พระโอวาทธรรม องค์หลวงตาพระมหาบัว
" การภาวนาการอบรมนี้คือการพักเครื่องนั่นเอง จิตใจของเรามีความคิดปรุงอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเดินเครื่องตลอดไป ทีนี้เวลาเราพักเครื่อง คือเราอบรมจิตของเราให้เข้าสู่ความสงบด้วยบทธรรมต่อเนื่องกันไป ใจของเราจะสงบลงโดยลำดับลำดา นี่เรียกว่าจิตพักเครื่อง...จิตพักเครื่องจะมีความแปลกประหลาดภายในตัวของเรา..มีความตื่นเต้น มีความแปลกประหลาด มีความอัศจรรย์ เพราะเห็นความสุขที่ไม่เคยเห็น... ไม่เคยรู้ ตั้งแต่วันเราเกิดมา จากความสุขอื่นใดก็ ตามไม่เหมือนความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตใจที่ได้รับ ความสงบจากการภาวนานี้เลย "
"อาหารของจิต"
" .. เรื่องจิตนี้เป็นของสำคัญมาก ให้รู้อายตนะว่า มันส่งส่ายเข้ามาเป็นอย่างไร ให้รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เหมือนแมงมุมที่พอข่ายสะเทือน มันก็วิ่งไปจับเอาตัวแมลงได้ทันที
ฉะนั้น เมื่ออารมณ์มากระทบอายตนะ มันก็มาถึงจิตทันที เมื่อไปจับผ่านทุกข์ ก็ให้เห็นมันโดยรวมเป็น "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" แล้วจะเอามันไปไว้ที่ไหนล่ะ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เหล่านี้ ก็เอาไปไว้เป็นอาหารของจิตของเรา ถ้าทำได้อย่างนี้ มันก็หมดเท่านั้นแหละ
จิตที่มี "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เป็นอาหาร เป็นจิตที่กำหนดรู้ เมื่อรู้ว่าอันนั้นเป็นอนิจจัง มันก็ไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาก็ไม่ใช่เราแล้ว ดูมันให้ชัดมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่เป็นแก่นสาร จะเอามันไปทำไม
มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของเรา จะไปเอาอะไรกับมัน มันก็หมดตรงนี้ .. "
หลวงปู่ชา สุภัทโท
หนังสือ "พุทโธ อยู่กับลมหายใจ" (แนวทางการฝึกอานาปานของท่านพ่อลี) ตอนที่ ๔๗ .....สังขารโลก สังขารธรรม ...เรื่องของจิตใจมีอยู่ ๒ อย่งคือ จิตเกิด - จิตตาย อย่างหนึ่ง จิตไม่เกิด - จิตไม่ตาย อย่างหนึ่ง ...ถ้าจิตเข้าไปหลงในสังขารทั้งหลาย ก็ย่อมเกิด-ตายเป็นธรรมดา จิตที่เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริง ในสังขารทั้งหลาย ทำความปล่อยวางเสียได้ย่อม ไม่เกิดและไม่ตาย ถ้าเราปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ คือ ไม่เกิดและไม่ตาย เราก็จะต้องศึกษาเรียนรู้ในเรื่องความเป็นจริงของสังขารทั้งหลายให้เข้าใจเสียก่อน คำว่า สังขาร นั้น ตามความเป็นจริงของโลกมี ๒ ชนิด คือ สังขารโลก กับ สังขารธรรม ทั้งสองนี้ย่อมเป็นไปตามความเป็นจริงทั้งสิ้น แต่ก็เป็นของเกิดขึ้น แล้วก็เสื่อมไป ท่านจึงกล่าวว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน ซึ่งแปลว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เพราะสังขารทั้ง ๒ ประเภท นี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลางและดับไปในที่สุด ถ้าผู้ใดเข้าไปกำหนดรู้แจ้งเห็นจริงในสภาพอันนี้ ทำความระงับ รู้เท่าในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ก็ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ...สังขารโลก นั้น เป็นของที่เขาเสกสรรปั้นขึ้น เช่น ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น ...ส่วน สังขารธรรม นั้นใครจะแต่งหรือไม่แต่งก็ย่อมมีเสมอภาคกัน หมด คือธาตุ ขันธ์ อายตนะ นี้แหละ ...สังขารโลกและสังขารธรรม ถ้าจะเปรียบก็เหมือนไฟสีสลับต่างๆ ที่ตามหน้าโรงหนัง มันวูบ วาบ เขียว แดง ขาว เหลือง ฯลฯ สลับสับ เปลี่ยนกันไปมา ตาของเราที่ไปมองดูก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ต้องส่ายไปตามมัน เหตุนั้นจึงเกิดการเข้าใจผิด ดวงจิตก็ไปเกาะอย่างเหนียวแน่นกับสังขารทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเหตุแห่งความยินดี ยินร้าย ในเมื่อมันมีความเปลี่ยนแปรไปเป็นดีและชั่ว ดวงจิตของเราก็แปรเปลี่ยนไปตามมันด้วยฉะนั้น จึงตกอยู่ในอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักขณะ ทั้ง ๓ ประการนี้ ...อนึ่ง สังขาร นี้มีอีก ๒ ประเภทคือ สังขารมีใจครอง อย่างหนึ่ง เช่นคนหรือสัตว์ กับ สังขารไม่มีใจครอง นั้น อัตโนมัตยังไม่เห็นด้วย ตัวอย่างเช่น บันไดศาลานี้ ถ้าจะว่าไม่มีใจครอง ใครลองไปทำลายมันดูจะเกิดเรื่องไหม ที่นาก็เหมือนกัน เราลองล้ำเข้าไปทำนาในเขตของคนอื่นเขาดูบ้างหรือต้นไม้ ต้นกล้วย เงาะ ทุเรียน ฯลฯ เขาปลูกไว้ในสวนเราลองเอามีดไปฟันดู เจ้าของเขาจะมาเอาเราเข้าตะรางหรือไม่ นี้จะว่ามันมีใจครองหรือไม่มีก็ลองคิดดู ...ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่มีความยึดถือเข้าไปถึง สิ่งนั้นจะต้องมี ใจครองทั้งสิ้น เว้นแต่ดาวพระอังคาร ที่รัศมีของความยึดถือไปไม่ถึงก็ไม่มีอะไรครอง สังขารทุกอย่างมีใจครองทั้งสิ้น เว้นแต่พระอรหันต์อย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่มีใจครงอ เพราะจิตของท่านมิได้มีความยึดถือในสังขารทั้งหลายในโลกเลย ...ความยึดถือในสังขารทั้งหลาย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะสังขาร เป็นของไม่เที่ยงดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นทำความปล่อยวางเสียได้ ไม่ยึดถือในสังขารทั้งหลายจึงเป็นความสุข เรียกว่า ความสุขในทางธรรม คือเป็นความสุขที่สงบเย็น มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปร ...ความสุขของโลกนั้น ไม่ผิดอะไรกับการนั่งเก้าอี้ ถ้าเก้าอี้มันไม่ ไหวนั่นแหละจึงจะมีความสุข การไหวในทางใจนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ไหวไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไหวไปโดยวิบากกรรมอย่างหนึ่ง ใจของเรานี้มันไหววันละกี่ครั้ง บางทีก็ไหวจากกรรม บางทีก็ไหวจากวิบาก แต่มันไหวอย่างไหนเราก็ไม่ทราบ นี่แหละเป็นตัว อวิชชา ความไม่รู้นี้จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขาร คือ ความคิด ขึ้น ...จิตที่ไหวหรือแปรไปโดยธรรมชาติก็ดี จิตที่ไหวหรือแปรไปโดย วิบากกรรมก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ถ้าไหวไปด้วยดีด้วยชอบก็เป็นบุญ ถ้าไหวไปในทางชั่วก็เป็นบาป การไหวนี้จึงมี ๒ อย่าง คือ ไหวอย่าง ผู้ดี กับไหวอย่างอนาถา ไหวอย่าง ผู้ดี คือไหวไปในทางดีทางชอบ เป็นบุญเป็นกุศลก็เป็นสุข ไหวอย่าง อนาถา คือ ไหวไปในทางชั่วทางบาป อกุุศล ก็เป็นทุกข์ เหล่านี้ก็เนื่องมาแต่เรื่องของสังขารทั้งสิ้น ...อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ วิสังขาร อะไรเป็นตัว วิสังขาร ความไม่ไหว ความไม่แปร ความไม่ดับ นี่แหละเป็นตัว วิสังขาร สังขารแปร ใจของเราไม่แปร สังขารทุกข์ ใจของเราไม่ทุกข์ สังขารไม่เที่ยง ใจของเราเที่ยง สังขารเป็นอนัตตา ใจของเราไม่เป็นอนัตตา สังขารไม่มีใจครอง นั่นแหละเป็นตัววิสังขาร เมื่อสังขารส่วนที่มีโทษหมดไป สังขารส่วนที่มีคุณก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นใจของเราอย่าไปยึดถือสังขาร โลกและสังขารธรรม ส่วนใดที่ชั่วเราต้องยอมเสียสละ ส่วนใดที่ดีก็เป็นบารมีของโลก ...โดยมาก คนเรารับรู้กันแต่วิชาของครูทั้ง ๖ วิชาความรู้ของครูทั้ง ๖ นี้ คือ รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นที่มาแห่งความผันแปร ไม่แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นตัว อวิชชา และ สังขาร ฉะนั้นจงพากันปิดอายตนะเหล่านี้เสีย เพราะ สังขาร กับ สังขาร ย่อมมองไม่เห็นกัน ต้องอยู่ตรงกันข้าม จึงจะมองเห็นได้...
