Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความร่ำรวยทางใจ

ศุกร์ 03 ก.ค. 2015 6:44 am

มัวเรียนสิ่งไม่ควรเรียน
ไม่มุ่งเรียนสิ่งที่ควรเรียน จึงไม่รู้สิ่งที่ควรรู้

สมัยเป็นพระหนุ่ม บวชได้ ๓ พรรษา หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม คิดอยากเรียนวิชายืดเหรียญเป็นหวย ๓ ตัว กับพระป่ารูปหนึ่ง เมื่อเข้าไปกราบท่านว่า “กระผมใคร่จะมาเรียนวิชายืดเหรียญ กระผมทราบจากชาวกรุงเทพฯ อยากจะยืดเหรียญเป็นหวย ๓ ตัว คิดว่าผมยังอยู่ในทางโลก เป็นพระภิกษุใหม่ อยากจะมาเรียนยืดเหรียญ เพื่อไปให้โยมรวยสักหน่อย จะได้ไปแทงหวย” (ฮา)


หลวงพ่อพระป่าไม่พูดอะไรเลย นั่งนิ่งเฉยเหมือนไม่ได้ยินอะไร หลวงพ่อจรัญ กราบเรียนท่านใหม่ว่า “พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพ ผมเป็นพระภิกษุนวกะ เพิ่งบวชได้ที่พรรษา ๓ แล้วก็ยังอยากจะมาเรียนมาศึกษาทางธรรม”

หลวงพ่อพระป่าก็ยังเฉยอีก ท่านเปลี่ยนคำพูดใหม่ อีกทีว่า

“กระผมยังเป็นภิกษุนวกะ ยังไม่รู้ทางธรรม ข้อปฏิบัติ ข้อสัตย์ เจริญสมาธิภาวนา
ก็อยากจะมากราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อแนะแนวทางบ้างครับ”

คราวนี้หลวงพ่อพระป่าลืมตาขึ้นมา ครู่หนึ่งก็พูดขึ้นว่า

“ดีแล้ว อุตส่าห์สนใจธรรม”

หลวงพ่อจรัญ ถามว่า “จะมีแนวอย่างไรครับ ?”

พระป่ากลับถามว่า “คุณรู้ไหมพระพุทธเจ้าสอนอะไร ?”

“ไม่ทราบครับ” หลวงพ่อจรัญตอบ

“ไม่ทราบ แล้วบวชมุ่งมาทำอะไรอยู่ล่ะ บวชมุ่งอยู่ที่ไหนล่ะ” พระป่ารุกใหญ่

“ก็เรียนนวโกวาท เรียนธรรมะ เรียนวินัยครับ”

“อย่าลืมนะ เรียนหมดเลย เรียนเลยไปหมด รู้มากไป คุณรู้มากก็ใช้ไม่ได้เลย เธออย่าลืมนะว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนทุกข์และวิธีดับทุกข์ ท่านสอนอะไรอีกรู้ไหมคุณ”

“ไม่ทราบครับ”
“เอาละจะบอกให้ ท่านสอนไม่ให้เบียดเบียนตน
สอนไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น พร้อมไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย”

หลวงพ่อจรัญนั่งเงียบ พระป่าสอนต่อไปว่า

“หาที่มาของทุกข์ให้ได้ ศึกษาข้อนี้ ในตัวเรา มีอะไร มีทุกข์
หาที่มาของทุกข์แล้วปฏิบัติ วิธีปฏิบัติอย่างไรหรือ ศีล สมาธิ ปัญญา”

พอมาถึงตรงนี้ หลวงพ่อจรัญนึกได้ว่า “อือ ! ไอ้นี่เราก็เรียนมานี่...โถ่ ! แค่นี้เองหรือ เรานึกว่าจะมีอภินิหารมากกว่านี้ ดีกว่านี้ เราก็เรียนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา”

นึกคิดอยู่อย่างนั้น พระป่าท่านจะรู้วาระจิตหรือไร ไม่ทราบ ท่านชี้หน้าเลยแล้วดุเอาว่า

“คุณมันอย่างนี้ เรียนเลยไปหมด ไอ้ที่จะทำ ไม่ทำ
เสือกผ่านเอาที่ไม่ได้ความ ไอ้ที่ได้ไม่เอาไป เอาไอ้ที่ไม่ได้
ไอ้ที่จริงไม่ชอบ ไปชอบเอาที่ไม่จริง”

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม




ชายผู้ยากจนถามพระพุทธเจ้าว่า
"เหตุใดข้าพระองค์จึงยากจนยิ่งนัก?"
พระพุทธองค์ตรัสตอบ
"เธอไม่รู้จักการให้และวิธีให้"
ดังนั้นชายผู้ยากจนจึงพูดต่อว่า
"ทั้งๆที่ข้าพระองค์ไม่มีสิ่งใดให้นี่นะ?"
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"เธอนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลย"


