Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ร่างกายของเรา

ศุกร์ 19 มิ.ย. 2015 5:25 am

"ร่างกายของเรา เราก็คิดว่าของเรา แต่เมื่อมันเกิดสิ่งแทรงซ้อนต่างๆ มีโรคภัยไข้เจ็บ มีเชื้อโรคต่างๆเกิดขึ้นในร่างกาย เชื้อโรคต่างๆ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เมื่อมีหลายโรค โรคทุกโรคก็ว่าเป็นของเขาทุกโรค แม้แต่พยาธิในลำไส้ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เป็นที่อยู่หากินของเขา


ส่วนเราที่มีร่างกายอยู่นี้ มีจิตของเราอยู่ในนี้ เราก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ต่างคนก็ต่างแย่งกันว่าเป็นของเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงที่อาศัยอยู่ชั่วครูชั่วคราวเท่านั้น"

โอวาทธรรม หลวงปู่ไม อินทสิริ วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา




# โอวาทธรรม องค์พระหลวงตา #

" ธรรมยังบุคคลให้ฉลาด เราสร้างให้พอ ในหัวใจของเรา แล้วประจักษ์อยู่ในหัวใจ ตายที่ไหนไม่มีหวั่นมีไหว...ถึงเวลาตายไปก็เรื่องธาตุเรื่องขันธ์สลาย หัวใจนั้นพอๆ นั่นอยู่ตรงนั้นเสีย อยู่กับไปก็เท่ากันสำหรับผู้พอแล้ว จะยังมีชีวิตอยู่ก็พอ ตายไปแล้วก็พอ อะไรๆ ถ้าลงถึงเมืองพอแล้วไม่มีอะไรเกิน ไม่มีอะไรเกินคุณค่ายิ่งกว่าคำว่าพอนี่ "




ขั้นการปฏิบัติเนี่ย ขั้นบุพภาคมรรค ขั้นเบื้องต้นของมรรค มรรคเบื้องต้น ยังไม่ใช่อริยมรรคเนี่ย ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดอัปปนาสมาธิ ถ้าเราไม่มีอัปปนาสมาธิ ทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ เราใช้ขณิกสมาธินี่แหล่ะ สมาธิเป็นขณะๆคอยรู้ทัน จิตมันฟุ้งซ่านไป คอยรู้ทัน จิตมันฟุ้งซ่านไป คอยรู้ทัน รู้บ่อยๆนะ มันจะได้สมาธิเป็นขณะๆ เพราะในขณะที่รู้ทันว่าฟุ้งซ่านจะไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นแหล่ะมีสมาธิ นั่นได้เป็นขณะๆไป


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช




การภาวนา ถ้าถูกต้องจะต้องง่าย ถ้ารู้สึกยากแสดงว่าผิด

หลวงพ่อปราโมทย์: เคยมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านหลงป่าเข้าพม่าไป แล้วก็เปียกฝนสามวันสามคืน เดินหลงทาง ข้าวก็ไม่มีจะฉัน ปอดบวม เข้าไปหลบฝนอยู่ในถ้ำ ก็ยังภาวนา แล้วรู้สึกว่าคราวนี้ต้องตายแน่ๆเลย ถึงแข็งแรงนะ จะรอดออกจากป่าหรือเปล่าก็ไม่รู้เพราะหลงทาง


ท่านก็ภาวนาของท่านไปเรื่อย กะว่าถ้าตายแล้วจิตใจจะห่วงอะไรมั้ย ร่างกายนี้ไม่ห่วงแล้ว ดูจิตดูใจก็ไม่ห่วงแล้ว ใจไม่ยึดอะไรสักอย่าง พร้อมจะตายแล้ว จิตใจไม่ยึดอะไรสักอย่าง ท่านก็ดูไปเรื่อยๆ เอ๊ะ! ไม่ยึดอะไรเลย ทำไมมันมีอะไรก็ไม่รู้ แปลกๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ยึดความไม่ยึดอะไร ท่านเห็นว่าท่านยึดความไม่ยึดอะไร ยึดความว่างไว้ ตรงนี้ขาดปั๊บลงไป จิตท่านสว่างจ้าขึ้นมา

