พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 04 ม.ค. 2009 2:09 am
การถามตอบปัญหาธรรม ระหว่างคณะศิษย์และผู้ศรัทธากับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รวบรวมไว้ในวาระต่าง ๆ ตอนที่ ๑
ถาม
เมื่อยังไม่ได้ทำสมาธิภาวนา นอนหลับแล้วไม่เคยฝัน แต่เมื่อฝึกหัดทำสมาธิภาวนาแล้ว นอนหลับแล้วมักจะฝัน เพราะเหตุใด
ตอบ
การภาวนาเป็นอุบายที่ทำให้จิตเกิดมีสมาธิ โดยปกติผู้ภาวนาจะบริกรรมภาวนาก็ตาม หรือพิจารณาอะไรก็ตาม หรือดูลมหายใจก็ตาม มันเป็นอุบายให้จิตเกิดมีสมาธิ วาระแรกของความเกิดมีสมาธิแห่งจิตนั้น คือการนอนหลับ เช่น อย่างเราภาวนาแล้วมันมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ แล้วก็เกิดเป็นความหลับขึ้นมา เมื่อหลับลงไปแล้วมันหลับไม่สนิท จิตกลับตื่นเป็นสมาธิอ่อน ๆ
ในเมื่อจิตมีสมาธิอ่อน จิตมีลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่นแล้วก็มีความรู้สึกว่ามีความสว่างเรือง ๆ จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก จึงเกิดนิมิตฝันขึ้นมา อันนี้มันเกิดสืบเนื่องมาจากการฝึกปฏิบัติสมาธิในขั้นต้น ๆ เพราะในตอนนี้สติสัมปชัญญะยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาวะที่เป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ได้ เพราะเมื่อหลับลงไปแล้วความรู้สึกลอย ๆ คว้าง ๆ ไป จะว่าหลับก็ไม่ใช่จะว่าตื่นก็ไม่ใช่ มันอยู่ครึ่งหลับครึ่งตื่น แล้วก็ทำให้เกิดฝัน
ถาม
การฝึกสมาธิจำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิอย่างเดียวหรือไม่
ตอบ
ไม่จำเป็น นอกจากเราจะทำเป็นพิธีการเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
ถาม
ถ้าเรานอนทำสมาธิก่อนจะหลับโดยทำให้เราหลับง่ายเข้า ถือเป็นสมาธิหรือไม่
ตอบ
ถือเป็นสมาธิเหมือนกัน อันนี้ดีที่สุด ถ้าฝึกทำสมาธิเวลานอน ถ้านอนหลับลงไปแล้วจิตเกิดเป็นสมาธิเวลานอน สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตจะดีมากขึ้น
ถาม
ขณะนั่งสมาธิ มีภาพเหตุการณ์เกิดขึ้น จะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งนั้น ภาพนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือนึกคิดขึ้นจริง หรือนึกคิดขึ้นเอง เช่น ครั้งหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ มีคนรู้จักที่ตายไปแล้วมาปรากฏ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงเขามาก่อน อยากทราบว่า ภาพนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริง เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอบ
ภาพนี้ทั้งจริงและไม่จริง ถ้าหากว่านิมิตนั้น ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเรื่องความจริง แต่ถ้านิมิตมันเกิดขึ้นแล้วไม่จริง ก็ไม่จริง อันนี้สุดแท้แต่จิตของเราจะปรุงเป็นมโนภาพขึ้นมา ถ้าหากว่าจิตของเรามีความมั่นคงเพียงพอ มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ นิมิตที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นความจริง
แต่ส่วนมาก ภาพนิมิตในขั้นต้น ๆ นี้ มันจะเกิดขึ้นในระยะที่เราบริกรรมภาวนาแล้วรู้สึกว่าจิตมันเคลิ้มๆ เกิดสว่าง จิตมันคอยเคว้งคว้างสติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ขึ้นมา อันนี้ให้ทำความเข้าใจว่าเป็นมโนภาพเอาไว้ก่อน อย่าพึงสำคัญมั่นหมายว่าเป็นความจริง ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิตเป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง เราอาจจะกำหนดรู้ภาพนิมิตอันนั้นเป็น "เครื่องรู้ของจิต" เป็น "เครื่องระลึกของสติ" แล้วภาพนิมิตนั้นอาจจะแสดงให้เรารู้ในแง่กัมมัฎฐาน ได้แก่ อสุภกัมมัฎฐาน เป็นต้น ก็ได้
ถาม
การปฏิบัติที่ใช้คำว่า ภาวนา พุทโธ จะใช้พร้อมกับการเพ่งกสิณ เช่น สีเขียว เป็นต้น ได้หรือไม่
ตอบ
อันนี้แล้วแต่ความถนัดหรือความคล่องตัวของท่านผู้ใด การภาวนาเป็นการนึกถึงคำพูดหนึ่งคือ "พุทโธ" แต่การมองสีเขียว เพ่งสีเขียว เป็นเรื่องของตา เป็นเรื่องของสายตา จะใช้พร้อมกันกับพุทโธ ๆ ด้วยก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่ว่าถ้าจะภาวนาพุทโธแล้ว ลมหายใจควรจะคู่กับพุทโธเป็นเหมาะที่สุด เพราะว่า เมื่อภาวนา "พุท" พร้อมลมเข้า "โธ"พร้อมลมออก โดยปกตินักภาวนา เมื่อจิตสงบลงไปบ้างแล้ว คำภาวนาจะหายไป เมื่อคำภาวนาหายไป จิตจะไปยึดลมหายใจเป็นเครื่องรู้ จะได้ตามลมเข้าไปสู่ความสงบอย่างละเอียดนิ่งจนถึงอัปปนาสมาธิ จะใช้ลมหายใจพร้อมกับนึกกำหนดอานาปานสติก็ได้ ลมปราณ คือ ลมหายใจ อานาปานสติ คือ ลมหายใจเป็นอันเดียวกัน
ถาม
เมื่อจิตติดอยู่ปีติ และความสุข มีอยู่บ่อย ๆ ครั้ง จนไม่อยากจะถอนออกจากสมาธิจะมีอุบายแก้ได้อย่างไร
ตอบ
ในขั้นนี้ยังไม่ต้องการอยากให้ใช้อุบายแก้ไข เพราะจิตที่มีปีติและความสุข ตามที่ท่านว่ามานี้ยังไม่มั่นคงเพียงพอ ให้พยายามฝึกให้มีปีติ มีความสุข ให้มันอยู่ในขั้นที่เรียกว่าได้ ฌานสมาบัติ อันนี้เป็นความรู้สึกสัมผัสเพียงนิดหน่อยอยากจะเปลี่ยน อะไรทำนองนี้ ดำเนินให้จิตมีความสงบ มีปีติ มีความสุขบ่อย ๆ เข้า มันจะได้เกิดมีความชำนาญในการเข้าออกสมาธิ แล้วถ้าจะอยากให้จิตมีสภาพเปลี่ยนแปลง ให้คอยจ้องเวลาจิตถอนออกจากสมาธิ ในเมื่อหมดปีติหมดความสุขในสมาธิแล้ว เกิดความคิดขึ้นมา ทำสติตามรู้ความคิดนั้น หรือจะหาอะไรมาพิจารณาก็ได้ เพื่อเป็นการฝึกจิตให้รู้จักการพิจารณา
ถาม
เวลานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม จะลงสู่ความสงบแล้วมีนิมิตเสียงดังมาก เช่น ดังเปรี้ยงเหมือนฟ้าผ่า หรือเสียงก้องมา แต่ก็มีสติรู้ ไม่ตกใจ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกจะปฏิบัติอย่างไร
ตอบ
ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ขอให้ถือว่าสิ่งนั้นคือ เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ จะเป็นสี แสง เสียง หรือรูปนิมิตอะไรต่าง ๆ ก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ประคองจิตทำสติไว้ให้ดี แล้วผลดีจะเกิดขึ้น อย่าไปตกใจ หรือไปแปลกใจกับสิ่งเหล่านั้น
ถาม
เวลานั่งสมาธิ ก็ใช้คำบริกรรมคือสมถะตลอด แต่เวลาเดินจงกรมใช้พิจารณากายที่เดิน กำหนดสติกับการเดิน ทั้งสองควบคู่กันไป จะสมควรหรือไม่
ตอบ
อันนี้สมควร แล้วแต่อุบายของท่านผู้ใด บางทีถ้าหากว่าจิตมันต้องการบริกรรมภาวนาก็บริกรรม ถ้าต้องการกำหนดรู้อิริยาบถก็กำหนดรู้อิริยาบถ ถ้ามันจะต้องการค้นคิดพิจารณาก็ให้มันค้นคิดพิจารณา อย่าไปขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางทีมันอาจจะสงบขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่าไปฝืน บางทีมันอาจจะเกิดความรู้ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดความรู้ ก็อย่าไปฝืน ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเรามีแต่ทำสติกำหนดตามรู้เท่านั้น
ถาม