ใบหน้า : ซึ่งสามารถให้รอยยิ้ม,
ความสดใส,สดชื่น,เบิกบาน

ปาก : เธอสามารถชื่นชม,ให้กำลังใจ หรือปลอบประโลม

หัวใจ : มันสามารถเปิดอกกับผู้อื่น,ให้ความจริงใจ,ใสบริสุทธิ์,ให้ความเมตตา

ดวงตา : ที่สามารถมองดูผู้อื่นด้วย สายตาแห่งความหวังดี,
ด้วยความโอบอ้อมอารี

ร่างกาย : ซึ่งสามารถใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

ฉะนั้น แท้จริงแล้วเธอมิได้ยากจนเลย
"ความยากจนในจิตใจ คือ
ความยากจนอันแท้จริง"



สติปัญญาไทย สติปัญญาธรรม

ก่อนจะมาถึงเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงความรู้พิเศษของท่านพระอาจารย์มั่นที่เคยดักจับขโมยพระได้ผลดี และเป็นเครื่องมือดักใจทายใจที่คิดออกนอกลู่นอกทางให้รู้สึกและระมัดระวังตัวได้ดี


เวลาท่านพักอยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อมีพระปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญทางความเพียรไปหา ท่านมักจะใช้วิชาแขนงนี้ช่วยในการสั่งสอนเสมอ ไม่ค่อยระวังว่าจะเกิดผลเสียหายตามมาดังที่ใช้กับผู้ไม่ตั้งใจจริงจัง โดยมากพระที่ไปอบรมเป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริง ๆ พอรู้ตัวว่าผิดและท่านตักเตือน จะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็พร้อมที่จะแก้ไขความผิดของตนอย่างเต็มสติกำลัง ไม่ละอายและกลัวท่านในสิ่งที่ตนพลั้งเผลอ เมื่อได้รับคำตักเตือนจากท่านโดยอุบายต่าง ๆ การอบรมสั่งสอนท่านเมตตาแสดงอย่างถึงใจผู้ฟังจริง ๆ ไม่ปิดบังลี้ลับทั้งความรู้ภายใน และการชี้แจงก็ชี้แจงไปตามความบกพร่องของผู้มาศึกษา ผิดถูกอย่างไรก็ว่ากล่าวสั่งสอนกันไปตามเรื่อง เจตนาหวังสงเคราะห์จริง ๆ

..ผู้มาศึกษาก็ไม่แสดงอาการกระด้างวางตัวในลักษณะผู้ไม่ยอมรับความจริง หรือหยิ่งในภูมิว่าตนได้รับการศึกษามามาก ซึ่งตามธรรมดามักมีแทรกอยู่เสมอ..

การอธิบายธรรมของท่านกำหนดแน่นอนไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้ไปศึกษาเป็นราย ๆ ไป ผู้ไปศึกษามีภูมิธรรมขั้นใดก็อธิบายให้ฟังตามจุดที่สำคัญ ๆ ทั้งจุดที่เห็นว่าถูกต้องแล้วเพื่อส่งเสริมให้ยิ่งขึ้นไป ทั้งจุดที่เห็นว่าไม่ถูกและล่อแหลมต่ออันตราย เพื่อผู้นั้นจะมีทางลดละปล่อยวางไม่ดำเนินต่อไป

การแสดงธรรมแก้จิตใจของนักปฏิบัติธรรมที่ไปศึกษาไต่ถาม นับว่าท่านอธิบายอย่างมั่นเหมาะตามจุดแห่งความสงสัยไม่ผิดพลาด ผู้ไปศึกษาไม่ผิดหวังเท่าที่ทราบมา ซึ่งควรจะพูดได้ว่า ร้อยทั้งร้อยต้องมีหวัง ถ้าเป็นทางจิตตภาวนา เพราะท่านชำนิชำนาญทางจิตตภาวนามาก นับแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูงสุดไม่มีอะไรบกพร่อง การแสดงออกแห่งธรรมแต่ละประโยคจึงจับใจไพเราะ หาทางเสมอได้ยากในสมัยปัจจุบัน แสดงเรื่องศีลก็น่าฟัง แสดงสมาธิทุกขั้นและปัญญาทุกภูมิก็ถึงใจอย่างยิ่ง

..ฟังแล้วทำให้อิ่มเอิบเพลิดเพลินไปหลายวัน กว่าความรู้สึกนั้นจะจางลง..

ปกติที่ท่านอยู่ในป่าในเขาโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว ในเวลาบำเพ็ญเพื่อธรรมเบื้องสูง ท่านว่าท่านอยู่กับความเพียรทางใจแทบตลอดเวลา จะมีเวลาว่างเฉพาะเวลาหลับนอนเท่านั้น นอกนั้นเป็นความเพียรล้วน ๆ โดยมิได้กำหนดอิริยาบถใด ๆ เลย การพิจารณาธรรมภายในเพื่อถอดถอนกิเลสมีสติปัญญาเป็นเพื่อนสอง..