ท่านก็นึกว่า ในถ้ำ อยู่ในถ้ำมืดๆนะ กลางคืนนะ นึกว่าสว่างแล้ว ดูนาฬิกา ก็ยังไม่สว่างนะ ยังกลางคืนอยู่ มองข้างนอกก็มืดตึ๊ดตื๋อเลย ในถ้ำทั้งถ้ำนี่สว่าง แล้วท่านก็หายป่วย เสร็จแล้วตอนเช้า ฝนหยุดแล้ว ออกไปจากถ้ำ หิวนะ หิว ไม่มีอะไรฉันหลายวัน เจอลิงมันถือมะละกอ แล้วมันทำมะละกอตกลงมาที่พื้น แล้วมันก็มองหน้าท่านนะ มองมะละกอ มองหน้า

ท่านก็นึกว่า เอ๊… มันไม่กล้าหยิบกระมัง คงกลัวท่านว่า พอก้มลงหยิบเดี๋ยวท่านเล่นงาน ท่านเลยกลับเข้าถ้ำ เป็นเรา เราจะแย่งลิงกินใช่มั้ย เราก็จะมีเหตุผลเราต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน จะได้มีแรงภาวนาต่อไปอีก ใช่มั้ย ท่านไม่เอา ท่านกลับเข้าถ้ำไป ลิงถึงได้มาเก็บมะละกอคืนไป

เข้าไปพักหนึ่งถึงได้ออกมา ปรากฎว่าลิงมาอยู่ที่พื้นดินละ ถือมะละกอ คราวนี้มันกลิ้งมาให้ท่านแล้วก็หนีขึ้นต้นไม้ไปเลย ลองดูมะละกอลูกนี้นะ มีรอยนกเจาะๆไว้ด้วย อุตส่าห์ไปเก็บมาให้นะ ท่านบอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยฉันอะไรอร่อยเท่านั้นเลย ฉันเสร็จแล้วเลยเดินกลับมาเมืองไทยได้ หลงเข้าป่าพม่าไป

ที่หลงเพราะท่านไปเดินตามลำห้วยไป นึกว่าลำห้วยนี้จะไหลเข้าฝั่งไทย กลายเป็นลำห้วยนี้ไหลไปพม่า ตามไป ตามไป ต้นไม้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เลยรู้ว่าไม่ใช่เมืองไทยแน่ เมืองไทยเข้ามาต้องเหลือแต่ต้นมันสำปะหลัง

ภาวนานะ ภาวนา ต้องทำ ฝึกไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้น มากขึ้น ไม่ใช่ภาวนาแล้วเคร่งเครียดนะ ถ้าภาวนาแล้วเคร่งเครียดแสดงว่าทำิผิด ถ้าภาวนาถูกจะมีแต่ความสุข มีความสุขมากขึ้น มากขึ้น ทุกวัน ทุกวัน นั่งอยู่เฉยๆก็มีความสุขโชยแผ่วๆขึ้นมา คุณมนเคยเป็นใช่มั้ย มันมีความสุข

ความสุขมันเกิดจากการมีสติ รู้ลงในกาย รู้ลงในใจ เห็นกายเห็นใจเป็นทุกข์ล้วนๆนะ ยิ่งมีความสุขมากขึ้น มากขึ้น เป็นเรื่องประหลาดนะ รู้ทุกข์แล้วมีความสุข รู้ทุกข์แล้วพ้นทุกข์ มีแต่ความสุขล้วนๆ

ใครๆก็อยากละทุกข์ทั้งนั้นเลย พระพุทธเจ้ากลับสอนให้รู้ทุกข์ ทุกข์อยู่ที่กายรู้ลงในกาย ทุกข์อยู่้ที่จิตใจรู้ลงในใจ รู้ไปเรื่อย จนวันหนึ่งไม่ยึดถือในกายในใจ ไม่ยึดถืออะไรเลย รวมทั้งไม่ยึดถือความไม่ยึดถือด้วยนะ เหมือนอย่างที่ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเล่า เสร็จแล้วท่านไปยึดความไม่มีอะไร พอท่านผ่านตรงนี้นะ จิตใจของท่านก็เปลี่ยนไปเยอะแยะ