# พระอาจารย์ทองพูล สิริกาโม แห่งวัดสามัคคีอุปถัมภ์ (ภูกระแต) จ.บึงกาฬ # ผลจากการบำเพ็ญภาวนาจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า มอบกายถวายชีวิตก็ทำให้ท่านหายจากมาลาเรียเป็นปลิดทิ้ง อีกตอนหนึ่งท่านว่า เวลาต่อยกับกิเลสให้บริกรรมคาถาว่า " ของดีไม่แตก ของแตกไม่ดี ของดีไม่ตาย ของตายไม่ดี " ถ้าใครยังกลัวตายสู้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ข้อสำคัญเราอย่าสู้กิเลสด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง เพราะเป็นวิชาที่กิเลสถนัด ท่านได้บำเพ็ญเพียรเช่นนี้ที่ถ้ำจันทร์เป็นเวลาถึง ๕ ปี จนได้รู้ว่าความจริงคือความจริง จนมีความเชื่อมั่นในหลักที่ว่า " ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม "
พระจอมมุนีศรีศากยบุตร ประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า "ดูก่อนอุปกะ การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดีย่อมก่อทุกข์ให้มากมาย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง อุปกะเอย ! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือ บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี่แล รึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก คือ บ่วงบุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ นั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี ดูก่อนอุปกะ ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีมิได้ ย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ ย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ กิเลสนั้นมีอำนาจครอบคลุมอยู่โดยทั่ว ไม่เลือกว่าในวัยและเพศใด
"ดูก่อนอุปกะ เราจะขอสาธกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง"
นานมาแล้ว มีมานพหนุ่มน้อยลามารดาบิดาไปเรียนศิลปวิทยา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบแล้วจึงลาอาจารย์กลับบ้าน มารดาต้อนรับเขาด้วยความยินดียิ่ง เมื่อสนทนากันไปมารดาถามว่า ลูกได้เรียนอสาตมนต์แล้วหรือ ลูกชายตอบว่า ยังไม่ได้เรียน มารดาจึงขอร้องให้ไปเรียนอสาตมนต์เสียก่อน เขาจึงลามารดาไปหาอาจารย์กราบเรียนให้อาจารย์ว่ายังมีมนต์สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเขายังมิได้เรียนจากอาจารย์ มารดาของเขาขอร้องให้มาเรียนอสาตมนต์ อาจารย์ได้ทราบดังนั้นยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่า "มานพ เวลานี้เรามาพักอยู่ในป่าไม่มีใครเลย นอกจากเราและมารดาผู้ชราของเรา เธอจะปฏิบัติบำรุงมารดาของเราสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเราจะบอกอสาตมนต์ให้ แต่ในขณะที่ปฏิบัติมารดาของเรา เช่นการอาบน้ำ ป้อนข้าวให้ และนวดเฟ้นให้ เจ้าจงชมเชยอวัยวะต่างๆ แห่งมารดาของเราทุกครั้งไป เช่น "ว่ามือสวย เท้าสวย เป็นต้น" มานพหนุ่มรับคำของอาจารย์ด้วยความปีติยินดี
ตั้งแต่วันนั้นมาเขาตั้งใจปฏิบัติมารดาของอาจารย์ เช่นการอาบน้ำให้ ป้อนข้าว และนวดเฟ้นเป็นต้น
"มือและแขนของคุณแม่สวยน่าดูเหลือเกิน" วันหนึ่งเด็กหนุ่มเริ่มทำตามที่อาจารย์สอน
นางยิ้มอย่างร่าเริง ทั้งๆ ที่ฟันของนางหักหมดแล้วและกล่าวว่า
"มือและแขนของฉันสวยจริงๆ หรือ พ่อหนุ่ม ฉันแก่แล้วนะ"
"คุณแม่แก่แล้วมือและแขนยังสาวขนาดนี้ เมื่อคุณแม่สาวๆ คงจะสวยมิใช่น้อย ขาและเท้าของคุณแม่ก็สวย ใบหน้าก็งามซึ้งน่าดูเหลือเกิน กระผมดูไม่เบื่อเลย เมื่อคุณแม่ยังสาวคงจะสวยหาคนเสมอเหมือนมิได้"
นางรู้สึกปีติยินดีอย่างล้นเหลือ เป็นเวลานานมาแล้วที่นางไม่เคยได้ยินคำอ่อนหวานระรื่นหูชูกำลังใจอย่างนี้เลย อะไรเล่าจะเป็นที่พอใจของสตรีมากเท่าได้ยินคำชมว่าเธอสวย ไม่ว่าสตรีนั้นจะอยู่ในวัยใด มานพหนุ่มเวียนพูดชมเชยนางผู้เป็นมารดาของอาจารย์อยู่อย่างนี้ทุกวัน บางคราวเขายังพูดเพิ่มเติมว่าถ้าเขาได้ภรรยาที่มีความงามพร้อมเพียงครึ่งหนึ่งของนาง เขาก็จะมีความสุขหาน้อยไม่ และทำทีเป็นมีความรู้สึกเสน่หาในตัวนางเสียสุดประมาณ จนกระทั่งนางรู้สึกว่า หนุ่มน้อยนี้คงมีจิตพิศวาสปฏิพัทธ์ในตัวนางเป็นที่ยิ่ง วันหนึ่งจึงถามว่า
"พ่อหนุ่ม ! เธอมีความพอใจในตัวเรามากหรือ ?"
