นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 2:32 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: จิตที่ฟุ้งซ่าน
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 02 ก.ค. 2015 6:43 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
เรามักเป็นคนมีจิตที่ฟุ้งซ่าน รำคาญ
เรามักเป็นคนจิตใจเบา ไม่หนักแน่น เรามักปล่อย
ใจของเราให้ล่องลอยไปเกาะอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก น่าใคร่ พอใจ เกาะเนิ่นนานไป ก็เมื่อยล้าใจ เราก็เหนื่อยใจ หมดแรงใจ ไม่ต้องนับใจที่ล่อง
ลอยไป แล้วเผลอไปเกาะอยู่ในอารมณ์ที่ไม่น่า
พอใจ ไปเกาะอยู่กับความโกรธ ความอยากได้
ความหลงไหล เมามาย เกาะได้ไม่นานก็อ่อนล้า
หมดแรงเสียแล้ว ใจเราไปเกาะ เพราะความ
ปรารถนา ความต้องการของใจ ใจอยากได้นั่นนี่
เราก็ตามใจ ตามใจจนเหนื่อยเมื่อยล้า ใจเลย
กลายเป็นนายเรา เป็นทาสของใจ...ใจเอย...




มาร แปลว่า ผู้ทำลายล้าง
มารข้างนอก คือ ผู้มุ่งทำลายล้างข้างนอก
มารข้างใน คือ กิเลสในใจของคนเอง เป็นต้นว่า..
ความรัก ความชัง ความหลง ซึ่งบังใจเรา
ไม่ให้เกิดปัญญาในเหตุในผล
เมื่อชนะมารในใจของตนแล้ว
มารข้างนอกก็ทำอะไไม่ได้


พระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก




“ พระองค์นั้นสึกเพราะดมยาสลบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนทนไม่ไหว สุดท้ายกรรมก็พาหมุนกลับมาได้เสียเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน กับสาวงามชาวเขาเผ่ามูเซอ ”

๔๗. โรคใจ โรคกรรม

ท่านอยู่ป่าอยู่เขาเช่นนั้น เวลามีหมู่คณะไปอาศัยท่าน การอบรมสั่งสอนก็เด็ดเดี่ยวไปตามสถานที่และผู้ไปเกี่ยวข้อง เพราะผู้ที่ไปหาท่านโดยมากมักมีแต่ผู้กล้าตายแบบเสียสละทุกอย่างแล้วทั้งนั้น การสั่งสอนจึงทำให้สมภูมิทั้งสองฝ่าย จะตายก็ยอมให้ตายไปด้วยความเพียร เมื่อชีวิตยังเป็นไปอยู่ก็ขอให้รู้ให้เห็นธรรมและหลุดพ้นจากทุกข์ภายในใจ ไม่ต้องกลับมาเกิดตายและทนทุกข์ซ้ำซากอยู่ในโลกไม่มีขอบเขตแห่งความสิ้นสุดนี้


การอบรมสั่งสอนพระในคราวอยู่เชียงใหม่ผิดกับแต่ก่อนอยู่ ไม่มีการอนุโลมผ่อนผันใด ๆ เลย แม้พระที่ไปอบรมกับท่านโดยมากก็เป็นพระประเภทปฏิโลม ฟังกันแบบปฏิโลม คือคอยจ้องมองดูกิเลสของตัวจะแสดงขึ้นมาอย่างไรบ้าง เพื่อปราบปรามให้หายพยศลดกำลังโดยถ่ายเดียว มิได้ไปสนใจคิดว่าท่านเทศน์หนักไป เผ็ดร้อนไป ยิ่งท่านเทศน์เผ็ดร้อนเท่าไร ธรรมก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ ใจก็ยิ่งสงบแนบแน่นดีสำหรับผู้ที่อยู่ในขั้นสงบ

ผู้อยู่ในขั้นปัญญาจิตก็พยายามคิดค้นตามคำเทศน์ท่านไปเรื่อยไม่ลดละ ท่านอยู่เชียงใหม่เทศน์ธรรมสูงมาก เพราะความรู้ท่านก็เต็มภูมิ ผู้ไปศึกษาอบรมก็มีภูมิจิตสูง และเป็นไปด้วยความหมายมั่นปั้นมือที่จะให้รู้ให้เห็นขั้นสูงขึ้นไปเป็น ลำดับจนสุดภูมิ