เมื่อทำสมาธิแล้วจิตไม่ค่อยสงบ มักจะน้อยใจว่าตนเองไม่มีวาสนาบารมี
ตอบ
อย่าไปคิดอย่างนั้นซิ ในเมื่อจิตไม่สงบก็ทำเรื่อยไป ทำสติรู้แล้วพิจารณาว่ามันไม่สงบเพราะอะไร ค่อยแก้ไขและพากเพียรพยายามทำให้มาก ๆ เข้า เดี๋ยวมันก็เกิดความสงบขึ้นมาเอง
ถาม
ทำสมาธิภาวนานั้น ที่เราภาวนา พุทโธ นั้น จะต้องเอาจิตไปกำหนดเอาไว้ที่ไหน เช่น ไว้ที่คำพุทโธ หรือทำจิตรู้ไว้ตรงหน้าเฉย ๆ หรือตามลมหายใจ
ตอบ
พุทโธแปลว่า ผู้รู้ พุทโธแปลว่า ผู้ตื่น พุทโธแปลว่า ผู้เบิกบาน การภาวนาพุทโธเอารู้ไปไว้กับคำว่า พุทโธ พุทโธๆ นี้ เป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิต เป็นคำพูดคำหนึ่งแต่ถ้าเราเอาตัวรู้สึกสำนึกไปที่พุทโธ แปลว่า เอาพุทโธไปไว้กับคำว่า พุทโธ ที่นี้เวลาเราภาวนาพุทโธ จะเอาจิตไปไว้ที่ไหนก็ได้ เช่น จะไม่เอาไว้ หรือจะเอาไว้ ไม่ตั้งใจเอาไว้ที่ไหน เราก็กำหนดรู้ลงที่จิต ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั้น ความรู้สึกสภาวะรู้คือ พุทธะผู้รู้ แล้วจะเอาคำว่า พุทโธ ไปไว้กับสภาวะผู้รู้ พร้อมกับนึกพุทโธ ๆ ๆ คำว่า พุทโธ ไม่ใช่ผู้รู้ เป็นแต่เพียงอารมณ์ของผู้รู้ การทำสติให้รู้อยู่กับพุทโธ
การทำสตินั้นคือตัวผู้รู้ แล้วเอาตัวผู้รู้มานึกถึงคำว่า พุทโธ เอาพุทโธไว้ที่จิต เอาจิตไว้ที่พุทโธ บางท่านก็บอกว่าเอาจิตไว้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พุท พร้อมกับลมเข้า โธ พร้อมกับลมออก บางท่านก็สอนให้กำหนดรู้ที่ปลายจมูกตรงที่ลมผ่านเข้า ผ่านออก แล้วก็นึก พุทโธ ๆ ๆ ไปเรื่อย อันนี้แล้วแต่ความเหมาะกับจริตของท่านผู้ใด
ถ้าหากว่าการกำหนดบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ ถ้าเรากำหนดพุทพร้อมลมเข้า โธพร้อมลมออก จังหวะมันยังห่างอยู่ จิตยังส่งกระแสไปทางอื่นได้ ก็ปล่อยลมหายใจเสียแล้วนึก พุทโธ ๆ ๆ ให้มันเร็วขึ้น อย่าให้มีช่องว่างจะเอาไว้ที่ไหนก็ได้
ถาม
จิตมันมองเห็นกายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันเกิดทุกข์ แล้วก็เบื่อ มันมองเห็นกายเป็นของสกปรก จิตมันรังเกียจ มันเกิดเบื่อ จะทำอย่างไร
ตอบ
อันนี้เป็นอาการของกิเลส ถ้ามันเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว เราขาดสติ ไปถือเอาความเบื่อเป็นเรื่องที่จะมาทำให้จิตของเรามัวหมองหรือเศร้าหมอง ก็เรียกว่าเราขาดสติ ขาดปัญญา เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมา ต้องพิจารณาจนกว่ามันจะหายเบื่อหน่าย หายเศร้าหมอง
ถาม
ขอให้ช่วยสอนวิธีทำสมาธิเกี่ยวกับชีวิตประจำวันสำหรับพระนวกะ
ตอบ
การทำสมาธิเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เฉพาะพระนวกะภิกษุที่เราจะยึดเป็นหลักที่แน่นอนวันหนึ่ง ท่านตื่นขึ้นมาก็มีความรู้สึกให้ท่านถามปัญหาตัวเองว่าเราเป็นอะไร แล้วก็ตอบตัวเองว่าเราเป็นนักบวช ถามต่ออีกว่าบวชทำไม ตอบว่า บวชมาเพื่อศึกษาธรรมวินัย ถามต่อว่าศึกษาธรรมวินัยไปทำไม ตอบว่าศึกษาไปเป็นข้อปฏิบัติ ถามอีกปฏิบัติเพื่ออะไร
นึกพิจารณาทบทวนอยู่อย่างนี้ โดยไม่ต้องไปภาวนา พุทโธๆๆ หรือพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรก็ได้ เอาหน้าที่ของตัวเอง ความเป็นของตัวเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน โดยนึกอยู่เสมอว่าเวลานี้เราเป็นอะไร แล้วก็ตอบปัญหาของตัวเองไปเป็นเปลาะ ๆ ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
โดยในทำนองนี้ ถ้าหากว่าท่านนั่งหลับตา แล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่าเราเป็นอะไร เราเป็นพระนวกะ พระนวกะคืออะไร คือพระผู้บวชใหม่ เราบวชมาทำไม บวชมาเพื่อศึกษาธรรมวินัย ธรรมวินัยที่จะต้องศึกษามีอะไรบ้าง และเพื่ออะไร ถามปัญหาตัวเองไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะสามารถทำจิตสงบเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าท่านไม่ได้นึกอย่างนี้ ท่านจะถือโอกาสเอาวิชาความรู้ที่ท่านเรียนมา ที่ท่านได้ปริญญามาแล้ว เอามาวิตกเป็นหัวข้อ พิจารณาถามตัวเองไปเป็นเปลาะ ๆ ท่านคิดถึงอะไร ทำความคิดให้มันชัดๆ ทำสติให้มันรู้ชัดๆ อย่าทำโดยความไม่มีสติ สิ่งใดที่ทำด้วยความมีสติคิดด้วยความสติ สิ่งนั้นคือการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัตินี้เพื่อความมีสติ ในเมื่อการมีสติคิดด้วยความสติ สิ่งนั้น คือ การปฏิบัติธรรม การปฏิบัตินี้เพื่อความมีสติ ในเมื่อการมีสติเพราะการค้นคิดพิจารณาเกี่ยวกับวิชาความรู้ และการงานที่เราทำอยู่หรือสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน สมาธิเกิดขึ้นแล้ว สามารถที่จะเอาไปสนับสนุนวิชาความรู้ และงานการที่เราทำอยู่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสติอันเดียว แม้แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นแม่บ้านหรือแม่ครัว เป็นแต่เพียงตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า วันนี้เราจะทำกับข้าวอะไร เราจะทำแกงเผ็ด ส่วนประกอบของแกงเผ็ดมีอะไรบ้าง แล้ววิธีทำจะทำอย่างไร นั่งค้นคิดพิจารณาวนเวียนกลับไปกลับมาอย่างนั้น มันก็เป็นอารมณ์ของการปฏิบัติกัมมัฎฐานได้
เราทำอะไรอยู่ ทำสติกับสิ่งนั้น เราคิดอะไรอยู่ ทำสติกับสิ่งนั้น เราพูดอะไรอยู่ ก็มีสติกับสิ่งนั้น ในเมื่อสติกับการทำ การพูดการจา ความคิดของเรามันตามทันกัน สมาธิก็เกิดขึ้น และขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งว่า นักขับรถทั้งหลาย เมื่อท่านจับพวงมาลัยสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว ท่านอย่าไปภาวนาพุทโธ ให้ทำสติอยู่กับการขับรถ ถ้าไปภาวนาพุทโธแล้ว พุทโธกับการขับรถไม่มีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างที่เคยประสบมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖นี้ ไปแสดงธรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลวงพ่อเทศน์ไปว่าการปฏิบัติสมาธินี้ การทำสติให้มันมีความสัมพันธ์กับงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็บอกว่า ยกตัวอย่างเช่น เวลาท่านขับรถ ท่านไปภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบแล้ว จิตจะไปติดกับพุทโธ จะทิ้งหน้าที่การขับรถ ไม่มีความสนใจ แล้วท่านจะขับรถไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ดีไม่ดีจะไปขับรถชนเขา พอพูดจบ มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าหนูก็เจอมาแล้ว พอขับรถภาวนา พุทโธ ๆ ๆ แล้วจิตมันก็สงบ มันก็ไม่อยู่กับการขับรถ แล้วเราก็ขับรถไปจนกระทั่งสุดถนนจึงได้สติว่าเราทำผิดทางแล้ว เขาบอกว่า ดีที่ว่าในช่วงนั้นไม่ค่อยมีรถสวน ไม่อย่างนั้นเกิดชนกันตาย อันนี้แสดงว่า สมาธิกับงานที่ทำอยู่มันไม่มีความสัมพันธ์กัน
