Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๒

พุธ 14 ม.ค. 2009 8:41 pm

เขมปัตโต 2.jpg
เขมปัตโต 2.jpg (7.39 KiB) เปิดดู 1023 ครั้ง

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร


คำถาม
พระอานาปานสติเฉพาะตัวหลวงปู่มีเคล็ดหรืออุบายอย่างไรบ้าง เพื่อความงอกงามของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ญาณทัสนะเป็นพิเศษ

คำตอบ
พระอานาปานสติมีเคล็ดมาก พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่นลงมารวมในอานาปานสติได้ไม่ลำบากเพราะเป็นกองทัพที่มีกำลังมาก ยกอุทาหรณ์ เช่นเราจะพิจารณา "พุทโธ" ก็คุณของพุทโธก็ดี ธัมโม สังโฆก็ดีกลมกลืนกันกับพุทโธอยู่แล้วคล้ายเชือก ๓ เกลียวและก็มีอยู่ (พระคุณ) ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย ข้ออื่นยังมีอยู่อีกเช่น สกลกาย สกลใจก็ดีที่เรียกว่ากองนามรูปก็มีอยู่ทุกลมหายใจอีกด้วย ข้ออื่นมีอยู่อีกเช่นไตรลักษณ์ก็มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย แม้พระนิพพานอันทรงอยู่มีอยู่จะเหนือผู้รู้ขึ้นไปก็ตาม ก็ทรงมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้งสังขาร และวิสังขารมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว เราก็ไม่ได้ส่งส่ายหาธรรมทั้งปวงเพราะแม่เหล็กดีย่อมดึงเข็มทิศชี้ไปหา สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคนทั้งนั้น เพราะพระบรมศาสดาไม่ได้สอนให้พวกเราโง่ ธรรมบทเดียวก็ส่งต่อพระนิพพานได้ทั้งนั้น แม้ศีล สมาธิ ปัญญาหรือวิมุตติที่เรียกว่าไตรสิกขาก็มีความหมายอันเดียวกันกับแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั่นเอง ญาณทัสนะเป็นพิเศษนั้นคืดเห็นตามเป็นจริงในขณะนั้น รู้ตามเป็นจริงในขณะนั้น ไม่สำคัญตัวว่าเป็นเราเขาในขณะนั้น อุปาทานก็แตกกระเจิงไปเอง ไม่ได้ต้องทำท่าทำทางให้แตก

คำถาม
การปฏิบัติกรรมฐานแบบฝึกหัดเริ่มต้น หากเรานั่งกำหนดจิตอยู่ที่ "พุทโธ" และลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่หูก็ยังคงได้ยินสิ่งที่มากระทบจากภายนอกอยู่บ้าง อันนี้ถือว่าจิตลงถึงความสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และตอนช่วงระยะที่นั่งฝึกไปนั้นลมหายใจที่เรากำหนดอยู่ได้เริ่มเบาลงทุกที ๆ กระทั่งแทบจะไม่มีนั้น ถึงจุดนี้ถือว่าจิตสงบเป็นสมาธิหรือยังครับและหากถึงตรงจุดนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปครับ

คำตอบ
การที่เราภาวนาลมละเอียดเข้าไป แต่ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมหายใจเข้าออก ก็รู้ชัดพร้อมกันกับเสียงที่มากระทบอันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อละเอียดเข้าไป เบาเข้าไป อันนั้นละเอียดกว่าอุปจารสมาธิลงไปอีก จิตในชั้นนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ไม่ให้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมออกเข้า ละเอียดลงไปขนาดไหนก็ไม่ให้ทิ้ง จนวูบลงหรือวับลงไปไม่ปรากฏลมเสียเลย แล้วก็มีแต่ผู้รู้เบาหวิวอยู่อันนั้นเรียกว่า "ปฐมฌาน" อัปปนาสมาธิก็ว่า แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา

เมื่อถอนออกมาก็เห็นลมออกเข้าเบา ๆ อยู่ ถ้าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็เป็นเรื่องกรรมฐานแตกไป แต่ถ้าทบทวนดูว่าเอ๊ะ...จิตขนาดนี้ก็ยังถอนออกมาอยู่ แล้วพิจารณาลงสู่อนิจจังให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าต่อไปก็แปลว่ามีวิปัสสนาควบกับสมถะด้วย วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นเองเพราะเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก

เมื่อเห็นอนิจจังชัดแล้วจะเห็นทุกข์สัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียด จะเห็นสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาสัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียดอีกคล้าย ๆ กับเชือก ๓ เกลียวซึ่งกลมกลืนกันอยู่ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังพร้อมกับลมออกเข้าด้วย อันนี้เรียกว่าสติสัมปชัญญะแก่กล้าในไตรลักษณญาณคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่นั่นเอง ก็ต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นติดต่ออยู่เสมอ เมื่อถอนออกมาก็จับเข้าไปในที่นั้นให้จนได้ เพราะรู้รสรู้ชาติมันแล้ว รู้ลูกไม้ของมันอีกด้วย รู้วิธีจะเข้าไปจับมันอีกด้วย

ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าครั้งหนึ่งก็เห็นทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่ด้วย ไม่ใช่อยู่คนละเป้า ไม่ใช่อยู่คนละขณะอีกด้วย เมื่อเห็นชัดอยู่อย่างนั้นแล้วกิเลสทั้งปวงที่เคยยึดมั่นว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนก็สลายไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง ทางนี้เป็นทางพ้นทุกข์ง่ายดีกว่าจะเอานิมิตต่าง ๆ ไปอวดกัน

คำว่านิมิตก็แปลว่า "เครื่องหมาย" หมายในรูปก็เรียกรูปนิมิต หมายไว้ในนามก็เรียกว่านามนิมิต รูปก็ดี นามก็ดี เป็นเมืองขึ้นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในปัจจุบันนั้นแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีท่านผู้ใดจะพ้นความสงสัยของตนไปได้ และก็ไม่มีท่านผู้ใดจะข้ามความหลงตนไปได้อีก ซ้ำเข้าไปอีกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นคืออะไร ก็คือโลกทั้งปวง ก็คือสังขารทั้งปวง ก็คือกองทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง

เมื่อเวลาเห็นอยู่อย่างนั้นก็คือไตรสิกขานั่นเอง ก็คือศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียวนั่นเอง ก็คือผู้รู้ปัจจุบันนั่นเอง เป็นผู้รู้ตามเป็นจริงของปัจจุบัน และก็ตามเป็นจริงของอดีตของอนาคตด้วย เพราะเอาปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมเป็นพยานเอกอยู่ในตัวแล้ว ก็ข้ามพ้นความสงสัยในโลกทั้งปวงไปแล้ว ปัญหาอะไรจะเกิดมาก็ต้องเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ทั้งนั้น

อนึ่ง ผู้จะมาอวดสวรรค์ นรก หรือวัตถุนิยมอะไร ๆ ก็ตาม มันเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์อยู่แล้ว เพราะเราเห็นเองรู้เองรู้ชัดในกรรมฐานที่ตั้งไว้ด้วย จึงยืนยันว่าสันทิฎฐิโกเห็นเองได้ไม่ต้องตื่นข่าวเชื่อคนอื่นเพราะได้จิบเกลือ ไม่ต้องสงสัยว่ารสเค็มมันเป็นยังไง จะมีผู้อื่นบอกว่ารสเกลือหวานทั้งหมดโลกเราก็ไม่เชื่ออีกดังนี้ ในข้อนี้คงพอเข้าใจแล้วนะ

คำถาม
การเดินจงกรม ควรเดินอย่างไร ควรกำหนดบริกรรมหรือไม่อย่างไร...ความยาว (ก้าว) ของทางประมาณกี่เมตร เวลาเดินไปสุดทางจงกรมใช้หมุนตัวกลับแล้วเดินต่อเลยหรือไม่ ในขณะเดินจงกรมมีบางช่วงหยุดเดินแต่ยังบริกรรมอยู่ คล้ายกับรำพึงมีหรือไม่ครับ การเดินจงกรมกับนั่งสมาธิอย่างไหนดีกว่ากันครับ หลวงปู่กรุณาอธิบายโดยละเอียดด้วยครับ (ควรเดินเร็ว ช้าขนาดไหน)

คำตอบ
การเดินจงกรม ถ้าที่เดินอำนวยก็เดินไปทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก แล้วให้เข้าทางจงกรมทิศตะวันตกผินหน้ามาทางทิศตะวันออก แล้วยกมือใส่หัว ส่วนความนึกคิดก็หวังจะทำเพื่อพระนิพพานคือเจตนาที่เดินจงกรมเบื้องแรกและการเดินเอามือซ้ายเหยียดลงที่ใต้ท้องน้อยแบมือขวาหย่อนลงมาประกบกัน เงยหน้าพอดี จะก้าวขาขวาหรือซ้ายก่อนก็แล้วแต่สะดวก แต่ขอให้มีสติอยู่ว่าเราก้าวขวาหรือซ้าย ส่วนก้าวยาวหรือสั้นนั้นก็ก้าวพอดี ๆ เราดี ๆ นี้เอง

