....ในการปฏิบัติธรรม..ยากก็ทน..ลำบากก็ทำ..ทุกข์ก็ต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้หน้า บูชาพระศาสดา กู้พระศาสนา กู้เพศแห่งสมณะ กู้ผ้าเหลือง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของผู้ชนะมาร..มีป่าช้าอยู่กับตัวกลัวอะไร สิ้นลมที่ไหนก็ปล่อยร่างวางไว้ที่นั่น อย่าอาลัยเสียดายชีวิตยิ่งไปกว่าธรรม เราเป็นนักรบในวงค์ปฎิบัติหากมัวแต่หดหัวกลัวทุกข์ ไม่บุกทำลายรังกิเลสให้เด็ดขาด มัวขลาดมัวเขลาเบาปัญญาไม่กล้าเข้าเผาทลายกิเลสด้วยการปฎิบัติธรรมอันเลิศล้ำและยอดยิ่งแล้ว จะรู้จะได้ความจริงมาจากไหน แม้พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม กว่าจะได้บรรลุธรรมทรงพยายามฟันฝ่ากล้าต่อสู้ หากยังไม่ตรัสรู้ธรรมนำเฉลย ก็อย่าหวังเลยว่าจะถอยหนี ให้กิเลสน้อยใหญ่ย่ำยีเยาะเย้ยเหยียบย่ำทำลายลง....."
***โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน
ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฎิบัติเพื่อให้จิตใจบรรลุถึงความรู้สภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมนั่นเอง .......
ทีนี้การทำสมาธิตามหลักการ เราอาจจะทำโดยที่ไม่ต้องมีศีลก็ได้ เช่น อย่างสมาธิของพวกนักไสยศาสตร์ ผู้ที่ทำวิชาอาคมครอบหนังบังฟัน ทำคุณคนคุณไสย เขาใช้พลังของสมาธิเหมือนกัน แต่วิชาการอันนี้เป็นสมาธิเพื่อทำร้ายคนอื่น แต่เขาก็ทำสำเร็จได้ อาศัยพลังสมาธิ แต่สมาธิไม่มีศีล จึงย่อมจะสามารถใช้ไปในทางที่ผิดได้ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง
มิจฉาสมาธิ หมายถึงสมาธิผิด เป็นมิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ
ทีนี้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้บรรลุมรรคผล หรือจะให้เป็นแนวทางที่จะนำสมาธิไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ผิดกฏหมายและศีลธรรม เราต้องอาศัยศีล มีสมาธิที่มีศีลเท่านั้น ที่จะนำวิถีจิตของผู้บำเพ็ญให้ดำเนินไปสู่สัมมาสมาธิโดยถูกต้อง
ดังนั้นวันนี้ท่านผู้ที่มาฟังธรรมอยู่ในสมาคมนี้ บางทีอาจจะได้อธิษฐานจิตสมาทานอุโบสถศีล หรือบางท่าน หรือหลาย ๆ ท่าน หรือทุกท่านอาจจะได้สมาทานศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติประจำ
อาตมาเห็นว่า การที่เรามาตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นี้เป็นการถูกต้องและเป็นการชอบแล้วและยังเหมาะสมกับภาวะความเป็นอยู่ของเราที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตามชั้นภูมิของความเป็นคฤหัสถ์ ได้ชื่อว่าเป็นการปรับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่คู่ควรแก่การที่จะบำเพ็ญคุณความดีเพื่อให้เกิดมรรค ผล นิพพาน หรือ รู้จริงเห็นจริงในธรรมะตามความเป็นจริง เราจะต้องอาศัยศีล ๕ เป็นพื้นฐาน อย่าเพิ่งทะเยอทะยานว่าเราจะต้องรักษา ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เมื่อเรามีความมั่นใจในการรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พร้อม ๆ กับทำสมาธิเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น ศีลอื่น ๆ ซึ่งจำนวนมากกว่านั้น แม้เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเพิ่ม โดยกฎธรรมชาติแห่งความดีที่เราบำเพ็ญให้ถึงพร้อม เราจะเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
จากหนังสือ: ฐานิยปูชา
|