เราจะบริกรรมภาวนาอย่างอื่น หรือนึกอย่างหนึ่งได้เฉพาะเวลาที่เราตั้งใจปฏิบัติโดยตรงหรือไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด แต่เมื่อเวลาเราทำงาน เราก็เอาสติไปอยู่กับงาน เวลาเราพูด เอาสติไปอยู่กับการพูด เวลาเราคิด เอาสติไปไว้กับการคิด ทำอะไรมีสติตลอดเวลา อันนี้คือ การฝึกให้จิตมีสติ
ที่เราปฏิบัตินี้ ไม่ใช่เราจะปฏิบัติเอาศีล ปฏิบัติเอาสมาธิ ปฏิบัติเอาปัญญา แต่เราจำเป็นจะต้องสร้าง ศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดมีพลังขึ้นจนสามารถรวมพลังลงเป็นหนึ่งกลายเป็น สติวินโย มีสติเป็นผู้นำ สติตัวนี้จะคอยประคับประคอง คอยจ้องดูสิ่งที่เราทำ พูด คิด หรือยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดทุกอิริยาบถ ไม่มีความพลั้งเผลอ เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเราก็พ้น พ้นจากความกังวลหลาย ๆ อย่าง ในที่สุดจะพ้นจากกิเลส แก่นของพระธรรมวินัยคืออะไร แก่นของพระธรรมวินัยคือ วิมุตติ เราปฏิบัติเอาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส จนบรรลุพระนิพพาน
ถาม
เมื่อออกจากสมาธิแล้ว มีอาการเมื่อยล้ามากขึ้น ถือว่าถูกต้องหรือไม่
ตอบ
องค์ประกอบของการทำสมาธินี้ ในเมื่อสมาธิเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ กายก็เบา จิตก็เบา ถ้าสมาธิอันใด ถ้าเรานั่งสมาธิตลอดคืนยังรุ่งตลอดวันยังค่ำในเมื่อออกจากสมาธิแล้วเมื่อย ยังกับไปวิ่งมาตั้งหลายกิโล ๆ นี้ นั้นใช้ไม่ได้ ออกจากสมาธิแล้วต้องเบา
ถาม
การฝึกสมาธิต้องการสถานที่เช่นใดจึงจะทำให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว
ตอบ
อาตมาถือคติว่าถ้าใครสามารถภาวนาให้มีจิตเป็นสมาธิ รู้ธรรม เห็นธรรม อยู่ในบ้านของตนเองจะมีพระปฏิบัติอยู่ในบ้านทุกวัน ถ้าใครภาวนาให้จิตสงบได้ รู้ธรรม เห็นธรรมได้ ภายในบ้าน จะมีคุณค่าดียิ่งกว่านิมนต์พระไปสวดมนต์ตั้งหมื่น ๆ องค์ แนะนำให้เขาทำอย่างนี้ เพื่อแก้ปัญหาว่าไม่มีเวลาจะไปวัด จึงอยากจะให้ทุกท่านสร้างวัดขึ้นในห้องนอนตัวเอง ที่นี้บางคนคัดค้านว่าท่านไปสอนคนให้ทำอย่างนั้น เมื่อเขาได้รับความสบายในบ้านแล้ว เขาไม่มาทำบุญกับท่าน ท่านจะไม่อดหรือ อาตมาบอกว่าไม่มีทาง ยิ่งจะมากขึ้นกว่าเก่า
ถาม
วิธีเริ่มทำสมาธิ ทำอย่างไรและควรทำสมาธิเมื่อไร
ตอบ
หลังจากไหว้พระสวดมนต์เสร็จก็แผ่เมตตา การแผ่เมตตานั้น เราจะนึกว่าสัตว์ที่มีชีวิตซึ่งเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นผู้มีสุขกายสุขใจเถอะแค่นี้ก็เป็นการแผ่เมตตาแล้ว พอหลังจากนั้นก็นึกในใจว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ แล้วก็กำหนดรู้ลงที่จิต นึกในใจว่า พุทโธ ๆ ๆ เรื่อยไปอยู่ในจิตนั้นแหละ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด นึกพุทโธได้ตลอดเวลา
ส่วนเรื่องสวดมนต์นั้น เราจะสวดได้เพียงไรแค่ไหนไม่สำคัญ แม้จะได้แต่เพียง นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ จบอยู่แค่นั้น ก็สวดอยู่แค่นั้นแหละแล้วก็ สวดด้วยความมั่นใจ เป็นอุบายสำหรับอบรมจิตใจ อุบายกระตุ้นความรู้สึกให้มีความตั้งมั่นลงในคุณความดี
ทีนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือ คุณธรรม อย่าไปน้อยอกน้อยใจ ผู้ที่ท่องมนต์ไม่ได้มากอย่าไปน้อยใจ ถ้าจำอะไรไม่ได้ก็จำพุทโธ ๆ ๆ หรือยุบหนอพองหนอ เพียงคำเดียวเท่านั้นให้ได้
แม้แต่การพิจารณาธรรมะก็เหมือนกัน เช่นอย่างพิจารณาอาการ ๓๒ นี้ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องไล่มันครบหมดทุกอาการ ก็เพ่งกระดูกหัวแม่มืออันเดียวนี้ให้มันมองเห็นชัด จิตเป็นสมาธิขึ้นมาใช้ได้ อันเดียวนี้แหละ มันจะเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฎฐาน ถ้าจิตมันมองเห็นหัวแม่มือแค่นี้ ถ้ามันว่าหัวแม่มือ ทำไมมันคด ๆ เคี้ยว ๆ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ กระดิกได้ มันก็เป็นวิปัสสนากัมมัฎฐานแล้ว อย่าไปคิดอะไรให้มันยุ่งนัก ทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิได้นั้นคือ สมถะ รู้ว่าจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิเป็นวิปัสสนา เอากันแค่นี้ ถ้าไปรู้มากกว่านี้แล้วมันยุ่ง ที่นี้มันรู้จริงแล้วมันขยายตัวไปเอง อย่าไปคิดอะไรให้มันวุ่นวายนัก
ถาม
ถ้ามีปัญหาในเรื่องการทำสมาธิ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างไร
ตอบ
แต่ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเกี่ยวกับเรื่องการทำสมาธินี้ ถ้าปัญหาเกิดขึ้นจากสมาธิ คือความหมายว่ามันมีข้อสงสัยเกิดขึ้นภายในจิต อันนี้เราต้องพยายามตอบด้วยตนเอง ถ้าสงสัยว่าอันนี้คืออะไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก่อนที่จะภาวนาให้ท่านตั้งคำถามอันนี้คืออะไร แล้วก็กำหนดจิตภาวนาเรื่อยไป จะภาวนาอะไรก็ได้ในเมื่อจิตสงบนิ่งขึ้นมาแล้ว คำตอบมันจะปรากฏขึ้นเอง
ถาม
ถ้ามีนิมิตเกิดขึ้นในลักษณะต่าง ๆ ขณะทำสมาธิ ผู้ปฏิบัติควรทำอย่างไร
ตอบ
เหตุการณ์ใด ๆ ที่ผ่านขึ้นมาในขณะทำสมาธิ จะเป็นภาพนิมิตก็ตาม ความรู้ก็ตาม หรืออาจจะมีเสียงดังก็ตาม ให้ผู้ภาวนากำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว อย่าไปสนใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่จิตของเราบันดาลให้มันเกิดขึ้นมาเอง
เมื่อจิตไปเอะใจ ไปสงสัย ไปยึดติดอยู่นั้น จิตของเราไปหลงภูมิของตัวเอง แล้วไปยึด เมื่อยึดแล้วก็แปลกใจตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอเกิดเอะใจขึ้นมาแล้ว จิตก็ถอนจากสมาธิ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็หายไป เราเลยหมดโอกาสไม่ได้พิจารณาให้รู้จริง เห็นจริง อันนี้ให้ระวังให้มาก
ถาม
จำเป็นจะต้องนั่งขัดสมาธิเพชรเวลาทำสมาธิหรือไม่
ตอบ
อันนี้น่าจะทำความเข้าใจ การทำสมาธิ คำว่าสมาธิเป็นกิริยาของจิต การกำหนดจิตหรือการบริกรรมภาวนาในจิต หรือการเอาจิตไปพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เป็นการทำสมาธิ แต่การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ เราจะทำสมาธิในเวลาเดิน เวลานั่ง เวลานอนหรือเวลาไหน ๆ ก็ได้ทั้งนั้น
ถ้าหากว่านั่งสมาธิแบบขัดสมาธิเพชร หรือแบบพระพุทธเจ้านั่งนี้ ถ้ามันลำบากเราจะนั่งเก้าอี้ก็ได้ จะนอนทำก็ได้ ถ้าใครยิ่งนอนทำสมาธิชำนิชำนาญยิ่งดี ในเมื่อหลับลงไปแล้วจิตจะได้เป็นสมาธิ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิในเวลาหลับ กายมันจะได้พักผ่อนสบาย เพราะองค์ประกอบของการเป็นสมาธินี้กายเบา จิตเบา ในเมื่อกายเบา จิตเบา กายก็ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ถ้าใครนอนพักผ่อนด้วยสมาธิ บางทีเป็นโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างก็หายได้
ถาม
การที่จิตสามารถติดตามอารมณ์ต่าง ๆ ไปตลอดเวลา ถือว่าจิตเป็นสมาธิ หรือไม่
ตอบ