เร็วหรือช้าก็พอดีเราและก็มีตาทอดลงพอควร ทางนั้นยาวหรือสั้นข้อนี้แล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่ไม่สั้นเกินไปเพราะจะกลับวกเวียนลำบาก เวลากลับซ้ายหรือขวาก็แล้วแต่สะดวก แต่ขอให้มีสติรู้ตัวว่าเรากลับซ้ายหรือขวา เวลาเดินจะยกขาซ้ายหรือขาขวาก่อนก็ไม่เป็นปัญหาแต่ขอให้รู้ว่าเรายกขาขวาหรือขาซ้ายก่อน

โดยใจความก็คือให้สติติดอยู่กับตัวไม่ได้หลงทำ...การกำหนดบริกรรมก็บริกรรมในกรรมฐานที่เราชอบนั่นเอง ส่วนทางยาวนั้นในพระไตรปิฎก บางแห่งยาว ๖๐ ศอกก็มี แต่บางแห่งบางกรณีกอดต้นเสากุฏิเดินเวียนก็มีและก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ด้วย ที่ว่านี้หมายความว่าภิกษุณีบางองค์ ชะรอยในเวลานั้นคงจะมีการขัดข้องไม่สะดวกจึงได้กอดต้นเสาเดินหรือหากท่านขัดข้องอะไรก็ไม่บอกชัด และทางเดินจงกรมนั้นนอกจากทิศตะวันออกตรงไปทางทิศตะวันตกแล้วก็มีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สองทางเท่านั้น

ให้เข้าใจว่าถ้าที่ไม่อำนวยก็ต้องเดินไปได้ทุกทิศ เวลาเดินไปสุดทางจงกรมใช้หมุนตัวกลับแล้วเดินต่อ แต่ไม่หมุนกลับแบบทหารปึงปังหรือไม่รีบกลับ จะยืนพิจารณาอยู่บ้างก็ได้ ในขณะเดินจงกรมมีบางช่วงหยุดเดินแต่ยังบริกรรมอยู่คล้ายกับรำพึง วิธีนี้ก็มีอยู่บ้าง

การเดินจงกรมกับนั่งสมาธิจะว่าอันไหนดีกว่านั้น มันก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละราย แต่ท่านทรงสรรเสริญว่าผู้เก่งทางเดินจงกรม ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า เดินทางไกลได้ทน เพราะเป็นการบริหารอยู่ในตัว สมาธิที่เกิดขึ้นในทางเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน อาพาธก็จะมีน้อย และพระบรมศาสดาพระองค์ท่านกล่าวว่าเราตถาคตเดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี (หมายถึงนอนไม่หลับ) ภาวนาได้เสมอกันทั้งนั้น

ส่วนสาวกสาวิกาบางจำพวกบางบุคคลเก่งทางยืนภาวนา เดินภาวนา นั่งภาวนา แปลว่าได้อิริยาบถ ๓ บางบุคคลได้แต่เดินกับนั่งกับนอน (นอนไม่หลับ ส่วนหลับก็ให้เป็นเรื่องของการหลับไปซะ) บางท่านนอนภาวนาไม่ได้ พอล้มนอนลงก็หลับไปซะ ไม่นานพอห้าหรือสิบนาที มีปัญหาถามพิเศษว่า ยืน เดิน นั่ง นอน ทำชั่วได้หรือไม่ ขอตอบว่าทำชั่วได้เหมือนกันเพราะสามารถนึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกได้ เมื่อเป็นดังนี้ก็ได้ความชัดว่ายืนเดินนั่งนอนภาวนาได้ทั้งนั้น

ส่วนหลับแล้วมันเป็นเรื่องของหลับไม่ต้องปรารภ เช่นฝันว่าได้บุญมันก็ไม่ได้ ฝันว่าได้บาปมันก็ไม่ได้ แต่ฝันบางชนิดเกี่ยวกับธรรมะก็มีอยู่มาก เช่นพระบรมศาสดาฝันว่านอนผินหัวไปทางทิศเหนือ ทางหัวจรดขอบจักรวาลทางเท้าจรดขอบจักรวาล มือด้านหนึ่งก็จรดขอบจักรวาล ด้านหนึ่งอีกก็จรดขอบจักรวาล และปรากฏว่าได้เดินจงกรมในภูเขาหนอน แต่เท้าของพระองค์ไม่เปื้อนมูตรคูถและมีนกมาเคารพทั้ง ๔ ทิศ ในเวลาจวนจะสว่าง (ได้แก่พุทธบริษัททั้ง ๔ จะเคารพพระองค์ ตอนเมื่อตรัสรู้แล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนเอาตามบุญกรรมแต่ละท่าน) คงเป็นระหว่างตี ๓ แล้วพระองค์ทายตนเองว่าจะได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า แล้วก็เป็นจริงดังที่ท่านแก้เอง แปลว่าก่อนรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาหนึ่งวัน
ตอบกระทู้