Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ลักษณะของคนไม่ยากจน

อังคาร 28 ม.ค. 2014 5:48 am

**ลักษณะคนที่ไม่ยากจน**

1. มีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน

2. มีศีลเป็นศีลที่งดงาม เป็นศีลที่พระอริยะพอใจสรรเสริญ

3. มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์

4. มีความเห็นเที่ยงตรง ( คือเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม )

ความเชื่อในตถาคตของผู้ใด ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ศีลของผู้ใดเป็นศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยพอใจสรรเสริญ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ของผู้ใด มีอยู่ และความเห็นของผู้ใด เป็นความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า "ผู้ไม่ยากจน" ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นหมัน ( คือไม่เปล่าจากสาระประโยชน์ )

เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา รำลึกถึงพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบไว้เสมอ ซึ่งความเชื่อ ( ในตถาคต ) ซึ่งศีล ซึ่งความเลื่อมใส ( ในพระสงฆ์ ) และความเห็นธรรมให้เนืองๆ



"...วิธีชนะที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใคร เป็นความดีชั้นตรี
ถ้าเป็นการชนะชนิดที่เกื้อกูลเขาอีกด้วย โดยเฉพาะทำให้เขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เลิกละความไม่ดีของเขา หรือกลับเป็นคนดี ก็นับว่า เป็นความดีชั้นโท
ส่วนความดีชั้นเอก ก็คือความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง..."


**พรที่พระสงฆ์ประสาธน์ให้ 4**

เมื่อพระสงฆ์ได้รับ อายุ วรรณะ สุขะ พละจากทายก แล้วจึงประสาธน์พร แก่ทายกทายิกา ดังมีคำแปลดังนี้คือ

1. อภิวาทน สีลิสส ผู้มีนิสัยเคารพกราบไหว้
2. นิจจัง วุฑฒา ปจายิโน ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์
จัตตาโร ธัมมา วุฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง

ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละย่อมเจริญ.



**เรื่องนางสิริมาหญิงผู้เลอโฉม**

ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ นางสิริมา ธิดาของนางสาลวดีคณิกา ซึ่งเป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุโสดาบัน นางได้นิมนต์ภิกษุถวายนิตยภัตในเรือนเป็นประจำ ภิกษุรูปหนึ่งได้ยินภิกษุที่ไปรับนิตยภัต สนทกันถึงเรื่องความงามของนางสิริมา บังเกิดราคะทั้งที่ยังมิเคยเห็นนางเลย จนไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม ต่อมาไม่นานนางสิริมาถึงแก่กาละ ไปบังเกิดเป็นเทวีของท้าวสุยามะในยามาภพ

พระราชาส่งอำมาตย์ไปทูลความ เรื่องนางสิริมากระทำกาละแก่พระศาสดา พระองค์ขอให้ระงับการฌาปนกิจของสรีระของนางไว้ก่อน ด้วยประสงค์จะแสดงอสุภกัมมัฏฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่สี่ เมื่อร่างของนางเริ่มขึ้นอืดพอง พระราชาจึงป่าวประกาศให้เหล่าชน ไปดูร่างของนางสิริมา ตั้งราคาว่าหากผู้ใดให้ทรัพย์ 500 กหาปณะ ก็จงเอาร่างของนางไป ไม่มีผู้ใดยอมรับแม้กระทั่งจะยกให้เปล่าๆ

พระศาสดาพาภิกษุไปดูสรีระของนางสิริมา แล้วทรงโอวาทภิกษุเหล่านั้นด้วยกัมมัฏฐานที่ทำให้หลุดพ้น โดยการแสดงไตรลักษณ์และทรงปรารภอาการ 32 ว่า ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก เส้นเอ็น ฉาบด้วยหนังและเนื้อ เป็นต้น ก็เมื่อใดที่สิ้นชีพปราศจากไออุ่น และวิญญาณ ถูกทิ้งไว้ในป่าช้าดุจท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงใย อันปุถุชนผู้เป็นพาลปราศจากจักษุคือปัญญา ย่อมไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง

ในเวลาจบเทศนามีผู้ตรัสรู้ธรรมมากมาย สิริมาเทพกัญญา ได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนภิกษุรูปนั้น ดำรงอยู่ใน โสดาปัตติผล



**บุญที่สูงสุดคือปัญญา**

บุญตัวสำคัญก็คือปัญญา บุญแปลว่าชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่บุญจะชำระจิตใจได้จริงก็ต้องมาถึงขั้นปัญญา จึงจะชำระด้วยวิปัสสนาให้สะอาดได้จริง

ฉะนั้น บุญจึงรวมคำว่าปัญญาอยู่ด้วย และบุญขั้นสูงสุดก็จึงมาถึงปัญญา มาเป็นปัญญา ในที่สุดปุญญะกับปัญญาก็เลยมาบรรจบกัน

ถ้าโยมทำอะไรแล้ว ได้ทั้งปุญญะ ได้ทั้งปัญญา พระพุทธศาสนาก็เดินหน้าในตัวโยม และโยมก็เดินหน้าในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำบุญไป ก็อย่าให้ได้เฉพาะ"ปุญญะ" แต่ให้ได้"ปัญญา" ด้วย ให้ปุญญะกับปัญญามาบรรจบกัน แล้วปัญญามาเป็นตัวทำให้บุญของเรานี้มีผลสมบูรณ์อย่างแท้จริง จนกระทั่งกลายเป็นบุญที่สูงสุด

พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป. อ. ปยุตโต )

การแบกที่หนักที่สุดในชีวิต
คือแบกขันธ์ห้าและความรู้สึก
ของจิตที่ยังมีตัวตนอยู่นั่นเอง




**ความมุ่งหมายในชีวิตของคน 6 ประเภท**

ปัญหา - บุคคลประเภทต่างๆ ต่อไปนี้คือ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สตรี โจร และสมณะ ประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในทหาร ต้องการได้ในแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด

"ธรรมดาพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด

"ธรรมดาคฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด

"ธรรมดาสตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด

"ธรรมดาโจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับเร้น มั่นใจในศัสตรา ต้องการที่มืด มีการที่ผู้อื่นไม่เห็นเขาเป็นที่สุด

"ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติ โสรัจจะ นิยมปัญญา มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพานเป็นที่สุด "

ขัตติยาธิปปายสูตร.



**ประโยชน์ของการเดินจงกรม**

ปัญหา - วิธีการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำจิตให้สงบระงับนั้น มีอยู่หลายวิธี การเดินจงกรมก็เป็นวิธีหนึ่ง อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงแนะนำให้ภิกษุเดินจงกรม ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงค์ในการเดินจงกรมมี 5 ประการ 5 ประการเป็นไฉน คือภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล 1. ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร 1. ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย 1. อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี 1. สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน 1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงค์ในการเดินจงกรมมี 5 ประการนี้แล ฯ "



***พรที่แท้***

ขอให้ธรรมะ จงล้างความสกปรก คือความเห็นผิด
และการกระทำผิดๆ ของชาวพุทธให้หายไป

จงพ้นจากความเขลา ความหลง จงได้หันมานับถือ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยประการเดียว

การสั่นเซียมซี รดน้ำมนต์ เสี่ยงทายด้วยวิธีการต่างๆ
จงหายไปจากผืนแผ่นดินไทย

ขอให้อาจารย์เสกพระเครื่องรางทั้งหลาย จงได้เสกคน
ให้เป็นคนดีที่มีพระในใจ มิใช่มีพระห้อยที่คอแต่เมาเช้าถึงเย็น

ขอให้พวกมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายจงกลับกลายเป็นคนมีความเห็นชอบ
ตามทำนองคลองธรรม

นี่เป็นพรของข้าพเจ้า มอบให้แก่ท่านทั้งหลาย ตามทัศนะ
ของพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งโสโครกใดๆเจือปน

ขอท่านทั้งหลายจงรับพรนี้ไปปฏิบัติ ตามทางของพระพุทธองค์เถิด

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ...


