Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ให้รู้อิริยาบท

เสาร์ 27 มิ.ย. 2015 3:46 pm

วิธีของการปฏิบัติคือ มีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ รู้อิริยาบทของร่างกายและการเคลื่อนไหวเล็กๆ.. เมื่อสติปัญญาเพิ่มขึ้น มันจะรู้เห็นและเข้าใจ โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อเรารู้มัน ทุกข์ในจิตใจจะลดลง แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว

หลวงพ่อเทียน



# นิโรธธรรม ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) #

คนเราที่เกิดมาในพื้นปฐพีนี้ทั้งหมด ที่จะหาความสุขไม่มีเลย พระองค์ตรัสว่า
" ทุฆราวาสํ " เป็นฆราวาสก็เป็นทุกข์
" ทุปพฺพชิตํ " เป็นพระก็เป็นทุกข์
ที่ว่าสุขๆ นั้น เพราะมัวเมาในความทุกข์ต่างหาก




โอวาทหลวงปู่ใหญ่ พระครูเทพโลกอุดร

การปฎิบัติธรรมทางด้านจิต จงเป็นผู้มีสติปัญญารู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของจิตทุกลมหายใจเข้าออกและทุกอิริยบท เว้นเสียแต่หลับ เมื่อรู้ทันจิตแล้ว ต้องรู้จักรักษาจิต คุ้มครองจิต จงดูจิตเคลื่อไหวเหมือนเราดูลิเกหรือละคร เราอย่าเข้าไปเล่นลิเกหรือละครด้วย เราเป็นเพียงผู้นั่งดู อย่าหวั่นไหวไปตามจิต จงดูจิตพฤติการณ์ของจิตเฉย ๆ ด้วยอุเบกขา จิตไม่มีตัวตน แต่สามารถกลิ้งกลอกล้อหรือยั่วเย้าให้เราหวั่นไหวดีใจและเสียใจได้ ฉะนั้นต้องนึกเสมอว่าจิตไม่มีตัวตน อย่ากลัวตจิต อย่ากลัวอารมณ์ เราหรือสติสัมปชัญญะต้องเก่งกว่าจิต


ความนึกคิดอารมณ์ต่าง ๆ เป็นอาการของจิต ไม่ใช่ตัวจิต แต่เราเข้าใจว่าเป็นตัวจิตธรรมชาติคือผู้รู้อารมณ์ คิดปรุงแต่งแยกแยะไปตามเรื่องของมัน แต่แล้วมันต้องดับไปเข้าหลักเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนทนได้ยากเป็นทุกข์ และสลายไปไม่ใช่ตัวตน มันจะเกิดดับ ๆ อยู่ตามธรรมชาติ เมื่อเรารู้ความจริงของจิตเช่นนี้ เราก็จะสงบไม่วุ่นวาย เราในที่นี้หมายถึงสติปัญญา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรม (สิ่งทั้งปวง ) เป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน

นิมิตที่เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิมีอยู่ ๒ ประการ คือ ๑ . เกิดขึ้นเพราะเทพบันดาล คือเทวดาหรือพรหมแสดงภาพนิมิตและเสียงให้รู้เห็น ๒. นิมิตเกิดขึ้นเพราะอำนาจสมาธิเอง

นิมิตจะเป็นประเภทใดก็ตาม ขอให้ผู้เจริญกรรมฐานจงเป็นผู้ใช้สติปัญญาให้รู้เท่าทันนิมิตที่เกิดขึ้นนั้นด้วยปัญญา อย่าเพิ่งหลงเเชื่อทันทีจะเป็นความงมงาย ให้ปล่อยวางนิมิตนั้นไปเสียอย่าไปสนใจให้เอาจิตทำความจดจ่ออยู่เฉพาะจิต

เมื่อจิตสงบรวมตัว จิตถอนตัวออกมารับรู้นิมิตนั้นอีก หากปรากฎนิมิตอย่างนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายครั้งแสดงว่านิมิตนั้นเป็นของจริงเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ตามนิมิตที่มาปรากฏนี้อยู่ในขั้นโลกียสมาธิ นิมิตต่าง ๆ จึงเป็นความจริงน้อย แต่ไม่จริงเสียมาก จงมุ่งหน้าทำจิตให้สงบเป็นอัปนาสมาธิ อย่าสนใจนิมิต หากทำได้อย่างนี้ จิตจะสงบตั้งมั่น เข้าถึงระดับฌานจะเกิดผลคือสมาบัติสูงขึ้นตามลำดับ จิตจะมีพลังอำนาจอันมหาศาล ฤทธิ์เดชจะตามมาเองด้วยอำนาจของฌาน