นอกจากเทศน์ธรรมดาแล้ว ยิ่งมีธรรมแปลก ๆ คอยดักใจผู้คิดออกนอกลู่นอกทางอีกด้วย ประเภทหลังนี้มีอำนาจมากในการดักจับและปราบโจรภายในของพระที่ชอบขโมยสิ่งของเก่งแบบไม่เลือกกาลสถานที่ คือขโมยคิดเรื่องร้อยแปดตามนิสัยของคนมีกิเลส มิใช่แบบเขาขโมยกันทั่ว ๆ ไป

มาถึงตอนนี้มีเรื่องแปลก ๆ ที่ไม่น่าจะมีได้ แต่ก็ได้มีแทรกขึ้นในวงกรรมฐานมาแล้วสมัยท่านพักอยู่ในเขาที่เชียงใหม่ จึงขออภัยเขียนไว้บ้างตามที่ได้ยินมา เพื่อเป็นข้อคิดและเป็นคติเตือนใจแก่ชาวเราต่างก็กำลังตกอยู่ในภาวะทำนองเดียวกัน เรื่องนี้คิดว่าเป็นเรื่องกรรมกันโดยมาก บรรดาที่ได้ทราบกันในวงใกล้ชิดมีท่านพระอาจารย์มั่น เป็นต้น ผู้ให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้พอได้เป็นข้อคิดตลอดมา

พระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งเคยอยู่กับท่านอาจารย์มั่นเล่าให้ฟังว่า..

..บ่าย ๆ วันหนึ่งท่านกับพระอีกรูปหนึ่งไปอาบน้ำที่แอ่งหิน ใกล้กับหนทางไปไร่ไปสวนของชาวบ้านแถบนั้น แต่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านมาก ขณะลงอาบน้ำเผอิญมีพวกสีกามาจากไร่ เดินผ่านมาที่ตรงนั้น ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีเลย พอพระรูปนั้นเจอเข้าจิตก็เกิดแปรปรวนขึ้นมาทันทีทันใด โดยไม่ทันได้มีสติยับยั้งเอาเลย จึงเกิดเป็นไฟราคะตัณหาเผาลนตัวเองขึ้นในขณะนั้นและร้อนสุมอยู่ตลอดไป พยายามแก้ไขเท่าไรก็ไม่ตก ทั้งกลัวท่านอาจารย์จะทราบก็กลัว ทั้งกลัวเจ้าตัวจะเสียไปเพราะเรื่องนี้ก็กลัว เลยทำให้พระรูปนั้นตั้งตัวไม่ติด

นับแต่ขณะนั้นไปถึงกลางคืน จนตลอดคืนที่พิจารณากันอยู่อย่างไม่หยุดยั้งลดละ เพราะความไม่เคยเป็นมาก่อนเลย เพิ่งมาเจอเอาขณะนั้น ท่านจึงรู้สึกเป็นทุกข์มาก

ในคืนนั้นท่านอาจารย์ก็พิจารณาทราบเช่นกันว่า พระรูปนี้ไปเจอเอาของดีเข้าแล้ว กำลังเกิดความกระวนกระวายด้วยความรักและความกลัว ตลอดคืนมิได้หลับนอนด้วยความพยายามแก้ไขอย่างสุดกำลัง ตื่นเช้าขึ้นมาท่านก็มิได้ว่าอะไร เพราะทราบว่าเจ้าตัวกำลังกลัวท่านมากแล้ว ถ้าไปว่าเข้าเดี๋ยวเกิดเป็นอะไรไปก็ยิ่งจะแย่เข้าไปอีก ท่านแสดงอาการยิ้มต่อพระองค์นั้นขณะที่มาพบกันตอนเช้า ดูอาการของเธอทั้งอายทั้งกลัวท่านมากแทบตัวสั่น ท่านก็ทำอาการเป็นไม่รู้ไม่ชี้เฉย ๆ ไปเสีย

พอถึงเวลาบิณฑบาต ท่านเลยหาอุบายพูดเพื่ออะไรก็ยากจะเดาได้ถูก ว่า..