วินัยชาวพุทธ - พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) -:-
ปัจจุบันนี้ คนที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธโดยมาก เหมือนเป็นคนไม่มีหลัก ดังจะมีลัทธิว่า ชาวพุทธเป็นคนอิสระเสรี จะเชื่อถือหรือประพฤติตัวอย่างไรก็ได้

แท้จริงนั้น การที่จะเป็นอะไรหรือเรียกชื่อว่าอย่างไร ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ สำหรับเป็นเครื่องกำหนด หรือเป็นมาตรฐาน ดังในหมู่พุทธบริษัทเอง พระภิกษุสงฆ์ก็มีพระธรรมวินัยเป็นมาตรฐาน เริ่มแต่มีศีลเป็นเครื่องกำกับความเป็นอยู่ภายนอก

ส่วนในฝ่ายคฤหัสถ์ อุบาสกอุบาสิกาก็มีคุณสมบัติและข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องกำหนดเช่นเดียวกัน แต่คงจะเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้วิถีชีวิตของชาวพุทธผันแปรไป ห่างเหินจากหลักพระศาสนา จนเหมือนว่าไม่รู้จักตัวเอง

โดยปรารภสภาพเสื่อมโทรมเช่นนั้น จึงได้รวบรวมข้อธรรมที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไปขึ้นมา เรียกว่า "คู่มือดำเนินชีวิต" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันว่า ธรรมนูญชีวิต

อย่างไรก็ตาม หลักธรรมในธรรมนูญชีวิตนั้น ยังมากหลากหลาย ต่อมาจึงได้ยกเฉพาะส่วนที่เป็นแบบแผนของชีวิต คือ "คิหิวินัย" ออกมาย้ำเน้น โดยเริ่มฝากแก่นวกภิกษุในคราวลาสิกขา เพื่อให้ช่วยกันนำไปปฏิบัติเป็นหลัก และเผยแพร่แนะนำผู้อื่น ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ในการที่จะสร้างสรรค์สังคมชาวพุทธไทย ให้เจริญงอกงามมีสันติสุขสืบไป...

วางฐานชีวิตให้มั่น

ชาวพุทธจะต้องดำเนินชีวิตที่ดีงาม และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคง ตามหลัก วินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ดังนี้

กฎ ๑ : เว้นชั่ว ๑๔ ประการ
ก. เว้นกรรมกิเลส (บาปกรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง) ๔ คือ
๑. ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต (เว้นปาณาติบาติ)
๒. ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์ (เว้นอทินนาทาน)
๓. ไม่ประพฤติผิดทางเพศ (เว้นกาเมสุมิจฉาจาร)
๔. ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง (เว้นมุสาวาท)

ข. เว้นอคติ (ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) ๔ คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ (เว้นฉันทาคติ)
๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง (เว้นโทสาคติ)
๓. ไม่ลำเอียงเพราะขลาด (เว้นภยาคติ)
๔. ไม่ลำเอียงเพราะเขลา (เว้นโมหาคติ)

ค. เว้นอบายมุข (ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) ๖ คือ
๑. ไม่เสพติดสุรายาเมา
๒. ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา
๓. ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง
๔. ไม่เหลิงไปหาการพนัน
๕. ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว
๖. ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน

กฎ ๒ : เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน
ก. เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบคนที่จะนำชีวิตไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้ คือ

๑. รู้ทันมิตรเทียม คือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร (มิตรปฏิรูปก์) ๔ ประเภท
๑) คนปอกลอก มีแต่ขนเอาของเพื่อนไป มีลักษณะ ๔
(๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
(๒) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
(๓) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
(๔) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

๒) คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
(๑) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
(๒) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
(๓) สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
(๔) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

