโยชน์ทั้งปวง

นี่คือ "ความเป็น" ของเราในชั่วชีวิต นี่คือหลักที่เราจะพิจารณาตัวของตัวเองให้เรารู้ว่าช่วงไหนเราเป็นอะไร ดังนั้น ในเมื่อเรามีศีลห้าครบถ้วนบริบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง กายของเราจึงเป็นมนุษย์และใจก็เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์

และข้อต่อไป ศีลห้าเป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน ผู้มีศีลห้าบริสุทธิ์บริบูรณ์จึงได้ชื่อว่าเคารพทุกสิทธิ

สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ของคนอื่น สัตว์อื่น
สิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติ
สิทธิในคู่ครองและบุคคลต้องห้าม และสิทธิอื่น ๆ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีลห้าประการจึงเป็นยอดแห่งประชาธิปไตย คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นก็เป็นยอดแห่งประชาธิปไตย


ฐานิโย 7re1.jpg
ฐานิโย 7re1.jpg (32.78 KiB) เปิดดู 985 ครั้ง

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ตอบกระทู้