จิตที่สามารถตามรู้อารมณ์ต่าง ๆ อันนี้ถือว่าจิตเป็นสมาธิในขั้นวิปัสสนา จิตที่จะติดตามรู้อารมณ์ได้ตลอดเวลา หมายถึงว่าเราคิดอะไรขึ้นมาจิตมันก็รู้ทัน ประสบเหตุการณ์อะไรขึ้นมาจิตมันก็รู้ทัน ใครด่ามาก็รู้ทัน ใครตำหนิมาก็รู้ทัน ใครยกย่องสรรเสริญมาก็รู้ทัน จิตสามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ในสภาพปกติ ไม่ยินดียินร้ายต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนากัมมัฎฐาน
ที่นี้ในเมื่อพูดถึงจิตในขั้นวิปัสสนากัมมัฎฐาน บางท่านอาจจะสงสัยว่าในขั้นสมถกัมมัฎฐานเป็นอย่างไร จิตในขั้นสมถกัมมัฎฐานนั้น หมายถึงจิตที่ไปนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ ไม่เกิดความรู้ หมายถึงจิตที่อยู่ในฌาน มันรู้เฉพาะเรื่องของฌานเท่านั้น ความรู้อื่น ๆ ไม่มี หมายถึงจิตที่อยู่อัปปนาสมาธิขั้นที่เรียกว่าจิตนิ่งสว่าง แล้วก็ไม่รู้สึกจนกระทั่งว่ามีตัวมีตน ตัวตนหายไปหมด อันนี้จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะย่อมไม่เกิดความรู้อันใด อันนี้ไม่ใช่การเริ่มต้น เป็นการที่จิตผ่านความเป็นสมาธิขั้นสมถะมาแล้วจนมีสติสัมปชัญญะดี สามารถรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าใครได้อย่างนี้แล้วสบายมาก
ถาม
สมาธิมีประโยชน์ต่อนักบริหารอย่างไร
ตอบ
สมาธิมีประโยชน์ต่อนักบริหาร และต่อทุกคนที่ไม่ใช่นักบริหาร คือในเมื่อเราทำสมาธิให้มีจิตมั่นคง จะทำให้เรามีสติ มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี และสมาธินี้ ถ้าใครทำถูกต้อง เดิมเป็นคนขี้เกียจจะกลายเป็นคนขยัน ถ้าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์จะต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ยกตัวอย่างเช่น แม่บ้านเป็นคนขี้เกียจหุงข้าวให้ผัวรับประทาน ในเมื่อทำสมาธิเป็นแล้ว จะมีความขยันหุงข้าวให้ผัวรับประทาน
เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมีประโยชน์แก่นักบริหารและนักปกครองอย่างเหลือที่จะพรรณนาทีเดียว ถ้าหากผู้ใดสามารถรู้จักวิธีใช้อำนาจทางจิตได้ก็ยิ่งเป็นการดี
ถาม
ขณะที่นั่งทำสมาธิ บริกรรมพุทโธ ๆ อยู่ จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตเริ่มจะนิ่ง จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น พุทโธ หายไป ไม่รู้สึกตัว ตัวไม่โยกไปมา นั่งตรงอยู่เป็นระยะหนึ่ง
ตอบ
ในเมื่อบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ ไป จิตเริ่มจะสงบลงไป พอจิตเริ่มสงบไปแล้วคำว่าพุทโธ มันจะค่อยเลือนลางหายไป ในที่สุดจิต จะไม่ว่าพุทโธเลย แล้วจิตก็จะนิ่งรู้อยู่เฉย ๆ นี่บางทีบางท่านอาจจะเข้าใจผิดในตอนนี้ ในเมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ๆ แล้วทีนี้จิตมันไม่ว่า พุทโธ แต่มันมีอาการเคลิ้ม ๆ สงบลงไป ก็เข้าใจว่าเรานี้เผลอสติไม่นึกพุทโธ แล้วก็ไปกลับนึกพุทโธมาใหม่ ก็เป็นการเริ่มต้นอยู่เรื่อย
อันนี้สังเกตให้ดี ถ้าบริกรรม พุทโธ ๆ ๆ จิตมันไม่ว่า พุทโธ มันไปอยู่เฉย ๆ อยู่นิ่งเฉย ๆ อยู่ ถึงแม้ว่าไม่สงบละเอียดก็ตาม ให้กำหนดรู้อยู่ ตัวนิ่งเฉย ๆ อย่าไปคิดว่าจิตมันเฉยหนอ อะไรหนอ ถ้าไปนึกอย่างนี้จิตจะถอนจากสมาธิ ให้ทำทีว่ารู้อยู่ในที่อย่าไปนึกคิดอะไรทั้งนั้น ปล่อยให้จิตมันว่างอยู่อย่างนั้น เพียงแต่ทรงตัวอยู่เท่านั้นเอง เมื่อมันถอนจากความรู้ว่างเฉยๆ อย่างนั้นแล้ว เราจึงค่อยกำหนดพุทโธ ๆๆ ไปใหม่ ถ้าหากว่ามันวางเฉยอยู่อย่างนั้น ก็ปล่อยให้มันเฉยอยู่อย่างนั้น ทีนี้พอทำไปนานๆ เข้า จิตมันมีพลังนี้มา มันก็จะสว่างแจ่มใสขึ้นมาเอง
ถาม
เวลานั่งสมาธิจิตภาวนา จิตยังไม่ถึงอุปจาระ กำหนดให้เห็นรูปนาม เกิด ดับ เป็นปัจจุบันธรรมได้หรือไม่
ตอบ
ได้ แต่ว่าเป็นเพียงการปรับปรุงหรือปรุงแต่งปฏิปทาเท่านั้น การนึกว่า นี้รูป นี้นาม โดยความตั้งใจ โดยเจตนา อันเป็นขั้นปฏิบัติ ภาคปรุงแต่งปฏิปทา คือข้อปฏิบัติ แต่นักปฏิบัติจำเป็นจะต้องพิจารณารูปนามด้วยความตั้งใจที่จะพิจารณา เพื่อเป็นแนวทางให้จิตสงบเป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตนั้นจึงจะพิจารณารูปนามไปเองโดยอัตโนมัติ
ถาม
การนั่งสมาธิแล้วสามารถรู้ล่วงหน้าและอดีตได้ ใช่หรือไม่
ตอบ
การทำสมาธิแล้วสามารถที่จะรู้อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ แต่ทั้งนี้ไม่เป็นไปทุกคน บางคนก็ไม่รู้อะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น อาตมานี้ไม่รู้อะไรเลย รู้แต่จิตของตัวเอง และสภาวะความจริงที่เกิดขึ้นกับจิต บางครั้งมีผู้ไปขอร้องให้นั่งทางใน ดูโน่นดูนี่ อาตมาก็บอกกับเขาว่าคุณโยมอย่ามาสอนให้พระโกหก คือสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นด้วย พระพุทธเจ้าห้ามพูด แต่คำถามที่ว่าการนั่งสมาธิแล้วสามารถจะรู้ล่วงหน้าและอดีตได้หรือไม่นั้น อันนี้สามารถที่จะรู้ได้ แต่ต้องถึงขั้นที่สามารถจะรู้
อย่างเช่น ผู้ที่ทำสมาธิพิจารณาสภาวธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว สามารถรู้อดีตชาติของตนเอง เช่น อย่างพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระองค์ก็รู้บุพเพนิวาสนุสสติญาณ คือ ระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็รู้จุตูปปาตญาณ รู้การเกิดและจุติของสัตว์ทั้งหลาย รู้อาสวักขยญาณ รู้อุบายที่ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากอาสวะ อันนี้เป็นสิ่งที่สามารถจะเป็นไปได้ แต่สำหรับการที่จะไปนั่งดูโน่นดูนี่ เช่น นั่งดูปู่ ย่า ตา ยาย หรืออะไรต่ออะไรนั้น มันก็ออกจะเพ้อไปหน่อย ที่แน่ ๆ จริง ๆ เวลานี้รัฐบาลกำลังค้นหาบ่อน้ำมัน ถ้าองค์ไหนเก่ง ๆ แล้ว จับไปนั่งส่องดูบ่อน้ำมันว่ามันอยู่ตรงไหน รัฐบาลเจาะลงไปทีเดียว ไม่ต้องเปลืองเวลา ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่าย ถ้าสามารถพิสูจน์ได้อย่างนั้น เก่งจริง แต่นี่ส่วนมากเก่งแต่เฉพาะตน คนธรรมดาไม่รู้ไม่เห็นด้วย อาตมาจึงไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก
ถาม
การกำหนดรู้ที่ลมหายใจหมายความว่าอย่างไร กำหนดอย่างไร
ตอบ
การกำหนดรู้ลงที่ลมหายใจ หมายถึง การกำหนดลงตรงที่ลมสัมผัสที่ปลายจมูกที่ผ่านออกผ่านเข้า ทำความรู้สึกตรงนี้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อกำหนดอยู่ที่ตรงนี้เมื่อจิตเริ่มมีอาการสงบลงไปนิดหน่อย จิตอาจจะวิ่งตามลมเข้า วิ่งตามลมออก ก็ปล่อยให้จิตวิ่งตามลมเข้า วิ่งตามลมออกอยู่อย่างนั้น ขอให้กำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ แม้ลมหายใจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ก็กำหนดรู้ที่ลมหายใจ แม้ว่าลมหายใจจะปรากฏคล้าย ๆ ว่า เป็นท่อนยาวหรือเป็นควันอะไรก็แล้วแต่มันจะแสดงขึ้นมา ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิตตัวผู้รู้ รู้อยู่ที่ลมหายใจเพียงอย่างเดียว แล้วจิตจะค่อยสงบละเอียดลงไปทีละน้อยๆ จนกระทั่งลมหายใจขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดลงแล้วก็ไม่ต้องทำความตกใจ