"มากเหลือเกิน คุณแม่ กระผมไม่ทราบจะสรรหาคำพูดใดๆ มาพูด ให้สมกับความรู้สึกที่กระผมมีต่อคุณแม่ได้"
"เธอจะเลี้ยงดูเราอย่างนี้ตลอดไปหรือ ?"
"ตลอดไป คุณแม่ การได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่เป็นความสุขอย่างยิ่งของกระผม ถ้าคุณแม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปสักร้อยปี และกระผมปฏิบัติคุณแม่อยู่อย่างนี้ถึงร้อยปี กระผมก็จะไม่เบื่อหน่ายเลย"
หญิงชราเข้าใจว่า มานพหนุ่มมีจิตปฏิพัทธ์ในตน ให้รู้สึกกระสันยิ่งนัก จึงกล่าวว่า "ก็จะเป็นไรไปเจ้าหนุ่ม เมื่อเธอปรารถนาอย่างนั้นก็คงจะเป็นได้ เมื่อเธอต้องการจะร่วมอภิรมณ์กับเรา เราก็ยินดี"
"จะทำได้อย่างไรคุณแม่ คุณแม่เป็นแม่ของอาจารย์ กระผมต้องเคารพยำเกรงคุณแม่ยิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก ตราบใดที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ กระผมจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลย" ว่าแล้วมานพหนุ่มก็แกล้งเคล้าเคลียและเอาใจหญิงชรายิ่งขึ้น
"พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดด้วยเสียงสั่นเครือ "เธอจะปฏิบัติเราไม่ทอดทิ้งเราจริงๆ หรือ ?"
"ข้อนี้กระผมรับรองได้ คุณแม่" มานพตอบ
"ถ้าอย่างนั้นจะขัดข้องอะไรกับเรื่องชีวิตลูกชาย เธอฆ่าเขาเสียก็หมดเรื่อง"
"กระผมจะฆ่าเขาได้อย่างไรครับคุณแม่ ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนศิลปศาสตร์ให้กระผม และดีต่อกระผมเหลือเกิน กระผมฆ่าท่านไม่ได้ดอก" มานพยืนยัน
"เธอรับรองแน่นะว่าเธอจะไม่ทอดทิ้งฉัน" หญิงชราพูด
"ข้อนี้กระผมรับรองครับ คุณแม่" ชายหนุ่มตอบ
"ถ้าอย่างนั้น เมื่อเธอฆ่าไม่ได้ฉันจะฆ่าเขาเอง" หญิงชราพูดอย่างมั่นคง
"เอาไว้รอคิดการดีๆ ให้รอบคอบก่อนเถิดครับคุณแม่" พูดแล้วชายหนุ่มก็ออกจากห้องของหญิงชราไปหาอาจารย์ เล่าเรื่องทั้งหมดให้อาจารย์ทราบ ความจริงเขาเล่าเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ต้นมาให้อาจารย์ทราบโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นการเรียน และเรื่องทั้งหมดเป็นแผนการของอาจารย์ที่จะสอนศิษย์เรื่องอสาตมนต์ ชายหนุ่มพูดอย่างไร หญิงชราแสดงอาการอย่างไร และโต้ตอบอย่างไร อาจารย์ได้รับทราบจากชายหนุ่มเป็นระยะๆ ตลอดมา
เมื่ออาจารย์ได้ทราบจากชายหนุ่มว่ามารดาของตนคิดจะฆ่าตน ทีแรกรู้สึกสลดใจเล็กน้อย แต่เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้รู้เรื่องอย่างนี้ดีอยู่แล้ว จึงวางเฉยได้ในไม่ช้า และตรวจดูอายุขัยแห่งมารดาตน ทราบว่าถึงอย่างไรๆ มารดาก็หมดอายุในวันพรุ่งนี้แล้ว ถึงเหตุการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารดาก็จะต้องตายในวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว จึงต้องการจะสอนศิษย์ให้รู้แน่ใจในวิชาอสาตมนต์จึงบอกชายหนุ่มให้ไปตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง ทำให้มีลักษณะคล้ายรูปคน แล้วนำมาวางไว้บนเตียงนอนของอาจารย์เอาผ้าคลุมไว้ แล้วเอาเชือกขึงจากห้องมารดาทำเป็นราวมาสู่ห้องของตน
ทุกอย่างเรียบร้อย ชายหนุ่มเข้าไปสู่ห้องของมารดาอาจารย์ นวดเฟ้นปฏิบัติอย่างที่เคย กล่าวชมเชยความงามของหญิงชราด้วยประการต่างๆ
"ว่าอย่างไร พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดขึ้น "เมื่อเธอไม่ฆ่า เราจะฆ่าเอง"
"คุณแม่จะฆ่าจริงๆ หรือ ?" ชายหนุ่มถามแล้วแสร้งคลอเคลียแสดงความรักในหญิงชราให้มากขึ้น ด้วยความเคลิบเคลิ้มและหลงใหล หญิงชรายืนยันอย่างแข็งขันว่าจะฆ่า ชายหนุ่มจึงกล่าวว่าเขาได้เตรียมแผนการไว้พร้อมแล้ว "นี่ขวาน" เขากล่าว "คุณแม่เดินไปตามเส้นเชือกที่ขึงไว้นี้ ปลายเชือกไปสุดลงที่ใด ที่นั่นเป็นเตียงนอนของอาจารย์ เวลานี้อาจารย์นอนหลับแล้ว พอสุดปลายเชือกเอี้ยวตัวมาทางขวานิดหนึ่งจะตรงคออาจารย์พอดี คุณแม่ฟันทีเดียวให้คอขาด แล้วเราจะอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกต่อไป"
หญิงชรานัยน์ตาฝ้าฝาง มองอะไรไม่ค่อยจะเห็นแล้ว เดินไม่ค่อยถนัดเพราะความแก่เฒ่า รับขวานจากชายหนุ่มแล้วงกงันเดินคลำเส้นเชือกไป ใจของเธอเวลานี้ถูกห่อหุ้มด้วยโมหะ ถูกความเสน่หาเร่งเร้าปลงใจฆ่า แม้แต่ลูกของตนเองซึ่งมีความดีงามพร้อมทุกประการ
เมื่อเดินคลำเส้นเชือกมาถึงปลายสุด หญิงชราก็เอี้ยวตัวมาคลำดูบนเตียง มองเห็นรางๆ เหมือนภาพคนนอนคุมผ้าอยู่ นางแน่ใจว่าเป็นลูกชายตนจึงจ้วงคมขวานลงสุดแรง คมขวานกระทบไม้ดังโผะ นางรู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้ว ตกใจอย่างยิ่งประจวบกับชรามากถึงแล้วซึ่งอายุขัย นางจึงสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง
