พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 26 มิ.ย. 2015 4:31 am
“ลม” เป็น “กายสังขาร” คือเป็นผู้สร้างกาย
“วจีสังขาร” คือ ความคิดที่จะต้องพูด แต่ยังไม่ได้พูดออกมา
เป็นแต่เพียงคิดไว้ว่าจะพูด
“จิตตสังขาร” คือ เรื่องที่คิดนึกขึ้น แต่ไม่จำเป็นจะต้องพูด
เพียงแต่คิดอย่างเดียวก็รู้เรื่อง
“จิตตสังขาร” กับ “วจีสังขาร” นี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุด
การปฏิบัติจิตใจนี้ สิ่งสำคัญก็คือให้พยายามระงับ “วจีสังขาร”
มิให้บังเกิดมี จะเนื่องด้วยสัญญาอดีต อนาคตก็ตาม ต้องปัดทิ้งให้หมด
กายดับ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่มีกาย
มี, แต่ไม่คิดปรุง เพียงแต่รู้สักว่ากายเท่านั้น
“กายสังขาร” คือตัว ปัจจุบันของ “รูป” ได้แก่ลมหายใจ
“จติตสังขาร” คือ ความรู้ เป็นที่ตั้งของความคิด เป็นปัจจุบันของ “นาม”
“ลม” เปรียบเหมือนคลื่น
“สติ” เปรียบเหมือนเรือ
“จิต”ก็คือคนที่นั่งอยู่ในเรือ
ถ้าคลื่นลมไม่สงบ เรือก็เอียงหรือล่ม
คนในเรือก็ต้องตายหรือได้รับความลำบาก
ให้ทำจิตของเราให้นิ่งเหมือนกับเรือที่ทอดสมออยู่กลางทะเล
คลื่นก็ไม่มี ลมก็ไม่พัด เรือก็ไม่เอียง
คนในเรือคือใจของเราก็สงบนิ่งเป็นสุข “จิต” อันนี้แหละเป็น “อริยมรรค”
เป็นจิตที่มีอสิระ มีอำนาจเต็มที่พ้นจากอำนาจของนิวรณ์เป็น “จิตตวิมุติ”
การพูด การทำ การคิด เป็นเรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องของโลกเป็นเรื่องของเด็ก
ถ้าใจเรายังเป็นเด็กอยู่ ก็ย่อมจะไม่ได้สมบัติของพระอริยเจ้า
กายสงบก็ได้วิชาจากกาย จิตสงบก็ได้วิชาจากจิต ลมสงบก็ได้วิชาจากลม
เมื่อ “จิต” ของเราไม่เกาะเกี่ยวกับสัญญาอารมณ์ใดๆ
เพ่งเฉพาะอยู่แต่ลมเข้าลมออกอย่างเดียว
“จิต” นั้น ก็ย่อมจะเกิดแสงสว่างขึ้น คือ “วิชา”
เหมือนลูกปืนที่แล่นไปในอากาศ
ย่อมจะเกิดเป็นไฟ คือ “แสงสว่าง” ขึ้นเช่นเดียวกัน
“เมตตา” เราทำให้กาย
“กรุณา” เราทำให้กับวาจา
“มุทิตา” ทำให้แก่จิต
“อุเบกขา” ทำให้แก่อายตนะ คือวางเฉยเป็นสมาธิฯ เรียกว่า “ฉฬงฺคุเปกฺขา”
สัญญา อดีต อนาคต เป็น “โลก” ปัจจุบัน เป็น “ธรรม”
สัญญาอะไรนิดเดียวก็ไม่เอา ไม่ให้เกี่ยว,
เกี่ยวนิดเดียวก็เป็นภพแล้วก็ต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีก
ทำอะไรต้องทำให้จริง จึงจะได้พบของจริง
การทำจริงนั้นนิดเดียวก็พอ เงินแท้ล้านเดียวย่อมดีกว่าเงินเก๊ ๑๐ ล้าน
พูดอะไรก็อยู่กับพูด ทำอะไรก็ทำอยู่กับทำ กินก็อยู่กับกิน
ยืนก็อยู่กับยืน เดินก็อยู่กับเดิน นั่งก็อยู่กับนั่ง นอนก็อยู่กับนอน
อย่าให้ใจมันคืบหน้าไปยิ่งกว่าความจริง
“สัญญา” ในดีนิดหนึ่งก็ไม่มี, ในชั่วนิดหนึ่งก็ไม่มี,
ทำจิตให้เป็น “ฉฬงฺคุเปกฺขา”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “น จ กิญฺจิ โลเกอุปาทิยติฯ”
“บุคคลที่ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ในโลก เป็นผู้มีความสุข”
ปล.คัดลอกบางส่วนจาก เนกขัมม์ฯ ๒ ส.ค. ๙๗
ที่มา แนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน(พระอาจารย์ลี ธัมฺมธโร)
ศุกร์ 26 มิ.ย. 2015 4:40 pm
สาธุ ครับ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.