ท่านกลับเข้ามาในเมืองนะ พอดีมีโยมคนหนึ่งรู้จักท่าน นิมนต์ท่านไปฉัน ก็มีคนรู้จักกับหลวงพ่อบอกว่าเนี่ย ท่านมาจากป่าละ เลยไปหาท่าน ไปที่บ้านเขานั่นแหละ เป็นตึกแถวนะ ไม่เจอหลายปี นานๆเจอทีหนึ่ง

ท่านก็เล่า การภาวนานะ เวลานักปฏิบัติเจอกัน สนทนาธรรมด้วยเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ น่าฟังมากเลย น่าฟัง มันเป็นเรื่องของการต่อสู้กับกิเลสของตัวเองนั้นแหละ ไม่ใช่สู้คนอื่นนะ สู้กิเลสของเราเอง ล้มลุกคลุกคลาน ตอนสู้นะ ปางตาย

แต่ตอนสู้ขาดมาแล้ว มันขำนะ มันขำว่า แต่ก่อนทำไมมันโง่นะ ของง่ายๆเท่านี้เอง ไม่เข้าใจ สอบผ่านได้แล้วมันจะขำตัวเอง บางทีรู้สึกสมเพชตัวเองนะ ทำไมมันโง่หลายนะ โง่หลาย ของง่ายเท่านี้ไม่เห็น เห็นแล้วรู้ เห็นแล้วนะ ยังไม่เข้าใจ ง่ายกว่าที่นึกนะ

การภาวนา ถ้าเมื่อไรภาวนาแล้วรู้สึกยาก สังวรไว้เลยว่าผิดแน่นอน การภาวนาถ้าถูกต้อง จะต้องง่าย จิตใจมีสติ จิตใจมีสัมมาสมาธิ รู้ตื่น เบิกบาน เห็นกายตามความเป็นจริง เห็นใจตามความเป็นจริง มีแต่ความสุขล้วนๆเลย ค่อยๆภาวนา มันไม่ได้ยากเย็นเหมือนที่เราวาดภาพไว้ เราไปวาดภาพธรรมะเอาไว้ผิดธรรมดา ธรรมะคือธรรมดานั่นเอง

เราเรียนธรรมดาของกาย ธรรมดาของใจ ธรรมดาของกาย ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ธรรมดาของใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน เรียนจนเห็นธรรมดา เรียนไปเรื่อย เห็นไปเรื่อย จนใจยอมรับความเป็นธรรมดาของกายของใจ ยอมรับแล้วมันไม่เที่ยงนี่ จะไปยินดียินร้ายอะไรกับมัน มันเป็นทุกข์นะ มันไม่ใช่เป็นสุข มันบังคับไม่ได้ มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่บังคับได้

หลายคนภาวนาแทนที่จะมุ่งมาให้เห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกือบทั้งหมดที่ภาวนาแล้วล้มลุกคลุกคลานนะ ภาวนาเื่พื่อจะให้มันเที่ยง เพื่อจะให้มันสุข เพื่อจะบังคับมันให้ได้

ยกตัวอย่างภาวนาแล้วอยากให้จิตใจสงบถาวร ให้สุขถาวร ให้ดีถาวร อะไรอย่างนี้ ภาวนาแล้วจะเอา อยากได้ อยากได้ความสุข อยากได้ความสงบ อยากได้ความดี สุข สงบ ดี ธรรมดาก็ไม่ได้นะ อยากถาวรด้วย ลืมไปว่าถาวรไม่มี มีแต่อนิจจัง ไม่ถาวร มีแต่ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุขที่แท้จริงในกายในใจนี้