อาจารย์และศิษย์หนุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่โดยตลอดสังเวชสลดใจเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองยืนเศร้าซึมอยู่ใกล้ๆ ร่างของหญิงชราอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดอาจารย์ก็กล่าวขึ้นว่า
"มานพ ! เธอได้เรียนอาสตมนต์จบเรียบร้อยแล้ว" ชายหนุ่มทรุดตัวลงกราบอาจารย์และกอดเท้าทั้งสองไว้ พร่ำรำพันถึงเมตตากรุณาของอาจารย์ที่มีต่อตน น้ำตาของเขาหยดลงสู่หลังเท้าของอาจารย์ ในขณะนั้นความรู้สึกของเขาสับสนวุ่นวาย จนไม่อาจพรรณนาได้ว่าเป็นฉันใด
นี่เอง อสาตมนต์ที่มารดาของเขาเร่งเร้าให้มาเรียน ช่างเป็นวิชาที่แปลกและมีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างเหลือล้น
พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าเรื่องอสาตมนต์จบลงแล้ว ทรงเพิ่มเติมว่า
"ดูก่อน อุปกะ ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเขา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มในเบิกบานอยู่ ดูก่อน อุปกะ ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"
อุปกะส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้า คลายสังโยชน์คือกิเลสที่ร้อยรัดใจออกเป็นเปาะๆ ได้บรรลุอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สามด้วยประการฉะนี้
โดยมาก อุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดถือเป็นอารมณ์กวนใจ ให้เดือดร้อนไปเอง จนถึงให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นความเขลาของเราเอง และทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นผู้แพ้ ส่วนการชนะนั้น ก็มิได้ประสงค์ให้ชนะในทางก่อเวร แต่มุ่งให้เอาชนะตนเอง คือชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อม ที่มาเป็นอุปสรรคแห่งความดี เพื่อที่จะรักษา และเพิ่มพูนความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น.. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
จากเสือเย็น จนเห็นเป็นธรรม
เรื่องเกี่ยวกับตาพิเศษ หูพิเศษก็เช่นกัน ต้องเข้าอุปจารสมาธิสงบอารมณ์น้อย ๆ แล้วคอยรับทราบ จะทราบทางรูปคนเสียงคน หรือรูปสัตว์เสียงสัตว์ หรือมากไปกว่านั้น ตามแต่ความประสงค์จะทราบก็ทราบได้ เหมือนเห็นด้วยตาเนื้อ ฟังด้วยหูหนัง เรื่องทั้งนี้ท่านเคยเล่าให้ฟังเวลาท่านไปพักอยู่กับพวกชาวเขา ซึ่งไม่เคยเห็นพระสงฆ์เป็นส่วนมาก นอกจากผู้มีโอกาสได้ลงมาเมืองหรือหมู่บ้านที่มีพระสงฆ์ถึงจะมีโอกาสได้เห็นบ้าง
ขณะท่านไปถึงทีแรกสององค์ด้วยกัน ก็พากันพักอยู่ชายภูเขา ห่างจากหมู่บ้านชาวเขาราวสองกิโลเมตร พักอยู่ร่มไม้ธรรมดา ตอนเช้าพากันเข้าไปบิณฑบาต คนชาวเขาเห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตก็ถามท่านว่า..
ตุ๊เจ้ามาธุระอะไร?
ท่านก็บอกว่ามาบิณฑบาต..
เขาถามว่ามาบิณฑบาตอย่างไร?
เพราะพวกเขาไม่เข้าใจ ท่านบอกว่าบิณฑบาตข้าว..
เขาถามว่าข้าวสุกหรือข้าวสาร ?
ท่านบอกว่าข้าวสุก..
เขาก็บอกกันให้หาข้าวสุกมาใส่บาตรท่าน ได้แล้วก็กลับมาที่พัก และฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ อยู่นาน
ขณะไปพักอยู่ที่นั้น ทีแรกชาวบ้านเขาไม่มีความเลื่อมใสและไว้วางใจท่านเลย ตกกลางคืนหัวหน้าบ้านตีเกราะนัดให้ชาวบ้านมาประชุมรวมกันและประกาศว่า ขณะนี้มีเสือเย็นสองตัว (หมายถึงท่านอาจารย์กับพระที่อยู่ด้วยกันสององค์) มาพักอยู่ในป่าแห่งนั้น จะเป็นเสือเย็นประเภทใดก็ยังทราบไม่ได้ พวกเราไม่ไว้ใจเสือเย็นสองตัวนั้น จึงห้ามไม่ให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปในป่านั้น แม้ผู้ชายจะไปก็ควรมีพวกมีเพื่อนและมีเครื่องมือติดตัวไปด้วย ไม่ควรไปคนเดียวและไปแต่ตัวเปล่า ๆ เดี๋ยวเสือเย็นสองตัวนั้นเอาไปกินจะว่าไม่บอก
ขณะที่เขากำลังประชุมประกาศเรื่องเสือเย็นให้ชาวบ้านทราบ ก็เป็นเวลาที่ท่านอาจารย์กำลังเข้าที่ภาวนาอยู่พอดี เรื่องที่เขาประกาศให้ชาวบ้านทราบทั้งหมด จึงเป็นเหมือนประกาศให้ท่านซึ่งกำลังตกอยู่ในคำกล่าวหาว่าเป็นเสือเย็นทราบด้วยโดยตลอด ท่านเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่งที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่า ตนจะเป็นพระประเภทเสือเย็นดังคำกล่าวหา
ขณะนั้นแทนที่ท่านจะโกรธและเสียใจในคำกล่าวหาของเขา แต่กลับเกิดความเมตตาสงสารเขาอย่างบอกไม่ถูก กลัวเขาผู้ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็มีจำนวนมาก จะพลอยเชื่อตามคำเหลวไหลนั้น และพลอยเป็นบาปหาบกรรมไปตาม ๆ กัน เมื่อตายจากชาตินี้ไปแล้ว เขาจะไปเกิดเป็นเสือกันทั้งบ้าน