เมื่อลมหายใจหายไปแล้ว จิตก็ไม่มีเครื่องรู้ จิตก็รู้อยู่ตรงที่จิตอย่างเดียว ก็กำหนดรู้ที่จิตนั้น จนกว่าจิตจะละเอียดลงไป ถึงแม้ว่าจิต จะไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตาม ขอให้มีความสงบ สว่าง ละเอียดลงไปจนกระทั่งถึงอัปปานาสมาธิ
ถาม
ทำจิตภาวนาเพียงสงบนิ่ง หากจะทำวิปัสสนาไปพร้อมด้วยจะทำอย่างไร
ตอบ
ทำจิตภาวนาเพียงสงบนิ่ง พอที่จะสามารถควบคุมจิตให้นึกคิดอยู่ในสิ่งที่เราต้องการได้เจริญวิปัสสนา ในแนวทางแห่งความนึกโดยใช้สัญญาที่เราเรียนมา มาคิดพิจารณาโดยความตั้งใจ เช่น เราอาจจะคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ถามปัญหาตัวเองว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร แล้วก็ตอบตัวเองไป ถามตัวเองไป ซึ่งสามารถที่จะควบคุมจิตให้คิดนึกอยู่ในเรื่อง ๆ เดียวที่เราต้องการ อันนี้เป็นการเจริญวิปัสสนาไปพร้อม ๆ กัน แต่หากยังไม่ใช่ตัววิปัสสนา ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้วจิตรู้แจ้งเห็นจริง ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เราพิจารณาว่า อันนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างจริงจัง จิตสงบนิ่งลงไปแล้วตัดสินขึ้นมาว่า นี่คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์จริง ๆ อันนั้นจึงจะเป็นวิปัสสนา
ถาม
ในขณะที่นั่งสมาธิ จิตมักเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้จิตเป็นอย่างนั้น
ตอบ
อันนี้ต้องอาศัยทำบ่อยๆ ภาวนาบ่อยๆ ทำให้มากๆ จนชำนิชำนาญ แล้วจิตจะอยู่เอง การทำสมาธิในขั้นเริ่มต้นนี้ เราก็ย่อมจะลงทุนลงแรงหนักหน่อย เหมือนๆ กับการบุกเบิกงานใหม่ เพราะฉะนั้น การทำสมาธิเพื่อจะไม่ให้จิตส่งไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราต้องพากเพียรพยายาม แต่อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วทำให้เราหมดความคิด
เราทำสมาธิเพื่อจิตสงบจากอารมณ์ปัจจุบันชั่วขณะหนึ่ง พอเราได้มองเห็นหน้าตาของจิตดั้งเดิมของเราว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อเราอบรมสมาธิให้มากๆ แล้ว ในเมื่อมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จิตของเรานี้มันยิ่งมีความคิดมาก ยิ่งกว่าความคิดวุ่นวายเดี๋ยวนี้ แต่ความคิดที่มีสติเป็นตัวกลางสำคัญนั้น ย่อมไม่เป็นการหนักอกหนักใจและก่อทุกข์ก่อยากให้แก่ใคร เพราะฉะนั้น การทำสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น
ฉะนั้น นักปฏิบัติที่มุ่งความสำเร็จกันอย่างจริงจัง โปรดอย่าได้ปล่อยหรือหลงให้ใครสักคนหนึ่งมาใช้อำนาจมาบังคับจิตใจเรา เราภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น เราไม่ได้ปรารถนาจะให้พระพุทธเจ้ามาเป็นใหญ่ในหัวใจของเรา เพื่อดลบันดาลจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ เราระลึกถึงพุทโธๆๆ เพียงระลึกคุณพระพุทธเจ้าว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้รู้ ๆ เพื่อจะทำจิตใจของเราให้เป็นผู้รู้ตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น และคำว่าพุทโธ เป็นแต่เพียงสื่อให้จิตเดินไปสู่ความสงบ เพื่อเป็นอุบายให้มันพรากจากความคิดที่มันวุ่นวายอยู่กับสิ่งต่างๆ ให้มารวมอยู่ในจุดๆ เดียว คือ พุทโธ เสร็จจิตรวมอยู่ที่พุทโธ จิตก็จะสงบ สงบแล้วคำว่าพุทโธ จะหายไป ยังเหลือแต่สภาวะจิตของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภายในจิตของผู้ภาวนา อันนี้คือจิตของผู้ภาวนาเป็นไปโดยสมรรถภาพและพลังของตัวเอง
อีกอย่างหนึ่ง เคยได้พบได้เห็น เช่นอย่างบางท่านไปเรียนกัมมัฎฐาน เขาก็ให้อาจารย์กัมมัฎฐานนั้นลงอักขระ มีการปลุกเสกสวดญัตติเข้าไปให้ พอไปภาวนาแล้ว เมื่อจิตเกิดมีสมาธิขึ้นมาบ้าง ในขนาดอุปจารสมาธิอ่อน ๆ ก็ถูกอาถรรพ์วิชานั้นเข้าครอบ พอครอบแล้วสติไม่สามารถควบคุมจิตของตนเองได้ กลายเป็นคนวิกลจริตไปก็มี
การปฏิบัติสมาธิตามหลักของพระพุทธเจ้านี้ ในขณะใดที่เรายังไม่สามารถทำจิตให้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง ถึงขนาดมรรค ผล นิพพานเราภาวนาแล้วเราสามารถเอาพลังสมาธินี้ไปใช้ประโยชน์ในทางการงานทางโลกที่เรารับผิดชอบอยู่ เพราะการทำสมาธิทำให้ผู้ภาวนามีสติ สัมปชัญญะ มีจิตเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ภาวนามีสมาธิดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะดีแล้ว ก็สามารถให้พลังสมาธิของตัวเองเป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี พลังของสมาธิ และสติปัญญาที่ท่านอบรมมาแล้วนั้น จะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความรู้สึกของท่านให้เป็นผู้ไม่ประมาท ทั้งการงานทางโลกและทางธรรม อันนี้จึงจะเป็นไปโดยถูกต้อง
ถ้าภาวนาแล้วจิตมีสมาธิ แล้วทำให้เบื่อหน่ายโลก ไม่อยากอยู่กับโลก ไม่อยากอยู่กับครอบครัว อันนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และความเห็นอันนั้นไม่ใช่มันเป็นไปด้วยอำนาจของจิตใจ แต่หากมีอำนาจสิ่งหนึ่งมาคอยบังคับจิตให้มีความรู้สึกเป็นไปเช่นนั้น โลกนี้ไม่ใช่โลกที่น่าเบื่อหน่าย โลกนี้ไม่ใช่โลกว่ามันน่าเกลียดน่าชัง โลกนี้เป็นโลกที่ทุกคนควรจะศึกษาให้รู้จักข้อเท็จจริงของความเป็นไปของโลก ในเมื่อเราเป็นนักปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้จักข้อเท็จจริงของโลกว่ามันเป็นอย่างไร และไม่รู้สภาพความเป็นจริงของจิตใจของตัวเองว่าเป็นอย่างไร มันมีความติดอยู่ในโลกอย่างไร ผูกพันอยู่ในโลกอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาภายในจิตของเราได้
ถาม
ขณะที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตจับอยู่ที่เสียง ก็รู้สึกว่าเป็นสมาธิดี แต่จิตมิได้จับอยู่ที่เนื้อความที่หลวงพ่อเทศน์ อย่างนี้ขอให้หลวงพ่ออธิบายด้วยว่าการทำสมาธิของผู้ถามได้ผลหรือไม่
ตอบ
การทำสมาธิในขณะที่ฟังเทศน์ ถ้าจิตมีสมาธิแล้วไม่ได้ยึดคำบรรยายที่พูดไปเป็นแต่เพียงว่ารับรู้เฉย ๆ ไม่ได้สำคัญมั่นหมายเสียงที่ได้ยินนั้นท่านว่าอะไรบ้าง หรือบางทีเสียงที่เรา ๆ ฟัง ๆ อยู่นั้นหายไป เราไม่ได้ยิน อันนี้หมายความว่าจิตอยู่ในสมาธิ เพียงแต่สักว่ากำหนดรู้ ทีนี้ ลักษณะอย่างนี้ ถ้าหากว่าเรากำหนดจิตอยู่ในสมาธิ กำหนดดูจิตของเรานี้ ถ้าหากว่าจิตมันเกิดความคิดอะไรขึ้นมาแล้วมันสักแต่ว่าเป็นความคิด แต่มันไม่ยึดว่าเป็นความคิดนั้น ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับฟังเสียง แล้วจิตไม่ได้ยึดกับเสียงที่ได้ยิน อันนี้เป็นลักษณะของการปล่อยวางอย่างหนึ่ง
แต่ว่าถ้าพูดถึงความเข้าใจแล้ว มิใช่ว่าจิตมันไม่เข้าใจ มันเข้าใจซึ้งๆ อยู่ในท่าทีของมัน แต่มันไม่ได้เข้าใจในลักษณะที่ว่าสามารถจำได้ อธิบายได้ แม้ว่าจิตมันเกิดความรู้อะไรขึ้นมาภายในก็ตาม มันเกิดขึ้นมาแล้ว สักแต่ว่าเป็นความคิดแล้วมันไม่ยึด มันก็มีแต่ความวางเฉยอย่างเดียว ความวางเฉยอันนี้ไม่ใช่ว่าเฉยไม่รู้ไม่ชี้ แต่มันมีลักษณะรู้ซึ้ง ๆ อยู่ในตัว