ท่าน….. กำลังเร่งภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง จะเร่งต่อไปไม่ต้องไปบิณฑบาตก็ได้ ไปแต่พวกเราก็ยังได้ พระเพียงองค์เดียวจะเลี้ยงไม่ได้อย่างไร ท่านอยากภาวนาต่อก็ไปภาวนาเสีย ภาวนาเผื่อหมู่คณะด้วยนะ

..แต่ท่านมิได้มองดูพระรูปนั้นเลย เพราะท่านทราบดียิ่งกว่าพระรูปนั้นจะทราบเรื่องของตัวอยู่แล้ว

ว่าแล้วท่านก็นำหมู่คณะออกบิณฑบาต ส่วนพระรูปนั้นก็จำใจเข้าทางจงกรมทำความเพียร ทั้งนี้ท่านทำเพื่ออนุเคราะห์พระที่เป็นขึ้นด้วยความบังเอิญ ไม่มีเจตนา แต่สุดวิสัยจะห้ามได้

ท่านก็ทราบว่าพระรูปนั้นพยายามอยู่อย่างเต็มใจที่จะแก้เรื่องของตัว จึงต้องหาอุบายช่วยด้วยวิธีต่าง ๆ โดยมิให้กระทบกระเทือนจิตใจเธอแต่อย่างใด

เวลากลับจากบิณฑบาตมาถึงที่พักแล้ว ก็พร้อมกันจัดอาหารใส่บาตรเธอ และสั่งให้พระไปนิมนต์เธอมาฉัน หรือจะฉัน ณ ที่อยู่ของตนก็ได้ตามแต่สะดวก พอทราบเธอก็รีบมาฉันร่วมหมู่คณะ ขณะเธอเดินมาท่านก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่มอง แต่พูดอย่างนิ่มนวลอ่อนหวาน เพื่อประสานใจที่เป็นรอยร้าวตลอดมานั้น ไม่ปรารภเรื่องที่จะทำให้เสียใจใด ๆ เลย ..แม้เธอจะมาฉันร่วมหมู่คณะ แต่ก็ฉันได้นิดเดียว พอเป็นพิธีไม่ให้เสียมรรยาทเท่านั้น

วันนั้นพระที่อยู่ด้วยกันสองรูปคือรูปที่เล่านี้ด้วย เพราะแต่ก่อนท่านยังไม่ทราบเรื่อง พากันเกิดความสงสัยโดยคิดว่า แต่ก่อนท่านอาจารย์ไม่เคยทำอย่างนี้กับใครเลย แต่มาคราวนี้ท่านทำไมถึงทำอย่างนี้กับท่าน……นี้ ชะรอยท่านคงภาวนาดีแน่ ๆ ท่านถึงได้ช่วยสนับสนุน พอได้โอกาสก็แอบไปหาท่าน…..นั้น ถามถึงการภาวนาว่า ท่านอาจารย์ว่าท่านกำลังเร่งความเพียรจึงไม่ให้ไปบิณฑบาต แต่ท่านมิได้บอกว่าท่านภาวนาดี ที่นี่การภาวนาท่านเป็นอย่างไรบ้าง นิมนต์เล่าให้ผมฟังบ้าง

พระรูปนั้นก็ยิ้มแห้ง ๆ แล้วตอบว่าผมจะภาวนาดียังไง ท่านอาจารย์เห็นคนจะตายท่านก็ทำท่าช่วยเสริมไปตามอุบายแห่งความฉลาดของท่านอย่างนั้นเอง ผู้ถามเซ้าซี้ให้เล่าให้ฟังตามความจริง ต่างก็ไล่กันไปเลี่ยงกันมาอยู่พักหนึ่ง และถามว่าที่ว่าท่านอาจารย์เห็นคนจะตายท่านก็ช่วยเสริมไว้นั้นจะตายอย่างไร และช่วยเสริมอย่างไร?