๓) คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
(๑) จะทำชั่วก็เออออ
(๒) จะทำดีก็เออออ
(๓) ต่อหน้าสรรเสริญ
(๔) ลักหลังนินทา

๔) คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔
(๑) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
(๒) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
(๓) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
(๔) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

๒. รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) ๔ ประเภท
๑) มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔
(๑) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
(๒) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
(๓) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
(๔) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔
(๑) บอกความลับแก่เพื่อน
(๒) รักษาความลับของเพื่อน
(๓) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง
(๔) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

๓) มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
(๑) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
(๒) แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
(๔) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

๔) มิตรมีใจรัก มีลักษณะ ๔
(๑) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)
(๒) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)
(๓) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
(๔) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ข. จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร
ขั้นที่ ๒ เมื่อทรัพย์เก็บก่อขึ้นดังจอมปลวก พึงวางแผนใช้จ่าย
- ๑ ส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง ทำความดี
- ๒ ส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ
- ๑ ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น


กฎ ๓ : รักษาความสัมพันธ์ ๖ ทิศ
ก. ทำทุกทิศให้เกษมสันต์ ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง ๖ คือ ทิศที่ ๑ ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า ดังนี้
๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ตามหลักปฏิบัติดังนี้
๑. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว
๒. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. เป็นธุระเมื่อถึงคราวจะมีคู่ครองที่สมควร
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

ทิศที่ ๒ ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวา ดังนี้
๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น
๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ

อาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

ทิศที่ ๓ ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง ดังนี้
๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่นอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี ตามหลักปฏิบัติดังนี้
๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓. ไม่นอกใจ
๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

ทิศที่ ๔ ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. พูดจามีน้ำใจ
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๕. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
๑. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศที่ ๕ ในฐานที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้ และคนงานผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องล่าง ดังนี้
๑. จัดงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ
๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
๓. จัดสวัสดีการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
๔. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
๕. ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร

คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายงาน ดังนี้
๑. เริ่มทำงานก่อน
๒. เลิกงานทีหลัง
๓. เอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ ๖ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้
๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
๑. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว
๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
๕. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ

ข. เกื้อกูลกันประสานสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ
๑. ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)
๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)
๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)
๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอกันโดยธรรม และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน)



หมวดสอง
นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย

ก. จุดหมาย ๓ ชั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน
ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ทั้ง ๔ นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า
ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง ด้วยศรัทธา
ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต
ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ
ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วยปัญญา
จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี

ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง
ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปรก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง
ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
ค) สดชื่อ เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้
ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญา
ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าเป็น “บัณฑิต”

ข. จุดหมาย ๓ ด้าน จุดหมาย ๓ ขั้นนี้ พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ ๓ ด้าน คือ
ด้านที่ ๑ อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์เพื่อตน คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเองหรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง
ด้านที่ ๒ ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ให้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ
ด้านที่ ๓ อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์ บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย ๓ ขั้นข้างต้น

ชาวพุทธชั้นนำ

ชาวพุทธที่เรียกว่า อุบาสก อุบาสิกา นับว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำจะต้องมีความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นอยู่ในหลัก ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทั่วไป นอกจากรักษา วินัยชาวพุทธ แล้ว ต้องมี อุบาสกธรรม ๕ ดังนี้

๑. มีศรัทธา เชื่อประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงาย มั่นในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด

๒. มีศีล นอกจากตั้งอยู่ในศีล ๕ และสัมมาชีพแล้ว ควรถือศีลอุโบสถตามกาล เพื่อพัฒนาตนให้ชีวิตและความสุขพึ่งพาวัตถุน้อยลง ลดการเบียดเบียน และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น

๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล

๔. ไม่แสวงหาพาหิรทักขิไณย์ ไม่ไขว่คว้าเขตบุญขุนขลังผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ นอกหลักพระพุทธศาสนา

๕. ขวนขวายในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ใส่ใจริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า





เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ ที่ผ่านมาได้จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย

ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ
ตอบกระทู้