อันนี้ต้องสังเกตดูให้ดี บางทีเราอาจจะเคยทำสมาธิบริกรรมภาวนามา จิตมันสงบ สว่าง มีวิตก วิจาร มีปีติ สุข เอกัคคตา ตามหลักขององค์ฌาน แต่ในเมื่อทำไป ทำไปแล้ว คือในขั้นต้นนี้ พอนึกถึงอารมณ์เรียกว่า วิตก จิตเคล้ากับอารมณ์เรียกว่า วิจาร แล้วมันเกิดปีติเราก็รู้ เกิดสุขเราก็รู้ ทีนี้มันเกิดความเป็นหนึ่งคือ ความสงบ เราก็รู้ รู้ไปเป็นขั้นตอน แต่เมื่อทำหนักๆ เข้าแล้ว กำหนดจิตพั๊บลงไปนึกพุทโธ ๆ ๆ จิตมันสงบพรวดลงไปเลย ไม่สามารถจะกำหนดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาได้ถนัด อันนี้เป็นความคล่องแคล่วของจิต เป็นความชำนาญของจิตเพราะมันเป็นแล้วมันก็วิ่งเร็ว ในเมื่อมันยังไม่เป็น มันก็รู้ไปตามขั้นตอน อันนี้บางท่านอาจจะคิดว่าภาวนาเมื่อก่อนนี้ จิตทำไมมันสงบ นิ่ง สว่าง เยือกเย็นดีหนักหนา แต่เดี๋ยวนี้ทำไมมันไม่สงบ พอกำหนดจิตลงไปแล้ว มันมีแต่ความรู้เกิดขึ้น มีแต่ความคิดบางท่านก็เข้าใจผิดว่าจิตของตัวเองฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริงแล้วมันเกิดปัญญา
ทีนี้ข้อสังเกตมันมีอยู่อย่างนี้ แต่ก่อนจิตเคยมีความยินดี มีความยินร้าย มันมีความคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ความคิดอันนั้นไม่สามารถที่จะดึงเอาจิตของเราไปให้มีอาการเป็นอย่างนั้นได้ จริงอยู่ในสภาพปกติสักแต่ว่าสัมผัสรู้ ทีนี้ตามรู้ไป ๆ ๆ เพราะจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก มันอาจจะเกิดความสงบละเอียดลงไปแล้ว ความรู้สามารถที่จะพรั่งพรูออกมา เราสังเกตดูว่าความรู้ในขั้นนี้ มันไม่เกิดความยินดี มันไม่เกิดความยินร้าย ไม่มีดีใจ ไม่มีเสียใจ มีแต่ความปกติของจิต จิตอยู่อย่างสบาย มีความสุข มีความแช่มชื่น ในความรู้นั้น อันนี้เป็นปัญญามันเกิด
ถาม
การทำสมาธิมานานปี หากยังไม่เห็นนิมิตต่าง ๆ อย่างผู้อื่นนั้น เป็นเพราะทำสมาธิไม่ถูกต้องตามวิธีใช่ไหม
ตอบ
เรื่องของนิมิต มันจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีกำลังใจอ่อน มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ยิ่งคนใจอ่อนอยากเห็นนิมิตง่าย ๆ พอนั่งบริกรรมลง พอจิตเริ่มเคลิ้ม ๆ ไปแล้ว ส่งกระแสจิตออกข้างนอกแล้วจะเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ แต่ขอบอกว่า การเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ นั้นไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกจากจะทำให้จิตของเรามันหลง การภาวนานั้นจะมีนิมิตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม อย่าไปใฝ่ฝันในนิมิตนั้น ๆ ความมุ่งหมายของการภาวนานี้ ให้จิตสงบลงไปเพื่อจะให้รู้เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตของเราว่ามันเป็นอย่างไร
ทีแรกเห็นความฟุ้งซ่านของจิตก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว เห็นลักษณะจิตที่สงบว่าง ๆ ไม่มีอะไร เราอาจจะได้รู้ความเป็นจริงของจิตดั้งเดิม ในลักษณะที่ว่าจิตเป็นธรรมชาติ ปภัสสร คือ จิตดั้งเดิมของเรา ทีนี้ ในเมื่อจิตมันอยู่ว่าง ๆ เป็นธรรมชาติประภัสสรนั้น มีความรู้สึกสบายไหม มีความรู้สึกทุกข์ไหม เมื่อจิตมันออกเป็นสภาวะอย่างนั้น มันรับรู้อารมณ์แล้ว มันยึดไหม มีความทุกข์ไหม ฟุ้งซ่านไหม เดือดร้อนไหม ให้รู้ให้เห็นที่ตรงนี้
เรื่องนิมิตต่าง ๆ นั้น จะเห็นหรือไม่เห็นไม่สำคัญ แต่ถ้าใครจะเห็นได้ก็ดี ถ้าไม่เห็นก็ไม่ต้องเสียใจ อย่าไปปรารถนาจะเป็นนิมิตเป็นภาพอะไรต่ออะไรอย่างนั้น มันเป็นเพียงทางผ่านของจิตเท่านั้น จะรู้เห็นก็ตาม ขอให้มีจิตสงบรู้สภาพความเป็นจริงของจิต และอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต มีสติรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตพอแล้ว ปัญหาของผู้ถามนี้ โดยปกติแล้วปฏิบัติวันละ ๒๐- ๓๐ นาที อันนี้ขอเสนอว่ายังน้อยไป ขอให้ตั้งปณิธานไว้ว่า วันหนึ่งจะนั่งสมาธิได้วันละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ชั่วโมง ถ้าได้อย่างนั้นเป็นดีที่สุด และจิตจะสงบรู้ธรรม เป็นธรรมง่าย
ถาม
การบริกรรมภาวนาโดยทั่ว ๆ ไป หากจะเปลี่ยนไปจากพุทโธแล้วมายุบหนอ พองหนอ จะได้หรือไม่
ตอบ
พูดถึงคำภาวนาทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าคำไหนได้ทั้งนั้น เป็นแต่เพียงเครื่องล่อให้จิตเข้าไปยึดอยู่ในคำๆ นั้น ดังที่ได้อธิบายให้ฟังแล้วในตอนเทศน์ จะเป็นคำพูดคำไหนก็ได้ ทีนี้เราจะมาพุทโธ แล้วจะมาเปลี่ยนเป็นยุบหนอพองหนอ แล้วแต่จังหวะ หรือเราอาจจะหาคำอื่นที่เราคิดว่าดีกว่านี้มาก็ได้ ขอให้เป็นคำบริกรรมภาวนาก็แล้วกัน ไม่เป็นการผิด หรือท่านจะตำหนิว่าเปลี่ยนบ่อย ๆ นัก ทำให้จิตมันเปลี่ยนความรู้สึกอยู่เรื่อย จิตมันจะไม่สงบ ถ้าท่านสงสัยอย่างนั้น ก็เอามันสักอย่างเดียว จะเป็นคำไหนก็ได้ ทำอย่างจริงจัง โดยปราศจากความสงสัย นึกว่าคำ บริกรรมนี้จะทำให้จิตสงบ แล้วก็ว่ากันไปจะเอาพุทโธ ๆ อย่างเดียวก็ได้ ยุบหนอพองหนอก็ได้ทั้งนั้น
ถาม
นั่งสมาธิแล้วชา
ตอบ
อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของกายที่นั่งนาน ๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวดหรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุด เปลี่ยนอิริยาบถ สมาธิเป็นกิริยาของจิต เรากำหนดจิตอย่างเดียวยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นการบริหารร่างกายตามหลักสุขภาพพลานามัย ซึ่งผู้ที่เรียนมาทางฝ่ายหมอย่อมจะเข้าใจอยู่แล้ว
ทีนี้เราจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ จิตสมาธิเป็นกริยาของจิตอย่างเดียว การยืน เดิน นั่ง นอน เราแสดงท่าประกอบเท่านั้น นั่งขัดสมาธิก็เรียกว่า นั่งสมาธิ การเดินจงกรมเรียกว่า เดินสมาธิ ยืนกำหนดจิตเรียกว่ายืนสมาธิ นอนกำหนดจิตเรียกว่านอนทำสมาธิ ในเวลานอนได้ ถ้านอนลงไปแล้วกำหนดจิตพิจารณาอารมณ์อะไรก็ได้ที่เราจะยกเป็นเครื่องพิจารณาพิจารณาไปจนกระทั่งนอนหลับ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นในขณะที่หลับ กายเราก็จะเบาจิตเราก็จะเบา เป็นการพักผ่อนอย่างมีประโยชน์ที่สุด แต่ความรู้สึกนั้นอาจจะนึกว่า คืนนี้เรานอนไม่หลับทั้งคืน
สมาธิคือ การนอนหลับ อาการที่จิตก้าวลงสู่สมาธิในขั้นแรกคือ การนอนหลับ พอนอนหลับสนิทแล้ว สติมันตื่นขึ้นภายในกลายเป็นสมาธิ การทำสมาธิในเวลานอนนี้รู้สึกว่าง่ายในขณะที่นั่ง พยายามทำให้บ่อย ๆ ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ หรือพิจารณาอะไรก็ตาม มันช่วยให้เรานอนหลับเร็วขึ้น ในเมื่อหลับเร็ว ๆ ขึ้น เราก็ทำกันอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งจิตมันชำนิชำนาญแล้วภายหลังการหลับ มันจะกลายเป็นสมาธิขึ้นมาเอง อยู่ที่การพยายามอย่างเดียว
