พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 11 มิ.ย. 2015 5:51 am
# ความสุขสงบด้วยศีล #
คำว่า ศีล แปลว่า ปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ
ปกติกายคือ การไม่ฆ่า ไม่ประทุษร้าย
ปกติวาจาคือ ปากไม่พูดคำหยาบ ไม่โกหก ไม่พูดส่อเสียดยุยง ไม่เพ้อเจ้อเหลวไหล
ปกติใจ คือ ไม่คิดอิจฉาตาร้อนใคร มีสติรู้กำหนดตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติแล้ว ก็ได้ชื่อว่า มีศีล
ศีล ๕ นี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นแม่บทของศีลทั้งหลายทั้งปวง เป็นหลักธรรมที่เป็นข้อมูล เป็นจุดเริ่มแห่งการกระทำที่เป็นความดี ผู้ใดปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระศาสดาให้เกิดประโยชน์ทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง ขอให้ยึดมั่นในศีล ๕ ประการ
เมื่อท่านมีศีล ๕ ข้อนี้โดยบริสุทธิ์บริบริบูรณ์แล้วความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะปลูกฝังความดีอันใดลงไป คุณความดีนั้นก็จะฝังแน่นในกายในวาจาและในใจของท่าน
พระพุทธเจ้า พระองค์ปรารถนาให้มนุษย์สร้างความรัก ความเมตตา ความเอ็นดู ความปรานีต่อกันและกัน ประโยคแรกท่านสั่งว่า อย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงกัน อย่ารังแกกัน อย่าได้อิจฉาพยาบาทกัน
ศีล ๕ ประการนี้ใครละเมิด บาปไม่เลือกหน้า คนในศาสนาพุทธละเมิดก็บาป คนที่ขนแกะไปเชือดบูชาพระเจ้าปีละหลายๆ แสนตัว ในบางศาสนาที่ว่าทำแล้วได้บุญ แต่เสร็จแล้วมันก็เป็นบาป เพราะอันนี้มันเป็นบาปของกฎทางธรรมชาติ
พระพุทธองค์ผู้มีพระประสงค์อย่างน้อยเพื่อความสันติของโลก จึงได้ทรงบัญญัติทับสมมติลงไปเพื่อให้เห็นว่า มนุษย์สัตว์โลกตลอดถึงวัตถุสิ่งของทั้งปวงที่ปรากฏมีอยู่ในโลกนี้
ที่สมมติเรียกกันไปต่าง ๆ นานานั้น มิได้เป็นความจริงตามนั้นเลย
ที่แท้ก็คือเป็นแต่สักว่าก้อนธาตุก้อนหนึ่งเท่านั้น ก้อนธาตุก้อนนั้นใครจะว่าอะไรมันก็ไม่มีความรู้สึกอะไรทั้งหมด
คือชี้ให้เห็นว่าก้อนธาตุเป็นของสาธารณะทั่วไปมิใช่ของใครทั้งนั้น เพื่อมิให้ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา
แล้วแจงให้เห็นว่าในตัวของเรานี้มีธาตุ ๔ รวมกันอยู่ ว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นดิน สิ่งนั้น ๆ เป็นน้ำ สิ่งนั้น ๆ เป็นไฟสิ่งนั้น ๆ เป็นลม แล้วก็แจงออกให้เห็นเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๑๘ โดยลำดับ
ผู้มาพิจารณาเห็นบัญญัติตามนี้แล้ว ความถือเราถือเขาอัสมิมานะหากจะยังไม่หมดไปเสียทีเดียวก็พอจะบรรเทาเบาบางลง พอยังโลกนี้ให้คลายความตึงเครียดลงบ้าง เพราะเห็นสัจจะตามความเป็นจริงของมัน
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 2
คำว่า ชีวิต มิ ได้มีความหมายเพียงแค่ความเป็นอยู่แห่งร่างกาย แต่หมายถึงความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ของบุคคลในทางต่างๆ ด้วยบางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุดหมายนั้นหรือที่นึกที่วาดภาพไว้นั้นด้วยอะไร ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตนที่จะพึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิดความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่พึงได้พึงถึง แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้นก็ยากอีกเหมือนกันที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.