ไม่ใช่ว่าพระอรหันต์ภาวนาไปแล้ว ร่างกายมีความสุขนะ ไม่ใช่นะ จิตใจก็ยังทำหน้าที่รู้สึกนึกคิด ธรรมดานั่นเอง ความสุขมันอยู่ตรงที่ ไม่ได้ยึดถือขันธ์ต่างหาก ไม่ยึดถือในกาย ไม่ยึดถือในใจ เป็นอิสระ อิสระจากกายจากใจ ความสุขมันอยู่ที่พ้นขันธ์ ไม่ใช่ความสุขอยู่ที่ดัดแปลงขันธ์สำเร็จแล้ว

พวกเราภาวนา รู้สึกมั้ย อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากได้มรรคผลนิพพาน มีแต่คำว่าอยากนะ มีแต่คำว่าอยาก ลืมไปว่าความอยากเกิดทีไร ความทุกข์ก็เกิดทีนั้น พอความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้น จิตก็ดิ้น จิตก็มีความทุกข์ขึ้นมา ถ้าจิตไม่มีความอยากจิตก็ไม่ดิ้น จิตไม่ดิ้นจิตก็ไม่ทุกข์

แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้แจ้งในกายในใจนี้ว่าเป็นทุกข์ล้วนๆ มันยังรักกายรักใจ มันคิดว่ากายเป็นเรา ใจเป็นเรา คิดอย่างนี้ มันอยากให้เรามีความสุข อยากให้เรามีความสงบ อยากให้เราดี อยากให้เราบรรลุมรรคผลนิพพาน พอมีความอยากแล้วใจก็ดิ้น ใจก็ดิ้นแล้วใจก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังละอวิชาไม่ได้นะ ตัณหาคือความอยากก็จะไม่หมดไป

จะหมดเป็นคราวๆพอมีสติรู้ทันนะ ก็ดับไป พอขาดสตินะ ก็กลับมาอีก เพราะฉะนั้นเลยต้องมีสติรักษาจิตอยู่ตลอดเวลา แต่พอภาวนาจนถึงที่สุดแ้ล้วนี่ มีปัญญา มีวิชาเกิดแล้ว มันไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ไม่ต้องรักษาจิตน่ะ แล้วถามว่ามีสติมั้ย มีก็มีไปอย่างนั้นล่ะ ไม่ได้มีเพื่อรักษาจิต เพราะจิตนั้นไม่ต้องรักษา เพราะคืนโลกคืนธรรมชาติเขาไปแล้ว

เนี่ยธรรมะนะ เป็นสิ่งที่เราึนึกไม่ถึง นึกไม่ถึง เราภาวนา เราก็หวังว่าวันหนึ่งจิตของเราจะดี จะสุข จะสงบ ถาวร วาดภาพพระอรหันต์ไว้อย่างนั้น จริงๆไม่ได้เป็นอย่างที่นึกหรอก คนที่วางขันธ์ไปแล้ว กับคนที่มีขันธ์อยู่ ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกัน ของเราคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะดี ของท่านรู้ว่าวางแล้วก็หมดเรื่องแล้ว วางแล้วก็หมดเรื่องแล้ว ไม่จำเป็นต้องสงวนรักษาอะไรต่อไป

ถามว่ากิเลสเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจได้มั้ย ไม่ได้นะ จิตใจเข้าถึงภาวะที่อะไรก็ปรุงแต่งไม่ได้ เพราะว่ามีปัญญารู้ทุกข์นี่แหละ สำคัญ ใช่รู้อย่างอื่นนะ ในขณะที่เราต่อสู้ ตะลุมบอนไป จิตใจเกิดปัญญา เกิดสติ เกิดสมาธินะ เกิดคุณงามความดีแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละครั้ง แต่ละครั้ง มันอิ่มอกอิ่มใจ แต่สักพักหนึ่งมันก็พบว่าไม่ใช่นะ มันเสื่อมไปอีก