การทำสมาธิ ดังที่อาตมาได้เสนอแนะไปนี้ ได้ทดสอบมาแล้วสำหรับท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายนี้ ที่ท่านตั้งใจทำจริง ในที่นี้ ในโรงพยาบาลนี้ก็มีบางท่านไปเล่าให้ฟังกัน ท่านภาวนา พุทโธ ๆ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง ก็ไม่ได้ผล ภายหลังท่านมาเปลี่ยนเป็นว่าวิตกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว เอาสิ่งนั้นมาพิจารณาแม้เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับธรรมะก็ตาม ท่านสามารถทำจิตให้สงบ มีปีติ มีความสุขขึ้นมาได้
แล้วภายหลังก็ไปถามพระ ไปถามพระภาวนาพุทโธ ท่านก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ถูก ทำอย่างของอาตมานี้ถึงจะถูก ไปถามยุบหนอพองหนอก็ว่า โอ้ย อันนั้นมันทางโค้ง ไม่ตรง ของอาตมานี้สำเร็จ ไปถามที่สัมมาอรหัง ก็ไปแนะนำให้ไปสร้างดวงแก้วดวงแหวน ผมก็ทำไม่ได้ แล้วมันก็มีข้อสงสัยขึ้นมาว่าทำไมพระจึงรู้ไม่เหมือนกัน ท่านผู้นั้นไปถามว่าทำไมพระจึงรู้ไม่เหมือนกัน ในเมื่อทำสมาธิเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาแล้ว พระรู้แตกต่างกันก็แสดงว่าธรรมะไม่จริง สมาธิก็ไม่จริง คนปฏิบัติจึงรู้ต่างกัน เห็นต่างกัน
หลวงพ่อก็เลยไม่รู้ว่าอย่างไร ก็เลยตอบท่านผู้นั้นไปว่า พระที่ท่านไปถามนั้น ภาวนาไม่เป็น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ท่านไม่ต้องไปเชื่อใครแล้ว สมาธิของท่านที่เล่าให้ฟังนี้ เป็นสมาธิที่วิเศษที่สุด นักสังคม นักธุรกิจ นักการงาน นักวิชาการทั้งหลายทั้งปวง ถ้าปฏิบัติได้อย่างท่านนี้วิเศษที่สุดเลย สมาธิอันนี้จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การสร้างให้โลกเจริญ พวกที่นั่งหลับตาไม่เอาไหน มองมาแต่ข้างนอกมีอุปสรรคขัดขวาง นั่นแหละสมาธิแบบนั้นจะทำให้โลกเสื่อม อย่าเอาเป็นตัวอย่างเลย
เพราะฉะนั้น เอาเรื่องปัจจุบันนี้ที่เรารับผิดชอบอยู่นี้ วิชาที่เรียนมาอะไรก็ได้ วิชาพยาบาล วิชาแพทย์ ใครเคยผ่าตัด วิจัยร่างกาย ซากศพอะไรนี้ เอาสิ่งนั้นมาพิจารณา พิจารณาเรื่องของกายก็เรียกว่า กายคตาสติ พระสงฆ์ท่านว่า หะทะยัง หัวใจ ปัพผาสัง ปอด ท่านไม่ได้รู้เป็นอย่างพวกท่านหรอก พวกท่านเป็นคุณหมอนี้เอาหัวใจ เอาปอด เอาตับไตไส้พุงมาผ่าวิจัย จนกระทั่งเส้นเล็กเส้นน้อยมันอยู่อย่างไร ท่านรู้ละเอียดกว่าพระ แม้หลับตาลงไปเดี๋ยวนี้ก็มองเห็นแล้ว สิ่งใดที่มองเห็น ให้เพ่งจิตมองดู พิจารณาในสิ่งนั้นให้ละเอียดลงไปจนกระทั่งจิตมันคล่องต่อการพิจารณา แล้วมันจะได้ผลขึ้นมาเอง
เรื่องธรรมะที่ท่านเขียนในพระอภิธรรมว่า จิต ๘๙ ดวง ๑๒๑ ดวง โลภะมูล ๘ โทสะมูล ๒ โมหะมูล ๒ อะไรนี้ อย่าไปไล่อย่าไปนับมัน เอาแต่เพียงว่าอารมณ์รูป ที่มันผ่านเข้ามาทางนี้ เราจะไม่ให้รูปมันบดขยี้หัวใจเราได้อย่างไร เสียงที่มาทางหูนี้ เราจะป้องกันอย่างไร จะไม่ให้มันเป็นโจรขโมยความปกติของใจเราได้ เอากันที่ตรงนี้ แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามันมีชื่ออะไรก็ช่าง แก้ไขปัญหาหัวใจให้มีความสุข ความสบาย ทำงานได้สะดวกคล่องแคล่ว
นี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความรู้ที่จะไปนับว่าอันนี้มีเท่านั้น อันนี้มีเท่านี้ เออ ! ถ้าอยากขึ้นเทศน์กินเครื่องกัณฑ์อย่างอาตมานี้ ควรจะไปท่องหน่อย อย่างพวกท่านนี้ อย่าไปสนใจเลย เอากันเพียงว่าให้มันรู้ทันเหตุการณ์ ทั้งภายนอก และภายใน ใช้ได้แล้ว
ถาม
ที่ทำสมาธิแล้วต้องทำงานในโลกได้ แต่ขณะกำลังศึกษาอยู่นั้น ถ้ามีโอกาสได้วิเวก โดยละการงานชั่วคราวที่ทำให้ศึกษาได้ผลเร็วขึ้นกว่าการศึกษาในการงานในข้อนี้จริงหรือไม่
ตอบ
อันนี้ อาตมาจะขอเล่าเรื่องในสมัยที่เป็นนักเรียน ทำสมาธิในขณะที่เป็นนักเรียนพอเลิกจากโรงเรียนแล้ว เวลาทำสมาธิไหว้พระสวดมนต์เสร็จ ไม่ได้บริกรรมภาวนาอย่างที่ว่า เอาบทที่เราเรียนผ่านมาในวันนั้น มาคิดมาพิจารณา ทีนี้ถ้าสิ่งใดเราคิดไม่ออก เราก็จดบันทึกเอาไว้ แล้วก็คิดอันใหม่ต่อไป อาตมาเคยปฏิบัติแบบนี้ในขณะที่ศึกษาอยู่ แล้วก็บางครั้งก็สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เหมือนกัน เป็นสมาธิได้จนขนาดที่ว่า ก่อนหน้าวันที่จะสอบเกิดนิมิตขึ้นมา ได้รู้ได้เห็นข้อสอบขึ้น ตอนสอบเปรียญประโยค ๓ นี้ ได้ข้อสอบทั้ง ๒ วิชา คือ วิชาแปล และวิชาสัมพันธ์ เพราะอาศัยการทำสมาธิ
ทีนี้การทำสมาธิในขณะที่ศึกษานี้ เราก็เอาหลักวิชาของเรานี้แหละมาเป็นหลักกัมมัฎฐาน เช่น อย่างสมมติว่าเราจะเรียนวิชาอะไรในวันนี้ พอเลิกจากโรงเรียนมาแล้ว เวลาเราหาที่สงบ เวลาค่ำคืนมา หลังจากอ่านหนังสือดูหนังสือแล้ว หรือเราจะเอาเรื่องที่เราอ่านหนังสือดูหนังสือในวันนั้น มากำหนดพิจารณาตามที่เราได้อ่านได้เรียนมา เอาหลักวิชาการของเราที่ได้เรียนมาเป็นอารมณ์ของกัมมัฎฐาน ก็เป็นการปฏิบัติกัมมัฎฐานเหมือนกัน ได้ผลดี ถ้าหากถือโอกาสเวลาว่าง ๆ จากการเรียน เช่น โรงเรียนปิดเทอมจะถือโอกาสไปบวช หรือว่าไม่บวชก็ตาม ไปหาที่สงบวิเวกที่มีครูบาอาจารย์แนะนำจะไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดผลดีขึ้น
ถาม
ฝึกสมาธิอยู่ ๒ ปี นิสัยก็เปลี่ยน คือ ชอบอยู่ตามลำพัง อ่านหนังสือธรรมะอาการอย่างนี้คือ กำลังจะเป็นบ้าใช่ไหม
ตอบ
การทำสมาธิในขั้นต้น ๆ ในเมื่อจิตรู้สึกจะสงบลงไปบ้าง จิตมันติดความสงบ มันชอบอยู่เงียบ ๆ คนเดียว เป็นเรื่องของธรรมดาอันนี้ไม่ใช่กำลังจะบ้าหรอก เป็นธรรมชาติของจิตสงบ มันเป็นอย่างนั้นทีนี้ในตอนต้น ๆ นี้มันสงบแล้ว มันจะต้องเข้ามาในตัวนี้ มันไม่ออกไปข้างนอก ตอนนี้มันยังไม่มีปัญญาแตกฉาน ต่อเมื่อมันมีปัญญาแตกฉาน เราเท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วมันจะออกไปมองดูข้างนอก
เรื่องของข้างนอกนี้ จิตใจขั้นวิปัสสนากัมมัฎฐานนี้ จะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้วุ่นวาย มันเป็นเรื่องที่น่าศึกษาให้รู้ข้อเท็จจริง เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวะเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำให้จิตรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอนิจจัง อนัตตา ทั้งนั้น ในขั้นนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ก่อน
ถาม
จิต สติ และสัมปชัญญะคืออะไร
ตอบ
จิต คือ รู้สึก รู้นึก รู้คิด ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว สติ คือ ธรรมชาติที่ระลึก และความตั้งใจ ในเมื่อตั้งใจแล้ว มีความรู้พร้อม ความรู้พร้อมเป็นลักษณะของสติสัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะบวกกันเข้าเกิดมีพลังแก่กล้าขึ้น กลายไปเป็นปัญหา เมื่อเกิดไปเป็นปัญหาแล้วก็เกิดเป็นภูมิความรู้ขึ้นมา ทีนี้ปัญญาภูมิความรู้นี้เป็นเหตุให้เกิดวิชา ถ้าเกิดวิชาความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ข้อเท็จจริง ในความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เรียกว่า วิชชา อย่างในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