พอตื่นเช้าท่านก็รีบบอกกับพระที่อยู่ด้วยว่า คืนนี้พวกชาวบ้านเขาประชุมประกาศกันว่า เราทั้งสององค์เป็นเสือเย็นที่ปลอมแปลงตัวเป็นพระมาหลอกลวงอย่างแยบยลลึกลับ เพื่อให้เขาตายใจเชื่อถือ แล้วกลับทำลายชีวิตและทรัพย์สินเขาด้วยวิธีต่าง ๆ ฉะนั้นเขาจึงไม่เลื่อมใสและไว้ใจพวกเราทั้งสองเลยเวลานี้ หากว่าเราทั้งสองหนีไปจากที่นี่เสียในเวลาที่เขากำลังคิดไม่ดีอยู่ขณะนี้ เวลาเขาตายไปจะพากันไปเกิดเป็นสัตว์เป็นเสือกันทั้งบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นกรรมเก่าเขาไม่เบาเลย เพื่อความอนุเคราะห์เขาซึ่งควรแก่สมณกิจที่พอทำได้ จึงควรอดทนอยู่ที่นี่ไปก่อน แม้จะทุกข์ลำบากก็พยายามอดทนไปจนกว่าเขาจะพากันกลับใจได้ แล้วจะไปที่ไหนค่อยไปกันดังนี้
นอกจากเขาไม่ไว้ใจและเลื่อมใสแล้ว พวกผู้ชายยังพากันมาคอยสังเกตการณ์ตามสถานที่ที่ท่านพักอยู่บ่อย ๆ ครั้งละ ๓-๔ คนโดยมีเครื่องมือติดตัวมาด้วย มายืนลอบ ๆ มอง ๆ อยู่แถวบริเวณใกล้ ๆ บ้าง มายืนอยู่ข้างทางจงกรมบ้าง มายืนอยู่ที่หัวจงกรมบ้าง มายืนอยู่กลางทางจงกรมบ้าง ในเวลาท่านกำลังเดินจงกรมทำความเพียรอยู่ ต่างคนต่างจ้องและสอดส่ายสายตามองมายังท่านและเหลือบมองไปรอบ ๆ บริเวณ
เขาใช้เวลาสังเกตการณ์ด้วยความไม่ไว้ใจอยู่ทำนองนั้นนานประมาณครั้งละ ๑๐ นาทีบ้าง ๑๕ นาทีบ้างแทบทุกวัน และไม่พูดจาไต่ถามอะไรกับท่านในระยะเริ่มแรกแล้วก็พากันกลับไป วันหลังได้โอกาสก็พากันมาใหม่ เขาใช้เวลาสังเกตท่านอยู่นานวันพอสมควร
ส่วนอาหารปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นอยู่หลับนอนของพระเสือเย็นทั้งสองตัว จะขาดตกบกพร่องหรือจะเป็นจะตายอย่างไรบ้างนั้น เขามิได้พากันสนใจคิดและขวนขวายกันเลย ฉะนั้นการเป็นอยู่ของท่านทั้งสองที่เขาให้นามว่าเสือเย็นจึงลำบากอัตคัดมาก อาหารบิณฑบาตอย่างมากก็ได้ข้าวเปล่า ๆ มาฉัน บางวันรวมทั้งฉันน้ำด้วยก็อิ่มพอเบาะ ๆ บางวันรวมทั้งฉันน้ำก็ไม่พอ ที่อยู่หลับนอนก็อาศัยโคนไม้เป็นประจำทั้งแดดทั้งฝนก็ทนเอา เพราะที่นั้นไม่มีถ้ำหรือเงื้อมผาพอได้อาศัย ถ้าฝนตกชุกมาก ในบางวันตกทั้งวัน พอฝนเบาลงบ้างก็พยายามเที่ยวเก็บใบไม้แห้งหญ้าแห้งมาทำเป็นจากมุงพอบังแดดบังฝนไปพลาง พอประทังชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยความทุกข์ลำบากมากมาย
ขณะฝนตกก็เข้าหลบซ่อนอยู่ในกลดในมุ้งพอบรรเทาความหนาว เวลาลมพัดจากภูเขามาอย่างแรงฝนก็สาด กลดก็จะปลิวหลุดมือ องค์ท่านและบริขารก็เปียกตัวสั่นเหมือนลูกนกลูกกา ถ้าเป็นตอนกลางวันก็พอทำเนา มองเห็นที่ไป ที่หลบซ่อนและที่เก็บบริขารต่าง ๆ บ้าง แต่ฝนตกเอาตอนกลางคืนรู้สึกลำบากมาก ตาก็มองไม่เห็นอะไรทั้งฝนกระหน่ำลง ลมกระหน่ำมาประดังกัน กิ่งไม้ที่ถูกลมพัดอย่างแรงต่างก็ขาดตกลงข้างหน้าข้างหลังตูมตาม ๆ ไม่แน่ใจว่าชีวิตจะต้านทานฝน ต้านทานลม ต้านทานความเหน็บหนาวหรือจะต้านทานกิ่งไม้น้อยใหญ่ที่หักตกลงและโหมกันมาจากทิศต่าง ๆ ในขณะนั้น
เมื่อชีวิตยังอยู่ก็ทนกันไป ร้อนก็ทนไป หนาวก็ทนไป หิวก็ทนไป กระหายก็ทนไป อดบ้างอิ่มบ้างก็ทนไป จนกว่าจะหมดกลิ่นแห่งความระแวงสงสัยของชาวบ้านที่หวาดระแวงต่อท่าน ว่าเป็นเสือเย็นคอยหลอกลวงกินเนื้อกินหนังเขา การขบฉันแม้เพียงข้าวเปล่า ๆ ก็อดมื้ออิ่มมื้อ สิ่งอื่นนั้นไม่จำต้องพูดถึงว่าเขาจะมีความสนใจไยดีให้ท่าน ที่พักที่อยู่ก็แบบคนอนาถาหาที่เกาะที่พึ่งไม่ได้เราดี ๆ นี่เอง น้ำก็หิ้วกาน้ำลงไปในคลองซึ่งอยู่ตีนเขา กรองให้เต็มกาแล้วก็หิ้วขึ้นมาฉันมาใช้ หลังจากสรงเสร็จแล้ว แต่ทำความเพียรสะดวกดีมาก หมดกังวลทุกด้านไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว
ตอนกลางคืนยามดึกสงัดทำภาวนาฟังเสียงเสือกระหึ่มไปมาทีละหลาย ๆ ตัว ใกล้ ๆ บริเวณที่ท่านพักใต้ร่มไม้ แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่งที่เสือไม่เข้ามาหาท่านเลย ล้วนเป็นเสือโคร่งใหญ่ลายพาดกลอนทั้งนั้น ท่านว่าท่านเพลิดเพลินไปกับเสียงสัตว์ชนิดต่าง ๆ แต่บางทีเสือก็เข้ามาหาท่านและลูกศิษย์ท่านเหมือนกัน เขาคงสงสัยว่าเป็นสัตว์ซึ่งควรจะเป็นอาหารได้บ้าง แล้วแอบเข้ามาดู พอคนกระดุกกระดิกลุกขึ้นเขาร้องโก้กพร้อมกับกระโดดเข้าป่าไป วันหลังไม่เห็นเขามาหาอีกเลย
พอตกบ่าย ๆ ก็มีชาวบ้านราว ๓-๔ คนออกมาสังเกตการณ์แทบทุกวัน แต่เขาไม่พูดจาอะไรกับท่าน ท่านก็มิได้สนใจกับเขา เฉพาะพวกเขาเองบางครั้งมีการพูดกระซิบกระซาบกัน ขณะที่พวกเขามาที่นั่นท่านกำหนดจิตดูจิตใจเขาที่คิดปรุงอยู่ทุกขณะและทุกเวลาที่เขามา ส่วนพวกเขาเองก็คงไม่สนใจคิดว่า ท่านจะรู้เรื่องความคิดปรุงทางใจตลอดคำพูดเขาที่ระบายออกจากใจผู้บงการอะไรเลย คงเข้าใจว่าตนมีความลับที่ไม่มีใครสามารถสอดรู้อยู่ภายใน จึงสนุกคิดเรื่องต่าง ๆ อย่างเพลินใจ ซึ่งโดยมากก็เป็นความคิดคอยจับผิดท่านอยู่ภายใน ท่านกำหนดดูใจของใครที่มาด้วยกันกี่คน ก็มีความรู้สึกนึกคิดที่คอยจับผิดอยู่ภายในเช่นเดียวกันหมด สมกับเขาประกาศสั่งพวกเขาให้มาสังเกตการณ์จริง ๆ
