ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am โพสต์: 6586
|
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ดูอะไรมันก็ดูได้ ความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่า ธรรมะ ที่จะนำมาพิจารณานี่มีแต่เรื่องของกายกับใจ เรื่องของกิเลสที่มีอยู่ในใจ ความจริงธรรมะอันเป็นอารมณ์ของจิตนี่มันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าหากว่าจิตใจถึงธรรมะแล้วดูอะไรมันก็ไม่เสียหาย
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถามหลวงปู่มั่นว่า
"ท่านมั่น อยู่แต่ป่าไปฟังเทศน์ที่ไหน ?"
พระอาจารย์มั่นท่านก็ตอบว่า
"ถ้าจิตใจมีธรรมะ อยู่ที่ไหนก็ได้ฟังธรรม"
ทำไมถึงว่าอย่างนั้น ? เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ตั้งแต่อณู ปรมาณู จนกระทั่งมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โตมันคือธรรมประเภท "สภาวธรรม"
ธรรมะประเภทสภาวธรรมนี่แหละเป็นอารมณ์จิต ถ้าหากว่าผู้ขาดสติ สติไม่เข้มแข็ง ตาเห็นรูปมันก็หลงยินดียินร้าย หูได้ยินเสียงมันก็หลงยินดียินร้าย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจนึกคิดก็หลงยินดียินร้าย พอใจ ไม่พอใจ
ความจริงมันก็แสดงปรากฏการณ์ให้เรารู้เห็นอยู่ตลอดเวลา เราดูสิ่งนี้เราทุกข์หรือเราสุข เราเห็นสิ่งนี้เรายึดมั่นถือมั่นหรือว่าเรารู้จักปล่อยวาง อันนี้คือความจริงที่ปรากฏอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจสำหรับผู้มีสติ
เพราะฉะนั้น การดูหนังดูละคร ละครที่เป็นธรรมะเขาจะสรุปลงว่า ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัวเอง ชีวิตของคนเราในโลกนี้คือตัวละครแต่ละตัว ๆ ต่างคนต่างแสดงออกตามนิสัยและความสามารถของตัวเอง
นัจจะ คีตะ วา... หมายถึงการขับร้องประโคมดนตรี ถ้าหากว่าเป็นเรื่องขับร้องประโคมดนตรี พระไปดูมันก็ล่อแหลมต่ออันตราย แต่นิยายอันใดที่เป็นบทละคร มันเป็นคติเตือนใจ เช่น ละครเรื่อง เวสสันดรชาดก อันนี้เป็นนิยายอิงธรรมะ เรื่องรามเกียรติ์นี่ก็เป็นนิยายอิงธรรมะ เป็นนิยายที่แก่แก่ที่สุด ของจีนก็สามก๊ก เป็นนิยายอิงธรรมะเหมือนกัน มีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พร้อมหมดในเรื่องนั้น ในเวสสันดรชาดก ก็มีเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย มีพร้อมหมด ถ้าเรื่องอย่างนี้พระดูก็ไม่เสียหาย
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
_________________ ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน
|
|