ในเมื่อจิตหยั่งรู้ถึงธรรมแล้ว จักขุง อุทปาทิ จักษุ บังเกิดขึ้น ในเมื่อจักษุบังเกิดขึ้น ญานัง อุทปาทิ ญาณหยั่งรู้ก็เกิดขึ้น ในเมื่อญาณหยั่งรู้เกิดขึ้น ปัญญา อุทปาทิ ปัญญาก็เกิดขึ้น ทีนี้ปัญญาความรู้มันไม่มีขอบเขต มันรู้มาก ๆ ทีนี้ความรู้ทัน ความรู้แจ้ง จริงในความรู้นั้น ตามข้อเท็จจริงเรียกว่า วิชชา อุทปาทิ ในเมื่อวิชชาบังเกิดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ จิตเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเบิกบานอย่างเต็มที่ แล้วก็เข้าไปสู่ความสงบ อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างไสวบังเกิดขึ้น อันนี้ตามหลักธรรมจักกัปปวัตรตนสูตร
ถาม
จิตตกใจกลัวและตกใจง่าย ดิฉันพึงจะปฏิบัติ มันคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมดาเป็นสิ่งลึกลับ
ตอบ
อันนี้ การปฏิบัติบางอย่าง ถ้าหากเราไปศึกษาตามแบบชนิดที่เรียกว่า ไปขอพลัง หรือไปเชิญอะไรสักอย่างหนึ่งมาให้ช่วยจิตให้มันเป็นไปได้เร็วในทำนองนั้น อันนี้มันมักจะวิตกกังวลว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาสิงสู่ภายในใจ แล้วทำให้จิตใจนี้เกิดมีความหวาดกลัว อันนี้เคยเจออยู่บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจจะทำสมาธิที่ให้เกิดประโยชน์กันจริง ๆ นี้ ถ้าจะพยายามเลือกเฟ้นหาครูบาอาจารย์ที่สอนในทางที่ถูกต้องบ้างก็จะดี เช่นอย่างบางครั้งไปหลงเชื่อให้เขาไปลงกระหม่อม แล้วก็ไปยกครูอะไรขึ้นมาภาวนา แล้วก็เสียสติ มีการเข้าเจ้าทรงผี ไปในทำนองนั้น มันไม่ถูกทาง
อันตรายของนักปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ผู้ที่ทำไปนั้นไม่ทราบว่าท่านมุ่งผลประโยชน์อันใด ไม่ขอวิจารณ์ แต่ว่าการที่ไปเรียนสมาธิแบบเหมือนกับเรียนไสยศาสตร์กันเป็นการไม่ถูกต้อง อาจารย์ของอาตมานี้เคยสอนคน แต่ท่านสอนแต่ฆราวาส และฆราวาสนี้ก็สอนแต่โยมผู้ชาย โยมผู้หญิง เรียกว่าสอนธรรมะพระไตร ใครภาวนาเป็นแล้วมีสมรรถภาพในการขับไล่ผี คนที่ถือผีถือสางนี้เอาไปทำน้ำมนต์ขับไล่แล้วเลิกถือผีถือสางหมด แต่ว่า ภาวนาแล้วปีติแรงขึ้น พอภาวนาตอนแรก ๆ นี้นึก พุทโธ ๆ ๆ ในใจ พอเกิดปีติขึ้นมาแล้ว จะมีเสียงพุทโธ ๆ ดังก้องออกมา พอดังออกมาแล้วยังเหลือแต่ โธ ๆ ๆ ๆ คำเดียว พอเงียบ โธ ลงไปแล้วไม่สวดปาฎิโมกข์ ก็ต้องสวดมนต์ ไม่สวดมนต์ก็ต้องแสดงธรรม แต่อันนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ภาวนาแล้วเกิดเสียสติ เอาไปใช้ประโยชน์ในทางช่วยคนที่เขาถูกผีรบกวนอะไรได้
ถาม
การหลับตาเพ่งระยะหนึ่ง จิตเห็นดวงไฟสีแดงปรากฏชัด จึงเพ่งดูต่อไป แต่แล้วนาน ๆ เข้าดวงไฟสีแดงนี้ค่อย ๆ หายไป เมื่อหายไปแล้วเพ่งอีก ก็ไม่เห็นดวงไฟที่กล่าวนี้เลยอยากทราบว่า ที่เห็นดวงไฟสีแดงนี้คืออะไร
ตอบ
การหลับตาเพ่ง ในเมื่อหลับตาเพ่งลงไปแล้ว มองเห็นดวงไฟ ๆ นี้ มันเกิดความรู้สึกเห็นในชั่วขณะหนึ่ง เช่น เราอาจจะมองดูแสงสว่าง หรือดวงสว่าง อันใดอันหนึ่งในเมื่อเรามองดูแล้ว เราหลับตาลงไปชั่วขณะนั้น เราอาจมองเห็นดวงอันนั้นอยู่ เช่น อย่างไฟ เป็นต้น
ทีนี้ภายหลังในเมื่อเราเพ่งดูอีกมันก็หายไป อันนี้การเพ่งดวงไฟ ดังที่ว่านี้ ถ้าจะว่าเป็นดวงนิมิตมันก็ยังไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเรามองดูอะไรนาน ๆ สักอย่างหนึ่ง เช่น ดูดวงไฟนี้ ที่สว่างอยู่นี้ พอดูสักนาทีหรือครึ่งนาที พอหลับตาพักลงไปเท่านั้น มันจะมองเห็นเป็นดวงสวางสุกอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดา ถ้าจะว่าเป็นสมาธิก็เป็นขณิกสมาธิ
ทีนี้ความสว่างตามความหมายแห่งองค์ประกอบของสมาธินั้น ในตอนแรก ๆ มันก็อาจจะสว่างขึ้นมาเป็นดวงเหมือนดวงไฟ สำหรับดวงสว่างซึ่งมันผ่านเข้ามาเป็นวับ ๆ แวบ ๆ ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการภาวนาที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ทีนี้ในเมื่อจิตมันสงบนิ่งลงไปเป็นสมาธิ เริ่มตั้งแต่อุปจารสมาธิ หรือเรียกว่าสมาธิมันเดินตามองค์ของฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นั้น
เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าจิตสงบหรือแสงสว่าง ๆ ภายในจิต อันนี้เป็นส่วนประกอบ ความสว่างอันนี้ผิดแผกจากดวงที่เรามองเห็นทีนี้ถ้าหากว่าจิตเริ่มสงบในตอนแรก ๆ นี้ พอสงบลงไปพอรู้สึกสงบเท่านั้นแหละ แล้วกระแสจิตของเราส่งกระแสออกไปไกลๆ โน้น เราอาจจะมองเห็นแสงเป็นจุดในตอนนั้น จิตของเราสงบแล้วมันพุ่งไปข้างหน้า แล้วไปเกิดสว่างอยู่ข้างหน้า นี้เป็นสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าจิตของเราเริ่มสงบเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าหากจิตสงบ ๆ ละเอียดยิ่งเข้าไป ๆ แล้วแสงสว่างที่เรามองเห็นอยู่ไกลนั้นมันจะหดเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงตัวเรา ในเมื่อมาถึงตัวเราแล้ว จิตสงบละเอียดวูบลงไปเกิดสว่างโพลงขึ้นมา จิตเริ่มมีสมาธิ ถ้าหากสมาธิอันนี้ยังรู้สึกว่ามีตัวปรากฏอยู่ เป็นสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าปรากฏว่าตัวหายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่งสว่างอยู่ อันนั้นเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ
สมาธิขั้นอัปปนาในขั้นต้นนี้ มันเป็นแต่เพียงปฐมจิต ปฐมวิญญาณ ปฐมสมาธิ เป็น อุคคหนิมิต ทีนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกหัดเข้าออกสมาธิให้ชำนิชำนาญตามองค์ญาณนั้น จึงจะนำสมาธินั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ในการพิจารณาให้ชำนิชำนาญตามองค์ญาณนั้น จึงจะนำสมาธินั้นไปใช้ประโยชน์ได้ในการพิจารณาวิปัสสนาในขั้นต่อไปได้อย่างชำนิชำนาญ อันนี้ขอให้ท่านพึงสังเกตเรื่อย ๆ ไป
จันทร์ 05 ม.ค. 2009 6:27 pm
ขอบคุณครับ ดีมากๆเลย
ยิ่งทำสมาธิตอนนอนนี้ได้หลับดีก็ถือว่าดีอย่างหนึ่งแล้ว เพื่อไปอีกอย่างหนึ่ง
ว่าจะไม่โพสต่อนะครับไว้เป็นบทความที่ดีแต่อดชื่นชมไม่ได้
- แนบไฟล์
-
- 001[1].gif (5.74 KiB) เปิดดู 1119 ครั้ง
อังคาร 06 ม.ค. 2009 1:13 am
ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ โพสท์มาก็เป็นกำลังใจที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกันครับผม
อังคาร 06 ม.ค. 2009 1:29 am
- 15_1231006209.gif (4.74 KiB) เปิดดู 1107 ครั้ง
เป็นกำลังใจให้ก่อนครับ ถึงแม้ว่าผมจะยังอ่านไม่จบ
คือมันอ่านแล้วต้องคิดตามน่ะครับ...ไม่ชอบอ่านผ่านๆ
พูดอย่างนี้ห้ามว่ากันนะครับเฮีย...
อังคาร 06 ม.ค. 2009 2:29 am
ไม่ว่าหรอกครับ พูดตรง ๆ อย่างนี้สิครับ ดี ดี ... หึ !!
- re1.jpg (36.99 KiB) เปิดดู 1098 ครั้ง
อังคาร 06 ม.ค. 2009 10:45 am
ชื่นชมและเป็นกำลังใจดีๆให้เสมอครับ
อังคาร 06 ม.ค. 2009 12:17 pm
อังคาร 06 ม.ค. 2009 1:18 pm
ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมทรรศนะ คือ แก่นสารที่แท้จริงของ นวรัตน์ดอทคอม
คริ คริ คริ
ในที่สุดก็มีสาระซะที
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.