เปรตหัวโล้น หัวใหญ่เท่าอุน้ำ
“ อยู่สำนักสงฆ์ของเพิ่นครูอาจารย์มหาปิ่น (ปญฺญาพโล) นั่นแหละคืนทีแรกที่ไปถึงดึกเกือบเที่ยงคืน เราก็เดินจงกรมแต่หัวค่ำขึ้นกุฏิไหว้พระสวดมนต์จบพอดีเห็นเปรตหัวโล้น หัวมันใหญ่เท่ากับอุน้ำขนาดคนหนึ่งโอบรอบ อยู่สักพักหนึ่งหัวมันก็แตกระเบิด แล้วก็กลับคืนเป็นหัวโล้นอย่างเก่า แล้วก็แตกอีก เป็นอยู่อย่างนั้นตื่นเช้าขณะกลับมาจากบิณฑบาต เราก็ถามเณรว่า “ เคยมีคนลักษณะนี้ๆ เคยได้บวชอยู่วัดนี้ไหม”
เณรก็บอกว่า “ มีครับ เป็นลุงของผม อ้ายของแม่” “ ครูอาจารย์เห็นหรือครับ” “ อือ” “ ผมไม่เคยเห็นกับตา แต่ฝันเห็นเสมอ” “ เห็นอย่างใดในฝัน” “เปลือยกาย หัวใหญ่เท่าอุน้ำ มาขอให้ผมช่วยเหลือ อันนี้ผมก็ไม่ทันหรอกในยุคสมัยที่ ครูอาจารย์มหาปิ่นมาสร้างวัดนี้ หลวงลุงของผมก็ไม่ทันได้บวชทันแต่อาจารย์ที่ลาสิกขาออกไป เพิ่นเล่าให้ฟังว่าลุงของผมนี้เป็นหัวหน้าผู้คนในการเบียดเบียนต่อต้านมิให้ครูอาจารย์มหาปิ่นมาสร้างวัด หรือเอาธรรมยุติมาอยู่ในบ้านนี้
พอชาวบ้านคนอื่นเขาเห็นพร้อมด้วยกับเพิ่นครูอาจารย์มหาปิ่น หลวงลุงผมก็ยังไม่ยอม เบียดเบียนหลายอย่าง ทุบทำลายอุแอ่งโอ่งน้ำ อีกหลายอย่างที่ทำการเบียดเบียน
จนวันหนึ่งเพิ่นครูอาจารย์มหาปิ่น จับแขนดึงเข้าวัด เอามาสอนเทศน์ให้ฟังจึงยอมลงใจให้ แล้วระลึกได้ในโทษของเจ้าของ จึงได้ขอบวชอยู่ด้วย บวชได้ ๑๒ ปี ก็มรณะ ผมก็บวชกับหลวงลุงคนนี้ วันที่หลวงลุงมรณะ โยมแม่ของผมก็ให้ผมบวชหน้าไฟ
ลุงผมตายมานี่ก็ได้ ๙ ปีแล้ว ยังเสวยวิบากกรรมอยู่หรือครับ” เณรถามเรา เราก็ว่า “ อือ” “ จะช่วยอย่างใด ” “ กรรมยังไม่พ้นได้ง่ายๆ หรอกเณรเอ๊ย เราให้ได้แต่เมตตาแผ่เมตตาให้ ปันบุญให้ก็ยังรับไม่ได้ จนกว่าบุญบวชของคนเฒ่าจะมาหาวันใดก็คงจะพ้นวิบากกรรมได้”
“คนเบียดเบียนวัด ขัดขวางพระเณร หรือทำร้ายพระศาสนา เอารัดเอาเปรียบพระเณร โกงกินเงินวัด ข้าวของของวัด หรือทำอะไรตามใจชอบของตน ไม่ดูพระเณร ย่อมได้รับผลทั้งนั้น กว่าที่จะพ้นวิบากกรรมนั้นมาโอย...นานแสนนาน
เพราะว่าวัดเป็นของศาสนาส่วนรวม ญาติโยมเขาเอาข้าวของมาให้มาปันทำบุญให้ทานเขาก็ให้กับประธานของสงฆ์เป็นผู้รับ ผู้เป็นโยมเพิ่นให้ใช้ให้เอาอันใดแล้วจึงเอาไปใช้ได้ หากอยากได้ก็ต้องขอ พระเณรอนุญาตก็แล้วจึงเอา ไม่ให้ก็ไม่เอา”
ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ
ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่ง วิชชา (ความรู้แจ้ง) . ๒ อย่าง อะไรเล่า ? ๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา ภิกษุ ทั้งหลาย. ! สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? อบรมแล้ว จิตจะเจริญ จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว จะ ละราคะได้. ภิกษุ ทั้งหลาย. ! วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ ปัญญา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้วจะ ละอวิชชาได้ แล. ทุก. อํ. ๒๐/๗๗/๒๕๗
เปรียบให้ฟังเหมือนดึงเชือกเข้าไปในป่าอย่างนี้ เชือกไปติดตอ ดึงไม่ไปเกิดไม่สบายใจนี่ทุกข์แล้ว เห็นไหมดึงฟัดไปฟัดมา ฮื้อมันติดอะไรวุ่นวายดึงอยู่นั่นแหละ ดึงไม่ไปมันทุกข์วนเวียนอยู่นั่น ไม่รู้จักทุกข์ ทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะดึงไม่ไป มันติดอะไรนะ ก็ไม่ได้คิด พระพุทธเจ้าท่านว่าให้ย้อนกลับมาดูซิ มันติดอะไรสาวเชือกมาๆ นั่นมันติดตอถึงดึงอย่างไรก็ไม่ไป มันติดแน่นอยู่ตรงนั้น ตรงเหตุที่มันติดนั่นแหละ เหตุทุกข์เกิดอยู่ตรงนั้นถอดพร้าออกจากตลับสับป๊อกลงไปเลย ทีนี้ละเดินไปก็ดึงได้สะดวก นั่นแก้ตรงที่ทุกข์ จะเกิดทุกข์ก็ไม่เกิดละทีนี้ พูดอย่างนี้ก็คงพอเข้าใจนะ ขนาดนี้แล้วยังไม่เข้าใจก็หนีเสีย
หลวงปู่ชา สุภัทโท
การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส คือ วิสุทธิ 7 – หลักธรรม คำสอน, บทความจากหนังสือวัฏฏสงสารกับมรรคผลนิพพาน,
พระอรหันต์เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกิเลส อวิชชา อัตตา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเชื้อให้เกิดโลภ โกรธ หลง พระอรหันต์ละกิเลสได้ทุกอย่างบรรลุถึงการไม่ทำบาปทั้งปวง บรรลุถึงการทำกุศลให้ถึงพร้อม และบรรลุถึงการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส คือมี วิสุทธิ 7
1. สีลวิสุทธิ คือมีศีลบริสุทธิ์ตามฐานะของตน ถ้าเป็นฆราวาสจะมีศีลแปดบริสุทธิ์ เป็นสามเณรจะศีล 10 บริสุทธิ์ เป็นพระมีศีล 227 บริสุทธิ์ เป็นภิกษุณีมีศีล 311 บริสุทธิ์ เนื่องจากมีบริสุทธิ์ 4 เป็นเครื่องอยู่คือ มีศีลสังวร คือสำรวมระวังอยู่ในศีลของตนตามฐานะ อินทรีย์สังวร คือสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ศึกคะนองไปตามสิ่งที่มากระทบ ปัจจะเวกขณะสังวร คือสำรวมในการบริโภคปัจจัยสี่ คืออาหาร เสื้อผ้า เคหสถาน และยารักษาโรคแต่พอสมควรแก่ธรรม มิให้เสริมกิเลสเพิ่มกิเลส และมีอาชีวะบริสุทธิ์ศีล คือเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพบริสุทธิ์ ปราศจากการคดโกง เบียดเบียนข่มขี่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. จิตตวิสุทธิ คือ อบรมจิต หรือฝึกจิตให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ อะไรควรเว้น อะไรควรทำ ที่ไหนควรไป ที่ไหนไม่ควรไป รู้จักดำรงตนให้สมควรแก่ธรรมตามสมมติบัญญัติของตน จิตตั้งมั่นอยู่อัฏฐังคิกมรรคแปดประการ มีสมาบัติแปดและอุปจารสมาธิ
3. ทิฏฐิวิสุทธิ คือ มีความเห็นบริสุทธิ์ตรงตามธรรมตามวินัย ตามพุทธภาษิตรู้และเข้าใจ สภาวะรูปนามตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และสุดท้าย เป็นอนัตตา ไม่หลงไปตามความปรุงแต่งของสังขาร ทั้งสังขารนอกคือรูป ภายนอกร่างกาย สังขารในคือร่างกายตน และสังขารในสังขารคือรูปที่จิต คิด ปรุงแต่งขึ้น จนบรรลุถึงสังขารุเปกขาญาณ
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ มีความบริสุทธิ์แห่งญาณ คือมีพลังความรู้สมบูรณ์จนสามารถข้ามความสงสัยเสียได้ เนื่องจากรู้ธรรมเห็นธรรม เข้าใจธรรมและบรรลุธรรม อันเป็นสมุทัยของทุกข์นั้นๆ พร้อมทั้งนิโรธและมรรค สำหรับดับทุกข์นั้นๆ
5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ รู้ว่ามรรควิธีเพื่อดับกิเลสได้กระทำแล้วเสร็จสิ้นแล้ว คือสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือทางพ้นทุกข์ อะไรไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รู้จักหลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งที่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์กระทำดำเนินในสิ่งที่เป็นทางพ้นทุกข์
6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ รู้ทางแห่งความพ้นทุกข์ชัดแจ้ง รู้จักดำเนินตามทางแบบไม่หลง มีสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นทางดำเนิน มีภาวนามยปัญญาเป็นเครื่องประหารกิเลสทุกประเภท
7. ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ รู้ว่าการประหารกิเลสได้เสร็จสิ้นแล้วทุกอย่าง ถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสแล้ว บรรลุนิพพานแล้วข้ามพ้นวัฏฏสงสาร ได้แล้ว จบการศึกษาแล้ว บรรลุเป็นอเสกขบุคคลแล้ว
# โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต #
การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริง ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนา มาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
|