ท่านเองแทนที่จะคิดระวังตัวกลัวเขาจะจับผิด แต่กลับคิดสงสารเขาเป็นกำลัง ว่าคนในบ้านนั้นมีไม่กี่คนที่เป็นผู้ชักนำชาวบ้านซึ่งมีหลายคนให้เห็นผิดไปด้วย ท่านพักอยู่ที่นั้นเป็นเดือน ๆ ยังไม่เห็นเขาลดละความพยายามคอยจับพิรุธความผิดพลาดท่าน พวกใดมาหาล้วนมีความจ้องมองหาแต่ความผิดกับท่านเช่นเดียวกัน ท่านว่าเขาช่างพยายามเอาเสียจริง ๆ แต่ยังดีอยู่อย่างหนึ่งที่เขาไม่พร้อมใจกันมาขับไล่ท่านให้หนีจากที่นั้น เป็นเพียงจัดวาระกันมาควบคุมโดยทางลับเท่านั้น เมื่อท่านอยู่นานไป ทั้งพวกเขาก็มาสังเกตดูอยู่หลายครั้ง เฉพาะพวกหนึ่ง ๆ ยังไม่อาจจับความเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดท่านได้ เขาคงแปลกใจอยู่มาก
ในเวลาต่อมาคืนวันหนึ่งท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ ได้ยินหรือทราบขึ้นภายในใจว่า หัวหน้าบ้านประชุมสอบถามผลของการสังเกตการณ์ว่าได้ผลคืบหน้าไปเพียงใดบ้าง ชาวบ้านบรรดาที่มาสังเกตให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีผลอะไรตามความคิดเห็นของพวกเราที่คิดกัน ไปทำอย่างนั้นดีไม่ดี น่ากลัวจะเป็นโทษมากกว่าผลที่คาดกัน ผู้สงสัยซักขึ้น ทำไมว่าอย่างนั้น เขาตอบกันว่า ก็เท่าที่สังเกตดูแล้ว ตุ๊เจ้าสองตนนั้น (ตุ๊เจ้าหมายถึงพระ) ไม่เห็นมีกิริยาท่าทางใด ๆ ที่เป็นไปดังที่พวกเราคาดกัน ไปสังเกตดูทีไรก็เห็นแต่ท่านนั่งหลับตานิ่งอยู่บ้าง ท่านเดินกลับไปกลับมาในท่าสำรวม ไม่มองโน้นมองนี้อย่างคนทั่ว ๆ ไปบ้าง
คนที่จะเป็นเสือเย็นตั้งท่าคอยฉีกสัตว์กัดคนคงไม่ทำอย่างนั้น ต้องมีอาการแสดงออกให้พอจับได้บ้าง แต่ตุ๊เจ้าสองตนนี้ไม่มีกิริยาเช่นนั้นแฝงอยู่บ้างเลย ถ้าขืนไปทำอย่างที่พากันทำอยู่ทุกวันนี้ จึงน่ากลัวเป็นบาป ทางที่ถูกควรไปศึกษาไต่ถามท่านดูให้รู้เหตุผลต้นปลายก่อน อยู่ ๆ ก็ไปเหมาว่าท่านไม่ดีเอาเลยตามความคิดเห็นเฉย ๆ อย่างนี้น่ากลัวเป็นบาป
บรรดาพวกที่ไปสังเกตท่านมาแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านเป็นตุ๊เจ้าดียากจะหาได้ พวกเราก็เคยเห็นตุ๊เจ้ามาบ้างพอจะรู้ของดีของไม่ดี บางรายก็ว่า เคารพเลื่อมใสท่านมากกว่าจะคิดแส่หาโทษท่าน ถ้าอยากทราบรายละเอียดก็ควรไปศึกษาไต่ถามท่านดูบ้างว่า การนั่งหลับตานิ่ง ๆ ก็ดี การเดินกลับไปกลับมาก็ดี ท่านนั่งเพื่ออะไร และท่านเดินหาอะไร..
ท่านว่าสุดท้ายแห่งการประชุมของชาวป่าได้ความว่า ให้คนไปไต่ถามท่านดูตามที่ตกลงกัน ตื่นเช้ามาท่านก็พูดกับพระที่อยู่ด้วยว่า เขาเริ่มกลับใจมาทางดีแล้ว คืนนี้เขาประชุมกันเกี่ยวกับการมาสังเกตดูพวกเรา ตกลงกันว่าจะจัดให้คนมาไต่ถามข้อข้องใจกับพวกเรา พอวันหลังตอนบ่าย ๆ เขาพากันมาจริง ๆ ดังที่รู้ไว้ ในจำนวนที่มามีคนหนึ่งถามขึ้นว่า..
ตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมานั้น ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร?
ท่านตอบเขาว่า..พุทโธเราหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ
เขาถามท่านว่า..พุทโธเป็นตัวอย่างไร พวกเราจะช่วยตุ๊เจ้าหาได้ไหม?
ท่านตอบว่า..พุทโธเป็นดวงแก้วอันประเสริฐเลิศโลกในไตรภพ เป็นดวงฉลาดรอบรู้ทั่วไตรโลกธาตุ ถ้าสูจะช่วยเราหาก็ยิ่งดีมาก จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ ง่าย ๆ ด้วย (สูเป็นคำที่ชาวเขานับถือกันว่าดีมากสนิทกันมาก)
เขาถามว่า..พุทโธตุ๊เจ้าหายมานานแล้วหรือ ?
ท่านตอบว่า..ไม่นาน ถ้าสูช่วยหาให้ยิ่งจะพบเร็วกว่าเราหาเพียงคนเดียว
เขาถามว่า..พุทโธเป็นดวงแก้วใหญ่ไหม?
ท่านตอบว่า..ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีกับเราและกับพวกสูดี ๆ นี่เอง ใครหาพุทโธพบคนนั้นประเสริฐ มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง
เขาถาม..มองเห็นนรกสวรรค์ได้ไหมตุ๊เจ้า?
ท่านตอบว่า..มองเห็นซิ ไม่เห็นจะว่าประเสริฐได้อย่างไร
ลูกเมียผัวตายมองเห็นได้ไหมตุ๊เจ้า?
ท่านตอบว่า..เห็นหมด ถ้าต้องการอยากเห็นเมื่อได้พุทโธแล้ว
เขาถาม..สว่างมากไหม?
ท่านว่า..สว่างมากยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวง เพราะพระอาทิตย์ไม่สามารถส่องเห็นนรกสวรรค์ได้ แต่ดวงพุทโธสามารถส่องเห็นหมด
เขาถาม..ผู้หญิงช่วยหาได้ไหม? เด็ก ๆ ช่วยหาได้ไหม?
ท่าน..ได้ทั้งนั้น ไม่นิยมว่าหญิงว่าชาย ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ใครหาก็ได้ทั้งนั้น
เขาถามท่านว่า..พุทโธนั้นประเสริฐในทางใดบ้าง กันผีได้ไหม?