ในสังสารวัฏฏ์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ของสัตว์ทั้งหลายมีทั้งหมด ๓๑ ภพภูมิ
คือ กามภูมิ ๑๑ รูปภูมิ ๑๖ และอรูปภูมิ ๔
พวกเราเคยเกิดกันมาครบหมดแล้วทุกภูมิ
ยกเว้นพรหมชั้นสุทธาวาส
ซึ่งเป็นที่อยู่โดยเฉพาะของอริยบุคคล
ระดับอนาคามีขึ้นไป


ไม่ว่าจะเป็น พรหม เทวดา มนุษย์
สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย
หรือสัตว์นรก ก็เป็นมาแล้วทั้งนั้น
แม้ว่าจะเคยเกิดเป็นพรหม
ก็ยังพ้นไปจากวัฏฏะนี้ไม่ได้
ยังต้องเวียนมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย
อยู่บนโลกใบนี้

หรือแม้แต่การได้เกิดเป็นพระราชา
พระราชินี มหาเศรษฐี
เราก็เคยเป็นกันมากี่ภพกี่ชาติแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าจะไปถึงไหน
‪#‎จึงให้พากันพิจารณาว่า‬
‪#‎ถ้าเราปล่อยให้วนเวียนกันเช่นนี้‬
‪#‎เราก็ต้องทุกข์อยู่ร่ำไป‬
‪#‎นับว่าเป็นภัยใหญ่ของชีวิต‬
‪#‎ที่เราไม่ค่อยพิจารณากัน‬

พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า
“แม้คนยาจก วณิพก
คนง่อยเปลี้ยเสียขา
หรือจะเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ก็ตาม
ให้รู้เถิดว่า ได้เคยเกิดเป็น
อย่างนั้นมาแล้วทั้งนั้น”
เราเป็นมาแล้วสารพัดอย่าง
เช่นนี้ไม่เบื่อกันบ้างหรือ?

‪#‎น้ำตาของเราที่ไหลออกมา‬
‪#‎ในภพชาติต่างๆ‬ ‪#‎รวมกันแล้ว‬
‪#‎มากกว่าน้ำในมหาสมุทร‬
แล้วในกาลข้างหน้า
ยังรอให้เราต้องประสบพบเจอ
กับทุกข์โศกต่างๆ เหล่านี้อีก
โดยเฉพาะในอบายภูมิ
ถ้ายังปิดประตูอบายภูมิไม่ได้
ด้วยการบรรลุธรรมขั้นโสดาบันบุคคล
(คือ อริยบุคคลขั้นแรก เกิดในสุคติภูมิ
อีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะสามารถสำเร็จ
เป็นพระอรหันต์ได้)
เป็นอย่างน้อย ก็มีโอกาส
ได้ไปเกิดในอบายภูมิอีก

มีทางเดียวที่จะทำให้พ้น
ไปจากวัฏฏะได้ คือ
การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์
โยมคิดว่าการงานหรือหน้าที่อะไร
เงินทองมากมายแค่ไหน
ที่จะทำให้พ้นไปจาก
การเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้
แล้วมียาอะไรไหม ที่จะช่วยให้เรา
ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องตาย...ไม่มี
มีแต่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้เท่านั้น
แล้วจะไม่สนใจหรือ?
กับคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสบอกทางให้แล้ว

‪#‎ธัมโมวาท‬ ‪#‎ท่านเจ้าคุณ‬ ‪#‎พระภาวนาเขมคุณ‬
(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา



#‎วิธีเลือกกัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตของเรา‬
ส่วนที่ ๓/๓

‪#‎ถ้าเราเห็นเวทนา‬ คือ
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆได้ชัด
‪#‎เราก็ดูเวทนาเป็นหลัก‬
พอเราฝึกให้มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ดู เราก็จะเห็นว่า
ความสุขเกิดขึ้นมาชั่วคราวแล้วก็ดับไป
ความทุกข์เกิดขึ้นมาชั่วคราวแล้วก็ดับไป
ความสุขจะเกิดก็ต้องมีเหตุ
คือ เรากระทบอารมณ์ที่ถูกอกถูกใจ
ความทุกข์จะเกิดก็มีเหตุ
คือเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ


‪#‎การดูจิตดูใจนั้นถ้าสติปัญญาเราเร็ว‬
‪#‎เราจะเห็นได้ตั้งแต่เวทนาเกิด‬
‪#‎และเห็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดปรุงดีปรุงชั่ว‬
‪#‎ตัวแรกคือเวทนา‬
‪#‎อีกตัวคือสัญญา‬
เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์
ก็มีเวทนากิดความสุข ความทุกข์ขึ้นมา
แล้วจิตก็ปรุงดีปรุงชั่วต่ออีก
บางทีก็ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
แต่สัญญาก็ทำงานขึ้นมา เช่น เรานั่งอยู่แล้วใจตรึกถึงหน้าคนคนหนึ่งโผล่ขึ้นมา
คนคนนี้เราลืมไปตั้ง ๒๐ ปีแล้ว
แต่จิตมันปรุง มันจำขึ้นมา เราก็คิดฟุ้งซ่าน
ปรุงสังขารต่อไปได้ตั้งมากมาย