มีสติก็ขาดสติได้นะ มีสมาธิก็ขาดสมาธิได้ มีปัญญาก็โง่ได้อีก เนี่ยยังของกลับกลอก ยังของแปรปรวนอยู่ จิตใจก็ถูกกิเลสย้อมได้อีก แ้ล้วมันยังรู้สึกลึกๆว่ายังขาดอะไรอย่างหนึ่งที่ยังไม่ีรู้แจ้ง ตราบใดที่ยังขาดอันนี้อยู่เนี่ย จิตยังไม่เลิกดิ้นรนค้นคว้า จนวันหนึ่งจิตรู้แจ้งอริยสัจจ์ พอจิตรู้แจ้งอริยสัจจ์แล้ว จิตคืนกายคืนจิตให้โลก มันคืนกายไปก่อนนะ สุดท้ายมันหวงอยู่ที่จิตอันเดียวนี่แหละ พอคืนจิตให้โลกไปแล้ว ไม่ียึดถืออะไรในโลกอีก งานตรงนั้นก็หมดลงตรงนั้นเอง เข้าถึงความสุขที่นึกไม่ถึง

สวนสันติธรรม



ใช้สติดูปัญญา ใช้ปัญญาดูธรรม

การสั่งสอนพระ รู้สึกว่าท่านสั่งสอนละเอียดถี่ถ้วนมาก ศีลที่เป็นฝ่ายวินัยท่านก็สอนละเอียด สมาธิและปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมท่านยิ่งสอนละเอียดลออมาก แต่ปัญญาขั้นสูงสุดจะเขียนลงข้างหน้าตามประวัติท่านที่บำเพ็ญธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ


ส่วนสมาธิทุกขั้นและปัญญาขั้นกลาง ท่านเริ่มมีความชำนาญมาแล้วจากถ้ำสาริกา นครนายก พอมาฝึกซ้อมอยู่ทางภาคอีสานนานพอควรก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้น ฉะนั้น การอธิบายสมาธิทุกขั้นและวิปัสสนาขั้นกลางแก่พระเณร ท่านจึงอธิบายได้อย่างคล่องแคล่วมาก ไม่มีการเคลื่อนคลาดจากหลักสมาธิปัญญาที่ถูกต้องเลย ผู้รับการอบรมได้ฟังอย่างถึงใจทุกขั้นของสมาธิและปัญญาขั้นกลาง

สมาธิท่านรู้สึกแปลกและพิสดารมาก ทั้งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา หากแต่ถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณ บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูตผี เทวบุตร เทวธิดา พญานาคต่าง ๆ นับภพนับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภทนี้ ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวกมีรูปไม่ปรากฏด้วยตา มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหูมาเป็นประจำ บางครั้งจิตก็เหาะลอยออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์วิมานและพรหมโลกชั้นต่าง ๆ และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรมมีประเภทต่างกันอยู่ที่ที่ทรมานต่าง ๆ กันตามกรรมของตน

คำว่าขึ้นลงตามคำสมมุติที่โลกนำมาใช้กันตามกิริยาของกายซึ่งเป็นอวัยวะหยาบนั้น ผิดกับกิริยาของจิตซึ่งเป็นของละเอียดอยู่มากจนกลายเป็นคนละโลกเอาเลย คำว่าขึ้นหรือลงของกาย รู้สึกเป็นประโยคพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง แต่จิตถ้าใช้กิริยาแบบกายบ้างว่าขึ้นหรือลงก็สักแต่ว่าเท่านั้น แต่มิได้เป็นประโยคพยายามว่าจิตขึ้นหรือลงเลย คำว่าสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน อยู่สูงขึ้นไปตามลำดับแห่งความละเอียดของชั้นนั้น ๆ ก็ดี คำว่านรกอยู่ต่ำลงไปตามลำดับของความต่ำแห่งภูมิและผู้มีกรรมต่าง ๆ กันก็ดีนี้ เรานำด้านวัตถุเข้าไปวัดกับนามธรรมเหล่านั้นต่างหาก นรก สวรรค์ เป็นต้น จึงมีต่ำสูงไปตามโลก