ท่านตอบว่า..พุทโธประเสริฐ และใช้ได้หลายทางจนนับไม่ถ้วน ในโลกทั้งสาม คือกามโลก รูปโลก อรูปโลก โลกทั้งสามต้องยอมกราบพุทโธทั้งนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าพุทโธ ผีก็กลัวพุทโธมาก ต้องกราบพุทโธ ใครหาพุทโธแม้ยังไม่พบ ผีเริ่มกลัวผู้นั้นแล้ว
เขาถามท่าน..พุทโธเป็นแก้วสีอะไรตุ๊เจ้า
ท่านตอบ..พุทโธเป็นแก้วดวงสว่างไสวและมีหลายสีจนนับไม่ได้ พุทโธนี้เป็นสมบัติอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พุทโธนั้นเป็นองค์แห่งความรู้ความสว่างไสวไม่เป็นวัตถุ พระพุทธเจ้าท่านมอบให้พวกเราไว้หลายปีแล้ว แต่เราเองยังหาพุทโธที่ท่านมอบให้ยังไม่เจอ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ตรงไหน แต่จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญนัก ที่สำคัญก็คือถ้าสูจะพากันช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ ให้พากันนั่งหรือเดินนึกในใจว่าพุทโธ ๆ อยู่ภายในโดยเฉพาะ ไม่ให้จิตส่งออกไปนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธ ๆ เท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้พวกสูอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้
เขาถามท่านว่า..การนั่งหรือเดินหาพุทโธจะให้นั่งหรือเดินนานเท่าไรถึงจะพบพุทโธแล้วหยุดได้
ท่านตอบ..ให้นั่งหรือเดินเพียง ๑๕ หรือ ๒๐ นาทีก่อนสำหรับผู้ตามหาพุทโธทีแรก พุทโธท่านยังไม่อยากให้พวกเราตามหาท่านนานนัก กลัวจะเหนื่อยแล้วตามพุทโธไม่ทัน เดี๋ยวจะขี้เกียจเสียก่อน ทีหลังจะไม่อยากตามหาท่านแล้วเลยจะไม่พบท่าน เอาเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายมากกว่านี้จะจำวิธีไม่ได้แล้วตามหาพุทโธไม่พบ
..เสร็จแล้วเขาพากันกลับบ้าน การลาท่านสำหรับเขาแล้วไม่ต้องพูดถึงเพราะเขาไม่เคยลาใคร ว่าจะไปเขาลุกขึ้นแล้วก็ไปทันทีทันใด ไม่สนใจคำลาใครทั้งนั้น พอไปถึงบ้านแล้ว ชาวบ้านต่างมารุมถามเป็นการใหญ่ เขาอธิบายให้ฟังตามที่ท่านสั่งสอนเขาแต่โดยย่อไว้ก่อนนั้น
นอกจากนั้น เขายังอธิบายเรื่องท่านพระอาจารย์ให้ชาวบ้านฟังว่า ที่สงสัยการนั่งหลับตานิ่ง ๆ และการเดินกลับไปกลับมานั้น ท่านนั่งและเดินหาพุทโธดวงเลิศต่างหาก มิได้นั่งและเดินแบบเสือเย็นดังที่พวกเราเข้าใจกัน พอชาวบ้านทราบวิธีตามที่พวกมาถามท่านนำไปเล่าให้ฟังแล้ว ต่างคนต่างสนใจฝึกหัดนึกพุทโธภายในใจโดยทั่วกัน นับแต่หัวหน้าบ้านลงมาถึงผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่พอรู้วิธีนึก พุทโธได้
เป็นที่อัศจรรย์ไม่คาดฝันว่า จะมีผู้รู้เห็นธรรมของพระพุทธเจ้าภายในใจอย่างประจักษ์โดยไม่เนิ่นนานนัก..
คือผู้ชายคนหนึ่งซึ่งตามหาพุทโธ แล้วประสบธรรม คือความสงบสุขทางใจจากการนึกบริกรรมพุทโธตามวิธีที่ท่านบอกเขา..
ท่านเล่าว่าก่อนหน้า ๓-๔ วันที่เขาจะประสบผลจากพุทโธ เขานอนหลับฝันถึงท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านเอาเทียนใหญ่ที่จุดไฟอย่างสว่างไสวแล้วไปติดไว้บนศีรษะเขา พอท่านติดเทียนเสร็จแล้วนับแต่ศีรษะลงมาถึงตัวเขาปรากฏว่าสว่างไสวไปโดยตลอด เขาดีใจมากว่าตนได้ของดีมีความสว่างไสวแผ่ออกไปนอกกายตั้งหลาย ๆ วา พอจิตเขาเป็นขึ้นมาก็รีบมาหาท่านพระอาจารย์ และเล่าเรื่องความเป็นและความฝันให้ท่านฟังอย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นท่านก็ได้อธิบายเพิ่มเติมให้เขาไปทำต่อ ปรากฏว่าได้ผลอย่างรวดเร็วและยังสามารถรู้ใจของผู้อื่นได้อีกด้วย ว่าใจของใครยังมีเศร้าหมองและผ่องใสเพียงใด เขาพูดกับท่านอย่างไม่มีการสะทกสะท้านเลย ซึ่งตรงกับจริตคนป่าที่มีนิสัยพูดตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
ในเวลาต่อมาเขาออกมาเล่าธรรมให้ท่านฟังว่า เขาได้พิจารณารู้เห็นจิตท่านอาจารย์และพระที่อยู่กับท่านได้อย่างชัดเจน
ท่านเองก็ถามเขาบ้างเป็นเชิงเล่น ๆ ว่าจิตของท่านเป็นอย่างไร มีบาปมากไหม?
เขาตอบท่านทันทีเลยว่า..จิตของตุ๊เจ้าไม่มีจุดมีดวงเหลืออยู่แล้ว มีแต่ความสว่างไสวอันเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่งอยู่ภายในเท่านั้น ตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกไม่มีใครเสมอเหมือน เฮาไม่เคยเห็น (คำว่าเฮาเทียบกับคำว่าผม) ตุ๊เจ้ามาพักอยู่ที่นี่ตั้งนานร่วมปีแล้ว ทำไมไม่สอนเฮาบ้างก๊าแต่แรกมาอยู่..(ก๊า เท่ากับ “เล่า” หรือ “ไหม”ก็ได้ แปลได้หลายนัยมากพอดู มีติดท้ายประโยคได้ทั้งคำถาม คำตอบ)
ท่านตอบ..จะให้เราสอนอย่างไร ก็ไม่เคยเห็นพวกสูมาศึกษาไต่ถามเรานี่นา
เขาตอบท่านว่า..ก็เฮาบ่ฮู้ก๊า (บ่เท่ากับไม่) ว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้วิเศษ ถ้าฮู้จะทนอยู่ได้อย่างไร ต้องมาแน่ ๆ ทีนี้พวกเฮาฮู้แล้วก๊าว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้ฉลาดมาก เวลาพวกเฮามาถามว่าตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมานั้น ทำทำไม หรือหาอะไร ตุ๊เจ้าก็บอกพวกเฮาว่าพุทโธหาย ให้พวกเฮาช่วยหา เมื่อถามถึงพุทโธเป็นลักษณะอย่างไร ก็บอกไปว่าเป็นแก้วดวงสว่างไสว ความจริงจิตตุ๊เจ้าเป็นพุทโธอยู่แล้ว มิได้สูญหายไปไหน แต่เป็นอุบายฉลาดของตุ๊เจ้าที่เมตตาสงสารพวกเฮาให้ภาวนาพุทโธ เพื่อให้จิตพวกเฮาสว่างไสวเหมือนจิตตุ๊เจ้าต่างหาก เฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐและเฉลียวฉลาด ปรารถนาให้พวกเฮาได้บุญ มีความสุข และพบพุทโธดวงประเสริฐที่ใจตัวเอง มิใช่หาพุทโธให้ตุ๊เจ้า
นับแต่เขาคนนั้นได้เห็นธรรมภายในใจเพียงคนเดียวเท่านั้น เรื่องก็กระจายไปทั่วบ้านในไม่ช้า คนในบ้านต่างก็เกิดความสนใจและพากันภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กัน ตลอดเด็กเล็ก ๆ และเกิดความเชื่อถือและเลื่อมใสท่านพระอาจารย์มั่นมาก เรื่องเสือเย็นเลยหายซากไป ไม่มีใครกล่าวถึงเลย
..นับแต่นั้นมาเวลาท่านกลับจากบิณฑบาต คนที่ภาวนาเป็นนั้นต้องตามส่งบาตรและศึกษาธรรมกับท่านทุกวัน ถ้าวันไหนเขามีธุระไม่ได้ตามส่งบาตรท่านก็สั่งกับคนไว้ ในหมู่บ้านนั้นทราบว่ามีคนภาวนาเป็นอยู่หลายคนมีทั้งชายและหญิง ที่เก่งกว่าเพื่อนนั้นก็คือเขาคนเป็นก่อนนั่นเอง..