ถ้าเรามีสติรู้ได้เร็วตั้งแต่เวทนาเกิด
เวทนาก็จะดับ

แต่ถ้าเวทนาเกิดแล้วยังไม่รู้ทัน
ก็ให้ไปรู้กุศลอกุศลที่เกิดแทรกมากับเวทนา

ถ้ากุศลอกุศลที่เกิดแล้วยังรู้ไม่ทัน
ก็ให้ไปรู้ตัณหา(ความอยาก)ที่เกิด

ถ้าตัณหาเกิดแล้วยังรู้ไม่ทัน
ก็ให้ไปรู้ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต(สังขาร)

ถ้าสังขารเกิดแล้วยังรู้ไม่ทัน
ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น ก็ให้ไปรู้ทุกข์ที่เกิด

ถ้าเป็นทุกข์ของจิต
เมื่อสติเราระลึกรู้ปุ๊บทุกข์จะดับทันที
เพราะทุกข์ของจิต
เกิดร่วมกับจิตที่มีกิเลสคือโทสะเท่านั้น

ถ้าจิตมีความสุขที่เกิดจากราคะเป็นสุขที่เจือด้วยกิเลส
พอเรามีสติระลึกแล้ว ความสุขจะดับเลย

แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากกุศล เช่น
เราฟังธรรมแล้วจิตใจเรามีความสุข
ถ้าเรารู้ทันใจที่มีความสุขอย่างนี้ จิตก็ยังสุขอยู่ได้
เพราะสุขตัวนี้ไม่ได้เจือด้วยกิเลส

ส่วนความทุกข์ทางกาย
ถึงจะรู้อย่างไรก็ไม่ดับ เพราะเป็นวิบาก

‪#‎การที่เราเฝ้ารู้เฝ้าดูลงในจิตใจ‬
‪#‎ไม่ใช่เพื่อเอาดีเอาสุขเอาสงบ‬
แต่เราเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ในจิตในใจของเรา
เพื่อให้เห็นว่า...จิตเกิดแล้วดับ
อารมณ์(สิ่งที่ถูกจิตรู้) เกิดแล้วก็ดับ
ไม่ใช่ไปรักษาจิตให้เที่ยง

‪#‎พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า‬...
" จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืน "
พวกเราหัดดูของจริง ก็จะเห็นว่า ...
จิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา

‪#‎สรุปการภาวนา‬
‪#‎ขั้นแรกต้องฝึกให้มีจิตตั้งมั่น‬
วิธีง่ายๆ คือฝึกสติให้รู้ทันจิตที่ไหลไปคิด
ก็จะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา
‪#‎จากนั้นเลือกกัมมัฏฐานให้เหมาะกับตัวเรา‬
ถ้าจะเจริญวิปัสสนา
คนไหนถนัดรู้กายเป็นหลัก ก็รู้กายไป
เดินจงกรมไป หรือนั่งหายใจไป ‪#‎มีใจเป็นคนดู‬
สุดท้ายก็เห็นทั้งกายทั้งจิต
คนไหนถนัดรู้จิตเป็นหลัก ก็รู้จิตไป
ในทุกอิริยาบท ยืนเดินนั่งนอนก็รู้ทันจิตไปเรื่อย
ในที่สุดก็รู้ทั้งกายรู้ทั้งจิตเหมือนกันนั่นแหละ
‪#‎สุดท้ายก็ไปลงที่เดียวกัน‬
‪#‎คือเห็นขันธ์ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์‬
มันถึงจะปล่อยวางได้

หลวงพ่อปราโมทย์



ภิกษุ ทั้งหลาย. ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใด
เป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั้น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่
เป็นตัวตนของเรา : เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญา
โดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัส
อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทุกประการ)
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดย
ชอบตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้, ปุพพันตานุทิฏฐิ
(ความตามเห็นขันธ์ส่วนอดีต) ทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, อปรันตานุทิฏฐิ
ทั้งหลาย (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต) ย่อมไม่มี;
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, ความยึดมั่น
ลูบคลำอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี;
เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี, จิตย่อม
จางคลายกำหนัด ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร
ทั้งหลาย ในวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น;
เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว
จิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต);
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่
จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี;
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี
จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง;
เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง
ย่อมปรินิพพาน (ดับรอบ) เฉพาะตนนั่นเทียว
เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว,
กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว,
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๗/๙๓.
ตอบกระทู้