เราพอเทียบกันได้บ้าง เช่น นักโทษทั้งลหุโทษและครุโทษที่อยู่ในเรือนจำอันเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่มนุษย์ผู้ไม่มีโทษทัณฑ์อะไรอยู่กัน ในนักโทษทั้งสองชนิดไม่มีการขึ้นลงต่างกันที่ตรงไหนบ้างเลย เพราะอยู่ในเรือนจำอันเดียวกันและไม่มีขึ้นลงต่างกันกับมนุษย์ผู้ไม่มีโทษอีกด้วย เพราะเรือนจำหรือตะรางอันเป็นที่อยู่ของนักโทษทุกชนิดอยู่กัน กับสถานที่ที่มนุษย์อยู่กัน มันเป็นแผ่นดินอันเดียวกัน บ้านเมืองอันเดียวกัน เป็นแต่แยกเป็นเอกเทศกันอยู่คนละส่วนเท่านั้น

เมื่อต่างคนต่างมีตาดีหูดี ทั้งลหุโทษครุโทษและมนุษย์ผู้ปราศจากโทษ ต่างก็มองเห็นได้ยินและรู้เรื่องของกันได้อย่างธรรมดา ทั่ว ๆ ไป ไม่เป็นปัญหาเหมือนระหว่างพวกนรกกับเทวดา ระหว่างเทวดากับพรหม และระหว่างพวกเทพฯ ทุกชั้นกับสัตว์นรกทุกภูมิและระหว่างสัตว์นรกทุกภูมิและเทวดา พรหมทุกชั้นกับพวกมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องของกันเอาเลย

แม้กระแสใจของทุก ๆ จำพวกจะส่งประสานผ่านภูมิที่อยู่ของกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เหมือนไม่ได้ผ่านและเหมือนไม่มีอะไรมีอยู่ในโลก นอกจากเราคนเดียวที่รู้เรื่องของตัวทุกอย่างเท่านั้น จะรับรองตนได้ว่า การมีอยู่ในโลก เพียงใจที่มีอยู่กับทุกคนตลอดสัตว์ก็ยังไม่สามารถรู้เรื่องความคิดดีชั่วของกันและกันได้ ถ้าจะปฏิเสธว่าใจของคนและสัตว์ไม่มี และถ้ามีทำไมไม่รู้ไม่เห็นใจเรื่องใจกันบ้าง

ดังนี้ ก็พอจะปฏิเสธได้ถ้าจะเป็นความจริงตามคำปฏิเสธ แต่จะปฏิเสธวันยังค่ำก็คงผิดไปทั้งวัน เพราะปกติคนและสัตว์ที่ยังครองตัวอยู่ย่อมมีใจด้วยกันทุกราย แม้จะไม่รู้ไม่เห็นความคิดของกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใจไม่มีในร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นและได้ยิน สิ่งละเอียดที่สุดวิสัยของตาหูจะรับรู้ได้ในโลกแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็คงขึ้นอยู่กับความไม่สามารถของแต่ละราย ไม่ขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จะปกปิดตัวเอง

คำว่าสวรรค์และพรหมโลกชั้นนั้น ๆ สูงขึ้นไปเป็นลำดับนั้น ก็มิได้สูงขึ้นไปแบบบ้านที่มีหลายชั้นซึ่งเป็นด้านวัตถุ ดังที่รู้ ๆ กันที่จะต้องใช้บันไดหรือลิฟท์ขึ้นไปเป็นชั้น ๆ หากสูงแบบนามธรรม ขึ้นแบบนามธรรม ด้วยนามธรรม คือใจดวงมีสมรรถภาพภายในตัว เพราะกรรมดีคือกุศลกรรม คำว่านรกต่ำก็มิได้ต่ำแบบลงเหวลงบ่อ แต่ต่ำแบบนามธรรม ลงแบบนามธรรม และดูด้วยนามธรรม คือดวงใจมีความสามารถภายในตัว แต่ผู้ลงไปเสวยกรรมของตนต้องไปด้วยอำนาจกรรมชั่วที่พาให้เป็นไปทางตรงกันข้าม อยู่รับความทุกข์ทรมานก็อยู่ด้วยกรรมพาให้อยู่จนกว่าจะพ้นโทษ เหมือนคนติดคุกตะรางตามกำหนดเวลา เมื่อพ้นโทษก็ออกจากคุกตะรางไปฉะนั้น

