เป็นเรื่องที่น่าขบคิดพิจารณาว่า ทั้ง ๆ ที่สิ่งสำคัญยิ่งที่ทุกชีวิตต้องการนั้นก็คือความสุข แต่คนเราโดยมากกลับไม่ค่อยได้ขวนขวายศึกษาให้เข้าใจในเรื่องความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความสามารถในการมีความสุข ข้าพเจ้าเคยได้ยินคนเข้าวัดจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า “ระวังนะ หากไปนั่งสมาธิแล้วจะติดสุข บ้างก็ให้ระวังจะไปติดนิมิต เช่น แสงสว่าง เป็นต้น” ซึ่งในเรื่องนี้ หลวงปู่ก็เคยให้โอวาทว่า
“ให้ทำไปเถอะ มีให้ติด ยังดีกว่าไม่มีให้ติด"ในฐานะที่เราได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน จึงน่าจะลองฟังพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยเรื่องความสุขไว้อย่างไร จากคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
"บุคคลควรรู้จักการวินิจฉัยในความสุข เมื่อรู้จักการวินิจฉัยความสุขแล้ว ควรประกอบความสุขชนิดที่เป็นภายใน ข้อนั้นเรากล่าวเพราะอาศัยเหตุผลอะไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้ ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ห้าอย่างคือ รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยกาย เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ ภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสอันใดเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณห้าเหล่านี้ สุขโสมนัสนั้นเราเรียกว่ากามสุข อันเป็นของปุถุชน เป็นสุขทางเมถุน ไม่ใช่สุขอันประเสริฐ เรากล่าวว่าสุขนั้นบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าถึงปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน...แล้วแลอยู่ นี้เราเรียกว่าสุขอาศัยเนกขัมมะ (ความหลีกออกจากกาม) เป็นสุขเกิดแต่ความสงัดเงียบ สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบรำงับ สุขเกิดแต่ความรู้พร้อม เรากล่าวว่าสุขนั้น บุคคลควรเสพให้ทั่วถึง ควรทำให้เจริญ ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัว”
จึงเป็นอันว่าการที่หลวงปู่สอนให้ลูกศิษย์หมั่นนั่งสมาธิภาวนานั้น สอดคล้องกับพระพุทธดำรัสข้างต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อจะพัฒนาความสามารถในการมีความสุขจากสุขแบบเสี่ยง ๆ กล่าวคือความสุขที่ต้องขึ้นกับวัตถุหรือสิ่งเสพภายนอก มาเป็นสุขในภายในหรือสุขจากสมาธิ ซึ่งเป็นสุขชนิดที่ไม่ขึ้นกับวัตถุหรือสิ่งเสพภายนอก เพื่อให้จิตใจของเรามีความอิ่มความพอ ไม่โหยหาอารมณ์หรือสิ่งเสพ ก่อนจะพัฒนาความสุขให้ประณีตยิ่งขึ้นไปสู่บรมสุขคือสุขจากการที่ไม่มีกิเลสมาเสียดแทงจิตใจ