เมื่อทนไม่ไหวเธอก็กำชับว่า ไม่ให้เล่าถวายท่านอาจารย์ทราบ เพราะท่านทราบเรื่องของผมละเอียดแล้ว ยิ่งกว่าผมทราบเรื่องของตัวเป็นไหน ๆ ฉะนั้นผมจึงกลัวและอายท่านมาก

แล้วพูดต่อไปว่า วานนี้เราไปอาบน้ำด้วยกันที่แอ่งหิน ท่านได้เห็นอะไรบ้างขณะกำลังจะอาบน้ำ รูปที่ถามตอบว่าก็ไม่เห็นเห็นอะไร นอกจากผู้หญิงที่พากันมาจากไร่ผ่านไปบ้านตอนพวกเรากำลังจะอาบน้ำนั้นเท่านั้น

พระที่ถูกถามตอบว่า นั่นแลท่านที่ผมจะตายอยู่ขณะนี้ จนถึงกับท่านอาจารย์ไม่ยอมให้ผมไปบิณฑบาต ท่านกลัวจะไปสลบหรือตายอยู่ในบ้านขณะที่จะไปเจอเข้าอีกอย่างไรเล่า ผมจะภาวนาดีอย่างไร ท่านทราบหรือยังว่าคนจะตายนั้นหรือคือคนภาวนาดี..

องค์ที่ถามตกตะลึง โอ้โฮตายจริง ท่านไปเป็นอะไรกับเขาพวกนั้นเข้าล่ะ..

รูปนั้นตอบว่า..ผมจะไปเป็นอะไรกับเขา นอกจากไปขโมยรักเขาเข้าโดยไม่รู้สึกตัว จนกรรมฐานแตกกระเจิงไปหมด ปรากฏแต่ความสวยงามกับความบ้ารักของผมเท่านั้น เหยียบย่ำทำลายหัวใจผมแทบตายทั้งคืนเมื่อคืนนี้ แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ลดละเรื่องบ้านั่นเลย ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรกับมัน ท่านช่วยผมหน่อยได้ไหม นับว่าเมตตาเอาบุญ

องค์ถาม เวลานี้ก็ยังไม่ลดลงบ้างหรือ?

เปล่า..เธอตอบ ซึ่งเป็นคำที่น่าสงสารเอามากมาย

องค์ถาม ถ้าอย่างนั้นผมจะช่วยให้อุบายท่าน คือถ้าท่านไม่สามารรถระงับมันได้ ท่านฝืนอยู่ที่นี่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากมันจะกำเริบขึ้นเท่านั้น ผมว่าท่านควรหลีกจากที่นี่ไปหาภาวนาเสียที่อื่นจะดีกว่า ถ้าท่านไม่สามารถกราบเรียนท่านอาจารย์ได้ ผมจะช่วยกราบเรียนท่านให้ ว่าท่านประสงค์จะไปแสวงหาที่วิเวกใหม่ เพราะอยู่ที่นี่ไม่สบาย เข้าใจว่าท่านคงจะอนุญาตทันที เพราะท่านก็ทราบเรื่องท่านดีอยู่แล้วโดยปริยาย เป็นแต่ท่านยังไม่พูดเท่านั้น เกรงท่านจะอายท่าน..

..เธอก็เห็นดีด้วยและตกลงกันในขณะนั้น..

พอตกเย็นท่านที่จะช่วยอนุเคราะห์ก็เข้าไปกราบเรียนท่านอาจารย์ ท่านก็อนุญาตทันที แต่มีปัญหาเหน็บแนมมาด้วยอย่างลึกลับว่า โรคกรรมนี้มันหายยาก โรคที่มีเชื้อเดิมอยู่แล้วติดต่อลุกลามได้เร็ว เท่านี้ท่านก็หยุดไม่พูดอะไรต่อไปอีก

แม้ผู้ไปกราบเรียนก็ไม่เข้าใจปัญหาท่าน เรื่องนี้ต่างคนต่างปิดกัน คือผู้เป็นก็ปิดท่านอาจารย์ ผู้อนุเคราะห์ช่วยเหลือก็ปิดท่านอีก แม้ท่านอาจารย์เองก็ปิด ทั้งที่ทราบอย่างเต็มใจแล้วก็ทำเป็นเหมือนไม่ทราบ ต่างคนต่างไม่ยอมบอกความจริงต่อกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็รู้เรื่องได้ดีด้วยกัน วันหลังเธอก็เข้าไปกราบนมัสการลาท่าน ท่านก็อนุญาตให้ไปด้วยดี โดยมิได้พูดเรื่องเธอแต่อย่างใด

เธอไปพักอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งไกลจากหมู่บ้านนั้นมาก ถ้ามิใช่กรรมดังท่านอาจารย์ว่าจริง ๆ ก็คงหวังพ้นภัยได้แน่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อีก