วนอุปจารสมาธิของท่านรู้สึกเริ่มเกี่ยวพันกันกับขณิกสมาธิมาแต่เริ่มแรกปฏิบัติ เพราะจิตท่านเป็นจิตที่ว่องไวผาดโผนมาดั้งเดิม เวลารวมลงเพียงขณะเดียวที่เรียกว่าขณิกสมาธิ ก็เริ่มออกเที่ยวรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในวงของอุปจาระ จนกระทั่งท่านมีความชำนาญและบังคับให้อยู่กับที่หรือให้ออกรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ได้แล้ว จากนั้นท่านต้องการจะปฏิบัติต่อสมาธิประเภทใดก็ได้สะดวกตามต้องการ คือจะให้เป็น ขณิกะแล้วเลื่อนออกมาเป็นอุปจาระเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ หรือจะให้รวมสงบลงถึงฐานสมาธิอย่างเต็มที่ ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ แล้วพักอยู่ในสมาธินั้นตามต้องการก็ได้

อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่สงบละเอียดแนบแน่นและเป็นความสงบสุขอย่างพอตัว ผู้ปฏิบัติจึงมีทางติดสมาธิประเภทนี้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่น..

ท่านเล่าว่า..ท่านเคยติดสมาธิประเภทนี้บ้างเหมือนกัน แต่ท่านเป็นนิสัยปัญญาจึงหาทางออกได้ ไม่นอนใจและติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นาน ผู้ติดสมาธิประเภทนี้ทำให้เนิ่นช้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่พยายามคิดค้นทางปัญญาต่อไป นักปฏิบัติที่ติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้มีเยอะแยะ เพราะเป็นสมาธิที่เต็มไปด้วยความสุข ความเยื่อใยและอ้อยอิ่งน่าอาลัยเสียดายอยู่มาก ไม่คิดอยากแยกตัวออกไปทางปัญญาอันเป็นทางถอนกิเลสทั้งมวล ถ้าไม่มีผู้ฉลาดมาตักเตือนด้วยเหตุผลจริง ๆ จะไม่ยอมถอดถอนตัวออกมาสู่ทางปัญญาเอาเลย

เมื่อจิตติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นานไป อาจเกิดความสำคัญตนไปต่าง ๆ ได้ เช่น สำคัญว่านิพพานความสิ้นทุกข์ก็ต้องมีอยู่ในจุดแห่งความสงบสุขนี้ หามีอยู่ในที่อื่นใดไม่ดังนี้ ความจริงจิตที่รวมตัวเข้าเป็นจุดเดียวจนรู้เห็นจุดของจิตได้อย่างชัดเจน และรู้เห็นความสงบสุขประจักษ์ใจในสมาธิขั้นอัปปนานี้ เป็นการรวมกิเลสภพชาติอยู่ในจิตดวงนั้นด้วยในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย ก็มีหวังตั้งภพชาติอีกต่อไปโดยไม่ต้องสงสัย

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในสมาธิขั้นใดก็ตาม ปัญญาจึงควรมีแอบแฝงอยู่เสมอตามโอกาสที่ควร เฉพาะอัปปนาสมาธิด้วยแล้ว ควรใช้ปัญญาเดินหน้าอย่างยิ่ง ถ้าไม่อยากรู้อยากเห็นจิตที่มีเพียงความสงบสุขอยู่อย่างเดียว ไม่มีความฉลาดรอบตัวเลยเท่านั้น

ท่านพระอาจารย์มั่น นับแต่ท่านกลับมาทางภาคอีสานเที่ยวนี้ ท่านชำนาญในปัญญาขั้นกลางมากจริงอยู่ เพราะผู้ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นสาม คือพระอนาคามี ต้องนับว่ามีปัญญาขั้นกลางอย่างพอตัว ไม่เช่นนั้นจะพิจารณาภูมิธรรมขั้นนั้นไม่ได้