คือ ท่านพูดคุยโต้ตอบกับกิเลสด้วยสติปัญญา มีความมุ่งมั่นเพื่อแดนพ้นทุกข์เป็นสื่อชวนให้คุยกับสิ่งเหล่านั้น แต่มิได้พูดคุยด้วยปากเหมือนเราคุยกันหลายคน หากแต่พูดคุยด้วยการคิด การไตร่ตรองการโต้ตอบกับกิเลสภายในด้วยสติปัญญา กิเลสผู้คอยหาช่องหาทางออกตัวจะออกทางใดช่องใด หรือตบต่อยผูกมัดท่านด้วยกลอุบายใด ท่านก็ใช้สติปัญญาตามต้อนตบตีขยี้ขยำกิเลสโดยอุบายต่าง ๆ จนเอาชนะไปได้เป็นพัก ๆ

จุดใดที่ท่านทราบว่ากิเลสยังเหนือกว่าอยู่ก็พยายามส่งเสริมอาวุธ คือ สติปัญญาศรัทธาความเพียรให้มีกำลังกล้าขึ้นโดยลำดับ จนกว่าจะเหนือกว่ากำลังของกิเลสที่เป็นฝ่ายข้าศึก จนเอาชนะไปได้โดยตลอดถึงขั้นโลกธาตุหวั่นไหวภายในใจ ขณะเจ้าผู้ครองวัฏจิตถูกทำลายลงด้วยมรรคญาณ ดังที่เขียนผ่านมาแล้ว นี่เป็นวิธีดำเนินความเพียรท่านในขั้นสุดท้าย..

คือ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิภาวนา ท่านมิได้กำหนดเวลา แต่ถือเอาความเพียรเพื่อชัยชนะเป็นที่ตั้งไปตลอดสาย มีสติปัญญาเป็นเครื่องดำเนิน พอพ้นจากดงหนาป่าทึบไปได้แล้ว ท่านว่าเครื่องมือเข้าสู่สงครามคือสติปัญญาประเภทนั้น ย่อมหมดปัญหาไปเอง เหลือแต่สติปัญญาที่ใช้อยู่ประจำขันธ์เท่านั้น เวลาต้องการใช้เพื่อคิดอรรถคิดธรรมลึกตื้นหยาบละเอียด หรือธุระอย่างอื่นก็นำมาใช้เป็นคราว ๆ ไป พอสิ้นเรื่องแล้วก็ระงับไปในที่นั้นเอง ไม่มีการเตรียมรุกเตรียมรบกับอะไรดังที่เคยเป็นมา ถ้าไม่มีข้ออรรถข้อธรรมมาสัมผัสจิตพอจะให้คิดอ่านไตร่ตรองไปตาม ก็อยู่ไปเหมือนคนไม่มีสติปัญญา หรือเหมือนคนโง่แบบไม่เอาเรื่องเอาถ่านกับอะไรที่เคยเกี่ยวข้องกันมาอย่างชุลมุนวุ่นวายนั่นเลย ปรากฏมีแต่ความสงบสุขเด่นอยู่ในใจประเภท อกาลิโก เท่านั้น ไม่มีอะไรมายุ่งเกี่ยว

ถ้าอยู่ลำพังใจที่สงบราบคาบจากสิ่งทั้งหลาย ไม่คิดไปถึงเรื่องเคยมีเคยเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติของเขาทั่วไตรโลกธาตุ ก็เป็นเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ประหนึ่งดับไปพร้อมกับกิเลสโดยสิ้นเชิง

เวลามีหมู่คณะเข้าไปอาศัยอบรมด้วยก็มีการประชุมให้โอวาทสั่งสอน คอยตักเตือนว่ากล่าวในเวลาที่เห็นว่ารายใดไม่สู้งามตางามใจ หรือทราบเรื่องของใครในทางจิตตภาวนา โดยการแสดงภาพนิมิตของผู้นั้นให้ปรากฏเป็นความไม่ดีไม่งามก็ดี โดยการรู้ขณะจิตที่คิดไปนอกลู่นอกทางก็ดี ก็ต้องแสดงอุบายเป็นเชิงเปรียบเปรยให้เจ้าตัวรู้ เพื่อทำความสำรวมระวังต่อไป

หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน





ชีวิตนี้เราเกิดมามีโอกาสได้พอเจอพุทธศาสนา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะพระพุทธเจ้าได้สอนทางให้เราหลุดพ้นจากทุกข์ ท่านไม่ได้สอนให้เราเชื่อตามที่ท่านสอน แต่สอนให้เราปฏิบัติ
ชีวิตเป็นของชั่วคราว สุข-ทุกข์ ก็เป็นของชั่วคราว อย่ายึดมั่น ถือมั่น ไม่มีอะไรเป็นอยู่อย่างนั้นได้ตลอด ...
ตอบกระทู้