คนเราเมื่อความพอใจมีแล้ว สิ่งอื่น ๆ ก็ค่อยเป็นไปเอง เช่นคนพวกนี้แต่ก่อนเขาไม่เคยสนใจกับท่านเลยว่าท่านได้อยู่ได้นอนได้ขบฉันอย่างไรบ้าง แม้จะเป็นหรือจะตายเขาไม่สนใจทั้งนั้น พอเขาเกิดความเชื่อถือและเลื่อมใสแล้ว ทุกสิ่งที่เคยขาดแคลนก็กลับกลายเป็นความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นลำดับ ทางจงกรม กุฏิที่พัก ที่ฉัน เขาพร้อมกันมาทำถวายท่านเองจนเรียบไปหมดโดยมิได้บอกกล่าวเลย มิหนำเขายังมาตำหนิท่านเป็นเชิงชมเชยอยู่อย่างลึกลับด้วยว่า ทางจงกรมอย่างนั้นตุ๊เจ้าก็เดินได้ ดูแล้วมีแต่ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เต็มไปหมด ตุ๊เจ้ามิใช่หมูพอจะเดินบุกป่าฝ่าดงไปอย่างนั้น แต่ทำไมยังอุตส่าห์เดินบุกไปได้ เมื่อเฮาถามว่า นี่ทางอะไร ก็บอกว่าทางเดินหาพุทโธ พุทโธเราหาย เมื่อเฮาถามว่า นั่งหลับตาอยู่นิ่ง ๆ นั้น นั่งทำไม ก็บอกว่านั่งหาธรรมบ้าง นั่งหาพุทโธบ้าง พูดอย่างนั้นก็ได้
ตุ๊เจ้านี้แปลกกว่าคนทั้งหลาย ตุ๊เจ้าวิเศษเลิศโลกเท่าไรก็มิได้บอกว่าวิเศษ ตุ๊เจ้าคนนี้แปลกมาก เฮาชอบนิสัยตุ๊เจ้าตนนี้มาก ที่หลับที่นอนก็มีแต่ใบไม้ปูเต็มพื้นดินจนจะเหม็นเน่าอยู่แล้ว ท่านทนนอนมาตั้งหลายเดือนทำไมทนได้ เฮาดูที่นอนตุ๊เจ้าแล้วเหมือนที่นอนหมู เห็นแล้วเฮาสงสารตุ๊เจ้ามากจนเกือบร้องไห้ พวกเฮาเองก็โง่จริง ๆ โง่กันทั้งบ้าน ไม่รู้จักของดี มิหนำบางคนยังหาว่าตุ๊เจ้ามาอยู่เพื่อหลอกลวงชาวบ้านแล้วเขาก็พากันรังเกียจระแวง แต่เวลานี้พวกเขาพากันเชื่อถือและเลื่อมใสตุ๊เจ้ากันทั้งบ้านแล้ว เพราะเขาทราบเรื่องของตุ๊เจ้าจากเฮาก๊า ดังนี้
ท่านว่าคนพวกนี้ถ้าลงเขาได้เชื่อและเคารพนับถือแล้ว ต้องนับถือแบบถึงใจจริง ๆ และถึงไหนถึงกัน เป็นก็เป็นด้วยกันตายก็ตายด้วยกัน แม้ชีวิตก็ยอมสละได้ เราพูดอะไรเขาเชื่อฟังและเคารพนับถือมาก การบริกรรมภาวนาหาพุทโธของเขา ท่านก็สอนให้เขยิบเวลาขึ้นไปตามความเคยชินและผู้ชำนาญเป็นลำดับ ปีนั้นท่านต้องจำพรรษากับพวกเขารวมแล้วเป็นเวลาปีกว่า ท่านไปอยู่กับพวกเขา ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายนปีหลังจึงได้จากเขาไป
ก่อนจะจากเขาไปได้ก็นับว่าทุลักทุเลด้วยความสงสารเขาเอาการอยู่ เนื่องจากเขาไม่ยอมให้ท่านหนีไปไหนเอาเลย เขาบอกท่านว่าแม้ท่านตายลงไปในที่นั้น เขาทั้งบ้านจะรับรองเผาศพท่าน แม้เขาเองก็มอบชีวิตไว้กับท่านด้วย เพราะความรักและเคารพเลื่อมใสท่านมาก ผลดีก็เห็นประจักษ์ตาประจักษ์ใจ
น่าชมเชยเขาที่มีความฉลาดระลึกในความผิดได้ พอเห็นพระที่ปฏิบัติดีน่าเลื่อมใสจริง ๆ แล้วก็กลับมาเห็นโทษความผิดของตนที่คิดไม่ดีแต่ก่อน แล้วพร้อมกันมาขอขมาโทษท่านให้อโหสิกรรมให้
ก่อนจากพวกเขาท่านได้พูดกับพระที่อยู่ด้วยว่า ที่นี่เขาหมดโทษแล้ว เราจะไปที่ไหนก็ได้ไม่ขัดข้องแล้ว แต่สำคัญตอนลาเขาออกจากที่นั้น ท่านว่าน่าสงสารสังเวชกับความรักความนับถือความเคารพเลื่อมใสและคำวิงวอนเขาจนบอกไม่ถูก พอพวกเขาทราบว่าท่านจะจากเขาไปเท่านั้น เขาพากันออกมาทั้งบ้านมาร้องไห้วิงวอนกันอย่างชุลมุนวุ่นวายไปทั้งป่า เหมือนคนร้องไห้คิดถึงคนตายนั่นเอง ท่านก็พยายามแสดงเหตุผลที่จำต้องจากเขาไป และปลอบโยนพวกเขาไม่ให้เสียใจจนเลยขอบเขตแห่งธรรม คือความพอดี จนเขาเป็นที่ลงใจแล้วก็ออกจากที่พักอันแสนสำราญนั้น
สิ่งที่ไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้นอีก คือทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างคนต่างวิ่งออกไปรุมล้อมท่านและเข้าแย่งเอาบริขาร กลด บาตร กาน้ำ กับผู้ตามส่งท่าน และฉุดชายสบงจีวรกอดแข้งกอดขาท่านดึงกลับมาที่พักอีกเหมือนเด็ก ๆ โดยไม่ยอมให้ท่านไป ท่านต้องกลับมาแสดงเหตุผลและปลอบโยนใจให้สงบเย็นอีกพักหนึ่งแล้วค่อยพากันปล่อยให้ท่านไป พอท่านก้าวออกจากที่พักเดินไปได้ประมาณ ๔-๕ วาเท่านั้น ต่างก็ร้องไห้แล้วพากันตามฉุดเอาท่านกลับมาอีก ทำเอาท่านเสียเวลาไปหลายชั่วโมง ฟังเสียงร้องไห้ระเบ็งเซ็งแซ่ฉุกละหุกวุ่นวายไปทั่วทั้งป่า ซึ่งเป็นที่น่าสมเพชเวทนาเอานักหนา
คำว่า “เสือเย็น” ที่เกิดขึ้นในตอนแรก ๆ จึงหมดความหมายไปทั้งสองฝ่าย ที่ยังเหลืออยู่จึงมีแต่ความเคารพเลื่อมใสความอาลัยอาวรณ์ในท่านผู้ทรงคุณธรรมอันสูงส่งที่สุดจะอดกลั้นไว้ได้ ขณะที่ท่านจากไปจึงมีแต่เสียงร้องไห้ระทมทุกข์ของพวกชาวเขาที่พิไรรำพัน ทั้งเสียงร้องไห้และสั่งเสียว่า..
“เมื่อตุ๊เจ้าไปแล้วให้รีบกลับคืนมาหาพวกเฮาอีก อย่าอยู่นาน พวกเฮาคิดถึงตุ๊เจ้าแทบอกจะแตกตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้วก๊า”
หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
|