การก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นนี้ต้องผ่านกายคตาสติ ทั้งสุภะความเห็นว่ากายเป็นของสวยงาม ทั้งอสุภะความเห็นว่ากายเป็นของไม่สวยงาม ไปด้วยปัญญา มิได้ติดอยู่ โดยจิตแยกสุภะและอสุภะออกด้วยปัญญา แล้วก้าวผ่านไปในท่ามกลางคือมัชฌิมาตรงกลาง ได้แก่ระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน หมดความสงสัยและเยื่อใยในธรรมทั้งสองนั้นอันเป็นเพียงทางเดินผ่านเท่านั้น

การพิจารณาถึงขั้นที่ว่านี้จัดว่าเพียงผ่านไปได้ ถ้าเทียบการสอบไล่ก็เพียงได้คะแนนตามกฎที่ตั้งไว้เท่านั้น ยังมิได้คะแนนสูงและสูงสุดในชั้นนั้น ผู้บรรลุธรรมถึงระดับนี้แล้ว จำต้องฝึกซ้อมปัญญาเพื่อความชำนาญละเอียดขึ้นไปจนเต็มภูมิของธรรมชั้นนั้น ที่เรียกว่าอนาคามีเต็มภูมิ ถ้าตายในขณะนั้นก็ไปเกิดในชั้นอกนิษฐาพรหมโลกชั้นที่ห้าทันที ไม่ต้องเกิดในพรหมโลกสี่ชั้นต่ำนั้น

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าว่า..ท่านเคยติดอยู่ในภูมินี้นานเอาการอยู่ เพราะไม่มีผู้คอยให้อุบายใด ๆ เลย ต้องลูบคลำกันอย่างระมัดระวังมาก กลัวจะผิดพลาด เพราะทางไม่เคยเดิน เท่าที่สังเกตรู้ตลอดมา เวลาสติปัญญาละเอียด ธรรมละเอียด ส่วนกิเลสที่จะทำให้หลงก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน จึงเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อยในธรรมแต่ละขั้นกว่าจะผ่านไปได้

ท่านเล่า น่าอัศจรรย์เหลือประมาณ อุตส่าห์คลำไม้คลำตอและขวากหนามโดยมิได้รับคำแนะจากใคร นอกจากธรรมในคัมภีร์เท่านั้น กว่าจะผ่านพ้นไปได้และมาเมตตาสั่งสอนพวกเรา ก็อดที่จะระลึกถึงความทุกข์อย่างมหันต์ของท่านมิได้ เวลากำลังบุกป่าฝ่าดงไปองค์เดียว

มีโอกาสดี ๆ ท่านเล่าถึงการบำเพ็ญของท่านให้ฟัง ที่น่าสมเพชเวทนาท่านนักหนา ผู้เขียนเองเคยน้ำตาร่วงสองครั้งด้วยความเห็นทุกข์ไปตามเวลาท่านลำบากมากในการบำเพ็ญ และด้วยความอัศจรรย์ในธรรมที่ท่านเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง จนเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรานี้จะพอมีวาสนาบารมีแค่ไหนบ้างหนอ พอจะถูไถเสือกคลานไปกับท่านได้เพียงใดหรือไม่ก็มีในบางขณะ ตามประสาของปุถุชนอย่างนั้นเอง แต่คำพูดท่านเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัวตื่นใจได้ดีมาก นี่แลเป็นเครื่องพยุงความเพียรไม่ให้ลดละเพื่ออนาคตของตนตลอดมา

ท่านเล่าว่า..พอเร่งความเพียรทางปัญญาเข้ามากทีไร ยิ่งทำให้จิตใจจืดจางออกจากหมู่คณะมากขึ้น และกลับดูดดื่มทางความเพียรมากเข้าทุกที ทั้งที่ทราบเรื่องของตัวมาโดยลำดับว่ากำลังของเรายังไม่พอ แต่ก็จำต้องอยู่รออบรมหมู่คณะพอให้มีหลักฐานทางใจบ้าง

หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ตอบกระทู้