แต่ก็เจ้ากรรม อนิจจาเป็นดังท่านว่าไม่ผิดแม้กระเบียดเดียว พอเธอหายหน้าไปจากบ้านนั้นไม่นานนัก ลูกศรที่อยู่ทางนี้ก็คงเจ้ากรรมอย่างเดียวกันอีก อุตส่าห์ด้นดั้นเปะปะไปหาจนเจอเข้าจนได้ ซึ่งธรรมดาผู้หญิงป่าไม่เคยเป็นไปอย่างนั้น แต่ก็ได้เป็นไปแล้ว จึงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่ง

หลังจากท่านอาจารย์และหมู่คณะจากหมู่บ้านนั้นไปไม่นานนัก ก็ทราบว่า..พระองค์นั้นสึกเพราะดมยาสลบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนทนไม่ไหว สุดท้ายกรรมก็พาหมุนกลับมาได้เสียเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน กับสาวงามชาวเขาเผ่ามูเซอคนนั้นที่บ้านนั่นเอง นับว่ากรรมเอาเสียจริง ๆ ถ้าไม่กรรมแล้วจะเป็นไปได้อย่างไร

เพราะเท่าที่พระองค์นั้นเล่าให้ฟังขณะที่ใจเริ่มกำเริบทีแรก ก็เพิ่งเริ่มพบกันขณะเดียวเท่านั้น มิได้เคยพบเห็นและพูดจาพาทีกันที่ไหนมาก่อนเลย ข้อนี้บรรดาพระที่อยู่ร่วมกันมา ก็ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะอยู่ด้วยกันในวัดตลอดเวลา มิได้ไปไหนมาไหนพอจะหลวมตัว ทั้งก็อยู่กับท่านพระอาจารย์เสียเอง อันเป็นสถานที่ให้ความปลอดภัยตลอดมาไม่มีข้อที่น่าสงสัย นอกจากเจ้ากรรมหรือคู่บาปคู่บุญมาถึงเข้าเท่านั้น

เธอเล่าให้พระเคยอนุเคราะห์ฟังว่า..เพียงประสาททางตากระทบกันเท่านั้น มันเหมือนดมยาสลบเข้าไปไม่ได้สติสตังเอาเลย ปรากฏแต่ความรักความผูกพันมัดจิตใจจนแทบจะหายใจไม่ออก ทำให้จิตใจเซ่อซ่าไปตามอารมณ์นั้นจนตัวไม่เป็นตัวของตัว และไม่มีเวลาลดหย่อนผ่อนคลายลงบ้างเลย เมื่อเห็นท่าไม่ได้การก็พยายามปลีกตัวหนีไป เจ้าของยาก็ตามไปเยี่ยมคนไข้อีก เรื่องก็เสร็จกันเท่านั้นเองจะไปที่ไหนรอด ใครไม่เคยถูกก็ดูยิ้มได้ ถ้าถูกเข้าก็รู้เอง เพราะมิใช่พระสุนทรสมุทรพอจะเหาะออกจากทางทวารบนแห่งบ้านได้

ตามปกติพวกนี้ไม่คุ้นกับพระแต่หากกรรมพาเป็นไปเอง เรื่องกรรมนี้จึงไม่สิ้นสุดอยู่กับผู้ใด เพราะกรรมมีอำนาจเหนือใครในโลกที่สร้างกรรม พระอาจารย์ท่านทราบอย่างเต็มใจจึงต้องมีอุบายปฏิบัติต่อเธออย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำต่อผู้ใดมาก่อนเลย แต่ก็คงสุดวิสัย ท่านจึงมิได้แนะอุบายอะไรเพื่อเธอให้ยิ่งไปกว่าที่อนุเคราะห์มาแล้วนั้น เรื่องก็ลงเอยกันตรงที่เมื่อไปไม่รอดก็จำต้องจอดเรือ ซึ่งเป็นคติธรรมของโลกที่อยู่ใต้อำนาจของกรรม

..ดังนั้นจึงได้นำเรื่องนี้มาลงไว้เพื่อเป็นคติเตือนใจพวกเราที่อาจเป็นได้ หากเป็นการไม่สมควรประการใดก็หวังได้รับอภัยจากท่านผู้อ่านตามเคย..

หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน




# โอวาทธรรม พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ #

ท่านได้กล่าวสอนไว้ตอนหนึ่งว่า
" อย่าพากันไว้ใจในชีวิตของตน ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน วันนี้เรามีชีวิตอยู่ หายใจอยู่ วันหลังมาชีวิตจะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ ชีวิตของเรานั้นวันหลังจะเป็นอย่างไร
ในพรรษานี้พวกเราทั้งหลาย เชื่อหรือ ชีวิตของเราจะตลอดพรรษา เพราะความตายเป็นของไม่มีกาลเวลา จิตมันจะตายเวลาไหนก็ไม่รู้ เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง สุดแท้แต่มันจะเป็นไป
เมื่อเรามีชีวิตอยู่ อย่าพากันประมาท จงพากันรีบบำเพ็ญความดี ให้เกิดให้มีขึ้นในดวงจิตในความคิดของเรา


รู้อื่นหมื่นแสน ยังไม่แม้น เท่ารู้ตน
รู้อื่นหมื่นล้าน ยังไม่พ้นพาล เหมือนดีตน
ชนะอื่นหมื่นโกฏ ยังไม่พ้นโทษ เหมือนชนะตน
รู้ตนดี ตนชนะตน นั้นยอมคนผู้ชนะดี "



อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
2. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
3. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค


#‎สุขที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศล‬ ‪#‎สุขจากจิตที่เป็นบุญ‬ ‪#‎ไม่ใช่ได้สิ่งของแล้วเป็นสุข‬ ‪#‎ตรงนี้เป็นความสุขที่ไม่อิงอามิส‬ เขาเรียก "‪#‎นิรามิสสุข‬"

ความสุขเหล่านี้เอามาเป็น "กำลัง" ของเรา เอาจิตที่สุขนี้แหละ มาหล่อเลี้ยงจิตใจของเรา ให้มีความสดชื่น ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมองง่าย

เมื่อไหร่ที่เรามีความสุขแบบนี้ สังเกตไหม
‪#‎เวลาใจเราอิ่ม‬ ‪#‎ใจเราเต็ม‬ ‪#‎เรามีความสุข‬ ‪#‎เราคิดถึงอะไร‬ ‪#‎เรารู้สึกเป็นอย่างไร‬? อยากเก็บไว้คนเดียว หรือ อยากเผื่อแผ่คนอื่น? คิดถึงคนที่เรารู้สึกดีๆ ด้วยใช่ไหม?


‪#‎ตรงนี้เขาเรียกเมตตาเกิดทันที‬ ‪#‎พอเรามีความสุข‬ ‪#‎เมตตาก็เกิด‬ ‪#‎อยากให้คนนั้นมีความสุข‬ ‪#‎อยากให้คนนี้มีความสุข‬

คัดลอกธรรมะจากหนังสือธรรมปฎิบัติ หน้า ๑๗๘ โดย ‪#‎พระประเสริฐ‬ ‪#‎ฐานังกโร‬
สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง





“ผู้ใดถือรูปร่างลักษณะเป็นประมาณ
ถือเสียง และกิริยาภายนอกเป็นประมาณ
ผู้นั้นตกอยู่ในอำนาจของความพอใจด้วยความหลงยินดี
ผู้นั้นย่อมไม่รู้จักเรา


คนโง่ถูกกิเลสกั้นใจไว้รอบด้าน
ย่อมไม่รู้จักธรรมภายใน ทั้งไม่เห็นธรรมภายนอกที่แท้จริง
ใจย่อมลอยไปตามเสียงที่โลกโฆษณา
แม้บุคคลผู้เห็นภายนอก แต่ไม่รู้เรื่องภายใน
ก็ลอยไปตามความนิยมที่โลกโฆษณา

ส่วนผู้ใดใจไม่ถูกกั้นด้วยกิเลส
ย่อมรู้จริงทั้งภายใน เห็นชัดทั้งภายนอก
ผู้นั้นเป็นตัวของตัวเอง ไม่ลอยไปตามเสียงโฆษณาที่โลกแต่งเติม
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมรู้จักเราอย่างแท้จริง”

( หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท )


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 143 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO